Monday, October 27, 2008

มาตรวจสอบยากันดีกว่า

ดิฉันมักจะได้รับคำถามซ้ำๆ จากผู้ป่วยหลายท่านที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล แล้วรีบรับยากลับบ้านไปโดยไม่ได้ตั้งใจฟังคำแนะนำจากเภสัชกร หรือตรวจสอบยาที่ได้รับ พอมีปัญหาสงสัยก็ต้องเสียเวลากลับมาโรงพยาบาลเพื่อรับคำปรึกษาเรื่องยาใหม่ บ้างก็โทรศัพท์มา ตัวอย่างคำถามที่พบบ่อย ได้แก่

o ต้องกินยาที่ได้รับจนหมดหรือเปล่า
o ยาที่ได้กินร่วมกับยาเดิมที่กินอยู่แล้วได้หรือไม่
o ถ้าลืมกินยาแล้วทำอย่างไร
o ยาที่ได้รับมาหน้าตาคล้ายๆ ยาเดิมแล้วใช่ยาเดิมหรือเปล่า
o ยาหายไปตัวหนึ่งปกติได้รับประจำไม่ทราบหมอให้หยุดยาหรือเปล่า
o ยาที่ได้รับจำนวนไม่ครบตามวันนัด หมอต้องการให้หยุดยาก่อนวันนัดหรือเปล่า

คำถามเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามที่ดิฉันได้รับฟังอยู่เสมอ บางรายบ้านอยู่ไกลโรงพยาบาลมากแต่ก็ยังต้องเสียค่ารถกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะมีปัญหาหรือมีคำถามสงสัย บางรายต้องเข้าไปพบแพทย์ผู้ดูแลอีกครั้งเพราะสงสัยว่าได้รับยาไม่ครบหรือเปล่า ไม่แน่ใจว่าแพทย์ให้หยุดยาตัวนั้นหรือว่าลืมเขียนในใบสั่งยาให้

คุณคงไม่ปฏิเสธว่าในชีวิตหนึ่งว่าต้องเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล บางรายที่เป็นโรคเรื้อรังต้องไปโรงพยาบาลประจำ ดังนั้นหากเสียเวลาตรวจสอบยาของคุณสักนิดก่อนรับยากลับบ้านคุณก็จะมิต้องเสียเวลามาโรงพยาบาลอีก หรือไม่ต้องโทรศัพท์มาสอบถามอีกให้ยุ่งยาก ยาไม่ใช่ขนมที่กินอย่างไรก็ได้ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ ยาบางตัวมีวิธีใช้พิเศษ ยาบางตัวห้ามกินกับอาหารบางประเภท ยาบางตัวต้องกินทุกวันจนยาหมด ยาบางตัวใช้เพียงระยะหนึ่งเมื่ออาการดีขึ้นก็สามารถหยุดใช้ได้ ดิฉันจึงอยากจะฝากประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณผู้อ่านนำไปใช้หากต้องไปรับยาที่โรงพยาบาล

ข้อมูลที่ควรทราบก่อนรับยากลับบ้าน

ชื่อยา ควรเป็นชื่อตัวยาจริงๆ (generic name) ไม่ใช่ชื่อทางการค้า (trade name) เพราะถ้าหากเป็นชื่อทางการค้าคุณอาจไม่ทราบว่ายานั้นซ้ำซ้อนกับยาที่ใช้อยู่เดิมหรือไม่ หากใช้ยาซ้ำซ้อนคุณก็อาจได้รับพิษจากยานั้น และถ้ายานั้นมีความเป็นพิษสูงมากก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

• ประโยชน์ทางการรักษา ยาใช้รักษาอะไร มีประโยชน์อย่างไร
• จำนวนยาที่ได้ครบตามกำหนดวันนัดครั้งต่อไปหรือไม่ เนื่องจากยาบางตัวหากคุณได้รับไม่ครบหรือขาดยาไปจะทำให้ผลการรักษาด้อยประสิทธิภาพลง อันได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงโรคหัวใจ
• วิธีการรับประทานยา ครั้งละกี่เม็ด วันละกี่ครั้ง ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ยาไหม กินก่อนหรือหลังอาหาร มีวิธีใช้ยาพิเศษอะไรหรือไม่
• หากลืมกินยาจะทำอย่างไร เนื่องจากยาบางตัว เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถกินเพิ่มเป็น 2 เท่าได้ในมื้อต่อไป ยาบางตัว เช่น ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาที่มีช่วงการรักษาแคบมีพิษสูง ห้ามกินเพิ่มเป็น 2 เท่าเด็ดขาด ให้ข้ามมื้อที่ลืมไปเลย คุณจึงควรสอบถามให้ดีโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาเป็นประจำการหลงลืมย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
• จำเป็นต้องรับประทานยานี้จนหมดหรือไม่ จะหยุดยาได้เมื่อไหร่ หรือต้องใช้ต่อเนื่องจนกว่ายาจะหมด
• ยาหมดอายุเมื่อไหร่ ยาจะหมดอายุก่อนใช้หมดหรือไม่ หรือจะมีอายุหลังจากเปิดภาชนะบรรจุยาได้นานแค่ไหน
• วิธีการเก็บรักษายา ต้องเก็บในตู้เย็นหรือไม่
• ยานี้ใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว … ได้หรือไม่ จะทำให้ผลการรักษาโรคนั้นๆ แย่ลงหรือไม่
• ยาที่ได้รับจะมีผลกับยาอื่นๆ ที่รับประทานเป็นประจำอยู่แล้วหรือไม่ รวมทั้งอาหาร เครื่องดื่มต่างๆทั้งที่มี และไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
• ยามีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง อาการข้างเคียง คือ อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดเมื่อใช้ยาในขนาดที่ใช้ในการรักษา
โดยไม่ได้รับประทานเกินขนาดหรือเป็นผลที่เกิดจากการรับประทานยาร่วมกับยาตัวอื่น เช่น อาการง่วงซึมจากการกินยาลดน้ำมูก ซึ่งคุณอาจต้องสังเกตในขณะที่ใช้ยาตัวนั้นๆ ซึ่งหากเป็นมากอาจต้องกลับมาแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อทำการปรับลดขนาดยาลง หรือหยุดยา
• เคยมีประวัติแพ้ยา … ใช่ยาตัวนี้ได้หรือไม่ ประวัติแพ้ยานั้นมีความสำคัญมากเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะแพ้ยาตัวนั้นๆ ไม่เหมือนกับผลข้างเคียงจากยาที่สามารถเกิดได้กับทุกคน คุณต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งที่รับยา เพราะการแพ้ยาหากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
• การปรับวิธีใช้ยาให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน ในกรณีที่มีกิจวัตรประจำวัน วิธีการดำเนินชีวิตที่ผิดจากคนทั่วไป เช่น รับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ ทำงานเป็นกะ ควรปรึกษาเภสัชกรว่าควรจะปรับเปลี่ยนวิธีใช้ยาอย่างไรให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของคุณ

อย่าเพิ่งท้อแท้ไปนะคะว่าจะจำไม่ได้กับรายละเอียดมากมาย เพียงจำได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องวิธีการใช้ยา ข้อบ่งใช้ของยา ระยะเวลาในการใช้ยา จำนวนยาที่ได้รับ และการแจ้งประวัติแพ้ยา เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วหละค่ะ ที่จะทำให้คุณได้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ต้องเสียเวลากลับมาสอบถามที่โรงพยาบาลอีกครั้ง

ข้อมูลที่ท่านควรทราบเมื่อต้องการไปซื้อยาที่ร้านขายยา

เช่นเดียวกับการไปรับยาที่โรงพยาบาลหละค่ะ สำหรับผู้ที่ใช้ยาประจำ รู้จักหน้าตาของยาที่จะไปซื้อดีอยู่แล้วก็คงไม่มีปัญหาอะไร จะต่างกันก็ตรงกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยแล้วไปให้ที่ร้านยาจัดให้ คุณควรปฏิบัติดังนี้

• หากเลือกได้ควรเลือกร้านที่มีเภสัชกรประจำร้าน และพยายามปรึกษาเภสัชกรประจำร้านให้เต็มที่ ด้วยการสอบถามรายละเอียดของยาที่กำลังต้องการใช้ หรืออาการเจ็บป่วยที่กำลังเป็นอยู่ทุกแง่มุม ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในหัวข้อ “ ข้อมูลที่ท่านควรทราบก่อนรับยากลับบ้าน ”
• คุณควรไปซื้อยาเอง ไม่ควรฝากคนอื่นๆ ไปซื้อให้ เพราะคงไม่มีใครทราบอาการของคุณดีเท่ากับตัวเอง นอกจากเป็นยาที่คุณใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ทราบชื่อยาและวิธีใช้ดีอยู่แล้ว

ลองนำไปปฏิบัติกันดูนะคะเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดปี ตลอดไป


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday

0 comments: