Monday, October 13, 2008

ลมพิษ (Urticaria)

ลักษณะทั่วไป

ลมพิษ เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในคนทุกวัย แต่จะพบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 ต่อ 2 ส่วนใหญ่จะ เป็นอยู่เพียงไม่กี่วันก็หายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างไร แต่บางคนอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรังได้ ถ้าพบว่าเป็นลมพิษติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ เรียกว่า ลมพิษชนิดเรื้อรัง ถ้าเป็นไม่เกิน 6 สัปดาห์ เรียกว่า ลมพิษชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมีประวัติเคยเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน หรือมีคนในครอบครัวเป็น โรคภูมิแพ้ร่วมด้วย

สาเหตุ

เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่แพ้ จะสร้างสารแพ้ที่เรียกว่า ฮิสตามีน (histamine) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิว หนัง ทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว มีพลาสมา (น้ำเลือด) ซึมออกมาในผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นผื่นนูนแดง ลมพิษ มักมีสาเหตุจากการแพ้อาหาร (เช่น อาหารทะเล กุ้ง ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ ถั่ว มะเขือเทศ ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว อาหารใส่สี อาหารกระป๋อง), เหล้า เบียร์, ยา (เช่น แอสไพริน เพนิซิลลิน ซัลฟา ฯลฯ), เซรุ่ม, วัคซีน, พิษแมลงสัตว์กัดต่อย (เช่น ผึ้ง มด ยุง), ฝุ่น ละอองเกสร, ขนสัตว์, นุ่น (ที่นอน หมอน),ไหม หรือสารเคมี (เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ ยา ฆ่าแมลง) บางคนที่เป็นโรคติดเชื้อ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ หูอักเสบ ท้องเดิน ไซนัสอักเสบ ไตอักเสบ โรคเชื้อรา โรคพยาธิ เป็นต้น ก็อาจมีอาการของ ลมพิษเกิดขึ้นได้ แต่บางคนก็อาจตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจนในรายที่เป็นลมพิษเรื้อรัง (เป็นติดต่อกันนานกว่า 6 สัปดาห์) ส่วนมากจะไม่พบสาเหตุที่แน่ ชัดส่วนน้อยที่อาจพบว่ามีสาเหตุ ซึ่งนอกจากเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากการแพ้ความร้อน, ความเย็น (น้ำเย็น น้ำแข็ง อากาศเย็น ห้องปรับอากาศ), แสงแดด, เหงื่อ (เช่น หลังจากออกกำลังกาย), น้ำ, แรงดัน แรงกด หรือการขีดข่วนที่เกิดกับผิวหนัง, การยกน้ำหนัก, โรค ติดเชื้อเรื้อรัง (เช่น ฟันผุ โรคพยาธิลำไส้ ตัวจี๊ด หูน้ำหนวก) บางคนอาจเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น เอสเอลอี มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้เป็น ส่วนน้อย นอกจากนี้ความตึงเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์ของผู้ป่วย ก็อาจเป็นสาเหตุของลมพิษเรื้อรังได้ รวมทั้งทำให้อาการกำเริบในรายที่เกิด จากสาเหตุอื่นๆ


อาการ

มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน ด้วยอาการขึ้นเป็นวงนูนแดง มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน เช่น วงกลม วงรี วงหยัก เนื้อภายในวงจะนูนและสีซีดกว่าขอบ เล็กน้อย ทำให้เห็นเป็นขอบแดงๆ คล้ายเอาลิปสติกผู้หญิงมาขีดเป็นวงไว้ ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมาก พอเกาตรงไหน ก็จะมีผื่นแดงขึ้นตรงนั้น บางคนอาจมีไข้ ขึ้นเล็กน้อย หรือรู้สึกร้อนผ่าว ตามผิวกาย ลมพิษอาจเกิดขึ้นที่หน้า แขนขา ลำตัว หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็ได้ มักขึ้นกระจายตัว ไม่เหมือนกันทั้งสอง ข้างของร่างกาย วงนูนแดงจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง แต่อาจเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งใหม่ได้อีกภายในวันเดียว กัน หรือวันต่อมา หรือในเดือนต่อๆ มาก็ได้ บางคนอาจขึ้นติดต่อกันเป็นวันๆ ก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะยุบหายได้เองภายใน 1-7 วัน ในรายที่เป็นลมพิษ ชนิดรุนแรง ที่เรียกว่า ลมพิษยักษ์ หรือ แองจิโอเอดิมา (Angioedema) จะมีอาการบวมของเนื้อเยื่อชั้นลึกของผิวหนัง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1-3 นิ้ว หรือมากกว่า กดไม่บุ๋ม มักขึ้นที่ริมฝีปาก หนังตา หู ลิ้น หน้า มือ แขน หรือ ส่วนอื่นๆ มักเป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก็จะยุบหายไปเอง แต่ ถ้ามีอาการบวมของกล่องเสียงร่วมด้วย อาจทำให้หายใจลำบาก ตัวเขียว เป็นอันตรายได้ ในรายที่เป็นเรื้อรัง มักมีลมพิษขึ้นเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันแทบทุก วันเป็นเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ แต่อาจเป็นอยู่เป็นปีๆ กว่าจะหายขาดไปได้เอง


สิ่งตรวจพบ

จะตรวจพบลมพิษ ลักษณะเป็นวงนูนแดง มีขนาดและรูปร่างต่างๆ บางครั้งอาจพบรอยเการ่วมด้วย


การรักษา
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน
1. ประคบด้วยน้ำเย็น น้ำแข็ง หรือทายาแก้ผดผื่นคัน หรือทาด้วยเหล้า หรือแอลกอฮอล์ (ถ้าไม่แพ้สารนี้)

2. ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน, หรือไดเฟนไฮดรามีน ,หรือ ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ขนาด 10 มก. มีชื่อทางการค้า เช่น อะตา แรกซ์ (Atarax) ให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด (เด็กลดลงตามอายุ) ถ้ายังมีอาการซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง ถ้าเป็นมากหรือกินยาไม่ได้ ควรใช้ยาแก้ แพ้ดังกล่าว ชนิดฉีดครั้งละ 1/2 -1 หลอด หรือฉีดอะดรีนาลิน (ย11) 0.5 มล. (เด็ก 0.2- 0.3 มล.) ในรายที่มีอาการหายใจลำบาก เนื่อง จากเป็นลมพิษยักษ์ ควรฉีดอะดรีนาลินทันที

3. พยายามหาสาเหตุ แล้วกำจัดหรือหลีกเลี่ยงเสีย เช่น ถ้าแพ้ยาหรืออาหาร ก็หยุดยาหรือเลิกกินอาหารชนิดนั้น ถ้าเป็นโรคพยาธิลำไส้ ก็ให้ยาถ่าย พยาธิ เป็นต้น

4. ให้ยาแล้วไม่ดีขี้นใน 1 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ (กินยาแก้แพ้แล้วดีขึ้น พอหยุดยาก็กลับกำเริบใหม่) นานเกิน 6 สัปดาห์ หรือสงสัยมีโรคอื่น ร่วมด้วย ควรส่งตรวจที่โรงพยาบาล การตรวจหาสาเหตุ นอกจากการซักถามประวัติและการตรวจร่างกาย อย่างละเอียดแล้ว อาจต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ หรือทำการทดสอบผิวหนัง (skin test) หรือตรวจพิเศษอื่นๆ ตามแต่สาเหตุที่สงสัย การรักษาควรให้การรักษาดังนี้

ในรายที่เป็นเฉียบพลันโดยไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย ถ้าใช้ยาแก้แพ้ไม่ได้ผล อาจให้เพร็ดนิโซโลน วันละครั้ง หลังอาหารเช้า เป็นเวลา 10 วัน โดยวันแรกให้ขนาด 40-60 มก. (เด็ก เริ่มด้วยขนาด 1 มก. ต่อกิโลกรัมต่อวัน) แล้วค่อยๆ ลดลงจนวันสุดท้าย เหลือขนาด 5- 10 มก.

ในรายที่เป็นเรื้อรัง ถ้าตรวจพบสาเหตุ ก็ให้การแก้ไขตามสาเหตุ และให้ยาแก้แพ้ ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ขนาด 10- 20 มก. วันละ 1-3 ครั้ง ซึ่งจะใช้ได้ผลดีในรายที่แพ้เหงื่อ แพ้แดด หรือแพ้รอยขีดข่วน ในรายที่แพ้ความเย็น หรือน้ำ อาจให้ยาแก้ แพ้ที่มีชื่อว่า ไซโพรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) มีชื่อทางการค้า เช่น เพอริแอกทิน (Periactin) 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง ถ้า เป็นอยู่ประจำ ควรให้กินก่อนจะสัมผัสถูกความเย็นหรือน้ำประมาณ 1/2 - 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการ เมื่อกินยาแก้แพ้ แล้วอาการทุเลา อาจลดยาเหลือเพียงวันละครั้ง ในขนาดต่ำสุด (1/2-1 เม็ด) ก่อนนอน ทุกวัน สัก 2-3 เดือน แล้วลองหยุดยา ถ้า กำเริบใหม่ ก็กินยาใหม่ บางคนอาจต้องกินยานานเป็นแรมปี กว่าจะหายขาด(หยุดยาได้)

ถ้าตรวจพบโรคที่เป็นร่วมด้วย เช่น เอสแอลอี โรคติดชื้อ โรคพยาธิ มะเร็ง เป็นต้น ก็ให้การรักษาโรคเหล่านี้ร่วมกับการรักษาอาการ ลมพิษ


ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรสังเกตสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษ อาจเป็นอาหาร ยา สิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย จะช่วยให้หายขาดได้

2. ควรพยายามหลีกเลี่ยงภาวะเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ และทำใจให้สบาย อย่าวิตกกังวล อาจช่วยให้อาการบรรเทาได้

3. ลมพิษเรื้อรังส่วนมากจะไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีอันตรายร้ายแรง อาจเป็นอยู่เป็นปีๆ แล้วหายไปได้เอง ผู้ป่วยควรกินยาแก้แพ้เป็นประจำ จน กว่าจะหาย ส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีโรคร้ายแรงร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุให้แน่นอนเสียก่อน


ที่มา : Thailabonline HealthSite
เดือน พฤษภาคม 2547 ติชม/ส่งบทความ/สอบถามข้อสงสัย

0 comments: