Monday, October 13, 2008

อ้วนอันตราย ! ไม่อ้วนเอาเท่าไร ? ตอนที่ 3

การรักษาโรคอ้วน
การที่มีน้ำหนักมากเกินไปจะมีผลเสียต่อสุขภาพทางร่างกายและจิตใจได้อย่างมาก จึงควรที่จะควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับส่วนสูง เพศ และอายุ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้มีรูปร่างสวยงามดีขึ้นเท่านั้นแต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนต่างๆ ของโรคอ้วนตามมาอีกด้วย

การลดความอ้วนจะได้ผลดีถ้าคนอ้วนนั้นมีแรงจูงใจที่ดี มีความตั้งใจที่แน่วแน่ ได้รับความร่วมมือสนับสนุนอย่างดีจากครอบครัวและควรต้องรักษาแต่เนิ่นๆ

ในเด็กและวัยรุ่น ร่างกายกำลังเจริญเติบโต การควบคุมน้ำหนักจำเป็นต้องทำอย่างถูกต้อง จะใช้วิธีควบคุมน้ำหนักให้คงที่หรือขึ้นช้าๆ(weight control) แทนการลดน้ำหนัก(weight reduction) เมื่อเด็กสูงขึ้นน้ำหนักที่คุมไว้จะได้สัดส่วนกับส่วนสูง การลดน้ำหนักในเด็กจะทำเมื่อเด็กนั้นอ้วนมากๆ (เกิน 70% of ideal body weight for height) หรือมีผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนเท่านั้น

ควรต้องประเมินหาว่าอ้วนจากสาเหตุอะไร หากรักษาได้จำเป็นต้องรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุด้วย และต้องพยายามหาปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กนั้นยังคงอ้วนอยู่ด้วยเช่น บริโภคนิสัยของเด็กและคนในครอบครัวทัศนคติและค่านิยมของการเลี้ยงดู การออกกำลังกายและกิจวัตรประจำวัน ความเครียดหรือปัญหาที่อาจเสริมให้เด็กกินมากขึ้น เป็นต้น

หลักทั่วไปของการรักษาโรคอ้วน คือ

ควบคุมอาหาร

เพิ่มการออกกำลังกาย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

วิธีอื่นที่ใช้ในผู้ใหญ่ที่อ้วนมากๆเช่น การใช้ยา, การใช้ลวดมัดขากรรไกร, การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ ฯลฯ นั้นไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก

1. การควบคุมอาหาร

ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก แต่ผู้เลี้ยงดูเด็กควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการ
ให้อาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม

ในเด็กอ้วนที่อายุ > 2 ปี ควรแนะนำให้ลดปริมาณสารอาหารบางอย่าง เช่น การจำกัดของหวาน
ลูกกวาด ช็อกโกแลต ไอศกรีม เค้ก เป็นต้น ควรนัดเด็กมาตรวจสม่ำเสมอจนกว่าจะคุมน้ำหนักได้ พ่อแม่ควรช่วยสร้างบริโภคนิสัยที่ดีให้แก่เด็กซึ่งจะช่วยป้องกันโรคอ้วนได้ ควรให้เด็กรับประทานอาหารเป็นเวลา ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรให้เด็กกินเมื่อเบื่อหรือไม่มีอะไรทำเพราะเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ไม่ดีและจะแก้ไขยากในภายหลัง ควรให้เด็กเดินหรือวิ่งเล่นแทนการนั่งเฉยๆ หรือนอนดูโทรทัศน์นานๆ

ในเด็กโตควรถือหลักดังนี้คือ

1.ไม่ลดน้ำหนักโดยการอดอาหาร เพราะการอดอาหารจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย 80% ของวัยรุ่นที่ลดน้ำหนักมากเกินไปโดยไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องมักจะมีผลแทรกซ้อน เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ท้องผูก หงุดหงิด ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง เป็นลม ควรรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่งเพราะการงดอาหารจะทำให้เกิดความหิวและรับประทานมากขึ้นในมื้อถัดไป ในเด็กวัยเรียนควรรับประทานอาหารมื้อเช้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพราะสมองต้องใช้พลังงานมาก ถ้างดมื้อเช้าอาจทำให้สมองไม่ปลอดโปร่ง เรียนหนังสือได้ไม่เต็มที่ ถ้ารับประทานอาหารให้ได้พลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ ร่างกายจะนำไขมันที่สะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานทำให้น้ำหนักลดลงได้ ควรลดน้ำหนักโดยการลดแคลอรีของอาหารในแต่ละมื้อลง เช่น เดิมเคยทานข้าวมื้อละ 2-3 จาน ให้ลดเหลือมื้อละ 1 จาน รับประทานผลไม้แทนขนมหวาน ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม เป็นต้น

อาหารมื้อเย็นควรรับประทานแต่น้อยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอนเพราะขณะหลับร่างกายใช้พลังงานน้อย ไม่กินจุบจิบ ไม่รับประทานของว่างระหว่างมื้อ หากหิวให้รับประทานผลไม้แทน

2.รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างการนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

อาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมัน ควรรับประทานแต่น้อย เพราะไขมันให้พลังงานสูงถึง 9 กิโลแคลอรี/1 กรัม เมื่อเทียบกับโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตซึ่งให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี/ 1 กรัม ควรหลีกเลี่ยงไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันที่ได้จากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เพราะจะมีคลอเรสเตอรอลสูง ควรใช้ไขมันที่ทำจากพืชแทน เช่น น้ำมันงา น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น

ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ สมองสัตว์ หนังไก่ทอด ของมันจัด

ใช้วิธีการอบ นึ่ง ย่าง แทนการทอดและการผัดอาหาร

หลีกเลี่ยงของหวาน เช่น ช็อกโกแลต ทอฟฟี่ ขนมหวาน น้ำอัดลม

รับประทานอาหารที่มีกากมาก ให้แคลอรีต่ำ มีวิตามินและเกลือแร่สูง เช่น ผักและผลไม้ให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัดและให้พลังงานสูง เช่น ทุเรียน ลำไย มะม่วงสุก ลิ้นจี่

รับประทานผลไม้ที่ให้พลังงานน้อย เช่น ฝรั่ง ส้ม มะละกอ สับปะรด

อาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ควรรับประทานในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเผาผลาญโปรตีนที่มีอยู่ในร่างกาย
ไม่ดื่มเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด

2.เพิ่มการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายและการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นทุกชนิดจะช่วยในการเผาผลาญพลังงานที่มีอยู่ในร่างกาย นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย

กิจวัตรประจำวันบางอย่างควรเปลี่ยนเพื่อให้ร่างกายได้ใช้พลังงานมากขึ้น เช่น เดินขึ้นลงทางบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ใช้การเดินแทนการใช้รถถ้าระยะทางไม่ไกลนัก การทำงานบ้าน เช่น ซักผ้า รีดผ้า ถูบ้าน กวาดถนน รดน้ำต้นไม้ ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดี

การออกกำลังกายแต่พอควรไม่หักโหมและทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
และยังช่วยควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย

การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคนอ้วน คือ ว่ายน้ำ เดินเร็ว ถีบจักรยาน เป็นต้น หากอ้วนมากหรือมีอาการปวดข้อควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ทำให้มีการกระแทรกของข้อสูง เช่น กระโดดเชือก วิ่งแข่ง


3.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เป็นการเปลี่ยนสุขนิสัยในการบริโภคและการออกกำลังกายเสียใหม่ โดยใช้วิธีการควบคุมตนเอง (Self monitoring) เป็นการช่วยประเมินการกินและการออกกำลังกายของเด็กอ้วน โดยการใช้การจดบันทึกอย่างละเอียดทั้งวัน เวลา สถานที่ ปริมาณ และชนิดของอาหารที่กินรวมทั้งอารมณ์และกิจกรรมอื่นที่ทำขณะนั้น เมื่อจดบันทึกไประยะหนึ่งผู้ป่วยจะมีการระมัดระวังการกินอาหารมากขึ้น และยังใช้ในการติดตามการรักษาได้ด้วย

การควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus control ) เป็นการปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการบริโภคอาหาร เช่น ไม่ซื้ออาหารหวานเข้าบ้าน จำกัดเวลาและสถานที่ในการกินอาหาร ไม่กินขณะดูโทรทัศน์ หลีกเลี่ยงการไปงานเลี้ยงบ่อยๆ เลิกนิสัยการกินที่ทำเป็นกิจวัตร เช่น ตักข้าวพูนจาน เป็นต้น

การส่งเสริมให้กำลังใจ (Reinforcement) การให้รางวัล คำชมเชย จะทำให้พฤติกรรมที่พยายามลดน้ำหนักคงอยู่และมีกำลังใจที่จะทำต่อไป

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะได้ผลดีต้องให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วม(Family-oriented approach) ควรให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายที่ถูกต้อง และควรดูแลร่วมกันเป็นทีระหว่างนักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และแพทย์ เพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น


สรุป :

การป้องกันโรคอ้วนในเด็กเป็นสิ่งที่บุคคลากรทางการแพทย์และคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งคุณครูที่โรงเรียนทุกคนต้องร่วมมือกันเพราะโรคอ้วนในเด็กมีอุบัติการสูงขึ้น ผลแทรกซ้อนระยะยาวของโรคอ้วนในเด็กซึ่งจะแสดงให้เห็นชัดในวัยผู้ใหญ่มีมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ร่วมกับการรักษาโรคอ้วนที่ยังไม่ได้ผลดีนัก จึงควรให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการสร้างบริโภคนิสัยที่ถูกต้องรวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรมีการติดตามการเจริญเติบโตของเด็กเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคอ้วน น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมในการป้องกันโรคอ้วนในเด็กอันจะนำมาซึ่งการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆที่จะตามมาในวัยผู้ใหญ่ต่อไป



--------------------------------------------------------------------------------

พ.ญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

0 comments: