Monday, October 27, 2008

พิษร้ายของสเตียรอยด์

สเตียรอยด์ในร่างกาย

การที่ร่างกายสามารถรับสเตียรอยด์ได้เนื่องจากร่างกายเองก็มีการสร้างสเตียรอยด์ออกมาก เพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยมีการควบคุมมาจากสมองมายังต่อมหมวกไต เพื่อหลั่งสารสเตียรอยด์ออกมา ซึ่งร่างกายจะนำไปใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอด

พิษร้ายของสเตียรอยด์

แม้ว่าในทางการแพทย์สเตียรอยด์จะมีข้อบ่งชี้ทางการรักษามากมาย แต่ไม่ควรซื้อยานี้ใช้เองโดยไม่มีแพทย์คอยดูแลการใช้ยา เนื่องจากผลข้างเคียงของสเตียรอยด์นั้นมีมากมายเช่นกัน ได้แก่

• เลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื่องจากสเตียรอยด์ไปทำให้ผนังกระเพาะอาหารและลำไส้บางลง และเสียความสามารถในการป้องกันกรดในทางเดินอาหารที่หลั่งมาเพื่อย่อยอาหาร ดังนั้นหากได้สเตียรอยด์ไปนานๆ ผนังทางเดินอาหารก็จะบางตัวลงจนถึงขั้นทะลุ และเกิดแผลเลือดออกได้ หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีก็เสียชีวิตได้
• กระดูกบาง การใช้สเตียรอยด์จะไปกระตุ้นเซลล์ในกระดูกชนิดหนึ่งร่วมกับกระตุ้นระบบฮอร์โมน ทำให้กระดูกถูกละลายบางลง ซึ่งในคนสูงอายุก็จะลงท้ายด้วยกระดูกพรุนและเกิดกระดูกหักได้ง่าย
• ร่างกายหยุดสร้างสเตียรอยด์ เพราะได้สเตียรอยด์จากภายนอกไปมากพอแล้ว และหากวันใดไม่ได้รับสเตียรอยด์จากภายนอกเข้าไป แล้วเจอเรื่องเครียด (เจ็บป่วย อดอาหาร เครียด) ร่างกายก็จะขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน และไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจทำให้ความดันโลหิตตกลง หมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
• กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย บดบังอาการติดเชื้อต่างๆ เมื่อร่างกายติดเชื้อก็จะไม่มีอาการเจ็บไข้ให้เห็น ทำให้ดูเหมือนสบายดี และเนื่องจากสเตียรอยด์กดภูมิคุ้มกันของร่างกายเอาไว้ ดังนั้นกว่าจะรู้สึกอีกที เชื้อโรคก็เจริญเติบโตเริงร่าไปทั่วร่างกายแล้ว ซึ่งทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
• ยับยั้งการเติบโตในเด็ก ทำให้เด็กโตช้าและหยุดสูงเร็วกว่าปกติ อันนี้ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่เลี้ยงไม่โต
• น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงในผู้ป่วยเบาหวาน หรือทำให้ระดับน้ำตาลควบคุมได้ยาก หากน้ำตาลอยู่ในระดับสูงมากอาจทำให้ช็อคและเสียชีวิตได้

โดยปกติ ยาสเตียรอยด์ถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่สามารถขายแม้ในร้านขายยาได้หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ และโดยทั่วไปก็ไม่มีแพทย์คนไหนสั่งสเตียรอยด์ให้คนไข้สุ่มสี่สุ่มห้า เพราะว่าในที่สุด ผลสุดท้ายที่ออกมาก็คือการรักษาจะไม่ดีขึ้นในระยะยาว กล้าพูดได้ว่าสเตียรอยด์ที่คนไทยใช้กันผิดๆ อย่างต่อเนื่องที่ได้รับโดยตรงจากเภสัชกรหรือแพทย์นับว่ามีน้อยมาก แต่เมื่อพบผู้ที่ใช้สเตียรอยด์มาต่อเนื่องยาวนาน กลับพบว่าส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่าเภสัชกรหรือแพทย์นั่นแหละที่แอบจ่ายยาสเตียรอยด์ให้เขาโดยไม่บอก ไม่รู้ว่าตนเองไปโดนมาจากไหน หรือแม้แต่ไม่เชื่อว่าของที่กินอยู่นั่นแหละที่ผสมสเตียรอยด์

แหล่งสเตียรอยด์ที่สำคัญของคนไทย

แหล่งสเตียรอยด์ที่สำคัญของคนไทย คือ ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ ยาลูกกลอน ยาพระ ยาต้ม ยาหม้อ ยาชุด

ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ

ในที่นี้มิได้มีเจตนาดูถูกภูมิปัญญาชาวบ้านนะคะ เพราะที่ดีก็มีอยู่จำนวนมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้ค้าบางรายชอบหยิบเอาประเด็นสมุนไพร และภูมิปัญญาชาวบ้านมาแอบอ้างใช้เป็นเกราะป้องกันตัว เวลาทำการโฆษณาขายยาตามหมู่บ้าน โดยอวดอ้างว่าแพทย์แผนปัจจุบันไม่มีความรู้ และดูถูกยาเหล่านี้เพราะเป็นยาพื้นบ้านของไทย การขายยากลุ่มนี้ ถ้าแบบไม่ลงทุนก็ขายเป็นยาลูกกลอน ถ้าลงทุนนิดนึงก็ขายเป็นยาหม้อหรือยาสมุนไพร

ยาลูกกลอนของเขาก็เอาพืชผักอะไรก็ไม่รู้ บางทีก็เป็นสมุนไพรจริงนำมาตากบดเป็นผงละเอียด มาปนกับผงยาสเตียรอยด์ จากนั้นผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลมๆ เป็นอันเสร็จพิธี ข้อเสียของการขายแบบนี้คือ ประชาชนหลายคนถูกปลูกฝังตั้งแต่ยุคสิบกว่าปีก่อนที่มีการรณรงค์เรื่องยาชุดว่า มีกลวิธีผสมสเตียรอยด์แบบนี้ในยาลูกกลอน ดังนั้นจะมีลูกค้าบางส่วนไม่ซื้อ ผู้ค้าที่ฉลาดบางรายจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่เป็นการนำสมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือกิ่งไม้ข้างทาง เถาไม้เลื้อยบางชนิด ใบไม้แห้งต่างๆ มารวมกัน เอาไปผ่านกรรมวิธีอาบน้ำยาสเตียรอยด์ ก่อนจะนำไปตากแห้งแล้วแต่งสีให้ดูปกติ แล้วเอามารวมเป็นชุดๆ ขายให้คนที่หลงเชื่อซื้อเอาไปต้ม พอต้มแล้วเอาน้ำมาดื่ม ซึ่งมีค่าเท่ากับดื่มยาสเตียรอยด์เข้าไปนั่นเอง

ยาพระ

สเตียรอยด์อาจมาในอีกรูปแบบโดยอ้างว่าเป็น ยาพระ โดยมีทั้งพระจริง และพระปลอม พระปลอมก็อย่างเช่น การอ้างเกจิอาจารย์ดังๆ ในอดีต หรืออุปโลกน์พระที่ไม่มีตัวตนขึ้นมาแล้วอ้างตำราของท่านเหล่านั้น ถ้าให้น่าเชื่อถือก็อ้างส่วนผสมแล้วใช้คำไทยๆ เช่น เกสรทั้ง 5 รากทั้ง 6 ลำต้นทั้ง 7 อะไรทำนองนี้ เอามาแปะไว้หน้าห่อ พระจริง มีทั้งแบบที่พระทำเอง หรือแบบที่คนทำเอามาฝากขายตามวัด หรือคนทำเอาไปหลอกพระที่วัดเพื่อเอาพระเหล่านั้น มาเป็นสโลแกนว่าเป็นยาโบราณ พวกนี้ผิดกฎหมายแถมยังบาปอีกต่างหาก

ยาชุด

ยาชุดในที่นี้ขอให้แยกจากยาชุดที่แพทย์หรือเภสัชกรซึ่งมีการระบุชื่อยาไว้อย่างชัดเจน ให้นึกถึงยาหลากหลายสีในถุงยาใสเล็กๆ วิธีกินคือ กินทีละซอง พวกนี้ชอบขายตามร้านของชำ ปั๊มเล็กๆ หรือร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำร้าน โดยจะมีตัวแทนจำหน่ายนำมาส่งต่อให้ร้านเหล่านี้อีกที โดยอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้งแก้ปวดเมื่อย กษัยเส้น ช่วยเจริญอาหาร ที่ร้ายก็คือ คนพวกนี้ชอบอ้างสรรพคุณว่าเป็นยาบำรุง ไม่ใช่ยาชุดและบางครั้งยังใส่ความเชื่อผิดๆ ว่ายาชุดที่กระทรวงสาธารณสุขปราบปรามคือ เป็นยาที่แพทย์และเภสัชกรสั่งให้ในคลินิก โรงพยาบาล หรือร้านขายยา แล้วแอบผสมสเตียรอยด์ลงไป

สรุปว่าไม่ว่าจะเป็นยาอะไรจากใครก็ตาม หากคุณเห็นว่าใส่รวมๆ กันไม่มีชื่อยาก็ขอให้ถาม ชื่อยา จากคนที่เอายาให้ อย่าเกรงใจกลัวเขาจะว่า เพราะนั่นเป็นสิทธิผู้ป่วยที่คุณสมควรรับทราบ แต่ถ้าถามชื่อยาแล้วกลับบอกแค่ว่าเป็นยารักษาอาการอะไร ประมาณว่า ยา ชื่อ อาการ เช่น ยาลดปวด ยาลดบวมข้อ ยาเส้น ยาแก้ไอ เป็นต้น ก็ให้คิดเผื่อใจไว้เลยว่าคุณอาจจะเจอยาชุดของจริงเข้าให้แล้ว

ยานี้มี อย.

กานำเสนอแบบนี้นับเป็นรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับการนิยม โดยมีทั้งบอกปากเปล่าหน้าตาเฉยว่า ยาของเราไม่ผสมสเตียรอยด์ และได้รับการับรองจาก อย. แล้ว หรือแบบที่ร้ายกว่านั้นทำตรา อย. ปลอมเองก็มี ซึ่งก็เป็นกลวิธีหนึ่งที่ทำให้ลูกค้า (ผู้ป่วย) มาเถียงกับแพทย์ว่าไม่ได้กินสเตียรอยด์หรอกเพราะมี อย. แต่พอนำไปทดสอบกลับตรวจพบสารสเตียรอยด์

ยาสเตียรอยด์มีประโยชน์ในทางการแพทย์มากมาย แต่ผลข้างเคียง (พิษ) ของยานั้นก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นไม่ควรซื้อยามารับประทานเองอย่างเด็ดขาด การใช้ยาสเตียรอยด์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังสเตียรอยด์ที่อาจแฝงมาในรูปของยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน ยาพระ อาหารเสริมสุขภาพ รวมถึงยาบำรุงกำลังต่างๆ ซึ่งกรณีที่ท่านมีความต้องการที่จะรับประทานยาเหล่านี้จริงๆ ท่านควรนำไปทดสอบหาสารสเตียรอยด์ที่หน่วยงานของรัฐที่รับทดสอบ ซึ่งได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ เสียก่อน


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday
[ ... ]

มาตรวจสอบยากันดีกว่า

ดิฉันมักจะได้รับคำถามซ้ำๆ จากผู้ป่วยหลายท่านที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล แล้วรีบรับยากลับบ้านไปโดยไม่ได้ตั้งใจฟังคำแนะนำจากเภสัชกร หรือตรวจสอบยาที่ได้รับ พอมีปัญหาสงสัยก็ต้องเสียเวลากลับมาโรงพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษาเรื่องยาใหม่ บ้างก็โทรศัพท์มา ตัวอย่างคำถามที่พบบ่อย ได้แก่

o ต้องกินยาที่ได้รับจนหมดหรือเปล่า
o ยาที่ได้กินร่วมกับยาเดิมที่กินอยู่แล้วได้หรือไม่
o ถ้าลืมกินยาแล้วทำอย่างไร
o ยาที่ได้รับมาหน้าตาคล้ายๆ ยาเดิมแล้วใช่ยาเดิมหรือเปล่า
o ยาหายไปตัวหนึ่งปกติได้รับประจำไม่ทราบหมอให้หยุดยาหรือเปล่า
o ยาที่ได้รับจำนวนไม่ครบตามวันนัด หมอต้องการให้หยุดยาก่อนวันนัดหรือเปล่า

คำถามเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามที่ดิฉันได้รับฟังอยู่เสมอ บางรายบ้านอยู่ไกลโรงพยาบาลมากแต่ก็ยังต้องเสียค่ารถกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะมีปัญหาหรือมีคำถามสงสัย บางรายต้องเข้าไปพบแพทย์ผู้ดูแลอีกครั้งเพราะสงสัยว่าได้รับยาไม่ครบหรือเปล่า ไม่แน่ใจว่าแพทย์ให้หยุดยาตัวนั้นหรือว่าลืมเขียนในใบสั่งยาให้

คุณคงไม่ปฏิเสธว่าในชีวิตหนึ่งว่าต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล บางรายที่เป็นโรคเรื้อรังต้องไปโรงพยาบาลประจำ ดังนั้นหากเสียเวลาตรวจสอบยาของคุณสักนิดก่อนรับยากลับบ้านคุณก็จะมิต้องเสียเวลามาโรงพยาบาลอีก หรือไม่ต้องโทรศัพท์มาสอบถามอีกให้ยุ่งยาก ยาไม่ใช่ขนมที่กินอย่างไรก็ได้ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ ยาบางตัวมีวิธีใช้พิเศษ ยาบางตัวห้ามกินกับอาหารบางประเภท ยาบางตัวต้องกินทุกวันจนยาหมด ยาบางตัวใช้เพียงระยะหนึ่งเมื่ออาการดีขึ้นก็สามารถหยุดใช้ได้ ดิฉันจึงอยากจะฝากประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณผู้อ่านนำไปใช้หากต้องไปรับยาที่โรงพยาบาล

ข้อมูลที่ควรทราบก่อนรับยากลับบ้าน

ชื่อยา ควรเป็นชื่อตัวยาจริงๆ (generic name) ไม่ใช่ชื่อทางการค้า (trade name) เพราะถ้าหากเป็นชื่อทางการค้าคุณอาจไม่ทราบว่ายานั้นซ้ำซ้อนกับยาที่ใช้อยู่เดิมหรือไม่ หากใช้ยาซ้ำซ้อนคุณก็อาจได้รับพิษจากยานั้น และถ้ายานั้นมีความเป็นพิษสูงมากก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

• ประโยชน์ทางการรักษา ยาใช้รักษาอะไร มีประโยชน์อย่างไร
• จำนวนยาที่ได้ครบตามกำหนดวันนัดครั้งต่อไปหรือไม่ เนื่องจากยาบางตัวหากคุณได้รับไม่ครบหรือขาดยาไปจะทำให้ผลการรักษาด้อยประสิทธิภาพลง อันได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงโรคหัวใจ
• วิธีการรับประทานยา ครั้งละกี่เม็ด วันละกี่ครั้ง ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ยาไหม กินก่อนหรือหลังอาหาร มีวิธีใช้ยาพิเศษอะไรหรือไม่
• หากลืมกินยาจะทำอย่างไร เนื่องจากยาบางตัว เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถกินเพิ่มเป็น 2 เท่าได้ในมื้อต่อไป ยาบางตัว เช่น ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาที่มีช่วงการรักษาแคบมีพิษสูง ห้ามกินเพิ่มเป็น 2 เท่าเด็ดขาด ให้ข้ามมื้อที่ลืมไปเลย คุณจึงควรสอบถามให้ดีโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาเป็นประจำการหลงลืมย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
• จำเป็นต้องรับประทานยานี้จนหมดหรือไม่ จะหยุดยาได้เมื่อไหร่ หรือต้องใช้ต่อเนื่องจนกว่ายาจะหมด
• ยาหมดอายุเมื่อไหร่ ยาจะหมดอายุก่อนใช้หมดหรือไม่ หรือจะมีอายุหลังจากเปิดภาชนะบรรจุยาได้นานแค่ไหน
• วิธีการเก็บรักษายา ต้องเก็บในตู้เย็นหรือไม่
• ยานี้ใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว … ได้หรือไม่ จะทำให้ผลการรักษาโรคนั้นๆ แย่ลงหรือไม่
• ยาที่ได้รับจะมีผลกับยาอื่นๆ ที่รับประทานเป็นประจำอยู่แล้วหรือไม่ รวมทั้งอาหาร เครื่องดื่มต่างๆทั้งที่มี และไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
• ยามีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง อาการข้างเคียง คือ อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดเมื่อใช้ยาในขนาดที่ใช้ในการรักษา
โดยไม่ได้รับประทานเกินขนาดหรือเป็นผลที่เกิดจากการรับประทานยาร่วมกับยาตัวอื่น เช่น อาการง่วงซึมจากการกินยาลดน้ำมูก ซึ่งคุณอาจต้องสังเกตในขณะที่ใช้ยาตัวนั้นๆ ซึ่งหากเป็นมากอาจต้องกลับมาแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อทำการปรับลดขนาดยาลง หรือหยุดยา
• เคยมีประวัติแพ้ยา … ใช่ยาตัวนี้ได้หรือไม่ ประวัติแพ้ยานั้นมีความสำคัญมากเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะแพ้ยาตัวนั้นๆ ไม่เหมือนกับผลข้างเคียงจากยาที่สามารถเกิดได้กับทุกคน คุณต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งที่รับยา เพราะการแพ้ยาหากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
• การปรับวิธีใช้ยาให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน ในกรณีที่มีกิจวัตรประจำวัน วิธีการดำเนินชีวิตที่ผิดจากคนทั่วไป เช่น รับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ ทำงานเป็นกะ ควรปรึกษาเภสัชกรว่าควรจะปรับเปลี่ยนวิธีใช้ยาอย่างไรให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของคุณ

อย่าเพิ่งท้อแท้ไปนะคะว่าจะจำไม่ได้กับรายละเอียดมากมาย เพียงจำได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องวิธีการใช้ยา ข้อบ่งใช้ของยา ระยะเวลาในการใช้ยา จำนวนยาที่ได้รับ และการแจ้งประวัติแพ้ยา เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วหละค่ะ ที่จะทำให้คุณได้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ต้องเสียเวลากลับมาสอบถามที่โรงพยาบาลอีกครั้ง

ข้อมูลที่ท่านควรทราบเมื่อต้องการไปซื้อยาที่ร้านขายยา

เช่นเดียวกับการไปรับยาที่โรงพยาบาลหละค่ะ สำหรับผู้ที่ใช้ยาประจำ รู้จักหน้าตาของยาที่จะไปซื้อดีอยู่แล้วก็คงไม่มีปัญหาอะไร จะต่างกันก็ตรงกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยแล้วไปให้ที่ร้านยาจัดให้ คุณควรปฏิบัติดังนี้

• หากเลือกได้ควรเลือกร้านที่มีเภสัชกรประจำร้าน และพยายามปรึกษาเภสัชกรประจำร้านให้เต็มที่ ด้วยการสอบถามรายละเอียดของยาที่กำลังต้องการใช้ หรืออาการเจ็บป่วยที่กำลังเป็นอยู่ทุกแง่มุม ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ “ ข้อมูลที่ท่านควรทราบก่อนรับยากลับบ้าน ”
• คุณควรไปซื้อยาเอง ไม่ควรฝากคนอื่นๆ ไปซื้อให้ เพราะคงไม่มีใครทราบอาการของคุณดีเท่ากับตัวเอง นอกจากเป็นยาที่คุณใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ทราบชื่อยาและวิธีใช้ดีอยู่แล้ว

ลองนำไปปฏิบัติกันดูนะคะเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดปี ตลอดไป


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday
[ ... ]

พิษของพารา...ใครว่าธรรมดา

ในสมัยโบราณมีการใช้เปลือกต้นหลิว (willow) เป็นยาลดไข้ (antipyretic) และมีการค้นพบสารเคมีในเปลือกต้นหลิวคือ ซาลิซิน (salicins) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นแอสไพริน (aspirin) ได้ นอกจากนี้ยังค้นพบว่าในเปลือกซิงโคนา (cinchona) มีควินิน (quinine) ที่มีฤทธิ์เป็นยาแก้ไข้ได้ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้เป็นยารักษามาลาเรีย

ในปี ค.ศ. 1880 เกิดภาวะขาดแคลนต้นซิงโคนา จึงได้มีคนพยายามที่จะหาทางเลือกสำหรับยาลดไข้ จนมีการค้นพบยาลดไข้ตัวใหม่คือ
• ปี ค.ศ. 1886 พบ อะซิตานิไลด์ (acetanilide)
• ปี ค.ศ. 1887 พบ ฟีนาซิตีน (Phenacetin)

ขณะเดียวกันในปี ค.ศ. 1873 ฮาร์มอน นอร์ทรอป มอร์ส (Harmon Northrop Morse) ก็สามารถสังเคราะห์ พาราเซตามอล
โดยปฏิกิริยารีดักชั่น พารา-ไนโตรฟีนอล (p-nitrophenol) กับดีบุกในกรดอะซิติก (acetic acid) แต่ก็ยังไม่มีการนำพาราเซตามอลมาใช้เป็นยาลดไข้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1893 ได้มีการตรวจพบพาราเซตามอลในปัสสาวะของผู้ที่ใช้ยาฟีนาซิตีน และยังค้นพบว่าอะซิตานิไลด์ จะถูกเปลี่ยนเป็นพาราเซตามอลในร่างกายก่อนจึงสามารถออกฤทธิ์ลดไข้ได้ในปี ค.ศ. 1899

เนื่องจาก พาราเซตามอล (paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาบรรเทาอาการปวด (analgesics) ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร และการแข็งตัวของเลือดเหมือนยากลุ่มเอ็นเซด
(non-steroidal anti-inflammatory; NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หากใช้ในขนาดการรักษาปกติ ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้พิษสงของยานี้เท่าไหร่ นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ เป็นเหตุให้ปริมาณการใช้ยาตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พาราเซตามอลกลายเป็นยาประจำบ้านที่ขายดิบขายดี เป็นอะไรก็กินแต่พาราเซตามอล ปวดศีรษะ ไข้หวัด ก็พาราเซตามอล ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ก็พาราเซตามอล ยิ่งกว่านั้นบางรายปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ก็กินพาราเซตามอล ซึ่งพาราเซตามอลก็คงไม่ได้ช่วยอะไร ทำได้แค่ให้สบายใจขึ้นเพราะได้กินยาแล้ว บ้างก็มัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมไปหาหมอรักษากัน พลอยทำให้โรคที่เป็นลุกลามมากขึ้น ต้องเสียเงินรักษามากขึ้นโดยใช่เหตุ

ในหลายประเทศได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้มีการสำรวจวิจัยพบว่ามีการใช้ ยาพาราเซตามอลเกินขนาดมากขึ้นทุกปี และมีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการเกิดพิษของพาราเซตามอลจำนวนมาก จนน่าตกใจจนต้องออกมารณรงค์ให้ใช้ยาพาราเซตามอลเฉพาะเมื่อมีความจำเป็น และเผยแพร่ความรู้เรื่องพิษของยาให้ประชาชนตระหนักมากยิ่งขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ ใบปลิว เอกสารกำกับยา หรืออินเตอร์เน็ต

อันตรายจากการใช้ยาพาราเซตามอล ที่พบได้มากที่สุด คือ พิษต่อตับ ทำให้ตับวาย รองมาเป็นเรื่องของการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือตีกับยาอื่นนั้นเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ

• ที่เกิดจากความตั้งใจ ทุกคนคงทราบกันดี นั่นคือ การกินพาราเซตามอลประชดชีวิต การฆ่าตัวตาย ซึ่งบางรายก็แค่ต้องการประท้วง เรียกร้องความสนใจ นึกว่าพิษของพาราเซตามอลเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเพราะพาราเซตามอลจะทำให้ตับเสียการทำงานหรือตับวายได้ ซึ่งหากได้รับยาต้านพิษไม่ทันเวลาก็จะทำให้เสียชิวิตได้
• ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เนื่องจากพาราเซตามอลที่ผลิตออกจำหน่ายในปัจจุบันนั้นมีหลายรูปแบบ หลายความแรง หลายยี่ห้อ ซึ่งเป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะทราบ ได้แก่ รูปของยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม และการนำพาราเซตามอลไปผสมกับยาอื่นๆ ได้แก่ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้หวัด ยาแก้ปวด เป็นต้น ทำให้เกิดการกินยาซ้ำซ้อน โดยไม่รู้ตัว หากเป็นระยะเวลาไม่นานแค่ 2 ถึง 3 วันก็ยังพอไหว หากระยะเวลานานเป็นเดือนการเกิดพิษต่อตับคงเกิดอย่างแน่นอน ดังนั้นทางที่ดี ก่อนกินยาอะไรควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดเสียก่อน และหากไม่แน่ใจว่าเป็นยาอะไร เป็นยาสูตรผสมหรือไม่ ก็ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทุกครั้ง

เรื่องที่น่าคิดอีกเรื่อง คือ การกินพาราเซตามอลร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ รัม ยีน หรือ เบียร์ เพราะตัวแอลกอฮอล์เองเป็นที่ทราบกันดีว่าหากได้รับในปริมาณมาก หรือต่อเนื่องกันนานๆ ก็ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง
ตับวายได้ หากกินร่วมกับพาราเซตามอลก็จะเท่ากับเป็นการเหยียบคันเร่งให้ตับพังได้เร็วยิ่งขึ้น คณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายให้มีการพิมพ์คำเตือนบนฉลากยาพาราเซตามอลว่า “ ห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสม แอลกอฮอล์ ” เนื่องจากเกิดคดีพิพากษาเกี่ยวกับการกินยาพาราเซตามอลร่วมกับไวน์เป็นประจำของชาวเวอร์จิเนียรายหนึ่งจนทำให้ตับวาย จนต้องมีการปลูกถ่ายตับใหม่ บริษัทผู้ผลิตยาแพ้คดีต้องจ่ายเงินชดใช้ถึง 8 ล้านดอลลาร์

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเตือนคุณผู้อ่านก็คือ เรื่องของยาตีกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง แต่เดิมไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย
คิดว่าพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่มีพิษสงอะไร ไม่ตีกับยาอื่น แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้วเนื่องจากระยะหลังนักวิจัยได้ให้
ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะคนใช้ยาพาราเซตามอลมากขึ้น ยังกับพาราเซตามอลเป็นขนมอย่างนั้นแหละ ตัวอย่างหนึ่งที่ดิฉันพบเองก็คือ พาราเซตามอลตีกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวหนึ่งในผู้ที่เป็นเลือดข้น กล่าวคือพาราเซตามอลทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงได้หากได้รับในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเท่ากับไปเสริมฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดจนทำให้ผู้นั้นเกิดเลือดออกผิดปกติขึ้น

ทางที่ดีคุณควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็นในขนาดการรักษาปกติ คือ ยาพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็กินแค่ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ก็เพียงพอ) และหากไม่มีอาการแล้วก็ควรหยุดกินยาทันที หรือหากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมจะดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday
[ ... ]

ไตวาย ไม่ตายไว - สาเหตุ และการรักษา

โรคไตวาย เกิดจากการที่ไตสูญเสียหน้าที่ ไม่สามารถขับน้ำ และของเสียออกจากร่างกายได้ ทำให้ร่างกายเสียสมดุล และเลือดเป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ซึม คลื่นไส้ และเสียชีวิตในที่สุดได้

โรคไตวายมี 2 แบบ แบบเฉียบพลัน ซึ่งไตวายชั่วคราว สามารถฟื้นกลับมา ทำหน้าที่ได้อีก หายเป็นปกติได้ และแบบเรื้อรัง ซึ่งการทำงานของไตเสียอย่างถาวร ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อีกแล้ว

สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง มีหลายอย่าง บางอย่างสามารถรักษา และป้องกันการเสื่อม หรือชลอการเสื่อมของไตได้ ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาต้นเหตุเหล่านี้ หน้าที่ของไตจะค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งเป็นไตวายระยะสุดท้าย

โรคไตวายเรื้อรัง ไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใด สุดท้ายจะทำให้เกิดภาวะยูเรเมีย (Uremia) เหมือนกัน ทำให้มีอาการ ซีด บวม อ่อนเพลีย ซึมลงจนหมดสติและชักได้ ร่างกายจะดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าไตไม่ทำงานขับถ่ายของเสีย แต่ผู้ป่วยยังไม่สิ้นหวัง ด้วยความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยไตวาย ให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพพอสมควร

โรคไตวายเรื้อรังเกิดจากอะไร ?
โรคไตวายเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เป็นภาวะที่ เกิดจากโรคหลายอย่าง สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคเบาหวาน ที่เป็นมานานเกิน 15 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูงนานๆ โรคไตอักเสบเรื้อรัง นิ่วก็เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในคนไทย

โรคไตวายเรื้อรังรักษาให้หายได้ไหม ?
เมื่อไตเสื่อมหน้าที่อย่างเรื้อรัง การทำงานของไตจะเสื่อมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไตฝ่อ ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ โดยการลดอาหารประเภทโปรตีน และควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในภาวะปกติ

โรคไตวายเรื้อรังสามารถป้องกันได้ไหม ?
สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังหลายอย่าง สามารถป้องกันได้ เช่น การควบคุมเบาหวาน และความดันโลหิตสูงให้ดี สามารถลดอุบัติการของโรคไตวายเรื้อรังได้ โรคไตอักเสบหลายชนิดสามารถรักษา และสงวนการทำงานของไตได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรังรักษาไม่หาย แต่อาจป้องกันได้ การตรวจพบโรคไต และรักษาตั้งแต่ระยะแรก จึงมีความสำคัญมากในการป้องกันไตวาย เป็นที่น่าเสียใจว่า ผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษา จนทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไต ?
โรคไตบางอย่าง อาจแสดงอาการ เช่น บวม ปัสสาวะเป็นเลือด แต่โรคไตอักเสบหลายอย่าง ไม่แสดงอาการเลย จนกระทั่งการทำงานของไตเสื่อมมากแล้ว ถ้าไม่ตรวจปัสสาวะ เลือด ก็จะไม่ทราบว่าเป็นโรคไต เพราะฉะนั้น การตรวจร่างกายประจำปี จึงมีความสำคัญมาก ในการตรวจหาโรคไตที่ไม่แสดงอาการ

อาการปวดหลังเป็นอาการของโรคไต หรือไม่ ?
อาการปวดหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อและกระดูก , โรคไตส่วนใหญ่ ไม่แสดงอาการปวดหลัง นอกจากเป็นนิ่ว และกรวยไตอักเสบ

การรับประทานอาหารเค็ม เป็นสาเหตุของโรคไตหรือไม่ ?
อาหารเค็มไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคไต แต่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่ ควรลดอาหารเค็ม เพราะร่างกายไม่สามารถขับเกลือ ออกจากร่างกายได้ตามปกติ ทำให้บวมและความดันโลหิตสูง

เมื่อเป็นโรคไตวายเรื้อรังแล้ว จะทำอย่างไร ?
ประการแรก ผู้ป่วยควรจำกัดอาหารบางอย่าง เช่น อาหารเค็ม ผลไม้และอาหารที่มีโปรตีนสูง ถ้าความดันโลหิตสูงต้องควบคุมให้ดี ยาจะช่วยลดอาการได้บ้าง แต่ไม่มียาอะไรที่จะขับของเสียออกจากร่างกายได้ วิธีที่จะขับของเสียและน้ำออกจากร่างกายได้ คือ การล้างไต (Dialysis)

จะรักษาโรคไตวายเรื้อรังได้อย่างไร ?
การรักษาที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัดปลูกเปลี่ยนไต จากคนที่บริจาคไตให้ แต่การปลูกเปลี่ยนไตมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ มีผู้บริจาคไตน้อย มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนับร้อยนับพันคน รอการบริจาคไตอยู่ ผู้ป่วยเหล่านี้จะอยู่ได้ด้วยการล้างไต ระหว่างที่รอการปลูกไต

การล้างไตมีกี่วิธี ? วิธีไหนดีที่สุด ?
การล้างไตปัจจุบันมี 2 วิธี

1. วิธีการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD : Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis) วิธีนี้ใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องอย่างถาวร และใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้อง เพื่อล้างเอาของเสียในเลือดออก ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาวันละ 4 - 5 ครั้ง ทุกวัน วิธีนี้มีข้อดีที่ทำเองที่บ้านได้ แต่มีข้อเสียที่อุบัติการ การติดเชื้อในช่องท้องสูงเมื่อทำไปนานๆ และมีการสูญเสียโปรตีน ออกมาทางน้ำยามากในแต่ละวัน อาจเกิดภาวะขาดอาหาร ถ้ารับประทานอาหารไม่เพียงพอ
2. การฟอกเลือด (Hemodialysis) โดยการดูดเลือดจากผู้ป่วยไปล้างเอาน้ำ และของเสียออก โดยใช้ไตเทียม (เครื่องฟอกเลือด) เลือดที่ล้างแล้ว จะไหลกลับเข้ามาในตัวผู้ป่วย วิธีนี้ใช้เวลาครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อที่จะให้ได้ผลดี ควรฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง

จะเลือกวิธีไหนดีขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วย และความพอใจของผู้ป่วย แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบ ทั้งข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 วิธี และแนะนำวิธีที่เหมาะสมให้ แต่ผู้ป่วยและญาติเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง ว่าจะล้างไตหรือไม่ แล้วเลือกล้างไตวิธีใด






นายแพทย์ถนอมศักดิ์ อัศวดิลกชัย
แผนกอายุรกรรม


แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 3 - www.ram-hosp.co.th/books
[ ... ]

การบำบัดทดแทนไต โดยวิธีการล้างช่องท้องถาวร

เป็นเวลามากกว่า 50 ปี ที่วงการแพทย์ทราบว่า เยื้อบุช่องท้อง สามารถทำหน้าที่เป็นตัว กรองของเสียแทนไตได้ โดยการใช้น้ำยาที่คล้ายเลือด เป็นตัวพาเอาของเสียออก จึงมีการรักษาโรคไตวาย ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ด้วยการล้างช่องท้องมานานแล้ว แต่ต้องทำเป็นครั้งคราว แต่ละครั้งต้องใส่สายเข้าช่องท้องด้วย Trocath ทิ้งไว้ 2-3 วัน เมื่ออาการดีขึ้น ก็เอาออก เรียกว่า Intermitteut Peritoneal Dialysis

วิธีนี้มีอันตรายจากการใส่ Trocath เข้าช่องท้อง อาจแทงทะลุลำไส้ มีเลือดออก และทิ้งไว้นาน จะติดเชื้อในช่องท้อง อันตรายจากการติดเชื้อ จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ทำ ต้องใช้แรงงานพยาบาลมาก ในการเปลี่ยนน้ำยา ในประเทศที่เจริญแล้ว จะไม่ทำวิธีนี้แล้ว แต่ในประเทศไทยยังนิยมทำ เพราะสามารถทำโดยแพทย์ทั่วไป แพทย์ฝึกหัด และแพทย์ประจำบ้าน ทำได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษ น้ำยามีขายทั่วไป ทำได้ในโรงพยาบาลทุกขนาด แต่เนื่องจากมีผลแทรกซ้อน ดังกล่าวข้างต้น ใช้กำลังคนในการเฝ้าดูแล เปลี่ยนน้ำยา ใช้น้ำยาจำนวนมาก และการรักษาไม่มีประสิทธิภาพ เพราะอัตราการขจัดของเสียต่ำ เมื่อหยุดทำ ของเสียก็เพิ่มกลับดังเดิม

ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ยังมีการรักษาที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ คือ การล้างช่องท้องถาวร หรือ CAPD ย่อมาจาก Continuous Ambulatory Peritaneal Dialysis เป็นวิธีการรักษาที่พัฒนามาจาก การล้างช่องท้องชั่วคราว โดยการใส่ท่อถาวร เข้าช่องท้อง ท่อนี้จะฝัง โดยมีปลายหนึ่งเข้าช่องท้อง อีกปลายหนึ่งต่อกับถุงน้ำยาด้านนอก โดยยึดติดไว้กับผนังหน้าท้องอย่างถาวร เราจะฝึกให้ตัวผู้ป่วยเองหรือญาติ เปลี่ยนน้ำยาเองโดยวิธีดังนี้ ต่อถุงน้ำยาเข้ากับสายถาวร ที่ผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้อง ปล่อยน้ำยาเข้าจนน้ำยาหมดถุงปิดไว้ ระหว่างนี้จะมีการขับของเสีย และน้ำที่เกินออกโดยเยื้อบุช่องท้อง ของเสียและน้ำที่เกินจะเข้าไปอยู่ในน้ำยา ตลอดเวลาผู้ป่วยสามารถทำงานได้ เมื่อครบเวลา 4-6 ชั่วโมง จะปล่อยน้ำยาออก และเปลี่ยนเอาถุงน้ำยาใหม่ใส่เข้าไปในช่องท้อง วันหนึ่งจะใช้น้ำยา 6-8 ลิตร โดยวิธีนี้ของเสียและน้ำที่เกิน จะถูกขับออกตลอดเวลา มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เหมือนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แต่มีข้อดีกว่า ดังต่อไปนี้

1. ผู้ป่วยทำเองได้ที่บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาหน่วยไตเทียม และเสียเวลาฟอกเลือด สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4-6 ชั่วโมง
2. ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และไม่ต้องอาศัยพยาบาลผู้เชียวชาญไตเทียม
3. รับประทานอาหารได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผัก ผลไม้ เพราะมีการล้างของเสียออกตลอดเวลา ไม่เกิดภาวะโปแตสเซียมเกิน จนเป็นพิษต่อหัวใจ
4. ผู้ป่วยสูงอายุ ที่หัวใจทำงานไม่ดี การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม แต่ละครั้งมีผลต่อหัวใจ อาจมีความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดปกติ
5. ผู้ป่วยสูงอายุ หรือเส้นเลือดแข็ง หรือเด็กเล็กที่มีหลอดเลือดขนาดเล็ก จะมีปัญหาเรื่อง Vascular access ที่ใช้ฟอกเลือด การล้างช่องท้องถาวร ไม่ต้องใช้เส้นเลือดจึงเหมาะสมกว่า



พลตรีแพทย์หญิงอุษณา ลุวีระ
แพทย์อายุรกรรมโรคไต


แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลวิภาวดี - www.vibhavadi.com
[ ... ]

ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง

ไตมีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ

ขับถ่ายของเสียอันเกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีน (มีมากในเนื้อสัตว์ และอาหารจำพวกถั่ว) ซึ่งของเสียประเภทนี้ ได้แก่ ยูเรีย ครีเอตินีน กรดยูริค และสารประกอบไนโตรเจนอื่น ๆ หากของเสียประเภทนี้คั่งอยู่ในร่างกายมาก ๆ จะเกิดอาการต่างๆ ซึ่งทางการแพทยืเรียกภาวะดังกล่าวว่า ยูรีเมีย
ควบคุมปริมาณน้ำ และเกลือแร่ น้ำและแร่ส่วนที่เกินควรจำเป็นจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เกลือแร่ดังกล่าว เช่น โซเดียม โปตัสเซียม แคลเซียมฟอสฟอรัส เป็นต้น
ผลิตและควบคุมการทำงานของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนที่ควบคุมปริมาณของแคลเซียม ฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้น หากไตมีความบกพร่องมาก ๆ ผู้ป่วยอาจมีโรคโลหิตจาง หรือกระดูกผุ เป็นต้น
อาหารสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

หากไตมีความบกพร่องในหน้าที่ 3 ประการที่กล่าวมา การขจัดของเสียจำพวกโปรตีน น้ำ และเกลือแร่จะขาดความสมดุล ซึ่งในผู้ป่วยบางรายก็จะมีอาการบ่งชี้ แต่บางรายก็ไม่แสดงอาการ ด้วยเหตุนี้การตรวจเลือด และปัสสาวะจึงมีความสำคัญมาก

อาหารโปรตีนต่ำ 40 กรัมโปรตีนต่อวัน ร่วมกับเสริมกรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด หรืออาหารโปรตีนสูง 60-75 กรัมโปรตีนต่อวัน
พยายามใช้ไข่ขาว และปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีน
หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์
หลีกเลี่ยงไขมันสัตว์ และกะทิ
งดอาหารเค็ม จำกัดน้ำ
งดผลไม้ ยกเว้นเช้าวันฟอกเลือด
งดอาหารที่มีฟอสเฟตสูง เช่น เมล็ดพืช นมสด เนย ไข่แดง
รับประทานวิตามินบีรวม , ซี และกรดโฟลิก รับประทาน
อาหารวิตามินดีชนิด 1-alpha hydrocylated form ตามแพทย์สั่ง หลีกเลี่ยงวิตามินเอ

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง

โรคไตวายเรื้อรังมีหลายระยะ ระยะเริ่มแรกอาการจะน้อยมาก แต่เมื่อเป็นจนถึงระยะปานกลาง และระยะรุนแรง อาการจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะเพิ่มพูนจนไปถึงไตวายระยะสุดท้ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้น นอกจากผู้ป่วยจะได้รับความทุกข์ทรมานแล้ว ยังเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ดังนั้นจึงควรชะลอการดำเนินของโรคไตวายเรื้อรังด้วยการควบคุมอาหาร

อาหารจำกัดโซเดียม

ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการบวม ถ่ายปัสสาวะน้อย หัวใจวาย น้ำท่วมปอด หรือมีความดันโลหิตสูง เมื่อสั่งให้ "กินอาหารจำกัดโซเดียม" หมายความว่าจะต้องงดอาหารที่มีโซเดียมมาก

อาหารที่มีโซเดียมมาก ได้แก่ อาหารที่มีรสเค็ม เพราะมีโซเดียมคลอไรด์ ( เกลือ) มาก เช่น

• เกลือป่น เกลือเม็ด
• น้ำปลา น้ำบูดู ซอสหอย ซอสเนื้อ ซอสถั่ว ซีอิ๊ว
• ซอสที่มีรสอื่นนำ มีรสเค็มแผง เช่น ซอสพริก (มีรสเปรี้ยว และเผ็ดนำ ความจริงมีรสเค็มด้วย) ซอสมะเขือเทศ ซอสรสเปรี้ยว ๆ เป็นต้น
• อาหารดองเค็ม เช่น เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ ผักดองเค็ม ผลไม้ดองเค็ม
• อาหารดองเปรี้ยว เช่น หลาเจ่า แหนม ไส้กรอกอีสาน หัวหอมดอง หน่อไม้ดอง ผัดกาดเขียวดองเปรียว ผักดองสามรส กระเทียมดองสามรส เป็นต้น
• อาหารที่มีรสหวาน และเค็มจัด เช่น ปลาหวาน กุ้งหวาน หมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ผลไม้แช่อิ่ม เป็นต้น

อาหารจำกัดโปแตสเซียม

การจัดอาหารให้มีโปแตสเซียมน้อย กระทำได้ยากกว่าการจัดให้มีโซเดียมน้อย เพราะธาติโปแตสเซียมมีในอาหารทั่วไปทั้งสัตว์ และพืชต่างจากโซเดียม ซึ่งมีมากแต่ในสัตว์ (เช่น เนื้อ นม ไข่) อาหารที่มีโปแตสเซียมมาก คือ

พวกเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เครื่องในสัตว์ ไข่ และนม
พวกผัก ได้แก่ หัวผักกาดสีแสด ผักชี ผักที่มีใบสีเขียวเข้ม ถั่วดำ และถั่วปากอ้า มีมากเป็นพิเศษ
พวกผลไม้ ได้แก่ กล้วย ส้ม และน้ำส้มคั้น แตงโม แตงหอม มะละกอ ลูกท้อ
ผลไม้แห้งทุกชนิด เช่น ลูกเกด ลูกพรุน
เบ็ดเตล็ด กากน้ำตาล ช็อกโกแล็ต มะพร้าวขูด
ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยต้องกินอาหารจำกัดโปแตสเซียม จึงต้องจำกัดอาหารทั้งพวกเนื้อสัตว์ พวกผัก และผลไม้ประเภทที่มีโปแตสเซียมสูงๆ

อาหารจำกัดโปรตีน มีประโยชน์อย่างไร

อาหารจำกัดโปรตีนจะช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของไต และช่วยลดระดับของเสียที่คั่งอยู่ในร่างกายผู้ป่วย ทำให้อาการบางอย่างของโรคไตวายลดลง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีแผลในปาก เป็นต้น

อาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ (ทั้งเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา) เครื่องในสัตว์ ไข่ นม และถั่ว

คำว่า "จำกัด" ในที่นี้หมายถึง ให้รับประทานแต่น้อย แต่ไม่ได้ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด คือให้รับประทานได้วันละ 20-25 กรัม นั่นคือ เนื้อสัตว์ประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ หรือหมูย่างประมาณ 4 ไม้

การจำกัดโปรตีนไม่ให้เกิน 20-25 กรัมต่อวัน ต้องใช้ควบคู่กับการรับประทาน คู่เหมือนของกรดอะมิโนจำเป็น (KETOANALOGUE OF ESSENTIAL AMINO ACID, KA) หรือกรดอะมิโนจำเป็น (ESSENTIAL AMINO ACID) เสริมในปริมาณที่แพทย์แนะนำ ห้ามผู้ป่วยนำไปใช้เองโดยไม่มีการรับประทาน EAA หรือ KA เสริม

เงื่อนไขในการจำกัดอาหารโปรตีน

ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระยะเริ่มแรก ถึงระยะรุนแรง ( คือผู้ป่วยที่มีค่าความเข้มข้นของครีเอตินีนในเซรุ่มประมาณ 2-8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) เท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตวาย (HEMODIALYSIS) หรือวิธีล้างไตทางช่องท้อง (PERITONEAL DIALYSIS)

การจำกัดปริมาณน้ำ

หากผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังขั้นรุนแรง จะต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวันให้เหมาะสม ตามวิธีการคำนวณง่าย ๆ คือ

ปริมาณน้ำดื่มแต่ละวัน = ปริมาณปัสสาวะของเมื่อวาน + 500 มิลลิลิตร

อาการเริ่มแรกที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ อาการบวมที่หน้าหรือเท้า ปัสสาวะเป็นสีคล้ำ สีน้ำล้างเนื้อ หรือเป็นเลือด ปัสสาวะแสบ ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืนถ่ายปัสสาวะมากกว่า 3 ครั้ง ปวดบริเวณหลัง ชายโครง ปวดหรือเวียนศีรษะ เมื่อมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์

การรักษาโรคไตนั้นนอกจากจะรักษาด้วยยาแล้ว การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย และเรื่องอาหารเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคไตส่วนใหญ่ใช้เวลารักษานาน ผู้ป่วยจึงไม่ควรเพิ่ม ลด หยุดยา หรือไปซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้


แหล่งข้อมูล : www.bangkokhealth.com
[ ... ]

โรคไต ภาวะไตวาย อาการและสัญญาณ

เมื่อพูดถึง โรคไต คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า คือ โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งหมายถึง การสูญเสียการทำงานของไตไปอย่างถาวร และถ้าเข้าสู่ ระยะสุดท้าย ก็ต้องได้รับการฟอกเลือด หรือเปลี่ยนไต เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ไปได้ จริงๆ แล้ว โรคไต มีอยู่หลายชนิด แต่ก่อนที่เราจะรู้จักโรคไตนั้น ควรทำความรู้จักกับไตก่อน

ไต เป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง มี 2 ข้างอยู่บริเวณบั้นเอว หน้าที่สำคัญของไต คือ

1. ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการแตกตัวของโปรตีนในอาหารออกจากร่างกาย
2. รักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ กรอและด่างของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. ควบคุมความดันโลหิต
4. สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก

ไต เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนที่ต่อจากท่อไต (URETER) ซึ่งจะนำปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ เข้าสู่ท่อปัสสาวะ (URETHRA) ในเพศชายจะมีต่อมลูกหมาก อยู่โดยรอบท่อปัสสาวะ

โรคไตและระบบปัสสาวะ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. โรคที่เกิดจากการอักเสบ ในส่วนของไตที่มีหน้าที่กรอง (โกสเมอรูรัส - GLOMERULUS) หรือเกิดจากภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ กลุ่มอาการเนฟโฟติค (NEPHROTIC) และไตอักเสบ (NEPHRITIS)
2. โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต ที่เป็นท่อเล็กๆ (TUBULE) และเซลล์ที่ผยุงไตให้เป็นรูปร่าง (INTERSTIJIUM) ซึ่งเราเรียกรวมๆ ว่า โรคของ TUBULO INTERSTITIUM โรคที่พบบ่อย คือ การตายของเนื้อเยื่อที่ท่อไต (ACUTETUBULAR NECROSIS) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของ ไตวายเฉียบพลัน
3. โรคติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อจากบคทีเรีย ของทางเดินปัสสาวะ
4. โรคที่เกิดจากการอุดตันทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต, นิ่ว เป็ฯต้น
5. โรคไตที่มีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคถุงน้ำที่ไต
6. เนื้องอกในไต
7. โรคทางด้านร่างกาย ที่มีแนวโน้มจะทำให้ การทำงานของไตเสื่อมลง เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง

ภาวะไตวายคือ ภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไต แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

1. ไตวายเฉียบพลัน โดยช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจะเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวันทำให้เกิดการคั่งของ ของเสียทำให้เกลือแร่ กรด ด่าง และ การควบคุม ปริมาณน้ำในร่างกายผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรัดษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่ จะมีปริมาณปัสสาวะต่อวันน้อยกว่า 400 ซีซี สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน มีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติ ของการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่ช๊อกจากการติดเชื้อ, เสียเลือดจำนวนมาก หรือขาดน้ำอย่างรุนแรงจากท้องเสีย การใช้คำว่า "เฉียบพลัน" นอกจากบ่งถึง ช่วงเวลาระยะสั้นที่เกิดขึ้นแล้ว ยังบ่งถึงความเป็นไปได้ ที่ไตจะกลับสู่ภาวะปกติได้
2. ไตวายเรื้อรัง คือการสูญเสียการทำงานของไต ที่เป็นไปอย่างช้าๆ และถาวร ช่วงเวลาอาจตั้งแต่ 1-2 ปี จนถึง 10 ปีขึ้นไป จนในที่สุดเข้าสู่ภาวะสุดท้ายของไตวาย (END STAGE OF RENAL FAILURE) ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ต้องการการรักษา แบบทดแทน (เช่น ฟอกเลือด, เปลี่ยนไต) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

อาการและสัญญาณบอกเหตุ ของผู้ป่วยโรคไต

1. ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรืออาจมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ
2. มีโปรตีนหรือไขขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ปัสสาวะที่ออกมามีฟองมาก และฟองไม่สลายตัวไปง่ายๆ (การมีฟองในปัสสาวะเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ)
3. อาการบวมรอบๆ ตาและข้อเท้า
4. อาการปวดหลัง จะปวดบริเวณบั้นเอว บางครั้งก็ร้าวที่ขาหนีบ และลูกอัณฑะ หากความเจ็บปวดเกิดขึ้น เหนือกระดูกหัวเหน่า แสดงว่า มีการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ และถ้าความเจ็บปวดเกิดขึ้น พร้อมกับอาการไข้และหนาวสั่น แสดงว่ามีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนบน คืแท่อไตและกรวยไต สิ่งที่ต้องคำนึงไว้ คือ อาการปวดหลัง ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับไตเสมอไป เนื่องจจากส่วนหลังของร่างกาย ยังมีกระดูกกล้ามเนื้อ และเส้นประสาท ความเป็นจริงที่พบคือ โรคไตส่วนใหญ่ที่พบ ก็ไม่ได้มีอาการปวดหลัง
5. ปัสสาวะลำบาก สาเตุจากนิ่ว หรือต่อมลูกหมากโต
6. อาการของไตวาย ผู้ป่วยที่ไตวายไม่มากนักจะไม่ปรากฎอาการให้เห็น แต่จะทราบโดยการเจาะเลือด ตรวจดูการทำงานของไต ที่สำคัญ คือ ระดับยูเรียไนโตรเจน (BLOOD UREA NITROGEN - BUN) และระดับเครียตินิน (SERUM CREATININE) เมื่อไตวายเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยมีอาการที่เราเรียกว่า "กลุ่มอาการยูรีเมีย" ซึ่งเกิดจากการที่มีของเสียสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติ ของการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ผิวซีด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย คันไปทั้งตัว บวมที่ส่วนหน้าและส่วนขา ปัสสาวะบ่อยครั้งในเวลากลางคืน และเกิดหัวใจล้มเหลว

การล้างไต

ที่ใช้อยู่มี 2 วิธี คือ การล้างไตทางหน้าท้อง และการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม เนื่องจากการล้างไต เป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะฉะนั้น กรณีผู้ป่วยยังไม่มีอาการทางยูรีเมีย เช่น ยังรู้สึกสบายดี ไม่เพลีย ไม่คลื่นไส้ สมรรถภาพหัวใจ ยังอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ และไม่มี ภาวะทุโภชนาการ แพทย์จึงดูแลแบบประคับประคองไปก่อน บางครั้งแพทย์ที่ดูแลจะใช้ผลเลือด เป็นเกณฑ์ในการแนะนำ ให้ผู้ป่วยเข้าโปรแกรมล้างไต คือ ค่าซีรัม BUN ควรจะเกิน 100 mg/d หรือค่าซีรัมเครียตินิน ควรเกิน 9 mg/d ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรมีกาอารยูรีเมียร่วมด้วย

ข้อบ่งชี้ที่แน่นอนและชัดเจนของผู้ป่วยที่ควรเริ่มทำการล้างไต

1. ผู้ป่วยที่มีการทำงานของสมองผิดปกติ ซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว
2. มีการอักเสบของเยื้อหุ้มปอด และเยื้อหุ้มหัวใจจากยูรีเมีย
3. มีความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย เ่นมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า แขนขาอ่อนแรง
4. มีภาวะน้ำเกินหรือหัวใจล้มเหลวบ่อยๆ
5. มีโพแทสเซียมในเลือดสูงบ่อย ๆ และไมาสามารถควบคุมได้ โดยการใช้ยา
6. มีภาวะเป็นกรดในเลือด และไม่สามารถควบคุมโดยการให้ยารักษา


แหล่งข้อมูล : สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดนครปฐม - province.moph.go.th/nakhonpathom
[ ... ]

โรคไต : อาการ สาเหตุ และข้อแนะนำ

โรคไต หมายถึง โรคอะไรก็ได้ที่มีความผิดปกติหรือที่เรียกว่า พยาธิสภาพ เกิดที่บริเวณไต ที่พบมาก ได้แก่

• โรคไตวายฉับพลันจากเหตุต่างๆ
• โรคไตวายเรื้อรังเกิดตามหลังโรคเบาหวาน โรคไตอักเสบ หรือโรคความดันโลหิตสูง
• โรคไตอักเสบเนโฟรติก
• โรคไตอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันสับสน (โรค เอส.แอล.อี.)
• โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
• โรคถุงน้ำที่ไต (Polycystic Kidney Disease)

อาการ

• ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคไต แต่ก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้ โดยจะปัสสาวะเป็นเลือด อาจเป็นเลือดสดๆ เลือดเป็นลิ่มๆ
• ปัสสาวะเป็นสีแดง สีน้ำล้างเนื้อ สีชาแก่ๆ หรือปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ก็ได้
• ปัสสาวะเป็นฟองมาก เพราะมี albumin หรือโปรตีนออกมามาก จะทำให้ปัสสาวะมีฟองขาวๆ เหมือนฟองสบู่
• การมีปัสสาวะเป็นเลือด พร้อมกับมีไข่ขาว-โปรตีนออกมาในปัสสาวะพร้อมๆ กัน เป็นข้อสันนิฐาน ที่มีน้ำหนักมากว่าจะเป็นโรคไต
• ปัสสาวะขุ่น อาจเกิดจากมี เม็ดเลือดแดง (ปัสสาวะเป็นเลือด) เม็ดเลือดขาว (มีการอักเสบ) มีเชื้อแบคทีเรีย (แสดงว่ามีการติดเชื้อ) หรืออาจเกิดจากสิ่งที่ร่างกายขับออกจากไต แต่ละลายได้ไม่ดี เช่น พวกผลึกคริสตัลต่างๆ เป็นต้น
• การผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ เช่นการถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบ ปัสสาวะราด เบ่งปัสสาวะ อาการเหล่านี้ ล้วนเป็นอาการผิดปกติ ของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และท่อทางเดินปัสสาวะ
• การปวดท้องอย่างรุนแรง (colicky pain) ร่วมกับการมีปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น หรือมีกรวดทราย แสดงว่าเป็นนิ่วในไต และทางเดินปัสสาวะ
• การมีก้อนบริเวณไต หรือบริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นโรคไต เป็นถุงน้ำการอุดตันของไต หรือเนื้องอกของไต
• การปวดหลัง ในกรณีที่เป็นกรวยไตอักเสบ จะมีอาการไข้หนาวสั่น และปวดหลังบริเวณไต คือ บริเวณสันหลังใต้ซี่โครงซีกสุดท้าย
• อาการบวม โดยเฉพาะการบวมที่บริเวณ หนังตาในตอนเช้า หรือหน้าบวม ซึ่งถ้าเป็นมาก จะมีอาการบวมทั่วตัว อาจเกิดได้ในโรคไตหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อย โรคไตอักเสบชนิดเนฟโฟรติค ซินโดรม (Nephrotic Syndrome)
• ความดันโลหิตสูง เนื่องจากไตสร้างสารควบคุมความดันโลหิต ประกอบกับไต มีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย เพราะฉะนั้นความดันโลหิต สูงอาจเป็นจากโรคไตโดยตรง หรือในระยะไตวายมากๆ ความดันโลหิตก็จะสูง ได้
• ซีดหรือโลหิตจาง เช่นเดียวกับความดันโลหิตสูง สาเหตุของโลหิตจางมีได้ หลายชนิด แต่สาเหตุที่เกี่ยวกับโรคไตก็คือ โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) เนื่องจากปกติ ไตจะสร้างสารอีริโธรโปอีติน (Erythopoietin) เพื่อไปกระตุ้นให้ไขกระดูก สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเกิดไตวายเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถสร้างสารอีริโธรโปอีติน (Erythopoietin) ไปกระตุ้นไขกระดูก ทำให้ซีด หรือโลหิตจาง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลมบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ควรต้องไปพบแพทย์ ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เอ็กซ์เรย์ จึงจะพอบอกได้แน่นอนขึ้น ว่าเป็นโรคไตหรือไม่

สาเหตุ

• เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital) เช่นมีไตข้างเดียว หรือไตมีขนาดไม่เท่ากัน โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic kidney disease) ซึ่งเป็น กรรมพันธุ์ด้วย เป็นต้น
• เกิดจากการอักเสบ (Inflammation) เช่นโรคของกลุ่มเลือดฝอยของไตอักเสบ (glomerulonephritis)
• เกิดจากการติดเชื้อ (Infection) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ เช่นกรวยไตอักเสบ ไตเป็นหนอง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (จากเชื้อ โรค) เป็นต้น
• เกิดจากการอุดตัน (Obstruction) เช่นจากนิ่ว ต่อมลูกหมากโต มะเร็งมดลูกไปกดท่อไต เป็นต้น
• เนื้องอกของไต ซึ่งมีได้หลายชนิด

คำแนะนำ

1. กินอาหารโปรตีนต่ำ หรืออาหารโปรตีนต่ำมาก ร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็น
โดยกินอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งหมายถึงโปรตีน ที่ได้จากเนื้อสัตว์ทุกชนิด จำนวน 0.6 กรัม ของโปรตีน / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน โดยไม่ต้องให้กรดอะมิโนจำเป็น หรือกรดคีโต (Keto Acid) เสริม เพราะอาหารโปรตีนในขนาดดังกล่าวข้างต้น ให้กรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณที่พอเพียง กับความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยซึ่งมีน้ำหนักตัวเฉลี่ย ประมาณ 50-60 กิโลกรัม ควรกินอาหาร ที่มีปริมาณโปรตีนสูงประมาณ 30-60 กรัม / วัน อาจจำกัดอาหารโปรตีน เพื่อชะลอการเสื่อมหน้าที่ ของไตได้อีกวิธีหนึ่ง โดยให้ผู้ป่วยกินอาหารโปรตีนต่ำมาก (0.4 กรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน) ร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็น หรืออนุพันธ์คีโต (Keto Analog) ของกรดอะมิโนจำเป็น ในกรณีผู้ป่วยมีน้ำหนักเฉลี่ย 50-60 กิโลกรัม ควรกินโปรตีนประมาณ 20-25 กรัม / วัน เสริมด้วยกรดอะมิโนจำเป็น หรืออนุพันธ์ครีโตของกรดอะมิโนจำเป็น 10-12 กรัม / วัน

2. กินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลต่ำ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง ควรควบคุมปริมาณโคเลสเตอรอล ในอาหารแต่ละวันไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัม / วัน ด้วยการจำกัดอาหาร ที่มีโคเลสเตอรอลมาก เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ทุกชนิด และนม เป็นต้น

3. งดกินอาหารที่มีฟอสเฟตสูง ฟอสเฟตมักพบในอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม และเมล็ดพืชต่างๆ เช่น ถั่วลิสง เม็ดทานตะวัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดอัลมอนด์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว พบว่าอาหารที่มีฟอสเฟตสูง จะเร่งการเสื่อมของโรคไตวายเรื้อรัง ให้รุนแรงมากขึ้น และมีความรุนแรงของ การมีโปรตีนรั่วทางปัสสาวะมากขึ้น นอกเหนือจากผลเสีย ต่อระบบกระดูกดังกล่าว

4. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ไม่มีอาการบวม การกินเกลือในปริมาณไม่มากนัก โดยไม่ต้องถึงกับงดเกลือโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ควรกินเกลือเพื่อการปรุงรสเพิ่ม ผู้ป่วยที่มีอาการบวมร่วมด้วย ควรจำกัดปริมาณเกลือที่กินต่อวันให้น้อยกว่า 3 กรัมของน้ำหนักเกลือแกง (เกลือโซเดียมคลอไรด์) ต่อวัน ซึ่งทำได้โดยกินอาหารที่มีรสชาติจืด งดอาหารที่มีปริมาณเกลือมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ทำเค็ม หรือหวานเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ปลาแห้ง กุ้งแห้ง รวมถึงหมูแฮม หมูเบคอน ไส้กรอก ปลาริวกิว หมูสวรรค์ หมูหยอง หมูแผ่น ปลาส้ม ปลาเจ่า เต้าเจี้ยว งดอาหารบรรจุกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง เนื้อกระป๋องข้างต้น
5. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีน้ำหนักเกิน น้ำหนักจริงที่ควรเป็น (Ideal Weight for Height) ในคนปกติ ควรจำกัดปริมาณแคลอรี ให้พอเพียงในแต่ละวันเท่านั้น คือ ประมาณ 30-35 กิโลแคลอรี / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน


นุชจรี ร่วมชาติ


แหล่งข้อมูล : www.dmsc.moph.go.th - ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม
[ ... ]

เสียวฟัน

ถ้าหากคุณรับประทานไอศกรีม หรือจิบกาแฟแล้วมีอาการเสียวแปลบที่ตัวฟัน นี่เป็นสัญญาณเตือนแล้วว่า ฟันของคุณต้องมีอะไรผิดปกติแน่นอน ปกติแล้วโครงสร้างของฟันที่มีสุขภาพดีนั้น ตัวฟันจะมีเปลือกฟัน (Enamel) ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งที่สุดของร่างกายหุ้มอยู่ และรากฟันเองก็มีส่วนที่เป็นเปลือกรากฟัน (Cementum) หุ้มอยู่ ส่วนที่เป็นเนื้อฟัน (Dentine) จะประกอบไปด้วยท่อเล็กๆ หลายๆ ท่อ หากท่อเหล่านี้ไม่มีอะไรมาหุ้มจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็สามารถทำให้ความร้อน ความเย็น กรดจากอาหาร สามารถส่งต่อผ่านท่อนี้ไปที่ประสาทฟัน ทำให้เราสะดุ้งทุกทีไปเวลารับประทานอาหารต่างๆ

ถามว่าอาการเสียวฟัน อันตรายมากไหม ? จริงๆ แล้วมันคือสัญญาณเตือนคุณว่าถ้าไม่รีบแก้ไขก็จะมีเรื่องต่อเนื่องที่ทำอันตราย
กับฟันมากขึ้น อีกอย่างก็จะทำให้คุณหมดความสุขในการรับประทานอาหาร ทุกครั้งที่จะเอาอะไรใส่ปากก็ขยาดทุกที

อะไรบ้างที่ควร หรือไม่ควรในการป้องกันการอาการเสียวฟัน

DO'S

• การทำความสะอาดฟัน ควรเลือกแปรงที่ขนแปรงนิ่มไม่แข็งเกินไป เพราะทำให้คอฟันสึกง่าย
• แปรงให้ถูกวิธี แปรงผิดวิธีทำให้เหงือกร่น คอฟันสึก รากฟันโผล่ ทำให้เสียวฟันมาก
• พบทันตแพทย์ตรวจฟันทุก 6 เดือน หากมีฟันผุอุดเสีย มีโรคเหงือกอักเสบก็จัดการเลย อย่าปล่อยให้กระดูกถูกทำลายมีช่องว่างระหว่างเหงือกกับฟัน ซึ่งทั้งฟันผุและโรคเหงือกเป็นต้นเหตุให้เกิดอาการเสียวฟันมาก
• หากมีฟันสึกจากการบดเคี้ยวก็ควรให้ทันตแพทย์ครอบฟันด้วย

DON'TS

• อย่าใช้ฟันผิดประเภท จริงอยู่ธรรมชาติของฟันเป็นอวัยวะที่แข็ง แต่มีข้อจำกัดถ้าใช้อย่างไม่ทะนุถนอม หากฟันแตก หัก ฟันร้าว ก็ทำให้เกิดอาการเสียวฟันมาก
• การแปรงฟันเน้นแปรงถูกวิธี แต่ไม่ใช่แปรงแรงๆ แล้วฟันจะสะอาด ไม่ต้องแรงแต่แปรงถูกวิธี
• หากนอนกัดฟัน มีฟันสึกมากต้องแก้ไขหรือใส่เครื่องมือป้องกัน
• อย่าผัดวันประกันพรุ่ง หากมีสัญญาณอาการต่างๆ ที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับฟันเตือน ให้รีบพบทันตแพทย์ หรือพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุก 6 เดือน

ต้องหมั่นดูแลสุขภาพฟันเป็นสำคัญ แปรงฟันอย่างถูกวิธี และอมน้ำยาบ้วนปากช่วยกำจัดแบคทีเรียในส่วนที่การแปรงฟันเข้าไม่ถึง ขอให้คุณทุกคนมีความสุขกับการรับประทานอาหารอร่อยๆ นะครับ อย่าทนทุกข์ทรมานกับอาการเสียวฟันอยู่เลย


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday
[ ... ]

ลิ้นสะอาด - ช่วยลดกลิ่นปาก

หากท่านต้องการให้ลมปากสะอาด ก็ไม่ควรมองข้ามถึงการทำความสะอาดลิ้น!!

เนื่องจากลิ้นของเรามีผิวที่ไม่เรียบ แต่ขรุขระถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับพรมหนาๆ ที่ถักด้วยเส้นใยผ้า มีซอกเล็กซอกน้อยเต็มไปหมด ดังนั้นลิ้นจึงเป็นที่กักเศษอาหารอย่างดีที่สุด เหมาะที่สุดที่จะให้แบคทีเรียที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโตอาศัยอยู่ แบคทีเรียเหล่านี้ปล่อยสารพิษที่ทำอันตรายต่อเหงือกและฟันแล้ว ยังก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์มีกลิ่นเหม็นเน่า

จากการวิจัยพบว่าแบคทีเรียที่มีผลต่อกลิ่นปากมากๆ มักจะอยู่ตามโคนลิ้นมากกว่าที่ฟันและเหงือก ก็เป็นคำตอบที่ดีสำหรับหลายท่านที่สงสัยว่า

- ฟันผุก็อุดแล้ว
- เหงือกก็ไม่อักเสบ ขูดหินปูนทุก 6 เดือนตามหมอนัด
- แปรงฟันหลังอาหารทุกวัน
- เสียเงินไปก็มากกับการใช้น้ำยาบ้วนปากหลากหลายชนิด

แต่ก็ยังไม่วาย รู้สึกมีกลิ่นปาก ลมหายใจที่ไม่สะอาด....

- ลองมาสังเกตลิ้นของท่านดูว่ามีคราบอาหารจับหรือไม่ ?
- ท่านเคยทำความสะอาดลิ้นหรือเปล่า ?

การทำความสะอาดลิ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาสุขภาพในช่องปาก นอกจากการแปรงฟัน และใช้ Dental Floss เพื่อทำความสะอาดซี่ฟัน

เราจะทำความสะอาดลิ้นอย่างไร ?

เดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์ทำความสะอาดลิ้นทำจาก plastic เป็นรูปตัว U วิธีใช้ให้แลบลิ้นออกมาให้สุด ใช้ไม้ขูดลิ้น ขูดจากโคนลิ้นมาด้านหน้า ทำสัก 3-4 ครั้ง จะเห็นคราบอาหารติดออกมา เราจะทำวันละ 2 ครั้งต่อวัน ตอนเช้าตื่นนอน และหลังอาหารเย็นก่อนนอน

การทำความสะอาดลิ้นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นแล้ว ยังมีผลทำให้ลิ้นสามารถรับรสได้ดีขึ้น (วารสารทันตแพทย์สมาคมสหรัฐอเมริกา ธันวาคม 1999) และก็มีข้อมูลที่น่าสนใจในวงการแพทย์ว่ามีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญว่า แบคทีเรียในช่องปากมีโอกาสทำให้ติดเชื้อและเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ และจากวารสารของสมาคมทันตแพทย์สหรัฐอเมริกาเดือนมีนาคม 2001 ก็ยืนยันว่าก๊าซที่เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากมีโอกาสเกิดอันตรายต่อเยื่อหุ้มปอดเช่นกัน

การขจัดแบคทีเรียในช่องปากนอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพในช่องปาก ทำให้ลดกลิ่นแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพร่างกายส่วนอื่นด้วย ไม่เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการแปรงฟัน ใช้ Dental Floss หรือน้ำยาบ้วนปาก

.... อย่าลืมทำความสะอาดลิ้นด้วยนะครับ...


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday
[ ... ]

กลิ่นปาก

กลิ่นปาก คือ ลมหายใจที่ผ่านช่องปากมีกลิ่นเห็นเป็นครั้งคราว หรือมีกลิ่นตลอดเวลาก็ว่าได้ คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่ามีกลิ่นปาก อาจทดสอบด้วยตัวเองโดยการใช้มือบังบริเวณปากและจมูก แล้วหายใจออกทางปาก แล้วตามด้วยหายใจเข้าทางจมูกก็จะได้กลิ่นปาก

สาเหตุ

• อนามัยช่องปากไม่ดี มีเศษอาหารค้างในช่องปากเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากฟันผุ เหงือกอักเสบ การแปรงฟันไม่สะอาด ไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันหลังกินอาหาร จึงมีเศษอาหารค้างอยู่ในช่องปาก ซอกฟัน นอกจากนี้ ยังเกิดจากคราบแบคทีเรียที่เกาะตามฟัน เหงือก ลิ้น ซอกฟันเก ฟันปลอม และอุปกรณ์ทางทันตกรรม เมื่อเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ เลือดออกตามไรฟันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของกลิ่นปาก
• บุหรี่ คราบสารนิโคติน และทาร์ (tar) ในบุหรี่ที่เคลือบตามฟันและติดแน่นกับเหงือก ช่องปาก และปอด ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
• สุขภาพทั่วไป กลิ่นปากอาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ แผลในช่องปาก ไซนัสอักเสบ ไข้หวัด โรคของกระเพาะอาหาร ยาบางชนิด
• อาหาร โดยเฉพาะเครื่องเทศ กระเทียม หอม สุรา ซึ่งจะมีกลิ่นติดปากประมาณ 1-2 วัน นมและเนยก็มีส่วนให้เกิดกลิ่นปากได้
• ปากแห้งอันมีสาเหตุมาจากน้ำลายน้อย เช่น ผู้มีอาชีพใช้เสียง หรือผู้ป่วยภูมิแพ้ที่นอนอ้าปากหายใจทางปากขณะหลับ การเคี้ยวอาหารช่วยให้น้ำลายออกมากขึ้น
• อายุ แม้ว่าจะดูแลอนามัยช่องปากเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม อายุที่สูงขึ้นมีส่วนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายน้อยลง

การดูแลตนเอง

กลิ่นปากสามารถหายได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยช่องปากให้ดี หากยังไม่ดีขึ้นควรพบทันตแพทย์

• ทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหากลิ่นปาก คือ การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน อีกทั้งนัดพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน
• หากมีเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟัน หรือหลังใช้ไหมขัดฟันเป็นเวลาเกิน 3 สัปดาห์ อาจเกิดจากเหงือกอักเสบ ควรพบทันตแพทย์
• ควรแปรงลิ้นให้ถึงโคนลิ้นด้วยแปรงที่อ่อนนุ่มทุกวัน เพราะลิ้นเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียเช่นกัน พบว่าผู้ที่แปรงลิ้นมีกลิ่นปากน้อยกว่าผู้ที่แปรงฟันโดยไม่แปรงลิ้น
• ผู้ที่สูบบุหรี่ควรหยุดสูบบุหรี่ทันที กลิ่นปากจะหมดไปหลังหยุดสูบบุหรี่ 2 สัปดาห์
• ดื่มน้ำปริมาณมากเพื่อป้องกันปากแห้ง
• กินผักสดและผลไม้ที่มีกากใยอาหาร เป็นการช่วยทำความสะอาดฟัน
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น หอม กระเทียม เครื่องเทศ
• น้ำยาบ้วนปาก ยาอม และสเปรย์ดับกลิ่นปาก ช่วยบดบังหรือระงับกลิ่นปากได้ชั่วคราว ไม่ควรอมยาอมที่มีรสหวาน เพราะเป็นเหตุให้แบคทีเรียเติบโตดี ส่งผลให้ฟันผุและเกิดกลิ่นปากมากขึ้น
• ทำความสะอาดฟันปลอมทุกคืนตามคำแนะนำของทันตแพทย์
• ไม่ควรงดอาหารบางมื้อ เพราะการเคี้ยวช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำลายการรักษา
• ตรวจสุขภาพช่องปากเพื่อหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ
• ส่งไปพบแพทย์ หากสาเหตุของกลิ่นปากไม่ได้เกิดจากปัญหาในช่องปาก


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday
[ ... ]

การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดความเครียด

ความเครียดคืออะไร?

ความเครียด เป็นเรื่องของร่างกายและจิตใจ ที่เกิดการตื่นตัวเตรียมรับกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าไม่น่าพอใจ เป็นเรื่องที่หนักเกินกำลังทรัพยากรที่เรามีอยู่ หรือเกินความสามารถของเราที่จะแก้ไขได้ ทำให้รู้สึกหนักใจเป็นทุกข์ และอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย และพฤติกรรมตามไปด้วย

ทำอย่างไรให้คลายเครียด?

เมื่อรู้สึกเครียด คนเราจะมีวิธีการผ่อนคลายที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะเลือกวิธีที่ตนเองเคยชิน ถนัด ชอบหรือสนใจ ทำแล้วเพลิดเพลินมีความสุข ซึ่งมีทั้งวิธีคลายเครียดทั่วๆ ไป และวิธีที่เป็นเทคนิคเฉพาะ

วิธีคลายเครียดโดยทั่วๆ ไป เช่น

• การพักผ่อนนอนหลับ
• ออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสาย เต้นแอโรบิค รำมวยจีน
• ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี
• ปลูกต้นไม้ ทำสวน เลี้ยงสัตว์
• อ่านหนังสือ
• ท่องเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ
• สะสมของรัก ฯลฯ

วิธีคลาดเครียดที่เป็นเทคนิคเฉพาะ เช่น

• การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
• การฝึกการหายใจ
• การทำสมาธิ
• การจินตนาการ
• การคลายเครียดจากใจสู่กาย
• การนวดคลายเครียด

ซึ่งจะขอนำเสนอวิธีคลายเครียดที่เป็นเทคนิคเฉพาะ โดยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความเครียดมีผลทำให้กล้ามเนื้อหดตัว สังเกตได้จากอาการหน้านิ่วคิ้วขมวด กัดฟัน เป็นต้น นอกจากนี้ในขณะฝึก จิตใจจะจดจ่ออยู่กับการคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำให้ลดการคิดฟุ้งซ่านและลดความวิตกกังวล เกิดสมาธิมากขึ้นกว่าเดิม

วิธีการฝึก

เลือกสถานที่ที่สงบ นั่งในท่าที่สบาย คลายเสื้อผ้าให้หลวมถอดรองเท้า หลับตา ทำใจให้ว่าง ตั้งสมาธิอยู่ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อสลับกันไปประมาณ 10 ครั้ง โดยระยะเวลาที่เกร็งให้นับ 1-5 และระยะเวลาที่ผ่อนคลายนับ 1-10 ทำดังนี้

1. มือและแขนขวา โดยกำมือ เกร็งแขน แล้วคลาย
2. มือและแขนซ้าย โดยทำเช่นเดียวกันกับข้อ 1 และขณะกำมือระวังอย่างให้เล็บจิกเนื้อตัวเอง
3. หน้าผาก โดยเลิกคิ้วสูงแล้วคลาย ขมวดคิ้วแล้วคลาย
4. ตา แก้ม จมูก โดยหลับตาแน่น ย่นจมูกแล้วคลาย
5. ขากรรไกร ลิ้น ริมฝีปาก โดยกัดฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานปากแล้วคลาย เม้มปากแน่นแล้วคลาย
6. คอ โดยก้มหน้าให้คางจดคอแล้วคลาย เงยหน้าจนสุดแล้วคลาย
7. อก ไหล่ และหลัง โดยหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้แล้วคลาย ยกไหล่สูงแล้วคลาย
8. หน้าท้อง โดยแขม่วท้องแล้วคลาย
9. ก้น โดยขมิบก้นแล้วคลาย
10. เท้าและขาขวา โดยเหยียดขางอนิ้วเท้าแล้วคลาย เหยียดขากระดกปลายเท้าแล้วคลาย
11. เท้าและขาซ้าย โดยทำเช่นเดียวกันกับข้อ 10

เมื่อคุ้นเคยกับการผ่อนคลายแล้ว ให้ฝึกคลายกล้ามเนื้อได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเกร็งก่อน และอาจเลือกคลายกล้ามเนื้อ เฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาเท่านั้นก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องคลายกล้ามเนื้อทั้งตัว จะช่วยให้ใช้เวลาน้อยลงและสะดวกมากขึ้น
จะเห็นว่าวิธีการคลายกล้ามเนื้อ สามารถทำได้สะดวกไม่ต้องลงทุน คุณสามารถเลือกที่จะฝึกกล้ามเนื้อที่คุณรู้สึกว่ามีอาการเกร็งหรือปวด และมีหลักการง่ายๆ โดยการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ โดยให้ระยะเวลาที่เกร็งกล้ามเนื้อสั้นกว่าการคลายกล้ามเนื้อ


แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com
[ ... ]

วิธีขับไล่ความโกรธเกรี้ยว

แม้ว่าอารมณ์โกรธ จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ จากที่ใบหน้าจะไม่รับแขก ไม่สนฝรั่ง หรือเมินไทย ที่เด่นชัดบนใบหน้า ในเวลาที่คุณโกรธไฟลุกแล้วนั้น อารมณ์โกรธที่สะสมอยู่ภายในจิตใจนานๆ ก็ยังจะก่อให้เกิดผลร้าย ต่อสุขภาพร่างกาย ได้มากมายเสมือน ลูกไฟแห่งความโกรธที่ค่อยๆ สะสมขึ้นทุกทีๆ จนเผาไหม้ทั้งกาย และใจคุณให้ร้อนรุ่มได้ ซึ่งผลกระทบที่มีต่อร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ดังต่อไปนี้

• โรคหัวใจ เนื่องจากอารมณ์โกรธจะกระตุ้น ให้หัวใจคุณบีบตัวเร็วและแรงขึ้น
• โรคซึมเศร้า ขาดชีวิตชีวา
• โรคความดันโลหิตสูง ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ

นอกจากนี้ ยังเคยมีผลการศึกษาวิจัยพบว่า หากสาวไหนที่เครียดสะสม ตั้งแต่ในวัยทำงาน ก็จะมีแนวโน้ม ที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจในวัยกลางคน ได้สูงกว่าคนปกติ ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อีกด้วย รู้อย่างนี้แล้ว ต้องรีบหาทางขจัดอารมณ์โกรธด่วนเลย ดับไฟโกรธให้หมดสิ้นไปด้วย 4 วิธีที่ทรงประสิทธิภาพ

วิธีการที่จะช่วยให้คุณ สามารถขจัดอารมณ์โกรธได้ดีที่สุด ก็คือ การไม่โกรธ อ๊ะๆ อย่าเพิ่งงงไปว่า ทำไมทางแก้ มันถึงได้ขวานผ่าซากเสียขนาดนี้ แต่ที่บอกไปนั่นน่ะ เป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าของเราเอง ก็อบรมสั่งสอน บอกกล่าวกันมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว นั่นก็คือ การระงับความโกรธด้วยความไม่โกรธ แต่ถ้าสาวๆ สมัยใหม่ ยังไม่สามารถบรรลุสัจธรรมข้อนี้ได้ ก็ลองใช้วิธีการเหล่านี้ไปก่อน เพราะว่าใช้ได้ผลดีใกล้เคียงกัน 1. เข้าใจความต้องการของตนเอง คุณควรแสดงออก ซึ่งอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ ในวิถีทางที่ถูกต้องเหมาะสม มากกว่าการระบายอารมณ์ ด้วยความก้าวร้าวรุนแรง โดยคุณอาจจัดการง่ายๆ ด้วยการเข้าอกเข้าใจ ความต้องการของตัวเองเสียก่อนว่า สิ่งที่คุณต้องการคืออะไรกันแน่ จากนั้น จึงหาวิธีที่จะได้สิ่งที่ต้องการมา ด้วยสันติวิธี ที่ไม่ทำร้าย ทั้งความรู้สึกของตัวเอง และของผู้อื่น
2. ระงับอารมณ์โกรธ หากอารมณ์คุณค่อยๆ ลุกลาม พลุ่งพล่านขึ้นเรื่อยๆ แล้วล่ะก็ คุณก็ต้องรีบระงับอารมณ์นั้นๆ ไว้ให้เร็วที่สุด ด้วยการหยุดยั้งความคิด ที่รบกวนจิตใจคุณทันที และพยายามมองไปในสิ่ง ที่จะช่วยให้อารมณ์ของคุณ รู้สึกสดชื่นแจ่มใสมากขึ้นได้ในขณะนั้น เช่น หากคุณมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน คุณอาจหันเหความสนใจ ไปคิดถึงเรื่องเดทกับหนุ่มฮอตเย็นนี้แทนก็ได้ เพื่อลบความขุ่นข้องหมองใจ ที่มีอยู่ให้หมดไปโดยเร็ว แล้วก็แทนที่ด้วยความสดใสซาบซ่า
3. สงบผ่อนคลาย ในเมื่อต้องการจะดับไฟให้มอด ก็ต้องใช้วิธีการรดน้ำลงไป เพราะฉะนั้น วิธีการที่จะดับไฟอารมณ์ ที่รุ่มร้อนภายในจิตใจของคุณ ก็ต้องเป็นการดับอารมณ์ ด้วยการเอาน้ำเย็นเข้าลูบ เอาความสงบนิ่งเข้าแทนที่ภายในใจ ซึ่งคุณอาจใช้วิธีการตั้งสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกโยคะ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงปวด จากความรู้สึกโกรธ การตั้งสมาธิ ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อช่วยให้อารมณ์สงบเย็นลง หรือการมองไปที่ทัศนียภาพภายนอก ที่สวยงาม เขียวขจีในสวนสาธารณะ ที่เต็มไปด้วยเหล่าแมกไม้ และสายน้ำที่สงบนิ่งก็ได้
4. ออกจากสภาวะการณ์ที่ตึงเครียด หากคุณไม่สามารถระงับ อารมณ์โกรธขึ้นในขณะนั้นลงได้จริงๆ แทนที่คุณจะฝืนทนกดดัน อยู่ภายใต้บรรยากาศ และสภาวะที่ตึงเครียดเหล่านั้น จนต้องระเบิดอารมณ์ร้ายแรงออกมาในที่สุด คุณควรหลีกเลี่ยง ออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้นก่อน เพื่อที่จะช่วยให้อารมณ์ที่ขุ่นเคืองของคุณค่อยๆ บรรเทาลง ก่อนที่จะกลับเข้าไปแก้ไขปัญหา ด้วยความสงบ และสันติอีกครั้ง



แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th/e-magazine - นิตยสารเกษตรศาสตร์ ฉบับที่ 73 กรกฎาคม 2549
[ ... ]

อาหารกับอารมณ์

คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ ที่รู้สึกว่าหลังตื่นนอนตอนเช้า อารมณ์ไม่แจ่มใสอย่างที่ควรเป็น (ไม่นับอาการเบื่อเรียนหรือเบื่องาน) ทั้งๆ ที่นอนหลับเต็มอิ่ม ไม่เครียดหรือมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ บางครั้งรับประทานอาหารเช้าแล้วกลับทำให้ยิ่งหิวเร็ว หนำซ้ำช่วงสายก่อนเที่ยงมีอาการมือสั่น อ่อนเพลีย หรือบ่ายๆ หลังรับประทานอาหารกลางวัน ยิ่งอ่อนเพลีย ง่วงนอน เฉื่อยชายิ่งกว่าเดิม อาการแบบนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหาร ซึ่งอาหารกับอารมณ์นั้น เกี่ยวข้องกันชนิดที่คุณคาดไม่ถึงทีเดียว

แหล่งต้นเหตุของอาหารที่มีผลต่ออารมณ์

ในต่างประเทศมีงานวิจัยและบทความทางวิชาการศึกษา เกี่ยวกับบทบาทสารอาหารกับอารมณ์อยู่มากมายหลายชิ้น แต่บทความที่ได้รับรองอย่างเป็นทางการยังมีเพียงเล็กน้อย แต่ที่แน่ๆ ปัจจัยในร่างกายที่มีผลต่ออารมณ์ มาจาก 2 แหล่ง คือ อาหารและสารเคมีในสมอง

เริ่มจากอาหาร ที่ปกติเรารับประทาน 3 มื้อต่อวัน แต่ละมื้อประกอบด้วยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต คือ แป้งและน้ำตาลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย หลังจากรับประทานแล้ว ร่างกายจะค่อยๆ ย่อย เปลี่ยนให้เป็นคาร์โบไฮเดรตที่เล็กลง และกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อร่างกายสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และนำไปใช้ตามอวัยวะต่างๆ ทั้งนี้ปริมาณและชนิดของคาร์โบไฮเดรตที่ต่างกัน ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงต่างกัน เช่นเดียวกับระดับน้ำตาลกลูโคสที่ได้จากอาหารแต่ละชนิด หรือที่เราเรียกว่า “ดัชนีน้ำตาล” ค่าดัชนีน้ำตาลแบ่งเป็น 3 ระดับ คืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลาง และอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง

การรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงมากเท่าไร

คาร์โบไฮเดรตก็จะย่อยเป็นกลูโคส และถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ที่นำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ เพื่อ
เผาผลาญเป็นพลังงาน แต่หลังจากรับประทานไปได้ 2-4 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร่างกาย
อ่อนแรง อารมณ์เซื่องซึม ตัวอย่างอาหารดัชนีน้ำตาลสูง ได้แก่ ไอศกรีม ข้าวขาว ข้าวเหนียว มันฝรั่งบด ฯลฯ นอกจากนี้ระดับน้ำตาลในเลือดอาจแปรปรวน ลดและเพิ่มอย่างรวดเร็วจากกรณีอื่นๆ อีก เช่น

• รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารประเภททอด ขนมขบเคี้ยวต่างๆ น้ำอัดลม เป็นต้น เพราะหลังจากรับประทานร่างกายจะรู้สึกหนัก อ่อนเพลียและง่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเช้าและอาหารกลางวัน ที่คนทำงานหลายคนมีอาการตาหนัก ลืมไม่ขึ้นเป็นประจำ
• เว้นระยะเวลาการรับประทานอาหารระหว่างมื้อนานเกินไป หรือออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดสัญญาณเตือน เช่น อาการปวดหัวหรือเหนื่อยล้า มือสั่น เหงื่อแตก
• ไม่รับประทานอาหารเช้า หรือใช้วิธีลดความอ้วนด้วยการงดอาหารบางมื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายต้องการพลังงานชดเชยมากขึ้นจากมื้อที่หายไป ส่งผลให้มื้อต่อๆ ไปรับประทานมากเกินได้ง่าย ส่วนปัจจัยที่มีผลต่ออารมณ์

ส่วนหนึ่งมาจากสารเคมีในสมอง ยกตัวอย่างเช่น

• เซอร์โรโทนิน (serotonin) ถ้าระดับเซอร์โรโทนินต่ำจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ และมีการศึกษาพบว่า หากได้รับอาหารที่ไม่มีกรดอะมิโนทริบโทเฟน (Tryptophan) โดยอาหารที่มีทริบโทเฟน เช่น นม กล้วย โยเกิร์ต ข้าวโอ๊ต ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์ เซอร์โรโทนินในสมอง จะทำให้การสร้างเซอร์โรโทนินลดลง ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ในบางคน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ข้าวเหนียว ข้าวโพด กรอย เผือกหรือมัน จะเพิ่มการสร้างเซอร์โรโทนินทำให้อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งจะพบว่าคนบางคนเมื่อมีอาการซึมเศร้า จะอยากรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น (เศร้าแล้วก็เลยอ้วน)
• การขาดกรดโฟลิก จากการศึกษาในหนูทดลอง เมื่อขาดกรดโฟลิก ทำให้ระดับเซอร์โรโทนินในสมองลดลง ซึ่งคาดว่าถ้ามนุษย์ขาดสารโฟลิกก็จะมีอารมณ์ซึมเศร้า ไม่กระตือรือร้น อาหารที่มีกรดโฟลิก ได้แก่ บร็อกโคลี ถั่วลิสง ข้าวซ้อมมือ
• การขาดไทอะมิน (วิตามินบี1) ทำให้ซึมเศร้า อ่อนเพลีย เนื่องจากวิตามินบี1 มีบทบาท สำคัญในการเผาผลาญกลูโคสให้เป็นพลังงาน และสมองจำเป็นต้องใช้พลังงานจากกลูโคส ถ้าขาดวิตามินบี1 ก็จะมีผลเหมือนการขาดคาร์โบไฮเดรต อาหารที่มีไทอะมิน ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ปีก
• การขาดไนอะซิน ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง ก็มีผลต่ออารมณ์เช่นกัน คนที่ขาดวิตามินไนอะซินจะหงุดหงิด อารมณ์เสีย ถ้าขาดมากๆ ก็อาจจะถึงขั้นความจำเสื่อม ไนอะซินเป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญกลูโคสเช่นกัน การขาดไนอะซินนี้จะพบมากในกลุ่มคนที่รับประทานข้าวโพดเป็นอาหารหลัก ซึ่งในประเทศไทย ยังไม่พบการขาดวิตามินชนิดนี้ อาหารที่มีไนอะซิน ได้แก่ ไข่ เนื้อสัตว์ปีก ปลา ธัญพืชที่ไม่ขัดสี นม

รับประทานอาหารอย่างไรจึงทำให้อารมณ์ดีขึ้น

การปรับเปลี่ยนประเภทของอาหารเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแค่คุณ...

• รับประทานอาหารให้ครบมื้อ ถ้าไม่มีเวลารับประทานอาหารเป็นมื้อแบบกิจลักษณะ ควรเลือกของว่างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนมปังโฮลวีทสักแผ่นหรือ ขนมปังกรอบธัญพืชสัก 2-3 แผ่น อย่าปล่อยให้ท้องว่างเด็ดขาด หรือว่าจะแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ แต่รับประทานบ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดตก
• รับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ผักและผลไม้ที่มีเส้นใยมาก และมีรสไม่หวาน เป็นต้น เพราะร่างกายจะค่อยๆ ย่อยและดูดซึมช้าๆ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ สม่ำเสมอ และหลังรับประทานอาหารได้ 4-6 ชั่วโมง ร่างกายจะหลั่งสารฮอร์โมนบางชนิดเพื่อสลายไกลโคเจน ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่สะสมอยู่ในร่างกาย และเพิ่มการสร้างกลูโคสจากแหล่งอาหารอื่น เช่น ไขมัน
• งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หันมาดื่มน้ำผลไม้คั้นสดหรือน้ำเปล่าธรรมดาแทน
• หมั่นออกกำลังกาย เนื่องจากหลังออกกำลังกายต่อเนื่องสัก 20 นาที ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแอนโดรฟีนออกมาตามธรรมชาติ ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้ปกระเปร่าและมีความสุข ลดความกังวลและเครียดลงได้

สรุปแล้วความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและอารมณ์นี้ ยังมีความซับซ้อนอยู่มาก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป แต่ปราการป้องกันขั้นพื้นฐานไม่ให้อารมณ์หม่นหมอง ง่วงซึม ทุกครั้งที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร ก็ควรรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ครบมื้อพอเพียงกับความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและมีค่าดัชนีน้ำตาลสูง ประกอบกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับรองว่าอาการเซื่องซึม ง่วงนอน อ่อนเพลียจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด




รศ.ดร.อรอนงค์ กังสดาลอำไพ


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday
[ ... ]