Monday, October 13, 2008

อ้วนอันตราย ! ไม่อ้วนเอาเท่าไร ? ตอนที่2

ผลเสียของโรคอ้วน

โรคอ้วนนอกจากจะมีผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจในวัยเด็กแล้วยังมีผลเสียระยะยาวสืบเนื่องต่อไปในวัยผู้ใหญ่ด้วยคนอ้วนมากๆมีโอกาสตายและเกิดผลกระทบจากโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนปกติ

เนื่องจากคนอ้วนจะมีไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะกรดไขมันอิสระและไตรกรีเซอไรด์ซึ่งจะไปสะสมตามผนังของหลอดเลือดทั่วร่างกายทำให้เส้นเลือดตีบหรืออุดตันและเกิดโรคของอวัยวะต่างๆตามมา ไขมันที่สะสมตามผนังหลอดเลือดทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไปเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ง่าย ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ถ้าเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรืออุดตันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวาย ถ้าความดันโลหิตสูงมากอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต ถ้าเส้นเลือดไปเลี้ยงไตตีบตันจะทำให้ไตทำงานได้ไม่เต็มที่ อัตราการตายจากหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุการตายที่พบมากที่สุดในคนอ้วน

นอกจากนี้คนอ้วนจะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ เดินหรือวิ่งเพียงเล็กน้อยก็เหนื่อยเพราะไขมันที่สะสมในทรวงอก ช่องปอด ช่องท้อง จะทำให้การหายใจเป็นไปได้ไม่เต็มที่ ซึ่งในคนที่อ้วนมากแบบอันตราย(morbid obesity) ในเวลานอนอาจเกิดการหยุดหายใจในขณะหลับ (sleep apnea) และเสียชีวิตได้เพราะขาดออกซิเจน จากการหายใจไม่เพียงพอ นอกจากนี้คนอ้วนมักเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ ได้ง่ายและบ่อยกว่าคนปกติ และใช้เวลาในการรักษาแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติอีกด้วย

โรคกระดูกและข้อ :

เนื่องจากต้องรับน้ำหนักมากเกือบตลอดเวลาทำให้เกิดการอักเสบและเสื่อมของข้อต่างๆ โดยเฉพาะข้อเข่า ข้อเท้า และข้อสะโพก เกิดอาการปวดของข้อต่างๆ ขณะเดินและวิ่ง ในเด็กบางรายจะพบความผิดปกติของเข่าเป็นเข่าชิดกัน(knock knee), บางรายมีขาโก่ง(bowleg) เพราะรับน้ำหนักมาก ในเด็กที่กำลังเข้าวัยรุ่นอาจเกิดการเสื่อมของส่วนหัวกระดูกสะโพก ทำให้มีการขาดเลือดมาเลี้ยง และเกิดพิการได้


โรคของผิวหนัง :

คนอ้วนมักจะมีเหงื่อออกมากจะเกิดความอับชื้นของผิวหนัง โดยเฉพาะตามซอกคอ ซอกขา และข้อพับต่างๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ผิวหนังบริเวณที่มีการเสียดสีขณะเคลื่อนไหวจะเกิดการอักเสบได้บ่อย 50% ของเด็กที่อ้วนมากๆ จะพบว่าผิวหนังที่ต้นคอหรือรักแร้เป็นสีดำคล้ำ ซึ่งมักพบร่วมกับภาวะเบาหวานที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาฉีด insulin

โรคของระบบต่อมไร้ท่อ :

โรคเบาหวานพบได้น้อยในเด็กที่อ้วน ในเด็กอ้วนบางคนอาจมีปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (glucose intolerance) ได้ ในคนอ้วนจะมีการหลั่ง insulin ออกมามากกว่าปกติร่างกายอยู่ในภาวะดื้อต่อ insulin (insulin resistant) ในผู้ใหญ่ที่อ้วนมากและอ้วนมานานจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน(noninsulin dependent diabetes mellitus) ได้สูงกว่าคนปกติ และในผู้ป่วยหลายรายถ้าลดน้ำหนักลงได้โรคเบาหวานจะหายไป

ในผู้หญิงที่อ้วนอาจพบว่าเริ่มมีประจำเดือนตอนอายุน้อย, หรือเข้าสู่ระยะวัยหมดประจำเดือนช้าและมีประจำเดือนโดยไม่มีการตกของไข่ที่สัมพันธ์กันในรอบเดือน

ในผู้ชายอาจมีการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และมีเชื้ออสุจิน้อย

นอกจากนี้อาจพบการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอื่นอีกหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต (Growth hormone) เป็นต้น

ภาวะไขมันในร่างกายผิดปกติ :

ในคนอ้วนจะมีระดับไขมันตัวร้ายเช่น Triglyceride, LDL-cholesterol เพิ่มขึ้น ส่วนไขมันที่ดีเช่น HDL-cholesterol ลดลง



โรคมะเร็ง :

เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน จะมีโอกาสตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าคนปกติ
ผู้ชายอ้วนจะตายจากมะเร็งของลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมากมากกว่าคนปกติ
ผู้หญิงที่อ้วนจะมีโอกาสตายจากมะเร็งของผนังมดลูก เต้านม และถุงน้ำดีมากกว่าคนปกติ

ผลเสียทางจิตใจและสังคม :

เด็กที่อ้วนมักโดนเพื่อนแกล้งหรือล้อเลียน เกิดความอายรูปร่าง ขาดความมั่นใจตนเอง มักไม่ได้รับเลือกให้เล่นเกมหรือเป็นตัวแทนของกลุ่ม เพราะมักจะอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่อยากไปโรงเรียน เมื่อเข้าวัยรุ่นจะกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนมากขึ้นเกิดปมด้อย ขาดความมั่นใจและเสียความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง มีผลเสียต่อการสร้างบุคลิกภาพและเอกลักษณ์ มักกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนและไม่เป็นที่สนใจของเพื่อนต่างเพศ ทำให้แยกตัว และในบางคนอาจวิตกกังวลมากเกิดอาการซึมเศร้าและกินมากขึ้น


การป้องกัน
เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ที่อ้วนเริ่มอ้วนมา
ตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนมีมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ร่วมกับการรักษาโรคอ้วนในผู้ใหญ่ที่ได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนัก การป้องกันไม่ให้เกิดโรคอ้วนในเด็กอย่างมีประสิทธิภาพน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้ โดยการให้ความรู้แก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงปัญหาและร่วมมือกันในการป้องกัน

1.ให้มีการติดตามการเจริญเติบโตในเด็กเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ :

ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงทุกครั้งที่มารับการตรวจสุขภาพเด็กตามวัย และดูอัตราการเพิ่มน้ำหนักในแต่ละช่วงอายุว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ จะช่วยให้เห็นแนวโน้มว่าเด็กจะเป็นโรคอ้วนหรือไม่แต่เนิ่นๆ โดยอัตราการเจริญเติบโตในเด็กวัยทารกคือ น้ำหนักจะเป็น 2,3, 4 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด เมื่ออายุ 5, 12 , 24 เดือนตามลำดับ ส่วนในเด็กวัยก่อนเรียนน้ำหนักควรเพิ่มปีละ 2-2.5 กิโลกรัม เด็กวัยเรียนน้ำหนักเพิ่มปีละ 3.5-4 กิโลกรัม

ในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนคือมีบิดาและหรือมารดาเป็นโรคอ้วนควรต้องมีการติดตามใกล้ชิด และให้ความรู้แก่บิดามารดาเกี่ยวกับโรคอ้วนและผลแทรกซ้อน การเลือกอาหารที่เหมาะสมรวมทั้งการออกกำลังกายที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอและร่วมมือกันทั้งครอบครัวเพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่

2. การให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและบริโภคนิสัยที่ถูกต้อง :

ค่านิยมของสังคมไทยที่ว่า “เด็กอ้วนดี เด็กอ้วนน่ารัก” ทำให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ปกครองพยายามยัดเยียด ให้ลูกรับประทานให้มาก และด้วยความเชื่อที่ว่า “เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะหายอ้วนเอง” ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็ก ดังที่ทราบแล้วว่าถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ที่เป็นโรคอ้วนและมีพ่อหรือแม่อ้วนจะมีโอกาสโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และถ้าหลังอายุ 6 ปีแล้วยังคงเป็นโรคอ้วนอยู่ โอกาสที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนมีมากถึง 50% เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ร่วมมือในการฝึกบริโภคนิสัยที่ถูกต้องแก่เด็ก โดย


ให้นมหรืออาหารเสริมในปริมาณที่เหมาะสมเมื่อเวลาเด็กหิวเท่านั้น อย่าให้รับประทาน พร่ำเพรื่อ

ถ้าเด็กไม่หิวอย่ายัดเยียด หรือบังคับให้กินให้หมดตามปริมาณที่กะให้ เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการอาหารไม่เท่ากัน

หลีกเลี่ยงอาหารหวาน รวมทั้งลูกอม ทอฟฟี่ และช็อกโกแลต

ไม่ใช้อาหารหรือขนมหวานมาเป็นรางวัลในการทำกิจกรรมต่างๆ

ฝึกให้รับประทานอาหารที่มีกาก ผักและผลไม้ ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และจำกัดอาหารมันและทอดไม่ให้ มากกว่า 35% ของพลังงานทั้งหมด

ไม่รับประทานขณะดูโทรทัศน์ หรือรับประทานเพราะเบื่อหรือไม่มีอะไรทำ เพราะเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ไม่ถูกต้องและจะแก้ไขยากในภายหลัง

ให้พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม


3. เพิ่มการออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องใช้พลังงาน

ควรสนับสนุนให้เด็กมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอเพื่อให้เป็นนิสัยติดตัวต่อไป จนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันและรักษาโรคอ้วนและทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงในอนาคต

บิดามารดาควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและทำให้เป็นกิจกรรมของครอบครัวที่ทุกคนมีส่วนร่วมสนุก ไม่เลือกการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ยากเกินไปสำหรับเด็ก

ลดเวลาที่ใช้ในการดูโทรทัศน์ เล่นวีดีโอเกมลงให้มากที่สุด
ทำกิจวัตรประจำวันอย่างกระฉับกระเฉง เช่น เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้บันไดเลื่อนหรือการใช้ลิฟต์ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ

4.ควรให้สื่อต่างๆ มีส่วนร่วมในการรณรงค์ป้องกันโรคอ้วน


โดยให้ความรู้เกี่ยวกับบริโภคนิสัยที่ถูกต้องในเด็ก การสนับสนุนให้มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้ประชาชนรับทราบถึงผลแทรกซ้อนที่จะตามมาหากปล่อยให้เด็กเป็นโรคอ้วน น่าจะเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาอันจะนำมาซึ่งความร่วมมือกันในการป้องกันและรักษาโรคอ้วนเสียแต่เนิ่นๆ เช่นเดียวกับการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ผ่านทางสื่อต่างๆซึ่งได้ผลดี

5.ควรเน้นให้แพทย์และพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกแขนงเตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงและผลแทรกซ้อนในระยะยาวของโรคอ้วน


ให้เฝ้าระวังติดตามเด็กกลุ่มเสี่ยงและมีส่วนในการให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ และการออกกำลังกายที่เหมาะสมแก่เด็กและครอบครัว

6.ให้โรงเรียนตระหนักถึงปัญหาและหันมาร่วมมือกันจัดให้มีการออกกำลังกาย ฝึกบริโภคนิสัย


และจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่เด็กนักเรียน และสนับสนุนไม่ให้มีการจำหน่ายอาหารที่มีไขมันสูงในโรงเรียน

0 comments: