Monday, October 13, 2008

อ้วนอันตราย ! ไม่อ้วนเอาเท่าไร ?

อ้วนอันตราย ! ไม่อ้วนเอาเท่าไร ?

โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาทางโภชนาการที่มีความสำคัญและมีความเร่งด่วนในการป้องกันและรักษา เพราะอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้นมาก เด็กที่เป็นโรคอ้วนมักจะโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนและมักเกิดปัญหาแทรกซ้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจตามมา อีกทั้งการดูแลรักษาทำได้ยากลำบากและได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นการป้องกันโรคอ้วนในเด็กและการรักษาที่มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็น

อุบัติการณ์ :

อุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 25-30%

ในประเทศไทยจำนวนผู้ป่วยวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนที่มารับการรักษาที่คลินิควัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระหว่างปี พ.ศ.2534-2539 มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกันในแต่ละประเทศ คือ พบเพียง 10% ในประเทศเนเธอแลนด์และสแกนดิเนเวีย และเพิ่มเป็น 40-50% ในประเทศทางยุโรปตะวันออกบางประเทศ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในคนผิวดำและชาวแมกซิกัน พบอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในผู้หญิงประมาณ 40% และพบสูงมากถึง 80% ของประชาชนในหมู่เกาะแปซิฟิค ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียและชาวโปลีนีเซียน ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น อเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุบัติการณ์ของโรคอ้วนก็พบเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เมื่ออุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนมักพบมากในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นควรหาทางป้องกันและรักษาโรคอ้วนในเด็กให้ได้ผลเสียแต่เนิ่นๆ

การจะบอกว่าเด็กเป็นโรคอ้วนหรือไม่ทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่สะดวกในการตรวจประเมินเด็กอ้วนตามคลินิกทั่วไปคือการใช้น้ำหนักเปรียบเทียบกับน้ำหนักมาตรฐานที่ความสูงเดียวกัน อายุเดียวกันและเพศเดียวกัน จะถือว่าเป็นโรคอ้วน เมื่อน้ำหนักเกิน 20% ของน้ำหนักมาตรฐานสำหรับเด็กที่ความสูงเดียวกันและเพศเดียวกัน

ส่วนการวัดไขมันใต้ผิวหนัง(skin fold thickness) นั้นมีข้อจำกัดของการใช้คือ ไม่สะดวกและผู้วัดต้องมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือเพียงพอ เพื่อไม่ให้ผลที่ได้คลาดเคลื่อน

การใช้ดัชนีมวลรวม(Body Mass Index--BMI) ซึ่งคำนวณโดยใช้น้ำหนัก(กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง นั้นเป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลาย แต่ค่า BMI นี้จะแตกต่างกันไปตามอายุ เพศและเชื้อชาติ จะถือว่าเป็นโรคอ้วนเมื่อ BMI มากกว่า 95 percentile ที่อายุและเพศเดียวกัน สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อมูลสำหรับค่ามาตรฐานในเด็กอายุต่างๆ หากจะใช้ค่า BMI ในการประเมินโรคอ้วนในเด็กไทย จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้การประเมินคลาดเคลื่อน

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน

1.ครอบครัว

โรคอ้วนในพ่อแม่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคอ้วนในเด็ก คือถ้าพ่อและแม่ผอม ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าถ้ามีพ่อหรือแม่อ้วน แต่ถ้ามีทั้งพ่อและแม่อ้วนลูกจะมีโอกาสอ้วนมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบโรคอ้วนได้บ่อยในเด็กที่เป็นลูกคนเดียวหรือเด็กที่เป็นลูกคนเล็ก

เด็กที่เป็นโรคอ้วนจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วนหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการคือ อายุที่เริ่มอ้วน ความรุนแรงของโรคอ้วน และการมีโรคอ้วนในพ่อแม่ คือเด็กอ้วนอายุน้อยกว่า 3 ปี และมีพ่อหรือแม่อ้วน จะมีโอกาสโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากกว่าเด็กอ้วนที่มีพ่อแม่ไม่อ้วน และถ้าเด็กยังอ้วนอยู่หลังอายุ 6 ปี โอกาสโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนมีมากกว่า 50% ไม่ว่าจะมีพ่อแม่อ้วนหรือไม่ก็ตาม ส่วนในเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนนั้นพบว่า 70-80% ของวัยรุ่นที่อ้วน จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน

ในด้านความรุนแรงของโรคอ้วนนั้นพบว่ายิ่งอ้วนมากเท่าไรและอ้วนตั้งแต่อายุยังน้อยจะยิ่งเสี่ยงต่อการมีโรคอ้วนระดับรุนแรงในผู้ใหญ่และผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนจะเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

50-75% ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนระดับรุนแรง(น้ำหนักเกิน 60% ของน้ำหนักมาตรฐาน) เริ่มอ้วนมาแล้วตั้งแต่วัยเด็ก

2.การดูโทรทัศน์

ข้อมูลทั้งในและต่างประเทศพบว่าเด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ต่อสัปดาห์ประมาณ 15-30 ชั่วโมง ระยะเวลาที่เด็กใช้ในการดูโทรทัศน์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดโรคอ้วนในเด็ก เด็กที่ดูโทรทัศน์มากกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง มีโอกาสเกิดโรคอ้วนมากกว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์น้อยกว่าสัปดาห์ละ 14 ชั่วโมงถึง 4-6 เท่า การนั่งหรือนอนดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆนอกจากจะทำให้เด็กลดการทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยในการเผาผลาญพลังงานออกไปแล้ว เด็กก็มักจะรับประทานขนมขบเคี้ยวที่โฆษณาในรายการเด็กขณะดูโทรทัศน์อีกด้วย อาหารและขนมขบเคี้ยวที่เด็กเห็นในโฆษณามักมีรสหวานให้พลังงานสูง ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย

3.วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

ในสังคมปัจจุบัน ชีวิตที่รีบเร่งทำให้คนส่วนใหญ่ขาดการออกกำลังกาย การมีเครื่องอำนวยความ
สะดวกที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การทำกิจกรรมที่ช่วยให้มีการเผาผลาญพลังงานลดลง การมีบริโภคนิสัยที่เปลี่ยนไปตามสังคมตะวันตก ทำให้รับประทานอาหารที่มีไขมันและพลังงานสูงรวมทั้งขนมขบเคี้ยวเพิ่มมากขึ้น

0 comments: