Monday, October 13, 2008

ลมชัก - โรคลมบ้าหมู ตอน 1

“ลมชัก - โรคลมบ้าหมู ตอน 1”

กลุ่มอาการชักเป็นที่รู้จักกันมานาน สำรวจได้จากเอกสารหรืออักขระประวัติศาสตร์โบราณย้อนหลังไปถึงยุคสมัยอียิปต์โบราณและโรมันโบราณ กลุ่มอาการนี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยก็รู้จักกันมานานเช่นกัน ในประวัติศาสตร์ไทยเคยบันทึกไว้ว่า พระบรมวงศานุวงศ์ไทยในสมัยโบราณมีกลุ่มอาการที่สรุปได้ว่า น่าจะเป็นกลุ่มอาการ “ลมชัก” ซึ่งชาวไทยเรียกกันต่อมาว่า “ลมบ้าหมู”

น่าสังเกตว่า ชาวไทยจะใช้สำนวนบรรยายกลุ่มอาการนี้ว่า “นาย ก. เป็นลมบ้าหมู” โดยไม่ใส่คำว่า “โรค” นำหน้า แต่ในปัจจุบันเมื่อความรู้ทางวิชาการดีขึ้นจะบรรยายกลุ่มอาการนี้ว่า นาย ก. เป็นลมบ้าหมู หรือเป็น โรคลมบ้าหมู ก็ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ซึ่งก็คือ กลุ่มอาการ ลมชัก หรือเป็นที่เข้าใจกันว่าคือ โรค ลมชัก

อาการชัก (seizure) คือปรากฏการณ์ที่สมองปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาชั่วครู่ โดยที่ผู้ป่วยไม่อาจควบคุมได้ เนื่องจากมีสาเหตุบางอย่างไปรบกวนการทำงานของสมอง ทำให้สมองส่วนนั้น ๆ สั่งงานมากผิดปกติขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นอาการชัก โดยมากมักเป็นอาการเกร็ง หรือกระตุก แต่อาจเป็นอาการที่สังเกตได้ยาก เช่น อาการเหม่อนิ่งไป ค้างอยู่ในท่าเดิม หรือทำอะไรโดยอัตโนมัติ เป็นต้น

อาการชักจะเกิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 3-5 นาที โดยมากมักไม่เกินครึ่งชั่วโมงแล้วจะหยุดไปได้เอง โดยกลไกบางอย่างในสมอง หลังชัก ผู้ป่วยอาจรู้สึกสับสน อ่อนเพลีย หรือ หลับไป

อาการชักจะเกิดเป็นซ้ำ ๆ ได้ หากรอยโรคที่เป็นสาเหตุในสมองยังคงอยู่ หรือยังไม่ได้รับการแก้ไข หรืออาจเกิดเพราะมีปัจจัยที่กระตุ้นให้ชักง่ายมาแทรกเสริม เช่น การอดนอน ความเครียด หรือการตรากตรำร่างกาย เป็นต้น อาการชักที่เกิดซ้ำ มักจะมีลักษณะเหมือนเดิมในคนไข้คนเดียวกัน แต่อาจแตกต่างไปจากคนไข้คนอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณของสมองที่เป็นสาเหตุของโรค

ในคนบางคน อาจเกิดอาการชักขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้งในชีวิต เมื่อมีภาวะบางอย่างในร่างกายผิดปกติไป อาทิ จากยา สุรา เบาหวาน การมีไข้สูงในเด็ก ครรภ์เป็นพิษ หรือเพียงเพราะการตรากตรำหรืออดนอนจนเกินควร ภาวะเหล่านี้เป็นเพียงอาการชักชั่วคราว “ยังมิจัดเป็นโรคลมชัก” จึงไม่ควรใช้คำว่า “โรค” นำหน้าคำว่า “ลมชัก” เพราะมักหายไปได้เองเมื่อหมดจากภาวะดังกล่าว ผิดกับ “โรคลมชัก” ที่เป็นความผิดปกติของสมอง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะ ชักซ้ำอยู่เรื่อย ๆ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาในระยะยาว

ลักษณะของอาการชัก

อาการชักมีหลายแบบ ขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ปล่อยไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมา ที่พบบ่อย ได้แก่

1. ลมบ้าหมู หรือ ชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (generalized tonic-clonic seizure หรือ GTC) เป็นอาการชักที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะหมดสติอย่างรวดเร็ว เกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟัน น้ำลายไหลเป็นฟอง ขณะชักผู้ป่วยจะหยุดหายใจชั่วคราว หรืออาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ตามด้วยการกระตุกทั้งตัวเป็นจังหวะ นานประมาณ 5 นาที จากนั้นจะ ค่อย ๆ หยุด ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและหลับไป เมื่อฟื้นแล้วอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ หรือสับสน ซึ่งผู้ป่วยจะจำเหตุการณ์ขณะชักไม่ได้

2. ชักเฉพาะส่วน (simple partial seizure หรือ SPS) อาจเกิดขึ้นโดยลำพัง หรือนำมาก่อนอาการชักแบบ GTC หรือ CPS ที่เรียกว่า อาการเตือน (aura) ก็ได้ ได้แก่ อาการชาเฉพาะที่ หูแว่ว เห็นภาพหลอน รู้สึกคุ้นเคย (deja vu) หรือ กระตุกเฉพาะบางส่วนของร่างกาย เป็นต้น

3. ชักแบบเหม่อนิ่ง (absence seizure) อาการชักชนิดนี้สั้นมาก มักเกิดในเด็กและอาจไม่ทันสังเกตเห็น ผู้ป่วยจะเหม่อนิ่งไป หรือตาค้าง นานประมาณ 5-10 วินาที แล้วกลับเป็นปกติทันที ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกตัวว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น บางครั้งอาจมีการกะพริบตาถี่ ๆ หรือกระตุกใบหน้าเล็กน้อย หรืออาจดูคล้ายกับอาการชักแบบ CPS ได้

4. ชักแบบทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว (complex partial seizure หรือ CPS) เป็นอาการชักที่พบบ่อยที่สุด แต่บ่อยครั้งจะเข้าใจผิดว่ามิใช่อาการชัก อาการคือ ผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัวไปทันที ตาจ้อง หรือเหม่อลอย อาจนิ่งค้างในท่าเดิมหรืออาจทำงานต่อไปโดยไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีการเคลื่อนไหวที่ไม่มีจุดประสงค์โดยอัตโนมัติ เช่น เคี้ยวหรือดูดริมฝีปาก ถูมือ คลำหาสิ่งของ พูดคำ ซ้ำ ๆ หรือเดินไปมา เป็นต้น ระหว่างเป็นผู้ป่วย บางรายอาจพอรู้สึกตัวเหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ตอบสนองต่อคนรอบข้างไม่ได้ ถ้าจับหรือมัดอาจมีการต่อสู้ดิ้นรน อาการมักเกิดนาน 2-4 นาที หายแล้วอาจสับสนและจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้

สาเหตุของโรคลมชักเกิดได้หลายสาเหตุ ที่มีผลกระทบต่อสมอง

1. เกิดจากกรรมพันธุ์ พบประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วย ส่วนมากจะเริ่มชักตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น บางชนิดจะหายได้เองเมื่อโตขึ้น แต่บางชนิดก็ร่วมกับความพิการทางสมอง ญาติพี่น้องหรือบุตรของผู้ป่วย มีโอกาสเป็นโรคลมชักสูงกว่าประชากรทั่วไป แต่การถ่ายทอดมักไม่เด่นชัดอย่างในโรคทางพันธุกรรมอื่น

2. เกิดจากรอยโรคในสมอง ได้แก่ ความพิการแต่กำเนิด การคลอดยาก อุบัติเหตุต่อสมอง การติดเชื้อในสมอง เส้นโลหิตในสมองอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดแผลเป็นขึ้นและเป็นจุดปล่อยไฟฟ้าที่ทำให้เกิดอาการชัก

การชักจากไข้สูงในวัยเด็ก หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็อาจก่อให้เกิดแผลเป็นขึ้นในสมองส่วนที่ไวต่อการขาดออกซิเจน และเกิดเป็นโรคลมชักตามมาได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ เนื้องอก หรือการติดเชื้อที่ลุกลาม เช่น ฝีในสมอง วัณโรค หรือพยาธิในสมอง หรือเส้นเลือดขอดในสมอง ก็เป็นสาเหตุของโรคลมชัก ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะเกิดอันตรายจากการชักแล้ว ยังมีอันตรายจากความร้ายแรงของโรคที่เป็นสาเหตุอีกด้วย

สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ พบได้อย่างละประมาณ ร้อยละ 2-5 ของผู้ป่วยโรคลมชัก อาการชักจากสาเหตุดังกล่าว มักไม่หายเอง บ่อยครั้งกลายเป็นโรคลมชักที่ดื้อยาจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างละเอียดจากแพทย์ ซึ่งบางรายอาจหายได้ด้วยการผ่าตัดสมอง

3. กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคลมชัก แม้ว่าจะตรวจไม่พบรอยโรคในสมอง แต่จะมีบริเวณที่ปล่อยไฟฟ้าที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเล็กเกินกว่าจะมองเห็นด้วยวิธีการตรวจในปัจจุบัน

ในเด็กจะพบเสมอว่า หากมีไข้สูง อาจเกิดอาการชักขึ้นได้ จากสถิติการสำรวจทั่วโลกก็จะพบได้ในลักษณะเดียวกัน และพบต่อไปว่าในกลุ่มของเด็กที่มีอาการชักเมื่อมีไข้สูงนี้จะหายไปได้เองประมาณ 65-75% ที่เหลืออยู่จำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และอาจต้องใช้ยาควบคุมอาการชักอย่างต่อเนื่องด้วย

จะต้องไม่ลืมว่ากลุ่มอาการชักที่หายไปได้เอง เช่น อาการชักที่เกิดจากไข้สูง เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ ผลข้างเคียงของยา ผลข้างเคียงของสุรา ครรภ์เป็นพิษ ฯลฯ อาจทำให้เกิดอาการชักและหายไปเองได้ ไม่ต่อเนื่อง ไม่ต้องรักษาโดยใช้ยาควบคุมต่อเนื่อง จัดว่ายังไม่เป็นโรคลมชัก แต่ถ้ามีอาการชัก 7 ประการดังจะกล่าวต่อไปนี้แล้วไซร้ ให้จำไว้ว่า เป็นอาการชักที่บ่งบอกว่าเกิดจากโรคร้ายแรงของสมอง อาการชัก 7 ประการนั้นคือ

1. ชักแล้วไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติอีก
2. ชักติดต่อกันหลายครั้ง หรือชักไม่หยุด
3. ชักในระยะหลังทวีความรุนแรงขึ้น หรือเปลี่ยนแบบไปจากเดิม
4. หลังชักมีอาการอ่อนแรงมากขึ้น หรือนานขึ้น
5. ชักที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ
6. ชักที่เคยกินยาควบคุมอยู่ แต่ต่อมา กลับคุมไม่ได้
7. ชักที่เกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ อ่อนแรงครึ่งซีก หรืออาการทางระบบประสาทอย่างอื่น

ข้อมูลจาก www.md.chula.ac.th/ public/medinfo/disease/epilepsy


--------------------------------------------------------------------------------
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
เดลินิวส์
ชีวิตและสุขภาพ



แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Tuesday, 23 August 2005 )

0 comments: