Wednesday, October 22, 2008

ลิ้นหัวใจรั่ว

ลิ้นหัวใจเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจที่ทำหน้าที่คล้ายประต ูกั้นไม่ให้เลือดที่อยู่ในแต่ละห้องหัวใจ่ไหลย้อนกลับขณะที่ห้องหัวใจบีบตัว ลิ้นหัวใจจึงทำหน้าที่คล้ายประตู ปิด-เปิด ระหว่างห้องหัวใจตลอดเวลาตั้งแต่เกิด หัวใจคนเรามีลิ้นหัวใจอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ

ไตรคัสปิด (Tricuspid) อยู่ระหว่าหัวใจห้องขวาบนและล่าง

พูลโมนารี่ (Pulmonary) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดแดงที่ไปปอด

ไมตรัล (Mitral) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง

เอออร์ติค (Aortic) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกาย


ลักษณะของลิ้นหัวใจประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อเป็นแผ่น บางหรือหนา และจำนวนแผ่นเนื้อเยื่อจะขึ้นกับตำแหน่งของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจไมทรัล ซึ่งเป็นลิ้นที่มีความสำคัญมากลิ้นหนึ่งประกอบไปด้วยแผ่น (leaflet) 2 แผ่น เป็นรูปคล้ายอานม้า หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนของลิ้นเอออร์ติค เป็นจะแผ่นรูปเสี้ยงวงกลมบางๆ จำนวน 3 แผ่น เป็นต้น แผ่นเหล่านี้ดูเหมือนอ่อนแอ ขาดง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วมีความแข็งแรงมาก


ลิ้นหัวใจรั่ว


หัวใจห้องบน (ซ้ายหรือขวา) จะบีบตัวหลังจากลิ้นหัวใจเปิดออก เลือดจะไหลจากหัวใจห้องบนมายังห้องล่าง เมื่อเลือดไหลหมด แล้วหัวใจห้องล่าง (ซ้ายหรือขวา) จะบีบตัว แรงดันที่เกิดขึ้นจะดันให้ลิ้นหัวใจเคลื่อนมาชนกัน อยู่ในตำแหน่งที่ปิดสนิท ไม่มีเลือด ไหลย้อนกลับไปหัวใจห้องบนอีก ปรากฏการณ์นี้ก็เกิดเช่นเดียวกันกับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจกับหลอดเลือดแดงใหญ่ ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจาก สาเหตุใดๆก็ตาม ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก เราเรียกว่า "ลิ้นหัวใจตีบ" ซึ่งไม่ใช่ "หัวใจตีบ" หรือ "หลอดเลือดตีบ" และเมื่อถึงคราวต้องปิด แต่ปิดไม่สนิท มีรู หรือ ช่อง ให้เลือดไหลย้อนกลับได้ เราเรียกว่า "ลิ้นหัวใจรั่ว" ในหลายๆครั้งที่ลิ้นหัวใจอยู่ในสภาพที่แข็ง ปิดก็ปิดไม่สนิท เปิดก็ไม่ได้เต็มที่ นั่นคือ ทั้งตีบและรั่วในลิ้นเดียวกัน


สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว


1 มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด โดยอาจไม่มีอาการใดๆในวัยเด็กก็ได้

2 ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวและรับแรงจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดการเสื่อมขึ้น ลิ้นหัวใจ จะหนาตัวขึ้นและเริ่มมีหินปูน (calcium) เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อ ทำให้ปิดไม่สนิท

3 โรคหัวใจรูห์มาติค ซึ่งเริ่มต้นจากการติดเชื้อ Streptococus ในคอ ซึ่งพบบ่อยในเด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ต่อต้านหัวใจตนเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ผลตามมาคือลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้นมาก เกิดลิ้นหัวใจตีบและรั่ว โรคนี้ยังจัดเป็นปัญหา สาธารณสุขของประเทศอยู่ พบบ่อยๆ ในผู้ป่วยเศรษฐานะต่ำ หรือ อยู่ในชุมชนแออัด

4 เกิดจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด (ในผู้ติดยา เสพติด) การเจาะตามร่างกาย(เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ) เป็นต้น


ตรวจอย่างไร


การตรวจร่างกายจะให้การวินิจฉัยโรคได้ดี โดยจะได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติ เรียกว่า "เสียงฟู่" หรือ murmur ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจาก ลิ้นหัวใจตีบก็ได้ รั่วก็ได้ แล้วแต่ตำแหน่งของลิ้นหัวใจ อย่างไรก็ตามเสียงฟู่ไม่ได้พบเฉพาะในโรคลิ้นหัวใจเท่านั้น ยังพบในหลายกรณี เช่น คนปกติบางราย คนตั้งครรภ์ ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว ฯลฯ


การตรวจพิเศษที่ช่วยในการวินิจฉัยลิ้นหัวใจรั่ว รวมทั้งสามารถบอกความรุนแรงและลักษณะของลิ้นหัวใจได้ดีที่สุด คือ การตรวจ ด้วยคลื่นสะท้อน หรืออัลตราซาวน์ เราเรียกการตรวจชนิดนี้ว่า เอคโค่ (echocardiogram) ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือ และ ความชำนาญของแพทย์ในการทำ และแปลผลด้วย บ่อยครั้งที่การใช้เครื่องมือ hi-tech นี้ก็มีผลเสีย เนื่องจากเครื่องมือมี "ความไว" เกินไป สามารถตรวจจับการ "รั่ว" เพียงเล็กน้อยได้ ซึ่งการรั่วเล็กน้อยเหล่านี้ไม่ได้มีความสำคัญเลย แต่เมื่อแพทย์บอกผู้ป่วยไป ก็ทำให้เกิดความกังวลแก่ผู้ป่วยและญาติ (แต่ไม่บอกก็ไม่ได้เช่นกัน)


การตรวจเอกซ์เรย์ทรวงอก แม้จะไม่สามารถวินิจฉัยลิ้นหัวใจได้โดยตรง แต่ก็สามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการบอกความรุนแรง ของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในสมัยก่อนเอกซ์เรย์ทรวงอกมีความสำคัญอย่างมาก และต้องถ่ายหลายๆท่าประกอบกัน แต่ในปัจจุบัน จำเป็นที่ต้องถ่ายหลายท่าลดลง เพราะ "เอคโค่" ให้รายละเอียดเกี่ยวกับลิ้นหัวใจโดยตรง


อาการเป็นอย่างไร


ลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยจะไม่แสดงอาการใดๆ หรือแม้แต่รั่วมากในหลายๆรายก็ไม่แสดงอาการ อาการต่างๆ จะปรากฏเมื่อหัวใจ ไม่สามารถทนรับกับ ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นได้ต่อไปอีก อาการที่เกิดจึงเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) เช่น หอบเหนื่อย ขาบวม ใจเต้นเร็ว เป็นต้น ดังนั้นการตรวจร่างกาย หรือ ตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้นจึงสามารถบอกได้


รักษาอย่างไร


แม้ว่าลิ้นหัวใจทำหน้าที่คล้ายประตู แต่หากเปิด-ปิดไม่สะดวกก็ไม่สามารถรักษาด้วยการหยอดน้ำมันเหมือนประตูได้ ต้องเปลี่ยน อย่างเดียว หมายความว่า ต้องแก้ไขที่ตัวลิ้นหัวใจ จะด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม หรือ ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจก็ตาม แพทย์จะทำการผ่าตัด เฉพาะในรายที่ลิ้นหัวใจเสีย มากเท่านั้น ดังนั้น หากลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง แพทย์จะแนะนำให้ติดตามดูอาการ ไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดแก้ไข ซึ่งหลายๆราย เสียชีวิตด้วยโรคอื่นก่อนที่จะเสียชีวิตจากหัวใจ


ขอแนะนำ Link เกี่ยวกับการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ บทความจากมติชน ที่นี่


การปฏิบัติตัว


หากลิ้นหัวใจรั่วไม่มากก็สามารถมีกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ส่วนถ้ารั่วมาก มักจะมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งก็ถูกจำกัดกิจกรรมต่างๆ ไปโดยปริยาย หัวใจท่านอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นท่านต้องทะนุถนอมหัวใจท่านให้มากๆ ไม่ทำร้ายหัวใจด้วย อาหารเค็ม บุหรี่ อาหาร ไขมันสูง เหล้า-เบียร์-ไวน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแย่ลง


สิ่งสำคัญประการหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ต้องระวังการติดเชื้อ ดังนั้นหากจะทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือ ทำผ่าตัดใดๆ ก็ต้องบอกแพทย์ให้ทราบด้วย เพื่อให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อน

บทความ http://www.thaiheartweb.com

[ ... ]

ความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคแรงดันเลือดสูง ภาษาอังกฤษเรียก Hypertension ภาษาชาวบ้านเรียกง่ายๆว่า “โรคความดัน” ซึ่งเป็นโรคที่รู้จักกันมาก โรคหนึ่ง แต่เชื่อไหมครับ จากการศึกษาพบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 68.4 เท่านั้นที่ทราบว่าตัวเองมี ความดันโลหิตสูง และมีเพียงร้อยละ 53.6 ที่รับการรักษา และในกลุ่มนี้มีเพียงร้อยละ 27.4 ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี นั่นเป็นสถิติต่างประเทศ สำหรับบ้านเรายังล้าหลังเรื่องข้อมูลพวกนี้อยู่มาก ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงช่วยให้ผู้อ่านมีความเข้าใจ และ เห็นความสำคัญของการรักษาความดันโลหิตสูงมากขึ้น

ความดันโลหิตคืออะไร

ลองนึกภาพสายยางรดน้ำต้นไม้ มีน้ำไหลเป็นจังหวะการปิดเปิดของก๊อก เมื่อเปิดน้ำเต็มที่ น้ำไหลผ่านสายยาง ย่อมทำให้เกิดแรง ดันน้ำขึ้นในสายยางนั้น และเมื่อปิดหรือหรี่ก๊อก น้ำไหลน้อยลง แรงดันในสายยางก็ลดลงด้วย ระบบหัวใจและหลอดเลือด ก็เป็น ระบบไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย โดยมีหัวใจ ทำหน้าที่คล้ายก๊อก หรือ ปั๊มน้ำ คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เลือดไหลแรงดี ความดันก็ดี หากหัวใจบีบตัวไม่ดี เลือดไหลอ่อน ความดันก็ลดลง นอกจาก นั้นแล้วความดันในหลอดเลือดยังขึ้นกับสภาพของ หลอดเลือดด้วย หากหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี จะปรับความดันได้ดี ไม่ให้สูงเกินไป แต่หาก หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น หรือ แข็งตัว ก็จะทำให้ความดันเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ค่าความดันโลหิตจะมีสองค่าเสมอ เรียกว่า “ตัวบน” และ “ตัวล่าง” ค่าแรกเป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นขณะที่หัวใจ บีบตัว ไล่เลือดออก จากหัวใจ ส่วนตัวล่างคือความดันของเลือดที่ยังค้างอยู่ในหลอดเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว ผู้ป่วยความดัน โลหิตสูงควรจำค่าทั้งสองไว้ เพราะมีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


ความดันโลหิตเท่าไรเรียกว่าปกติ

ปัจจุบันความดันโลหิตที่เรียกว่า “เหมาะสม” ในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี คือ ตัวบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท เรียกสั้นๆว่า 120/80 ความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ ต่ำกว่า 130/85 มม.ปรอท ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท จะเรียกได้ว่ามีความดันโลหิตสูงเมื่อ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท อย่างไรก็ตามก่อน ที่จะเรียกว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงได้นั้น แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลายๆครั้ง หลังจากให้ผู้ป่วยพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริง และที่สำคัญเทคนิค การวัดต้องถูกต้องด้วย


การวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
เครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิตที่เป็นมาตราฐานคือผ้าที่มีถุงลมพันที่แขน และ ใช้ปรอท ในขณะวัดความดันโลหิตผู้ถูกวัดความดัน โลหิตควรจะอยู่ ในท่านั่งสบายๆ วัดหลังจากนั่งพักแล้ว 5 นาที ไม่วัดหลังจากดื่มกาแฟ หรือ สูบบุหรี่ ขนาดของผ้าพันแขนก็ต้อง เหมาะสมกับแขนผู้ถูกวัดด้วย หากอ้วนมากแล้วใช้ผ้าพันแขนขนาดปกติ ค่าที่ได้จะสูงกว่าความเป็นจริง การปล่อยลมออกจาก ที่พันแขนก็มีความสำคัญอย่างมาก และ เป็นที่ละเลย กันมากที่สุด คือจะต้องปล่อยลมออกช้าๆ ไม่ใช่ปล่อยพรวดพราดดังที่เห็น หลายๆแห่งทำอยู่ การทำเช่นนั้นทำให้ได้ค่าที่ผิดไปจากความเป็นจริงมาก เครื่องวัดความดันก็ต้องได้มาตราฐาน ไม่ใช่เครื่องเก่า มากหรือมีลมรั่ว เป็นต้น ตำแหน่งของเครื่องวัดก็ควรอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ และต้องวัดซ้ำๆ เพื่อหาค่าเฉลี่ย

ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ออกแบบมาให้วัดความดันโลหิตได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยผู้วัดไม่จำเป็นต้องมีความรู้เลย เพียงแค่ใส่ถ่าน พันแขนและกดปุ่ม เครื่องจะวัดให้เสร็จ อ่านค่าเป็นตัวเลข เครื่องแบบนี้มีขายตามศูนย์การค้าทั่วไป โดยทั่วไปแล้วใช้งานได้ดี (แบบพันแขน) แต่ก็ต้องนำเครื่องมา ตรวจสอบความถูกต้องเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องชนิดนี้ไว้วัดที่บ้านด้วย ในอนาคตเครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอทอาจจะเลิกใช้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลทางสิ่งแวดล้อม(ปรอทเป็นสารอันตราย) และ อีกเหตุผลหนึ่งคือใช้เทคนิคมากในการวัดให้ถูกต้อง

ความรู้ปัจจุบันพบว่าการวัดความดันโลหิตที่ดีที่สุดคือการวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหลับและตื่น เพื่อดูแบบแผน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และหาค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของช่วงกลางวันและกลางคืน ค่าที่ถือว่าปกติโดยการวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมงนี้ คือ ขณะตื่นความดันโลหิตเฉลี่ยควร น้อยกว่า 135/85 มม.ปรอท และเมื่อหลับความดันโลหิตเฉลี่ยควรน้อยกว่า 120/75 มม.ปรอท

ข้อที่ควรทราบบางประการเกี่ยวกับความดันโลหิต

ประการแรกคือความดันโลหิตเป็นค่าไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกวินาที จึงไม่แปลกที่วัดซ้ำในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แล้วได้คนละค่า แต่ก็ไม่ควรจะแตกต่างกันนัก ความดันโลหิตยังขึ้นกับท่าของผู้ถูกวัดด้วย ท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน นอกจากนั้นแล้ว ยังขึ้นกับ สิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหาร บุหรี่ อากาศ กิจกรรมที่ทำอยู่ รวมทั้งจิตใจด้วย

ประการต่อมาคือภาวะความดันโลหิตสูงปลอม หมายความว่าจริงๆแล้วผู้ป่วยไม่ได้มีความดันโลหิตสูง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ เมื่อมาวัดความดันโลหิต ที่คลินิกแพทย์หรือโรงพยาบาล จะวัดได้สูงกว่าปกติทุกครั้ง แต่เมื่อวัดโดยเครื่องวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมงหรือวัดด้วยเครื่องอิเลคโทรนิคเองที่บ้าน กลับพบว่าความดันปกติ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า White coat hypertension หรือ Isolated clinic hypertension กลุ่มนี้มีอันตรายน้อยกว่าความดันโลหิตสูงจริงๆ

ความดันโลหิตสูงเกิดจากอะไร และ มีอาการอย่างไร

จนถึงปัจจุบันนี้ความดันโลหิตสูงก็ยังเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุเป็นส่วนใหญ่ มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้องทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารรสเค็ม เชื้อชาติ ส่วนน้อยเกิด (น้อยกว่าร้อยละ 5) จากความผิดปกติของหลอดเลือด ไตวาย หรือ เนื้องอกบางชนิด ความดันโลหิตสูงได้ชื่อว่าเป็นฆาตกรเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ทราบว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูง หรือ แม้จะทราบแต่ละเลยไม่สนใจรักษาเพราะรู้สึกปกติ สบายดี ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่างๆตามมาภายหลัง ผู้ป่วยส่วนน้อยที่มี อาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ

ทำไมต้องลดความดันโลหิต

การที่ปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะหลอดเลือด เลี้ยงสมอง ตา หัวใจ และไต จึงทำให้หลอดเลือดสมองแตก หรือ ตีบตัน เป็นอัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โรคหัวใจขาดเลือด ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วความดันโลหิตสูง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนเกิดหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนา ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายตามมา เห็นได้ว่า การละเลย ไม่สนใจรักษาก็จะมีโทษต่อตนเอง ในอนาคต เป็นที่น่าเสียดายที่ผลแทรกซ้อนต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมความดันโลหิต แม้จะไม่สามารถป้องกัน ได้ทั้งหมดก็ตาม ดังนั้นการรักษาความดันโลหิตสูงในวันนี้ ก็เพื่อที่จะลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคตลงให้มากที่สุดนั่นเอง



ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ การรับประทานยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาตลอดไป หากหยุดยา ความดันโลหิตอาจกลับมาสูงอีกได้

เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แม้ความดันโลหิตจะสูงมากๆก็ตาม ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้อาการมาพิจารณาว่า วันนี้จะรับประทานยา หรือไม่ เช่น วันนี้สบายดีจะไม่รับประทานยาเช่นนั้นไม่ได้

การรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลาเป็นระยะเวลานาน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคแทรกทางสมอง หัวใจ ไต และหลอดเลือดได้

การรักษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การไม่ใช้ยา กับการใช้ยา การไม่ใช้ยาหมายถึงการลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่ และหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม ในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย อาจเริ่มการรักษาโดยไม่ใช้ยา แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคหัวใจอยู่ด้วยก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย

ปัจจุบันมียาลดความดันโลหิตอยู่หลายกลุ่ม กลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ราคาก็ต่างกันมาก ตั้งเม็ดละ 50 สตางค์ ถึง 50 บาท ยาลดความดัน โลหิตที่ดี ควรจะออกฤทธิ์ช้าๆ ไม่ทำให้ความดันโลหิตแกว่งขึ้นลงมากจนเกินไป สามารถควบคุมความดัน โลหิตได้ดีตลอด 24 ชั่วโมง โดยการรับประทาน เพียงวันละ 1 ครั้ง มีผลแทรกซ้อนน้อย แต่น่าเสียดายว่ายังไม่มียาใดที่วิเศษ ขนาดนั้น ยาทุกตัวล้วนก็มีข้อดี ข้อด้อย และ ผลแทรกซ้อนทั้งสิ้น อย่าลืมว่า การปล่อยให้ ความดันโลหิตสูงอยู่นานๆ ก็เป็นผลเสีย ร้ายแรงเช่นกัน จึงควรติดตามการรักษาโดยการวัดความดันโลหิตสม่ำเสมอ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หากมี ผลแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ท่านเดิมเพื่อปรับเปลี่ยนยา ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อยๆ เพราะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง

การรักษาความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยสูงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นต้องรักษา แต่ต้องรักษาด้วยความระมัด ระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากหากลด ความดันโลหิตมากเกินไป ก็อาจเกิดผลเสียขึ้นได้

นอกจากการรับประทานยาแล้ว การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ผ่องใส งดอาหารเค็ม ก็จะช่วยให้ ควบคุมความดันโลหิต ได้ดียิ่งขึ้น

โรคความดันโลหิตต่ำเป็นอย่างไร รักษาโดยดื่มเบียร์จริงหรือ

ความจริงแล้วไม่มี “โรคความดันต่ำ” มีแต่ภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายขาดสารน้ำ เช่น ท้องเสีย อาเจียน เสียเลือด อากาศร้อนจัด หรือจากยาบางชนิด ความดันโลหิตที่วัดได้ 90/60 มม.ปรอท ไม่ได้หมายความว่าเป็นความดันโลหิต ที่ต่ำกว่าปกติ คนจำนวนมากมีความดันโลหิตขนาดนี้ โดยไม่มีอาการผิดปกติ อาการหน้ามืด เวียนศีรษะบ่อยๆ ที่คนส่วนใหญ่ คิดว่าเป็นจาก "ความดันต่ำ" นั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ มักจะเกิดจากการ ขาดการออกกำลังกาย มากกว่าที่จะเกิดจากภาวะ ความดันโลหิตต่ำ การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ ต้องรักษาที่สาเหตุ ไม่ใช่การดื่มเบียร์อย่างที่เข้าใจกัน

ตรวจและรักษาที่ไหนดี

ท่านสามารถตรวจวัดความดันโลหิตได้ตามสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ การรักษาความดันโลหิตสูงเป็นการรักษาระยะยาว ดังนั้น ควรเลือกสถาน บริการใกล้บ้าน ที่ท่านสะดวก และ คุ้นเคยมากที่สุด หากท่านมีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง ท่าน สามารถสอบถามได้กับอายุรแพทย์ทั่วไป หรือ อายุรแพทย์โรคหัวใจในสถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน หรือ ท่านยังอาจถาม อายุรแพทย์โรคหัวใจทาง Thai Heart Web ได้

การจำแนก

ความดันโลหิต "ตัวบน" (มม.ปรอท)


ความดันโลหิต "ตัวล่าง" (มม.ปรอท)

ความดันโลหิตที่เหมาะสม

<>

และ

<>

ความดันโลหิตปกติ

<>

และ

<>

ความดันโลหิตสูงเล็กน้อยแต่ยังปกติ

130-139

หรือ

85-89

ความดันโลหิตสูง




ระยะที่ 1 (อ่อน)

140-159

หรือ

90-99

ระยะที่ 2 (ปานกลาง)

160-179

หรือ

100-109

ระยะที่ 3 (รุนแรง)

> 180

หรือ

> 110
[ ... ]

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (โรคหัวใจขาดเลือด)

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย โดยเฉพาะในขณะนี้พบว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นสาเหตุ ที่ทำให้ มีจำนวนคนไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับสองรองจากการประสบอุบัติเหตุ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่าน ผู้อ่านควรมีความรู้ความเข้าใจ ถึงอาการ ที่สำคัญของโรคนี้

หัวใจคนเราเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานหนักที่สุดอวัยวะหนึ่ง หัวใจมีการเต้น การบีบตัวตั้งแต่แรกเกิดจนวินาทีสุดท้ายที่เราหมดลมหายใจ ดังนั้นหัวใจจึง ต้องมีหลอดเลือดซึ่งทำหน้าที่นำเลือดจากหลอดเลือดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย สารอาหาร พลังงาน และ ออกซิเจนไปเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อให้ กล้าม เนื้อหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆของร่างกายได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้ามี ปัญหาเกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ไม่ว่า จะเป็นการตีบหรือการอุดตันของหลอดเลือด ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกหล่อเลี้ยง โดยหลอดเลือดนั้นขาดเลือดหรือตายไป ทำให้กล้ามเนื้อ หัวใจบีบ ตัวได้ไม่ดี ผลที่ตามมาคือหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยง อวัยวะต่างๆได้เพียงพอ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้


ภาพตัดขวางของหลอดเลือดหัวใจที่ปกติ


ภาพตัดขวางของหลอดเลือดหัวใจที่ตีบกว่าปกติ


เหตุใดหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจจึงมีการตีบตัน

ถ้าจะเปรียบไปแล้ว หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจก็เปรียบเหมือนกับท่อส่งน้ำหรือท่อระบายน้ำ ซึ่งเมื่อมีการใช้งานไปนานๆก็ย่อม เกิดการอุดตันขึ้น จากเศษตะกอนต่างๆ หลอดเลือดแดงของหัวใจก็เช่นเดียวกัน การตีบของหลอดเลือดแดงนั้น ส่วนหนึ่งเกิดเมื่อ คนเราอายุมากขึ้น โดยธรรมชาติ ผนังหลอดเลือดก็จะมีการหนาตัวขึ้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจึงเป็นโรคของผู้ใหญ่วัยกลางคน และวัยสูงอายุเป็นส่วนใหญ่ แต่ในคนบางคนมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ เมื่ออายุยังไม่มาก เนื่องจากมีปัจจัยบางประการที่ส่งเสริมให้ผนังหลอดเลือด มีการตีบและหนาตัวเร็วขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ มากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วก็มีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่

ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบตันและทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตายจะมีอาการอย่างใด

อาการที่สำคัญที่สุดคืออาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอก เหมือนมีอะไรมาทับหรือบีบรัด อาการเตือนในระยะแรกๆคือ มีอาการ เจ็บแน่นหน้าอกขณะที่ออก แรงมากๆ เช่น เล่นกีฬา เดินขึ้นที่สูงๆ หรือเวลาออกไปเดินหลังจากทานอาหารอิ่ม เมื่อหลอดเลือด มีการตีบมากขึ้น อาการเจ็บหน้าอกก็จะเป็นได้ง่ายขึ้น เช่น เดินเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ขึ้นบันไดเพียง 1-2 ชั้น อาบน้ำเย็นๆ และสุดท้าย อยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไรก็เจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้าม เนื้อหัวใจ ขาดเลือดจะเป็นอยู่นานเพียง 5-10 นาที เวลาพัก หรือ อมยาขยายหลอดเลือดแล้วจะดีขึ้น แต่อาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะเจ็บรุนแรงกว่า นานกว่า อมยาขยาย หลอดเลือดก็ไม่ดีขึ้น และอาจมีอาการเหนื่อยหอบ เหงื่อแตกอย่างมากร่วมด้วย

นอกจากอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันแล้ว ผู้ป่วยอาจมาด้วยเรื่องเหนื่อยง่าย เหนื่อยผิดปกติ ดังนั้น จึงใคร่ขอแนะนำ ให้ท่านผู้อ่านที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นไปขอรับการปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งแน่นอนที่สุดถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในขณะ ที่อาการต่างๆยังไม่รุนแรงมาก โอกาส ในการรักษาให้ดีขึ้นก็สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงมากๆ อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันจะทำได้อย่างไร

การรักษาอาจแบ่งง่ายๆเป็นการใช้ยา การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (เรียกว่าผ่าตัด "บายพาส") และ ใช้ลูกโป่งเพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบ ทั้งนี้และทั้งนั้นการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจะเหมาะสมกับผู้ป่วยรายใด ก็คงต้องอยู่ใน ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และ ความต้องการของผู้ป่วยด้วย


สุดท้ายนี้คงต้องควบคุมปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้หลอดเลือดตีบได้ง่ายขึ้นด้วย เช่น การงดสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก และการควบคุมอาหาร การลดไขมันในเลือด และการควบคุมเบาหวานให้ดีด้วย


เรียบเรียงโดย นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ

[ ... ]

ไขมันในเลือดสูง

มีหลายบทความในเว็บสุขภาพต่างๆเกี่ยวกับไขมันในเลือด จนผมแทบไม่ต้องแนะนำแล้ว แต่เมื่ออ่าน ดูเห็นว่าเว็บส่วนใหญ่มิได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษานัก อีกทั้งพบว่ามากกว่า 50 % ของคน กรุงเทพฯ มีระดับไขมัน Cholesterol มากกว่า 240 มิลลิกรัมต่อดล. ซึ่งสูงทีเดียว จึงขอนำมาเล่า ให้ฟังอีกครั้ง


ไขมันในเลือดมีอะไรบ้าง

ไขมันในเลือดมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือด การเกิดภาวะ หลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) แตกต่างกันไปบ้าง ไขมันที่มีความสำคัญ มีดังนี้


คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

เป็นไขมันที่มีความจำเป็นสำหรับเซลต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลสมอง เซลประสาท ร่างกายสามารถสังเคราะห์ไขมันนี้ได้เองที่ตับ (ผู้ป่วยโรคตับ หรือ มะเร็ง จึงมีคอเลสเตอรอลต่ำ) และ ได้จากอาหารด้วย อาหารที่มีไขมันคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ อาหารมันๆต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้จาก ไขมันสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน หมูติดมัน หมูสามชั้น ข้าวมันไก่ ขาหมู เครื่องใน หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง ไข่ปลา กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม แกงกะทิ เป็นต้น


เมื่อไปเจาะเลือดเพื่อตรวจคอเลสเตอรอล ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจ คอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) แต่ความจริงแล้ว ยังมีคอเลสเตอรอลย่อยๆอีก คือ แอล-ดี-แอล (LDL-Cholesterol) วี-แอล-ดี-แอล (VLDL-Cholesterol) เอช-ดี-แอล (HDL-Cholesterol)


LDL-C

จัดเป็นไขมัน"ตัวร้าย"ที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในผนังของหลอดเลือดแดงทั้งร่างกาย เช่น สมอง (เกิดอัมพาต) หัวใจ (เกิดโรคหัวใจขาดเลือด) ไต (เกิดไตวาย) อวัยวะเพศ (หย่อนสมรรถ ภาพทางเพศ) เป็นต้น พบว่าความผิดปกติเหล่านี้สัมพันธ์กับระดับ Total cholesterol และ LDL-C อย่างมาก


HDL-C

ตรงข้ามกับ LDL-C ไขมัน HDL-C นี้เป็น"พระเอก"ช่วยนำเอาไขมันที่สะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ออกมา แต่ทำงานช้ากว่าผู้ร้ายเสมอ ระดับไขมัน HDL-C ต่ำจะเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ในทาง กลับกันหากยิ่งสูงยิ่งดี ช่วยป้องกันโรคนี้ เราสามารถเพิ่ม HDL-C ให้สูงได้ด้วย การหยุดบุหรี่ ออก กำลังกายแบบแอโรบิคสม่ำเสมอ ลดน้ำหนัก ยาบางชนิด ดื่มแอลกอฮอล์จำนวนเล็กน้อย (แต่ผมไม่ แนะนำ) HDL-C นี้ก็ถูกควบคุมโดยพันธุกรรมเช่นกัน ดังนั้นบางรายทำอย่างไร HDL-C ก็ไม่สูงขึ้น


ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)

เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่ Cholesterol แต่ก็มีความสำคัญเช่นกัน พบว่ามีความสัมพันธ์กับโรค หัวใจขาดเลือด แต่ความสัมพันธ์นี้อาจไม่ "แรง" หรือ "ชัดเจน" เหมือน cholesterol นัก พบได้บ่อย มากในผู้ที่อ้วน เบาหวาน ดื่มสุราประจำ หรือมีโรคบางชนิดอยู่ด้วย ที่ว่าความสัมพันธ์กับโรคหัวใจไม่ ชัดเจนก็เพราะผู้ที่มีไขมันชนิดนี้สูง มักมีปัจจัยเสี่ยงข้ออื่นๆของโรคหัวใจรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังไม่มี การศึกษายืนยันว่าการลดไขมัน Triglycerides จะลดโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด (แตกต่างจาก ไขมัน Cholesterol ที่มีการศึกษาแน่นอนว่าการลดระดับไขมัน Cholesterol ได้ประโยชน์ทั้งใน ผู้ที่ยังไม่มีโรคหัวใจ หรือ เกิดโรคหัวใจขึ้นแล้ว)


Lipoprotein a หรือ Lp (a)

เป็นไขมันที่เกาะรวมอยู่กับโปรตีน ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือดเช่นเดียวกันกับ LDL-C โดยทั่วไปไม่นิยมส่งตรวจเนื่องจากราคาแพงและไม่สามารถทำได้แพร่หลาย


ค่าปกติของไขมันในเลือด

ความจริงแล้วไม่มีค่าปกติ ทั้งนี้เนื่องจากหากเอาผู้คนที่ปกติ แข็งแรงดีมาตรวจหาระดับ Cholesterol อาจพบว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 240 มิลลิกรัมต่อดล. ซึ่งถือว่าผิดปกติ ดังนั้นเราเรียกว่า "ค่าที่แนะนำ" จะเหมาะสมกว่า ค่าที่แนะนำนี้เปลี่ยนแปลงไปตามความรู้ทางการแพทย์ สมัย 10-15 ปีก่อน ถือว่า ไขมัน Cholesterol ไม่ควรเกิน 250 มิลลิกรัมต่อดล. แต่ความรู้ในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงค่านี้เป็น Total Cholesterol น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อดล.และ LDL-C น้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อดล. ในผู้ที่ยังไม่เกิดโรค แต่สำหรับผู้ที่เกิดโรคหัวใจขึ้นแล้ว ควรรักษาให้ต่ำกว่านี้ คือ LDL-C ควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อดล. ในอีก 5 ปีข้างหน้าตัวเลขเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปอีกแน่นอน


สำหรับไขมัน Triglycerides แนะนำให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อดล. และมีหลายท่านพยายามให้น้อย กว่า 150 มิลลิกรัมต่อดล. ซึ่งผมยังไม่เห็นด้วยนัก


การศึกษาเกี่ยวกับไขมัน Cholesterol สรุปได้ดังนี้



  • Total Cholesterol, LDL-C สัมพันธ์กับภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย อัมพาต การเสียชีวิตจากโรคหัวใจ

  • ไขมัน Cholesterol สูงตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก หรือ วัยรุ่น มีโอกาสเกิดปัญหาจากโรคหัวใจ ขาดเลือดเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

  • การลดระดับไขมัน Cholesterol ได้ประโยชน์แน่นอน ทั้งในกรณีที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ และ เกิดโรคหัวใจขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้ประโยชน์ทุกราย หรือ ทุกคน เราก็ไม่ ทราบว่าผู้ใดจะได้ประโยชน์ ผู้ใดจะไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเรื่องของสถิติ ลดโอกาสเสี่ยงต่างๆลงเท่านั้น

  • การควบคุมไขมันให้ต่ำ ช่วยลดโอกาสเกิดอัมพาต (stroke) ด้วย

  • ในผู้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ ควรให้ไขมัน LDL-C ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม ต่อดล. เนื่องจากจะช่วยชลอการตีบของหลอดเลือด และ ช่วยให้แผ่นไขมันไม่แตกง่าย การแตก ของแผ่นไขมันทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย (heart attack)

  • ในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง การควบคุมอาหารอย่างเดียวสามารถลดไขมันได้น้อย และ มักจะ ไม่ได้ระดับที่ต้องการ

  • การรักษาไขมันในเลือด เป็นการรักษาเพื่อหวังผลในระยะยาว หมายถึง ต้องควบคุมให้ไขมันใน เลือดต่ำอยู่ตลอดเวลา เป็นระยะเวลานาน อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป จึงจะได้ประโยชน์จากยา ดังนั้น การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากยา เสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์

  • ยาที่ดีที่สุดสำหรับการลด LDL-C ในขณะนี้คือยากลุ่ม Statin ซึ่งมีหลายตัว ผลแทรกซ้อน จากยาต่ำมาก ยากลุ่ม Fibrate เช่น Gemfibrozil (Lopid) สามารถลด Triglycerides ได้ดี แต่สำหรับ LDL-C แล้วสู้กลุ่ม Statin ไม่ได้ ยา Cholestyramine (Questran) สามารถลด LDL-C ได้ดีเช่นกัน แต่รับประทานยาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถรับประทานได้นานๆ


การลดไขมันในเลือดเป็นสิ่งที่ควรทำในผู้ที่มี Total Cholesterol มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อดล. ควรเริ่มต้นจากการควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ไขมันจากสัตว์ ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก หากไขมันในเลือดยังสูงอยู่ หรือ มีโรคหัวใจ ท่านควรรับประทานยา (แนะนำกลุ่ม Statin) และท่านต้อง เข้าใจว่าหากหวังผลในการชลอการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ ท่านต้องรับประทานยาสม่ำเสมอเป็น ระยะเวลานาน หลายปี แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าหากรับประทานยาแล้วจะไม่เกิดโรค เป็น เพียงลด "โอกาสเกิดโรค" เท่านั้น



บทความจาก http://www.thaiheartweb.com
[ ... ]

สมุนไพรรักษากลาก เกลื้อน

สมุนไพรรักษากลาก เกลื้อน (ดูรายละเอียดของ กลาก เกลื้อน)

- ชุมเห็ดไทย



วิธีปรุง เอาใบสดของชุมเห็ดไทย ประมาณ 20 ใบ ล้างให้สะอาด

นำมาโขลกให้ละเอียด เอาเหล้าขาวผสมลงไป คลุกให้เข้ากัน นำมา

ใช้ทันที

การใช้ เอาส่วนผสมที่โขลกเข้ากันดีแล้วมาทาบริเวณที่เป็น กลาก

เกลื้อน เช้า กลางวัน เย็น รวมทั้งก่อนนอน ในไม่กี่วันอาการเป็น

กลาก เกลื้อนจะหายไป





- ชุมเห็ดเทศ





วิธีปรุง นำใบสดของชุมเห็ดเทศมาประมาณ 10 ใบ ล้างให้สะอาด

นำมาโขลกให้ละเอียด เอาเกลือป่นใส่ลงไปเล็กน้อย

การใช้ ก่อนทาให้เอาเส้นตอกมาทำความสะอาด ลวกน้ำร้อน จาก

นั้นเอามาครูดบริเวณที่เป็นไปเรื่อยๆให้ผิวหนังถลอกเล็กน้อยแล้ว

จึงเอาใบที่โขลกแล้วมาทาให้ทั่ว เพียงไม่กี่วันก็จะหาย





- กะเพรา





วิธีปรุง เอาใบสดประมาณ 20-30 ใบมาล้างให้สะอาด โขลกให้แหลก

การใช้ นำมาทาบริเวณที่เป็นให้ทั่ว เช้า กลางวัน และเย็น และก่อน

นอนไม่กี่วันอาการก็จะหายไป




- ผักบุ้ง




วิธีปรุง เอาดอกผักบุ้งที่กำลังตูม มาล้างน้ำให้สะอาดสัก 10 ดอก

โขลกให้แหลก

การใช้ นำมาทาบริเวณที่เป็นให้ทั่ว เช้า กลางวัน และเย็น และ

ก่อนนอน ไม่กี่วันอาการก็จะหายไป





- กระเทียม





วิธีปรุง เอาหัวกระเทียมมา 1 หัว แกะเปลือกออก

การใช้ ส่วนหนึ่งหมั่นรับประทานด้วยทุกวัน อีกทางหนึ่งผ่าครึ่ง

กระเทียม นำมาทาถูบริเวณที่เป็นกลาก เกลื้อนโดยทา เช้า

กลางวัน เย็น ก่อนนอน




- เหง่าข่าแก่





วิธีปรุง เอาเหง้าข่าแก่มาล้างทำความสะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

ประมาณ 1 นิ้ว ใส่ครกโขลกให้ละเอียดผสมเหล้าขาวคนให้เข้ากัน

การใช้ นำมาทาบริเวณที่เป็นให้ทั่ว เช้า กลางวัน และเย็น และ

ก่อนนอน ไม่กี่วันอาการก็จะหายไป




- ใบสดทองพันชั่ง



วิธีปรุง นำใบสดมาประมาณ 10 ใบล้างทำความสะอาด โขลกให้

ละเอียด เอาเหล้าขาวผสมลงไปเล็กน้อย คลุกให้เข้ากันดี

การใช้ นำมาทาบริเวณที่เป็นให้ทั่ว เช้า กลางวัน และเย็น และ

ก่อนนอน ไม่กี่วันอาการก็จะหายไป







- สูตรผสม แก้กลาก เกลื้อน




ใบชุมเห็ดไทย 7 ใบ / กระเทียม 3 กลีบ / เกลือ 3 เม็ด นำมา

โขลกให้เข้ากัน ทาบริเวณที่เป็น เช้า กลางวัน เย็น กลาก เกลื้อน

จะหายไป




บทความจาก www.thailabonline.com
[ ... ]

Sunday, October 19, 2008

รอบรู้เรื่องเมลามีน

รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมลามีน คือ พลาสติกชนิดหนึ่งมีสารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นส่วนประกอบ หรือที่เรารู้จักคุ้นเคยกันคือ ฟอร์มาลีน ส่วนใหญ่เมลานีนจะถูกนำมาผลิตพลาสติก จานเมลามีน ถุงพลาสติก พลาสติกสำหรับห่ออาหาร นอกจากนี้เมลามีนยังอยู่ในอุตลาหกรรมเม็ดสีเป็นหมึกพิมพ์สีเหลือง นอกจากนี้ยังนำไปทำน้ำยาดับเพลิงคุณภาพดี น้ำยาทำความสะอาด และปุ๋ย เพราะโครงสร้างของเมลามีนมีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบที่ค่อนข้างสูง

คุณสมบัติของเมลามีน
เป็นเมตาโบไลท์ของไซโรมาซีน(Cyromazine) ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่งเมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและพืชได้รับเข้าไปในร่างกายจะสามารถเปลี่ยนไปเป็นเมลามีนได้ มีไนโตรเจน 66.67 % คิดเป็นปริมาณโปรตีนได้ 416.66 % จัดเป็นพวก Non-Protein Nitrogen (NPN) ในสัตว์กระเพาะรวม แต่ไม่นิยมใช้เพราะการ Hydrolysis ช้าและไม่สมบูรณ์เหมือนยูเรีย ลักษณะเป็นผงสีขาว มีสูตรโครงสร้างทางเคมี C3H6 N6 (1,3,5 Triazine 2,4,6 Triamine) ละลายน้ำได้น้อย เมลามีนคุณภาพดีจะนำไปทำเม็ดพลาสติกเรียกเม็ดเลซินเมลามีน ส่วนเศษที่เหลือหรือเมลามีนที่คุณภาพเลวจะนำกลับไปทำของใช้ ซึ่งเมลานีนคุณภาพเลวนี้ขบวนการของมันไม่สมบูรณ์จึงมีราคาถูก และเกิดอนุพันธ์ของเมลามีนขึ้นหลายชนิด เรียกว่า เมลามีนอันนาล็อก ประกอบด้วย ammeline,ammelide และ cyanuric acid แม้จะเป็นอนุพันธ์ของเมลามีนแต่ก็ยังมีโปรตีนสูงถึง 224.36 %

งานวิจัยกับเมลามีนในช่วงที่ผ่านมา
จากการวิจัยในปี ค.ศ.1971 มีการนำเมลามีนมาใส่ในอาหารโค เพราะเป็นแหล่งไนโตรเจน ต่อมาในปี 1971-1976 มีการวิจัยพบว่าเมลามีนมีไนโตรเจนสูงกว่ายูเรีย แต่เมื่อสัตว์กระเพาะรวม (โคเนื้อ โคนม แพะ แกะ) กินเข้าไปแล้วไม่สามารถย่อยได้สมบูรณ์ ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในตัวสัตว์จึงไม่นิยมใช้ จากนั้นมีการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยเมลามีนที่มาจากโรงงานผลิตที่ค่อนข้างดีก็จะมีเฉพาะเมลามีนตัวเดียวออกมาไม่มีอัลนาล็อก และมีการศึกษาเมลามีนในสัตว์และคน ก็พบว่าไม่เป็นพิษจึงยอมให้มาผลิตเป็พลาสติกภาชนะใส่อาหารและใช้ห่ออาหารอีกด้วย
จนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา หน่วยงาน U.S.Food and Drug ออกมาตรการให้มีการสืบสวนกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากเมืองจีน เพราะพบว่าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกาและแอฟริกาใต้ เมื่อสุนัขและแมวกินเข้าไปทำให้สัตว์เลี้ยงลัมป่วยและตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ U.S.Food and Drug ได้ประกาศระงับการนำเข้ากลูเตนที่ผลิตได้จากแป้งสาลี(wheat gluten) ของจีน รวมทั้งเรียกคืนสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากจีนรวมกว่า 60 ล้านกล่อง ครอบคลุมสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงประมาณ 100 ยี่ห้อ นอกจากนี้ยังมีความสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าคอนกลูเต้น ( corn gluten ) ที่ผลิตในอเมริกามีโปรตีนไม่ถึง 64 % ทั้ง ๆ ที่อเมริกาเป็นแหล่ง corn gluten แหล่งใหญ่ของโลกในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากเมืองจีนมีโปรตีนสูงถึง 68 % แต่กลับราคาถูกกว่า
นอกจากนำเข้า corn gluten จากจีนแล้ว อเมริกายังนำเข้าโปรตีนจากพืชชนิดอื่น ๆ ของจีน เช่น wheat gluten, rice bran และ rice protein concentrate หลังจากนั้นพบว่าเมื่อนำไปใช้เลี้ยงสัตว์แล้วเกิดปัญหา เมื่อตรวจสอบก็พบว่าโปรตีนจากพืชที่นำเข้าจากจีนปนเปื้อนด้วยเมลามีน และอนุพันธ์ของเมลามีน U.S.Food and Drug ได้ประกาศระงับการนำเข้าโปรตีนจากพืชของจีนรวมทั้งเรียกคืนอาหารสัตว์จากจีนกว่า 60 ล้านกล่อง ครอบคลุมสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงประมาณ 100 ยี่ห้อ
จากจุดนี้ทำให้หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหาร ประจำสหภาพยุโรป (European food Safety Authority : EFSA) ได้มีการกำหนดค่าในการบริโภคเมลามีนต่อวันของมนุษย์และสัตว์ ( toterable daily intake : TDI ) ในระดับไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวต่อวัน โดยค่ะ TDI ของเมลามีนทั้งคนและสัตว์ให้มีค่าเท่ากันเพราะยังไม่มีการวิจัยในสัตว์ออกมาส่วนค่าเมลามีนที่จะปนมากับอาหารคนและสัตว์เกินกว่า 30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือ 30 ppm. ได้
EU และประเทศสมาชิก 27 ประเทศมีการตรวจเข้มข้น เพื่อหาการปนเปื้อนของเมลามีนในสินค้าประเภท wheat gluten,corn gluten, corn meal, soy protein, rice bran, rice protein concentrate ที่นำเข้าจากจีนและประเทศที่ 3 ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกเฉียงใต้ทั้งนี้ให้รายงานผลการตรวจเข้าสู่ระบบเตือนภัยกลาง คือ Repid Alert System for Food and Feed





เมลามีนในประเทศจีน
จีนมีโรงงานผลิตเมลามีน 3 แหล่งใหญ่ ๆ ซึ่งร่ำรวยมาก ผลิตเมลามีนเดือนละหลายหมื่นตันในเมืองจีนเมลามีนวางขายหลากหลายยี่ห้อ และมีการับรองมาตรฐานอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการประกาศขายเมลามีนผ่านทางอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผย ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในเมืองจีนมีขายและใช้กันมากในการผลิตอาหารสุนัข อาหารสุกร รวมถึงแป้งที่คนกิน นอกจากจะนำมาใช้ในประเทศแล้ว จีนยังมีการส่งเมลามีนเข้าไปขายในประเทศที่ 3 ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเชีย และฟิลลิปปินส์ โดยไม่ได้นำเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมจานเมลามีน แต่เอามาปนเปื้อนในอาหารคนอาหารสัตว์ ซึ่งผู้ขายจากจีนจะไม่บอกว่าเป็นเมลามีนโดยบอกว่าเป็น ไบโอโปรตีน โดยเป็นเมลานีนเศษเหลือจากโรงงานพลาสติก ราคาถูก นำเข้าในราคากิโลกรัมละ 1.20 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่เมืองจีนราคาประมาณกิโลกรัมละ 1-2 หยวนเท่านั้น
ในตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าสารที่เข้ามาเป็นเมลามีน เพราะไม่มีน้ำยาสำหรับตรวจสอบได้ มีแต่ตรวจเช็คการปนเปื้อนยูเรีย Non-Protein Nitrogen คือ ปุ๋ย เป็นพวกแอมโมเนียมไนเตรท แอมโมเนียมฟอสเฟต แอมโมเนียมซัลเฟต นอกจากนั้นยังมีการตรวจการปนเปื้อนขนไก่ไฮโดรไลซ์เศษหนังเท่านั้น

ความเป็นพิษของเมลามีน
เกิดการระคายเคืองเมื่อสูดดมทำให้ตาและผิวหนังอักเสบ เมื่อกินเข้าไประบบสืบพันธุ์ถูกทำลาย เกิดนิ่วในท่อปัสสาวะและไต เกิดมะเร็งที่ท่อปัสสาวะ ในสุนัขจะขับถ่ายออกมามาก ปัสสาวะมีความถ่วงจำเพาะลดลง มีเมลามีนในปัสสาวะสูง และเห็นเกร็ดเล็ก ๆ สีขาวเกิดขึ้นที่ไตและปัสสาวะ โดยน้ำปัสสาวะจะมีสีขาวขุ่นและมีโปรตีนและเลือดถูกขับออกมาด้วย กรณีในคนจะมีปัญหาท่อปัสสาวะล้มเหลว ในปลาไร้เกล็ด(ปลาดุก) เกร็ดจะเกิดผิวสีดำ ตับและไตขนาดใหญ่(ตับแตก) และตายในที่สุด

ผลของเมลามีนต่อสุกร – ไก่
อาการที่พบในสุกร ผอมซูบไม่กินอาหาร ตายแบบเฉียบพลันเพราะไตวาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเข้าว่าเป็น PRRS หรือเซอร์โคไวรัส ขี้จะแข็งเป็นเม็ดกระสุน ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นรุนแรง พื้นคอกสีขาวเนื่องจากการขับเมลามีนออกมากับปัสสาวะ ผิวหนังที่มีการสัมผัสเมลามีนจะเป็นมะเร็งได้ (ในสุกรจะเห็นผิวหนังเป็นจุดแดง) ถ้าสูดดมเอาเมลามีนเข้าไปจะทำให้โพรงจมูกอักเสบ และมักพบสุกรส่วนหนึ่งตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ การแสดงอาหารป่วยจะพบ 30–100 % แต่การตายจะพบ 20-80 % วิการเมื่อผ่าซากจะพบไตแข็ง มีสีเหลืองผิวเป็นเม็ดน้อยหน่า และจะพบโรคแทรกซ้อนมากมาย
อาการที่พบในไก่เนื้อ ไตจะใหญ่กว่าปกติ 3-4 เท่า บริเวณอุ้งเท้าไก่จะเน่าเพราะมูลที่ขับถ่ายออกมาเหนียวมากจึงเกาะติดทำให้เกิดการระคายเคืองกับอุ้งเท้าไก่โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนขาย จึงเกิดความเสียหายขึ้นจะมาก-น้อยแตกต่างกันในแต่ละฟาร์ม

เส้นทางการสืบค้นหาเมลามีนในเมืองไทย
จากการตรวจสอบวัตถุที่นำเข้าจากจีนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งที่เป็นข้อสงสัยเกิดขึ้นจากการค้นคว้าเจาะลึกลงไป พอดีกับที่ได้ไปงาน VIV ที่จีน พร้อมไปเป็นวิทยากรที่เมืองจีนอีกหลายครั้ง ก็ได้เห็นสินค้าหลากหลายวางขายจึงเก็บมาวิเคราะห์ก็เลยแน่ใจว่าเป็น เมลามีน โดยเมลามีนที่ตรวจพบในเมืองไทยที่ปนเปื้อนมากับวัตถุดิบอาหารมีหลากหลายชนิด ประกอบด้วย
- โพลียูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ (ผงสีขาว)
- โพลีเมธิลคาร์บาไมล์ (ผงสีขาว)
- โพลียูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ (UF) เรซิน
- เมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ (MF) เรซิน
- เมลามีนยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ (MUF) เรซิน
ซึ่งมีตั้งแต่สีเหลืองจนขาว ขาวเทา เทาและดำ เมลามีน(ผงสีขาว) และเมลามีนไซอนูเลท(เป็นรูปเกลือที่เกิดจากเมลามีนและกรดไซอนูริค) โดยเมื่อตรวจสอบเปอร์เซ็นต์โปรตีนพบสูงตั้งแต่ 160-450 % จึงเริ่มมีการทำเทสคิดและสำเร็จในเดือนพฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยน้ำยาสารละลาย A (ความเป็นด่างสูง) และน้ำยาสารละลาย B (ความเป็นกรมสูง)

ขั้นตอนในการตรวจสอลเมลามีน
1. ตรวจสอบโดยตรงจากกล้องจุลทรรศน์ (ต้องมีความชำนาญและฝึกอบรมการตรวจสอบคุณภาพอาหารด้วยกล้องจุลทรรศน์มาก่อน) จะสามารถเห็นสารนี้ได้ โดยจะเห็นเป็นคริสตัลแวววาวสีแตกต่างกันไปถ้าปลอมปนในโปรตีนจากพืช เช่น โปรตีนจากข้าวโพด ข้าวลาสี ถั่วเหลือง (กากถั่วเหลืองและถั่วอบ) มักจะเป็นสีเหลืองหรือขาว
2. หยดสารละลาย A ลงไปจะเกิดตะกอนขุ่นขาวครั้งแรก (มองจากกล้องจุลทรรศน์) และจะเปลี่ยนเป็นตะกอนขุ่นสีเทาดำเกิดขึ้น เมื่อทิ้งไว้ 5-10 นาที จะมีเมือกสีขาวเคลือบอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างจะมีสีดำเทาแสดงว่าเป็นพวก UF ถ้าเป็น MF จะได้สารละลายสีเหลืองและ MUF จะเป็นสีเหลืองอ่อน
3. ตรวจสอบจากกล้องจุลทรรศน์ เช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 2 แต่ให้หยดสารละลาย B ลงไปจะเกิดสีชมพู-ม่วงคราม-ม่วงน้ำเงินเกิดขึ้นเป็นพวก UF สำหรับ MF จะได้สีชมพู และ MUF ต้องทิ้งไว้ 15-20 นาที จึงจะเกิดสีชมพูอ่อน
4. น้ำตัวอย่างอาหารที่จะทดสอบโดยละลายในน้ำกลั่น อัตราส่วนอาหารต่อน้ำ 1 : 10 แล้วคนให้เข้ากันขณะคนให้สังเกตถ้ามีสารปนเปื้อนอาหารจะจับตัวเป็นขุยก้อนเล็ก ๆ สังเกตดูน้ำที่ใช้ละลายจะไม่ใส มีสีขาวเหมือนน้ำข้าวต้ม แสดงได้ทันทีว่ามีเมลามีนผงสีเทาปนเปื้อน ทิ้งไว้ในตะกอนแล้วกรองด้วยกระดาษกรอง Whatman No.4 หรือดูดเอาน้ำไปทดสอบกับสารละลาย A และ B

วัตถุดิบอาหารสัตว์หลักที่ต้องระวัง
อันดับแรกคือ ปลาป่น โปรตีนจากพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น corn gluten , soy bean meal, soy protein , rice bran, rice protein concentrate โปรตีนจากวุ้นเส้น DDGS จากเมืองจีนและโพลีนคลอไรด์จากเมืองจีน รำสกัดในบ้านเราก็ไม่น่าไว้วางใจ ฟลูแฟตซอยก็เช่นเดียวกัน

ความเสียหายที่เกิดกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย
ความเสียหายในฟาร์มหมูที่เกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมารำแพง ปลาป่นแพง หาของคุณภาพได้ยาก และไม่รู้ว่ามีการปนเปื้อนเมลามีนในวัถตุดิบเหล่านี้จึงมีการทดลองใช้ DDGS และโพลีนคลอไรด์จากเมืองจีน ซึ่งโพลีนคลอไรด์ 60% มีขายทั่วไปแต่จากเมืองจีนจะมีเพียง 20% และมีเมลามีนปนเปื้อน เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในสูตรของพ่อแม่พันธุ์ หมูเลียรางที่ใช้ปลาป่นค่อนข้างมาก
ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่จีนหลอกขายเมลามีนให้ แต่เราเดือนร้อนที่สุดเพราะเราเป็นผู้ส่งออกทั้งไก่เนื้อ กุ้ง และหมูที่กำลังจะส่งออกได้ ที่ผ่านมาหมูก็จะไปไม่ไหวอยู่แล้วเพราะราคาตกต่ำแล้วยังมาเจอความเสียหายเกิดขึ้นจากวัตถุดิบปนเปื้อน ฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคิดให้มากกว่านี้ทำอะไรต้องคิดถึงประเทศชาติ ส่วนอาจารย์ก็จะเร่งเตรียมห้องแล็ปและรับตรวจสอบตัวอย่างที่สงสัย พร้อมจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการอบรมไปแล้วจำนวนหนึ่งในส่วนของผู้ส่งออก ขณะเดียวกันก็จะปรับเปลี่ยนวิธีการวิเคราะห์เมลามีนทั้ง 4 ตัวด้วยเครื่องสเป็กโตรดฟโตมิเตอร์ และจำทำเทสคิดออกมาอีก 2 ตัวเพื่อมาตรวจสอบ A,B ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และถ้าเกษตรรายใดสงสัยว่าฟาร์มจะมีปัญหาจากเมลามีนต้องการให้อาจารย์ช่วยเหลือก็ติดต่อได้โดยตรง ยินดีให้ความช่วยเหลือ รศ.ดร.เยาวมาลย์ กล่าว

ที่มา : วารสารสาส์นไก่ & สุกร ปีที่ 5 ฉบับที่ 52 เดือนกันยายน 2550
[ ... ]