Saturday, November 15, 2008

หัวใจเต้นช้า

ผู้ป่วยและผู้อ่านหลายท่านมีอาการ "หัวใจเต้นเร็ว" "หัวใจเต้นแรง" หรือ "ใจสั่น" แต่บางท่านกลับ มีปัญหาตรงกันข้าม นั่นคือ "หัวใจเต้นช้า" หัวใจประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่มีการหดตัว คลายตัว ตลอดเวลา เพื่อบีบตัวไล่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย การบีบตัวของหัวใจอาศัยการเปลี่ยนแปลง ของไฟฟ้าในหัวใจเป็นตัวกระตุ้น จุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจอยู่ที่หัวใจห้องขวาบน ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมา กระตุ้นทั้งหัวใจอย่างเป็นระบบ เป็นจังหวะประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที แล้วแต่ความต้องการของ ร่างกาย เช่นเวลานอนหลับ อาจต่ำลงถึง 45-50 ครั้งต่อนาทีก็ได้ แต่เมื่อออกกำลังกาย หัวใจจะเต้นเร็ว ขึ้นได้มากกว่า 120 ครั้งต่อนาที จุดกำเนิดไฟฟ้านี้ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนหลายชนิด รวมทั้งอารมณ์ ด้วยครับ





การที่หัวใจเต้นน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที เรียกว่า หัวใจเต้นช้า แต่จะช้าแบบปกติ หรือ ผิดปกติ นั่นเป็นเรื่องที่จะคุยต่อไปครับ ถึงสาเหตุต่างๆดังนี้

หัวใจเต้นช้าแบบปกติ
โดยส่วนใหญ่จะไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาที (แต่อย่างไรก็ตามมีบางรายที่เต้น 45 ครั้งต่อนาทีแต่ยัง ปกติก็ได้) และต้องไม่มีอาการผิดปกติต่างๆด้วย เช่น ไม่เหนื่อยง่าย หรือ หน้ามืด เป็นลม หัวใจเต้น ช้าแบบนี้พบได้ในผู้ที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ เช่น นักกีฬา นักวิ่ง เป็นต้น หัวใจ เต้นช้าแบบนี้เป็นสิ่งดีครับ แสดงถึงความ"ฟิต"ของร่างกาย

ยังมีหัวใจเต้นช้าแบบปกติอีกชนิดหนึ่ง คือ การตอบสนองต่อ ความกลัว หรือ ความเจ็บปวด เช่น เวลาเห็นเลือดแล้วเป็นลม หรือ เจาะเลือดแล้วเป็นลม เหล่านี้เกิดจากหัวใจเต้นช้าชั่วขณะเช่นกัน

หัวใจเต้นช้าจากยา
ยาที่ใช้ลดความดันโลหิต และ โรคหัวใจขาดเลือดบางชนิด (กลุ่ม betablocker) จะทำให้หัวใจ เต้นช้าลงกว่าปกติ เนื่องจากหัวใจที่เต้นช้านี้ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจใช้ออกซิเจนน้อยลง จึงทำให้ อาการของหัวใจขาดเลือดลดลง

หัวใจเต้นช้าชนิดร้ายแรง
เกิดขึ้นเนื่องจากระบบการนำไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ความผิดปกติอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่"จุดกำเนิดไฟฟ้า" "สถานีดีเลย์ไฟฟ้า" "กลุ่มเซลนำไฟฟ้าในหัวใจ" มีผลให้การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติไป ส่วนสาเหตุ อาจเกิดจาก ความเสื่อมของเซลนำไฟฟ้าเองในผู้สูงอายุ (degenerative change เช่น Sick sinus syndrome หรือ Aortic Stenosis) อาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน (Myocardial Infarction) เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral Myocarditis) ส่วน หัวใจเต้นช้าแต่กำเนิดพบได้น้อย (Congenital Heart Block)

อาการ และ แนวทางการรักษา

อาการของหัวใจเต้นช้าเกินไป คือ อาการที่เกิดจากเลือดจะไม่พอเลี้ยงสมอง ทำให้เกิดอาการ "วูบ" "หมดสติชั่วขณะ" หรือ "เป็นลม" นอกจากนั้นหากเป็นมานานจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เหนื่อย ง่ายผิดปกติ การวินิจฉัยอาศัยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ บางรายต้องอาศัยการดู คลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ด้วย สำหรับการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการ และ สาเหตุ หากเป็นชนิดที่ปกติ ไม่มีอาการผิด ปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาใดๆครับ แต่หากเป็นชนิดที่ร้ายแรงก็จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้หัวใจเต้นช้า เกินไป ด้วยการผ่าตัดใส่ เครื่องกระตุ้นหัวใจ


เรียบเรียงโดย นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ
http://www.thaiheartweb.com/
[ ... ]

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Heart Failure หรือ Congestive Heart Failure หมายถึงภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบ ฉีด เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของ ร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดอาการต่างๆขึ้น คำนี้ในบางครั้งภาษาไทยใช้คำว่า "หัวใจวาย" เช่นกัน แต่ในความหมายของคนทั่วไป เมื่อกล่าวคำว่า "หัวใจวาย" จะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) มากกว่า จึงอาจสับสนได้

เมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย เช่น ฮอร์โมน หลายชนิดเพิ่มขึ้นผิดปกติ หลอดเลือดแดงหดตัว แรงต้านต่อหัวใจมากขึ้น หัวใจทำงาน หนักมากขึ้น ความดันโลหิตลดลง ผลตามมาคือ ไตวาย และอวัยวะต่างๆไม่ทำงานตามปกติ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด

อาการ : จะขึ้นกับว่าหัวใจซีกใดผิดปกติ หากหัวใจซีกขวาล้มเหลว ก็จะทำให้เลือดไม่ สามารถไหลเข้าหัวใจซีกขวาได้ดี ผลที่ตามมาคือ ตับโต (ทำให้แน่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร) ขาบวม ท้องบวม แต่ถ้าหัวใจซีกซ้ายล้มเหลว อาการเด่นคือ อาการทางปอด เนื่องจากมี เลือดคั่งในปอดมาก ได้แก่ เหนื่อย หอบ ไอเป็นเลือด นอนราบไม่ได้เพราะจะเหนื่อยมาก จนในที่สุดไม่สามารถหายใจได้

สาเหตุ : โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย ลิ้นหัวใจตีบ หรือ รั่ว ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจพิการจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัส เบาหวาน แอลกอฮอล์ (รวมทั้งไม่มีสาเหตุ)


จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดอาการหอบเหนื่อย หรือ บวม, อายุยาวขึ้น, คุณภาพชีวิตดีขึ้น


หลักการรักษา : รักษาตามอาการ ให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดน้ำในปอด ยาขยายหลอดเลือด แดงช่วยให้หัวใจทำงานสบายขึ้น ยากระตุ้นหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว บางรายต้องรักษาตาม สาเหตุด้วย เช่น ผ่าตัดแก้ไขลิ้นหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นต้น หากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็อาจพิจารณาให้ยาควบคุม


ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่ไม่หายขาดไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด หากหัวใจเสียมาก กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวน้อย การพยากรณ์โรคไม่ดี หากเป็นโรคลิ้นหัวใจ พิการ การแก้ไขลิ้นหัวใจโดยการผ่าตัด หรือ ขยายลิ้นหัวใจ แม้จะไม่ได้ช่วยให้หายขาด แต่ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก


คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : รับการรักษาสม่ำเสมอ ไม่ควรขาดยา ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพราะยา หลายอย่างมีผลแทรกซ้อนมาก หากมีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยมาก ต้องรีบมารพ.ใกล้ที่สุดทันที

เรียบเรียงโดย นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ
http://www.thaiheartweb.com/
[ ... ]