Monday, October 13, 2008

โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นอย่างไร?

โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นโรคผิวหนังอักเสบอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ลักษณะที่สำคัญของโรคคือ ผิวหนังของเด็กจะแห้งและมีอาการคันมาก นอกจากนี้ผิวหนังจะไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ทำให้มีผื่นขึ้นเป็นๆหายๆ


อาการเป็นอย่างไร?

ลักษณะของโรคที่พบแตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมีอาการก่อนอายุ 5 ปี อาจแบ่งอาการของโรคนี้ออกเป็น 3 ช่วงอายุคือ


วัยทารก พบตั้งแต่อายุ 2-3เดือนขึ้นไป ผื่นจะขึ้นบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขนขา ข้อมือและข้อเท้า โดยลักษณะผื่นจะเป็นตุ่มแดง คัน หรือตุ่มน้ำใส มีน้ำเหลืองเยิ้ม ต่อมาแห้งเป็นสะเก็ดกรัง อาการของโรคอาจดีขึ้นเมื่ออายุ 2-3 ปี วัยเด็กโต ผื่นจะขึ้นเป็นตุ่มหรือเป็นปื้นแดงหนาที่คอ ข้อพับต่างๆ เช่น ข้อพับของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการคันมากและเกาจนเป็นปื้นหนา วัยผู้ใหญ่ ผื่นจะเหมือนในเด็กโต แต่อาจมีผื่นที่ข้อมือและข้อเท้าร่วมด้วย ในรายที่มีอาการเป็นมาก ผื่นสามารถขึ้นได้ทั่วร่างกาย

โรคนี้เกิดจากสาเหตุอะไร? ติดต่อได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ เชื่อว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคนี้ มักมีบิดามารดาหรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด แพ้อากาศ ผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนังร่วมด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า อาหารบางชนิด สารระคายเคือง หรือไรฝุ่น จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเป็นมากขึ้น โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จึงไม่ติดต่อไปยังผู้ใกล้ชิด


ปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบขึ้นมีอะไรบ้าง?
1. การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
2. สารระคายเคืองต่างๆ เช่น ผ้าเนื้อหนาหรือสาก ผ้าไนล่อน สบู่และแป้งบางชนิด ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
3. อากาศร้อน หรือหนาวเกินไป
4. ผู้ป่วยบางรายจะมีผื่นกำเริบขึ้น เมื่อรับประทาน นม ไข่ อาหารทะเล อาหารทอด ถั่ว เป็นต้น
5. การแพ้สารต่างๆในอากาศ เช่น ไรฝุ่น 6. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล จะทำให้อาการคันเป็นมากขึ้น



จะป้องกันและรักษาอย่างไร?
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่ทำให้อาการกำเริบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ปกครองควรสังเกตผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อหาปัจจัยข้างต้นที่ทำให้ผื่นมีอาการกำเริบแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น


ในทารกที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อโรคนี้สูง ควรแนะนำให้ดื่มนมมารดาเพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้นมวัว ไม่รับประทานอาหารที่ทราบแน่ชัดว่าทำให้ผื่นกำเริบ
เลือกใช้เสื้อผ้าเนื้อนุ่ม โปร่ง ใส่สบาย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าแพร ไม่ควรใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหนาหยาบ หรือผ้าขนหนู ควรจะซักล้างผงซักฟอกออกจากเครื่องนุ่งห่มให้สะอาด
หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด การออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่ออกมาก เช่น กีฬากลางแจ้ง
เลือกใช้สบู่อ่อนๆสำหรับเด็ก หรือสบู่ที่มีน้ำมันผสม ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยเกินไป

2. ป้องกันผิวแห้ง โดยใช้สารเคลือบผิว เช่น โลชั่น ครีมบำรุงผิวชนิดอ่อน ทาหลังอาบน้ำทันที ไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป และไม่ควรใช้น้ำที่ร้อนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น


3. ครีมสเตียรอยด์ ทาเฉพาะผื่นที่มีอาการเห่อแดงและอักเสบ เมื่ออาการทุเลาแล้วควรหยุด ไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และไม่ควรซื้อยาประเภทนี้ใช้เอง ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผิวหนังบางและมีผลข้างเคียงอื่นที่เป็นอันตรายตามมา


4. ลดอาการคัน โดยรับประทานยาแก้แพ้ เพราะการเกาจะทำให้ผื่นเป็นมากขึ้นหรือเกิดแผลถลอก และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้ ข้อควรระวังในการรับประทานยาแก้แพ้นี้คือ อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน


5. ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น มีตุ่มหนอง คราบน้ำเหลือง ควรใช้ผ้าก๊อสสะอาดชุบน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือประคบแผล ครั้งละประมาณ 15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าผื่นจะแห้ง และอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย นอกจากนี้ควรรักษาสุขอนามัยส่วนตัวของผู้ป่วยให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น ตะไบอย่าให้คม ดูแลไม่ให้สกปรก


โรคนี้จะหายได้หรือไม่ ?
อาการของโรคมักเป็นเรื้อรัง โรคจะดีขึ้นและเป็นๆหายๆได้ แต่ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยอาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี ผู้ปกครองไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์



--------------------------------------------------------------------------------

โดย ชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กแห่งประเทศไทย
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Friday, 09 September 2005 )

0 comments: