Friday, October 3, 2008

มะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยใกล้ตัวของคุณผู้ชาย

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์เพื่อการเฝ้าระวัง การตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัย การรักษาและการติดตามการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้พัฒนาและเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อายุขัยของประชากรยืนยาวขึ้น



ขณะเดียวกันอุบัติการณ์ของโรคภัยต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มตาม ในลักษณะที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะคนในช่วงวัย 60-79 ปี ซึ่งเป็นเพศชาย มีแนวโน้มของการตรวจพบโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในสัดส่วนที่สูง ซึ่งสถิติการรับผู้ป่วยชายสูงอายุ ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช มีประมาณ 500 รายต่อปี ถือเป็นโรคมะเร็งที่พบมากอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปอด

แต่หากคนทั่วไปทราบถึงสาเหตุ และหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงการเกิดโรค ขณะที่ผู้ป่วยสามารถรับรู้ว่า มีอาการของโรคนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในระยะแรกๆ โอกาสรักษาให้หายขาดก็เป็นไปได้มาก จึงควรรู้เท่าทันของโรคดังกล่าว

ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชายต่อลงมาจากกระเพาะปัสสาวะ และล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น มีหน้าที่สำคัญในการผลิตน้ำเมือกและน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ เป็นส่วนหนึ่งของน้ำกามที่หลั่งออกมาตามปกติ แต่หากสภาพเซลล์ภายในของต่อมลูกหมาก มีการแบ่งตัวมากขึ้นอย่างผิดปกติ เป็นสัญญาณว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก กำลังก่อตัวขึ้นโดยที่เราไม่อาจรับรู้ได้

แม้จะยังไม่มีใครทราบว่าสาเหตุแท้จริงของโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับอายุ และภาวะความไม่สมดุล ของระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือด เมื่ออายุมากขึ้น โดยฮอร์โมนเพศชายมักจะมีระดับลดลงในชายสูงอายุ อีกทั้งการศึกษาพบว่า อาหารที่มีไขมันสูงอาจมีส่วนก่อให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ รวมถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอีกด้วย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดมะเร็งได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่เราสามารถระวังติดตาม คอยตรวจอย่างสม่ำเสมอได้

ผศ.น.พ.สิทธิพร ศรีนวลนัด ภาควิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เผยว่า วิธีการตรวจต่อมลูกหมาก ประกอบด้วยการตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์ใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่น ความแข็งของต่อมลูกหมาก

อีกวิธีการที่มักใช้ร่วมกันคือ การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด นำมาวัดค่า ที่เรียกว่า PSA (Prostate-specific antigen) ถ้าระดับ PSA ในเลือดมีค่ายิ่งสูง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ ยังมีการตรวจอัลตราซาวนด์ของต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก โดยการใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก และการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก ที่แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยรูปแบบการตรวจ

สำหรับผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป แม้จะไม่มีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ก็ควรไปรับการตรวจต่อมลูกหมาก จากแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างน้อยปีละครั้ง ทั้งนี้ อุบัติการณ์ของโรคจะพบมากขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพบในชายไทยมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

อาการของโรคแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

• เริ่มแรก มะเร็งมีขนาดเล็กอยู่ในต่อมลูกหมาก มักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ การตรวจทางทวารหนักมักไม่ค่อยพบ
• ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นแต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก มีการกดเบียดท่อปัสสาวะส่วนต้น ทำให้เกิดการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ สามารถคลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก
• ระยะที่ 3 มะเร็งขยายตัว จนอุดกั้นท่อปัสสาวะและกระจายออกนอกต่อม อาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น ต้องเบ่ง ปัสสาวะไม่ออก อาจมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและอาจมีปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวด เมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ คลำพบโดยตรวจทางทวารหนัก
• ระยะที่ 4 โดยในช่วง 2-3 ปีหลังจากผ่านระยะต่างๆ เข้าสู่ที่เรียกว่า "โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเข้ากระดูก" มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง กระทั่งเข้าสู่กระดูกและอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อสะโพก กระดูกซี่โครง หัวไหล่ ขั้นนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด แขน ขา บวม และบางรายอาจจะเดินไม่ได้ เป็นอัมพาตเนื่องจากมีกระดูกสันหลังหักไปกดทับไขสันหลัง ได้รับความเจ็บปวดทรมานมาก

การรักษา มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรก ที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกไปนอกต่อมลูกหมาก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในหลายวิธีการ

การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก โดยผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง หรือใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งมีข้อดีคือ เจ็บแผลน้อย เนื่องจากเป็นแผลเจาะรู เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวไว การตัดเลาะต่อมลูกหมากทำได้โดยละเอียดแม่นยำ เนื่องจากภาพที่ขยายจากการส่องกล้อง เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท แต่ข้อเสียของการผ่าตัดคือ หลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีอาการการควบคุมปัสสาวะสูญเสียไปชั่วคราว หรือภาวะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

การฉายรังสี เข้าไปยังตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง หรือใช้การฝังแร่เข้าไปที่บริเวณต่อมลูกหมาก วิธีนี้มีโอกาสสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ น้อยกว่าการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก แต่อาจทำให้เกิดอาการอุจจาระบ่อย มีการระคายเคืองที่ทวารหนักและปัสสาวะลำบาก

ส่วนระยะแพร่กระจายออกนอกต่อมลูกหมากแล้ว โดยที่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่ไกลออกไป การรักษาระยะนี้จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษามากกว่า 1 อย่าง เช่น การผ่าตัด การฉายแสง หรือการให้ยา ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

ขณะที่การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง กระดูก อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย การรักษาที่นิยมคือการตัดลูกอัณฑะออกทั้งสองข้าง บางรายอาจให้ยาต้านแอนโดรเจนทุก 1-3 เดือนร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ รวมถึงการให้ยาช่วยลดการทำลายของกระดูก ลดภาวะการเกิดกระดูกหัก การทำเคมีบำบัดหรือเคโมร่วม

อย่างไรก็ตาม การรักษาในขั้นนี้ ไม่ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเข้ากระดูก เป็นเพียงแต่บรรเทาอาการปวดกระดูก และประทังชีวิตผู้ป่วยให้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ บางรายมีชีวิตอยู่ถึง 5 ปี ก่อนเสียชีวิต ขึ้นกับโรคและสุขภาพผู้ป่วย

"หากอาการมะเร็งต่อมลูกหมากลามไปกระดูกถึงร้อยละ 80-90 แล้ว ในระยะที่เรียกว่า 3-4 ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก" ผศ.น.พ.สิทธิพร กล่าว

การดูแลป้องกันตัวจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ยังไม่มีวิธีการใดที่พิสูจน์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในการหลีกหนีจากโรคภัยดังกล่าว แต่ในหลักการคือพยายามใช้ชีวิตโดยไม่เครียด เชื่อว่าความเครียดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะจากเนื้อสัตว์ต้องระวังเป็นพิเศษ และในครอบครัวที่พบว่าญาติพี่น้องมีอาการของโรค ในระยะยาวควรมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากอย่างสม่ำเสมอ

ข้อมูลน่าสนใจจากผู้ทำการศึกษาถึงสาเหตุที่มาของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในต่างประเทศ ที่ตั้งข้อสงสัยว่า การเกิดโรคนี้อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในระยะยาว ซึ่งพบว่าโรคนี้ไม่เกิดกับชายอายุน้อย แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์เรื่องนี้ออกมา เป็นเพียงการตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจมีความสัมพันธ์หรือไม่ก็ได้


แหล่งข้อมูล : สถานพยาบาลรวมแพทย์ทุ่งสง - www.ruamphat-ts.com
[ ... ]

มะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะแรกรักษาหายได้

มะเร็งต่อมลูกหมาก ในปัจจุบันได้รับการกล่าวขวัญถึงบ่อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากมีอัตราการพบ มะเร็งต่อมลูกหมากบ่อยมากขึ้นกว่าเดิม และยังมีการกล่าวถึงในสื่อต่างๆ มากมาย จนอาจเป็นความวิตกกังวลแก่ประชาชนทั่วไปที่ได้รับข่าวสาร แต่หากได้ศึกษาและมีความรู้อย่างถ่องแท้ จะทราบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องตรวจให้พบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะลุกลามหรือมีการกระจาบตัว เพราะผลของการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนี้ ได้ผลดีมากจนพูดได้ว่าหายขาด

อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกนั้นไม่ปรากฏอาการใดๆ หากมีอาการของการขับถ่ายปัสสาวะ หรือมีอาการเจ็บปวดแล้วถือได้ว่าเป็นระยะลุกลาม ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ที่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะมาจากการตรวจสุขภาพ ซึ่งแพทย์จะมีวิธีการตรวจคัดกรอง เพื่อเสาะหามะเร็งต่อมลูกหมากจนได้รับการวินิจฉัย นำไปสู่การรักษาต่อไป

ใครบ้างสมควรได้รับการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก

มะเร็งต่อมลูกหมาก ถึงแม้จะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากเหตุใด แต่เราพบว่ามีความเกี่ยวพันกับกรรมพันธุ์ อายุ อาหารที่มีไขมันสูงและเชื้อชาติ ดังนั้นผู้ชายที่มีประวัติครอบครัว เช่น ปู่ พ่อ หรือพี่ เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็สมควรตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากแต่เนิ่นๆ ในต่างประเทศแนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปี ส่วนผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวแนะนำให้ตรวจเมื่ออายุ 45 ปี ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการตกลงกันเป็นที่แน่ชัด จึงอาจจะอาศัยข้อมูลจากต่างประเทศเป็นหลัก จึงมักจะแนะนำว่าชายไทยควรจะตรวจเมื่ออายุ 45 ปี

ตรวจอะไรบ้าง

สิ่งแรกที่แพทย์ให้ความสนใจ คือการตรวจเลือดเพื่อตรวจหาสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า พี เอส เอ (PSA) ซึ่งเป็นสารที่ผลิตออกมาจากต่อมลูกหมากเพียงอวัยวะเดียว ไม่มีอวัยวะอื่นใดในร่างกายผลิตสารนี้ได้ ค่าปกติโดยทั่วไป คือ 0-4 นาโนกรัมต่อซีซี แต่ผลของการตรวจเลือดไม่ใช่ข้อมูลที่นำไปสู่การวินิจฉัยแต่เพียงอย่างเดียว เพราถึงแม้ผลเลือดจะอยู่ในเกณฑ์ปกต ิยังมีโอกาสพบมะเร็งซ่อนอยู่ไดถึงร้อยละ 25 และเมื่อผลเลือดสูงเกินค่าปกติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งแต่อย่างใด แพทย์จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีก เช่น การตรวจเลือดหาค่าของfree PSA ซึ่งเป็นการตรวจที่จำเพาะมากขึ้น หรือติดตามผลการตรวจเลือดดูอัตราการเพิ่มของ พี เอส เอ เป็นต้น

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การตรวจทางทวารหนัก แพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าทวารหนัก เพื่อคลำดูลักษณะของต่อมลูกหมากที่ชี้บ่งว่า จะมีมะเร็งหรือไม่ หากพบความผิดปกติจะพิจารณาส่งตรวจอัลตร้าซาวนด์ หรือตรวจคลื่นแม่เหล็ก แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดของการวินิจฉัยคือ การนำเอาชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมากออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา แพทย์จะใช้อัลตราซาวนด์เป็นตัวนำสอดเข็มเล็กๆ เข้าไปเพื่อตัดเอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ

ผลของการตรวจ

ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะได้รับรายงานว่ามีมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมจัดระยะโรคว่าอยู่ในระยะใด เลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป แต่หากผลการตรวจชิ้นเนื้อไม่พบมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็จะต้องติดตามตรวจต่อเป็นระยะ เช่นอาจจะตรวจ 1-2 ปีต่อครั้ง หากยังมีข้อสงสัยเช่น ผลเลือดเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วกว่าอัตราปกติ หรือคลำพบความผิดปกติของต่อมลูกหมาก ก็จะต้องตรวจชิ้นเนื้อซ้ำ มีผู้ป่วยหลายราย ที่ไม่สามารถตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมาก ในการตรวจครั้งแรก แต่สามารถตรวจพบได้ในการตรวจครั้งถัดไป

การรักษา เมื่อได้รับการวินิจฉัยและตรวจเพิ่มเติมจัดระยะโรคแล้ว หากพบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากยังคงเป็นระยะแรกอยู่ การรักษาเราจะทำเพื่อหวังผลเพื่อให้หายขาด การรักษาประกอบด้วย

• การผ่าตัด นำเอาต่อมลูกหมากออก เหมาะกับผู้ที่ยังมีร่างการแข็งแรง อายุไม่มากจนเกินไป ไม่มีโรคอื่นที่เป็นข้อห้ามต่อการผ่าตัด ซึ่งผลการผ่าตัด หากสามารถนำเอาต่อมลูกหมากออกมาได้หมดถือได้ว่า หายขาด คือจะมีชีวิตยืนยาวเช่นเดียวกับ ผู้ที่ไม่ได้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่การผ่าตัดนี้ อาจจะทำให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะนานๆไม่ได้ในระยะแรก หรืออาจจรบกวนต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศบ้างในบางราย และเป็นการผ่าตัดใหญ่ ดังนั้น หากผู้ป่วยที่มีอายุมาก หรือสุขภาพไม่แข็งแรงก็สมควรเลือกการักษาอื่น
• การใช้รังสีรักษา อาจจะเป็นการฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย หรือมีการสอดใส่สารกัมมันตรังสีเข้าสู่ต่อมลูกหมาก ผลของการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในด้านการควบคุมโรค อาจจะไม่ดีเท่ากับการผ่าตัด เพียงแต่ไม่ต้องทำผ่าตัดใหญ่
• การติดตามอาการ เหมาะกับผู้สูงอายุมากๆ เช่น อายุ 80 ปีขึ้นไป เพราะมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก ที่พบในผู้ที่มีอายุมากๆ นี้โตช้า กว่าจะทำอันตรายกับผู้ป่วยจะใช้เวลานาน ส่วนมากผู้ป่วยเหล่านี้จะเสียชีวิตด้วยโรคอื่น หรือเสียชีวิตด้วยอายุขัยของตนเอง

ข้อแนะนำ

ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากมีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติครอบครัว หรือผู้ชายทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 45-70 ปี หากมีอายุมากจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปีอาจจะยังมีร่างกายแข็งแรงดีอยู่ ซึ่งสมควรตรวจหามะเร็งระยะแรกเช่นกัน ซึ่งการพบมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกนี้ สามารถให้การรักษาจนหายขาดได้ ผู้ชายจึงควรสร้างค่านิยมที่จะตรวจสุขภาพของตนเอง ให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน


แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com
[ ... ]

มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ชาย

ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ชายประกอบด้วย ไต กรวยไต และท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก อวัยวะเพศชาย องคชาต หรือลึงค์ ลูกอัณฑะ ถุงอัณฑะ มะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก ไต อวัยวะเพศชาย และมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนักได้แก่ มะเร็งของลูกอัณฑะ ถุงอัณฑะ และท่อไต

อาการ

• ปัสสาวะเป็นเลือด ลิ่มเลือด โดยในระยะแรกเริ่มจะไม่มีอาการปวด พบในมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งของไต
• ปัสสาวะขัด ต้องเบ่ง หรือปัสสาวะออกกะปริดกะปรอย พบในมะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่สอง
• มีแผลเรื้อรังชนิดเลือดออกง่ายและมีกลิ่นเหม็น พบในมะเร็งของอวัยวะเพศชาย
• หนังหุ้มอวัยวะเพศหรือหนังหุ้มลึงค์ไม่เปิด และมีอาการคันภายในหรือมีเม็ดที่คลำได้
• บริเวณที่มีการเสียดสีมีการอักเสบไม่หาย เช่น มะเร็งถุงอัณฑะ
• มีก้อนคลำได้ชัดเจนบริเวณสีข้าง (บริเวณไต) หรือบริเวณท้องน้อยเหนือหัวเหน่า (บริเวณกระเพาะปัสสาวะ)
• มีก้อนและคลำได้ที่ลูกอัณฑะ กดไม่เจ็บและโตเร็ว
• ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบหรือซอกคอโต พบในรายที่มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว
• เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง ไป ปวดกระดูก พบในระยะที่มีการกระจายของมะเร็งไปแล้ว

ปัจจัยเสี่ยง

• อายุ มะเร็งของไต กระเพาะปัสสาวะมักพบในคนอายุประมาณ 50 – 70 ปี มะเร็งองคชาตมักพบในคนวัยกลางคน และมะเร็งอัณฑะมักพบในวัยหนุ่มฉกรรจ์
• มะเร็งของไตและกรวยไต เกิดร่วมกับการอักเสบเรื้อรังและนิ่วในไต เนื่องจากกินยาแก้ปวดประเภทฟีนาซีตินมากเกินไป
• มะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ เกิดบ่อยในคนที่สูบบุหรี่จัด ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหรือมีมลภาวะ มีการอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
• อาหารที่มีไขมันมากหรือสาเหตุทางพันธุกรรม ก็อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้
• ลูกอัณฑะที่ไม่ลงมาในถุงอัณฑะ มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูง
• การเสียดสีเรื้อรัง ทำให้เกิดแผลไม่หายแล้วกลายเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งของถุงอัณฑะ


แหล่งข้อมูล : หนังสือ - อยู่อย่างไรเมื่อเป็นมะเร็ง
[ ... ]

เมื่อมะเร็ง...แพร่กระจายไปที่กระดูก

มะเร็ง เป็นโรคที่ทุกคนภาวนาให้ไม่เกิดขึ้นกับตัว แต่ชีวิตก็ยากกำหนด ความรู้เท่านั้นที่จะช่วยให้เราเท่าทันโรคภัย สู้และอยู่กับมันได้อย่างราบรื่นที่สุด โดยเฉพาะคนที่เลี่ยงไม่ได้กับโรคมะเร็ง ความน่ากังวลของโรคนี้ คือ การที่เกิดขึ้นกับอวัยวะสำคัญๆ และการกระจายตัวไปสู่อวัยวะอื่นๆ รวมทั้งกระดูกด้วย

โรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกจัดเป็นโรคที่พบบ่อย จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 ล้านคน และประมาณ 600,000 คนจะมีมะเร็งแพร่กระจายมาที่บริเวณกระดูก กระดูกเป็นอวัยวะที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง เป็นอันดับที่ 3 รองลงมาจากปอด และตับ !!

มะเร็งที่มักแพร่กระจายมายังบริเวณกระดูก คือ มะเร็งของเต้านม ปอด ต่อมลูกหมาก ต่อมธัยรอยด์และไต พบในเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ มักจะพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และพบในผู้ชายมากกว่าหญิง ตำแหน่งของกระดูกที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง มักเป็นกระดูกบริเวณแกนกลางของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง และกระดูกเชิงกราน ส่วนในกระดูกระยางค์ มักพบในบริเวณกระดูกต้นขาส่วนต้น และกระดูกต้นแขนส่วนต้น ในกรณีที่มะเร็งมาที่กระดูก คนที่เป็นมะเร็งปอด มีแนวโน้มของโรคที่แย่ที่สุดกว่ามะเร็งชนิดอื่น

ปวดมากขึ้น ต่อเนื่องยาวนาน คือสัญญาณเตือน

เมื่อมะเร็งกระจายมาที่กระดูกจะทำให้ปวด มักจะปวดนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน มักจะปวดตลอดเวลา และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดธรรมดา นอกจากนี้บางคนปวดมาก และไปหาหมอเพราะกระดูกหัก บางครั้งแค่ล้มก็ทำให้เกิดกระดูกหักได้ อาการอีกอย่างที่สำคัญของมะเร็งกระจายไปที่กระดูก คือ ปวดหลังร่วมกับอ่อนแรง และชาบริเวณขา เนื่องจากมะเร็งแพร่มาที่กระดูกบริเวณสันหลัง จนมีการกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง

ประเมินล่วงหน้า เพื่อรักษาเต็มประสิทธิภาพ

การประเมินว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายมาที่กระดูก มีความสำคัญมาก เพื่อนำไปสู่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องพบแพทย์ต่อเนื่อง เพื่อติดตามอาการ ตรวจร่างกายเป็นระยะ ทั้งทางห้องปฏิบัติการ หรือตรวจพิเศษด้วยภาพถ่ายทางรังสี คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงการส่งตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา

ตรวจร่างกายทุกระบบอย่างละเอียด รวมถึงตำแหน่งที่มีอาการ เช่น ถ้ามีอาการปวดบริเวณหลังต้องคลำหาจุดกดเจ็บ ตรวจระบบประสาท และต้องหาตำแหน่งที่อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งได้ เช่น เต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมธัยรอยด์ ปอด รวมถึงลักษณะทั่วไปด้วย เช่น ภาวะซีด ภาวะโภชนาการของคนเป็นมะเร็ง

ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือต่างๆ บอกอะไร?

• การตรวจเลือด มีความจำเป็นต้องตรวจ เพื่อดูสภาพทั่วไป เช่น ภาวะความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เนื่องจากคนเป็นมะเร็งส่วนใหญ่มักมีอาการซีด การตรวจความเข้มข้นของปริมาณแคลเซียมในกระแสเลือด ซึ่งมักจะสูง ในคนเป็นโรคมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูก
• การตรวจหาค่าบ่งชี้ tumor marker ที่จำเพาะเจาะจงกับมะเร็ง เช่น ค่า PSA ซึ่งมักจะสูงในมะเร็งต่อมลูกหมาก
• ทำ bone scan ซึ่งเป็นการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในร่างกาย เพื่อศึกษากระดูกในส่วนที่มะเร็งแพร่กระจายไป จะช่วยในการติดตามดูแลรักษา และวินิจฉัยแยกโรค
• การตรวจภาพทางรังสี (X-ray) มีความสำคัญมากในการวินิจฉัย ควรตรวจในตำแหน่งที่มีอาการเจ็บปวดผิดปกติ การตรวจด้วยภาพรังสีบริเวณทรวงอก ก็ช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งปอดได้ ลักษณะของรอยโรคที่พบในบริเวณโรคนั้น มักพบทั้งการสร้างและการทำลายของกระดูก อาจพบภาวะกระดูกหักที่ไม่รุนแรง และพบรอยโรคของการทำลายกระดูก ในตำแหน่งที่มีกระดูกหัก
• การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ช่วยบอกถึงการทำลายกระดูก และภาวะการเกาะตัวของหินปูนในตำแหน่งของรอยโรค
• การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สามารถตรวจความผิดปกติของกระดูก ที่เกิดภายนอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ดูขอบเขตของการลุกลามของมะเร็งได้ดีมาก ถ้าเป็นรอยโรคในบริเวณกระดูกสันหลัง ก็จะช่วยให้เห็นการกดไขสันหลัง การทำลายของกระดูกได้
• การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิสภาพ เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการวินิจฉัย การตรวจชิ้นเนื้อมี 2 วิธี คือตรวจชิ้นเนื้อแบบไม่มีแผลเปิด ซึ่งใช้เข็มในการเจาะตรวจชิ้นเนื้อมาตรวจ และการผ่าตัดเปิดแผล เอาชิ้นเนื้อออกมาตรวจ ซึ่งการพิจารณาวิธีการนั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของรอยโรค รวมถึงประสบการณ์และความชำนาญของแพทย์ผู้ให้การรักษา

รักษาได้ไหม เมื่อมะเร็งกระจายสู่กระดูก

ประมาณ 80% ของมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก มาจากมะเร็งของเต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมธัยรอยด์ ปอด และไต เป้าหมายในการรักษาเพื่อลดอาการเจ็บปวด และรักษาสภาพจิตใจของคนเป็นมะเร็ง ให้สามารถเคลื่อนไหว ช่วยตนเองได้ และสามารถกลับสู่สังคมได้ เพราะมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก ก่อให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เนื่องจากการกดทับของไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต กระดูกหัก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดสูง ทำให้อาจมีอาการชัก ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และภาวะขาดน้ำ

การรักษาผู้ที่มะเร็งแพร่กระจายมายังกระดูกนั้น จึงเป็นการดูแลร่วมกันของทีมแพทย์ ได้แก่ แพทย์มะเร็ง ศัลยแพทย์กระดูก แพทย์รังสีรักษา แพทย์รักษาความเจ็บปวด รวมถึงจิตแพทย์ ที่จะช่วยในการรักษาอาการซึมเศร้าและบรรเทาจิตใจ

ผ่าตัด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การผ่าตัดจะทำโดยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เพื่อลดความเจ็บปวด และทำให้สามารถใช้อวัยวะส่วนนั้นๆ ได้ใกล้เคียงปกติ การผ่าตัดส่วนใหญ่เป็นการรักษาแบบประคับประคอง มากกว่าที่จะรักษาให้หายขาด คนเป็นมะเร็งบางคน ิอาจมีโอกาสกระดูกหักแต่ยังไม่หัก ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เพื่อป้องกันการหัก ส่วนการรักษาคนที่กระดูกหัก จากมะเร็งลุกลามมาที่กระดูกแล้ว ขึ้นอยู่กับลักษณะตำแหน่งของกระดูกที่เกี่ยวข้อง การตอบสนองต่อรังสีรักษาและเคมีบำบัด สุขภาพทั่วไป ระยะของโรค ระยะเวลาชีวิตที่เหลือ หลักการในการผ่าตัดนั้น ควรจะผ่าตัดที่เบ็ดเสร็จเรียบร้อยภายในครั้งเดียว เพราะคนกลุ่มนี้มีสุขภาพทั่วไปไม่แข็งแรง

ในคนที่ยังไม่มีกระดูกหัก แต่มีรอยโรคในส่วนของกระดูกระยางค์ และมีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักสูงมาก อาจต้องผ่าตัดยึดตรึงกระดูก เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ซึ่งรอยโรคมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2.5 เซนติเมตร มีการทำลายกระดูกมากกว่า 50% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกระดูก อาการปวดมาก ไม่สามารถทุเลาลงด้วยยาแก้ปวด และพิจารณาลักษณะของการทำลายกระดูกร่วมด้วย ภายหลังการผ่าตัดทุกราย จำเป็นต้องได้รับการฉายรังสีรักษาที่บริเวณผ่าตัด เพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำของมะเร็งเฉพาะที่ และลดปัญหาการเกิดการหักหลวมของวัสดุที่ใช้ในการยึดตรึงกระดูก หรือทดแทนกระดูกส่วนนั้น บางครั้งถ้าแพทย์คาดการณ์ภาวะมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกได้ดี คนๆ นั้นก็สามารถมีชีวิตยืนยาวได้

นอกจากการผ่าตัดรักษาทางร่างกายแล้ว ยังต้องช่วยกันรักษาทางจิตใจด้วย การให้กำลังใจคือสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทั้งแพทย์และญาติผู้ดูแลสามารถช่วยกันได้ ยิ่งผู้ที่เป็นมะเร็งมีความศรัทธาต่อทีมผู้รักษา ก็จะยิ่งช่วยกันสร้างความรู้สึกให้เขารู้สึกว่าตนเองมีค่า ช่วยฟื้นฟูจิตวิญญาณ โดยการดึงความภาคภูมิใจที่เขามีอยู่ให้กลับคืนมา...พลังใจมีอำนาจยิ่งใหญ่เสมอ คนเราอาจจะชนะโรคภัยได้ด้วยหัวใจอัน
เข้มแข็งครับ



นพ. ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday
[ ... ]

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นมะเร็งที่มักเกิดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน พบสูงในช่วงอายุ 50-60 ปี แต่ก็อาจพบได้ในช่วงอายุอื่นๆ อุบัติการณ์ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะสูงกว่าในประเทศที่กำลังพัฒนา

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

สาเหตุที่แน่นอนของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกยังไม่ทราบแต่พบปัจจัยเสี่ยงได้ดังนี้

1. การที่ร่างกายได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง อาจโดยภาวะที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง หรือจากใช้ยาฮอร์โมนประเภทนี้ในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงกว่า
2. ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนช้า เพราะเป็นกลุ่มที่ร่างกายมีฮอร์โมนเอส โตรเจนสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า
3. ผู้หญิงกลุ่มไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อยเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า
4. ผู้หญิงอ้วนเป็นความดันและเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า

การตรวจคัดกรองมะเร็งเยื่อโพรงมดลูก

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ

อาการและอาการแสดงของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

อาการและอาการแสดงที่เฉพาะของโรคมะเร็งไม่มี แต่จะเป็นอาการของความ ผิดปกติที่คล้ายคลึงกับโรคทางระบบสูติ-นรีเวชทั่วๆไป ได้แก่

1. มีเลือดออกทางช่องคลอดภายหลังที่หมดประจำเดือนไปแล้ว
2. ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น มากะปริบกะปรอย หรือปริมาณมาก หรือจำนวนวันที่มีประจำเดือนมาก
3. ตกขาว
4. อาจมีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะขัด
5. อาจคลำได้ก้อนในท้องน้อย ซึ่งมักเกิดจากการที่มดลูกมีขนาดโตขึ้น

การตรวจเพื่อการวินิจฉัยและหาระยะโรค โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจดังนี้

• ซักประวัติ อาการ อาการแสดง และตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจภายใน
• ถ้าสงสัยแพทย์จะทำการขูดมดลูกเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา

เมื่อผลทางพยาธิวิทยา ระบุว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แพทย์จะตรวจ เพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพและหาระยะของโรคโดย

• ตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการและตรวจปัสสาวะ
• ตรวจภาพเอกซเรย์ปอด

ในบางครั้ง ถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน

ระยะของโรค มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแบ่งเป็น 4 ระยะได้แก่

ระยะที่ 1 โรคยังอยู่ในโพรงมดลูกแต่อาจมีการลุกลามเข้าชั้นกล้ามเนื้อ
ระยะที่ 2 โรคลุกลามเข้าปากมดลูก
ระยะที่ 3 โรคลุกลามอกนอกมดลูก
ระยะที่ 4 โรคลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไปเช่น ปอด เป็นต้น

ความรุนแรงของโรค ความรุนแรงของโรคขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างได้แก่

1. ระยะของโรคระยะสูงขึ้น ความรุนแรงของโรคก็สูงขึ้น
2. การลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าชั้นกล้ามเนื้อ
3. ชนิดของเซลล์มะเร็ง
4. ขนาดของก้อนมะเร็ง
5. การลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง
6. อายุ ผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี มักมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อยกว่า
7. สุขภาพโดยทั่วไปของร่างกายและโรคร่วมอื่นๆ ซึ่งถ้าร่างกายไม่สมบูรณ์ จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา

การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การรักษามะเร็งชนิดนี้มี 4 วิธี คือ การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัดและฮอร์โมน

การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักได้แก่ การผ่าตัดเอามดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ออก และภายหลังการผ่าตัดจะมีการตรวจชิ้นเนื้อต่างๆ ทางพยาธิวิทยาอีกครั้ง
เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ว่าควรจะมีการรักษาร่วมอื่นๆ เช่น รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด หรือฮอร์โมนร่วมด้วยหรือไม่

รังสีรักษา อาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดแต่บางครั้งถ้าผ่าตัดไม่ได้ก็อาจใช้เพียงรังสีรักษา รังสีอาจใช้ร่วมกับเคมีบำบัด หรือ ฮอร์โมนตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ รังสีการ แพทย์ มีทั้งการฉายรังสีและการใส่แร่ ซึ่งอาจใช้เพียงวิธีการเดียวอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือทั้ง 2 วิธีการร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของผู้ป่วยแต่ละราย

เคมีบำบัด มักใช้ในโรคระยะลุกลาม มักใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือ รังสีรักษา ฮอร์โมน มักใช้ในผู้ป่วยที่โรคลุกลามแต่มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่การรักษาได้ผลด้วยวิธีนี้

การติดตามผลการรักษา

ภายหลังการรักษาครบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจดูแลรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องเสมอ โดยมักนัดทุก 1-2 เดือน ในปีแรกหลังการรักษาในปีที่ 2-3 อาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ในปีที่ 3-5 มักนัดตรวจทุก 3-6 เดือน และภายหลัง 5 ปีไปแล้วมักนัดทุก 6-12 เดือน

ในการมาตรวจกับแพทย์ควรนำญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อร่วมปรึกษาพูดคุยกับแพทย์โดยตรง และควรนำยาหรือผลตรวจต่างๆ จากแพทย์ท่านอื่น (ถ้ามีแพทย์ดูแล หลายคน) มาแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม


แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com
[ ... ]

โรคมะเร็งกับสตรี : มะเร็งปากมดลูก (2)

ี่หลายคนอาจสงสัยว่าปากมดลูกที่ยังเป็นปกติ มีแต่เนื้อเยื่อสุขภาพดี แล้วอยู่ๆ ทำไมเนื้อดีๆ ถึงต้องกลายเป็นมะเร็งด้วย?
คำอธิบายเรื่องนี้ โดยอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ เรื่องสารก่อมะเร็ง สามารถให้ความกระจ่างแก่พวกเรา ได้เพียงบางกรณีเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะ ปัจจุบันเพิ่งค้นพบสารก่อมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิด เชื่อว่าทุกสถาบันวิจัย กำลังค้นคว้าอย่างขะมักเขม้น ไม่นานคงมีรายงานที่น่าเชื่อถือ มาขู่ให้เรากลัวโน่นระวังนี่อีกเป็นแน่ ส่วนสาเหตุที่มาจากเรื่องทางพันธุกรรม ก็เพียงช่วยอธิบายโรค ที่เกิดในคนไข้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น มีคนอีกจำนวนมาก ที่อาจเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ห้ามชะล่าใจเด็ดขาด

สารก่อมะเร็งปากมดลูกที่พิสูจน์แล้วว่า เป็นของจริงได้แก่ เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ติดต่อได้ทางการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ตัวเชื้อจะเกาะอยู่ตาม เยื่อบุผิวของอวัยวะสืบพันธุ์ HPV บางชนิดอาจทำให้เกิด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่แสดงอาการออกมาชัดเจน เช่น โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) แต่ HPV ชนิดที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง มักหลบซ่อนตัว อาศัยอยู่อย่างเงียบๆ ตามเยื่อบุผิวที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ปากมดลูก บางครั้งอยู่เฉยๆ นานเป็นปีๆ แล้ววันดีคืนดี เชื้อไวรัสที่ดูเฉื่อยๆ นี่แหละ จะเริ่มแผลงฤทธิ์ออกลาย กระทำตัวเป็นเจ้านาย ออกคำสั่งให้ เซลล์เยื่อบุผิวที่อาศัยอยู่นั้น เปลี่ยนลักษณะหน้าตา ไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ ไม่อยู่ในระเบียบวินัย ความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากมีการขยายขนาดออกไป จนเต็มความหนาของชั้นเยื่อบุผิว และเริ่มกินทะลุลงไป ในเนื้อเยื่อส่วนลึกๆ เมื่อไร ก็ถือว่าเป็นมะเร็ง (Invasive Cancer) ทันที ส่วนพวกที่ความผิดปกติ ยังกินไม่ทะลุผ่านชั้นเยื่อบุผิว เราเรียกว่า ระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Cervical Intraepithelial Neoplasia-Cin) หรือบางแห่งเรียกว่า มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก (Preinvasive Disease) แบ่งเป็น 3 ระยะตามระดับความหนาน้อย หนามากของความผิดปกตินั่นเอง

ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ใช้เวลานานอย่างน้อย 1-2 ปี กว่าจะกินทะลุลึกลงจนเป็นมะเร็ง ช่วงแรกๆ มักไม่มีอาการ (หลอกให้ตายใจ) ถ้าเราไหวตัวทัน รีบค้นหาด้วยการหมั่นตรวจภายใน ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกประจำปี ก็คงไม่พลาดโอกาสงามๆ ที่จะตรวจพบและรักษาก่อน แต่ถ้าปล่อยปละละเลยตนเอง ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ยอมไปตรวจซะที (แบบที่คุณบางคนกำลังรีรออยู่ !) โรคร้ายมันไม่คอยท่าเรานะ มารู้สึกกันอีกที ก็ตอนเลือดออกผิดปกติ หรือตกขาวมีกลิ่น กลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็งไปซะแล้ว

ถึงบรรทัดนี้ ขอเวลาทำความเข้าใจ กันสักเล็กน้อย จริงๆ แล้ว การตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก ควรใช้คำที่ถูกต้องว่า การตรวจเซลล์วิทยา ของเยื่อบุผิวปากมดลูก จะดูดีกว่า เพราะที่เรียกกันว่า การตรวจมะเร็ง เป็นเพียงการตรวจแบบคัดกรอง กล่าวคือ แพทย์ใช้อุปกรณ์สะอาด ป้ายเอาเซลล์ที่อยู่บริเวณผิว ของปากมดลูกไปตรวจเท่านั้น ไม่ได้เอาชิ้นเนื้อเป็นชิ้นๆ ไปวิเคราะห์ วิธีตรวจแบบนี้ จึงยังไม่ใช่การวินิจฉัยโรค เป็นแต่บอกให้เราทราบอย่างคร่าวๆ ว่า พบสิ่งผิดปกติหรือไม่ การรายงานผลผิดปกติ ไม่ได้หมายความว่า เป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป มีสาเหตุอีกหลายประการ นอกจากระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือก้อนเนื้อมะเร็ง ที่ทำให้ผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกผิดปกติได้ เช่น การอักเสบเรื้อรัง, ปากมดลูกปกติของสตรีวัยทอง หรือหลังคลอดใหม่ๆ , เชื้อไวรัส HPV ฯลฯ

รู้จักกันซะอย่างนี้แล้ว เมื่อได้รับแจ้งว่าผลการตรวจ มะเร็งปากมดลูกผิดปกติ ก็อย่าเพิ่งสติแตก ตีตนไปก่อนไข้ล่ะ คุณอาจไม่ได้เป็นมะเร็งก็ได้ แต่ต้องรีบมารับการตรวจเพิ่มเติม ด้วยกล้องขยายที่เรียกว่า คอลโปสโคป (Colposcope) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก (และไม่เจ็บด้วย) กล้องขยายพิเศษนี้ ช่วยส่องขยายปากมดลูก ให้ใหญ่ขึ้นเป็นสิบๆ เท่า ทำให้นรีแพทย์ผู้ตรวจ มองเห็นพื้นผิวปากมดลูกอย่างชัดเจน ตำแหน่งใดที่มีลักษณะน่าสงสัยว่าผิดปกติ แพทย์จะนำชิ้นเนื้อบริเวณนั้น ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน

เมื่อทราบแน่นอนว่า ความผิดปกติที่ปากมดลูกเกิดจากอะไรแล้ว เราคงปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ แพทย์จะแนะนำการรักษา ที่เหมาะสมกับโรคแต่ละชนิด มีทางเลือกหลายทาง สำหรับ HPV และระยะก่อนเป็นมะเร็ง เช่น การจี้ด้วยความเย็น (Cryosurgery), การยิงทำลายด้วยแสงเลเซอร์ (Laser Vaporization), การใช้ลวดผ่านกระแสไฟฟ้า ฝานเอาชิ้นเนื้อที่ผิดปกติทิ้ง (Leep), การตัดคว้านปากและคอมดลูกออกเป็นรูปกรวย (Conization) เป็นต้น วิธีใดจะโดนใจตรงกับโรคที่สุด ขอให้เป็นหน้าที่ของนรีแพทย์ ผู้รักษากับตัวคุณผู้หญิงปรึกษากันเอง





นายแพทย์ภานนท์ เกษมศานติ์
แผนกสูตินรีเวชกรรม


แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 15 - www.ram-hosp.co.th/books
[ ... ]

โรคมะเร็งกับผู้หญิง : มะเร็งปากมดลูก (1)

ในบรรดาโรคมะเร็ง ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไทยเรานั้น ยอมรับกันว่า มะเร็งของปากมดลูกหรือคอมดลูก (Cervix uteri) พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับต้นๆ สูสีคู่คี่กับมะเร็งของเต้านม แต่เมื่อดูสถิติของทางต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ ที่เขามีระบบสาธารณสุขมูลฐานที่ดีแล้ว กลับพบโรคมะเร็งปากมดลูกที่น้อยกว่าเมืองไทยมาก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
ถ้าถามว่า โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร คงไม่มีใครเป็นพหูสูตร พอที่จะให้คำตอบได้ 100% เพียงแต่มีหลักฐาน ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ บางประการชวนให้เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปากมดลูกนั้น น่าจะมาจากสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) บางชนิด ที่ปากมดลูกต้องสัมผัสอยู่เสมอ สารก่อมะเร็งที่ยืนยันแล้วว่า เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก คือ เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus)

การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปากมดลูกปกติ ไปเป็นโรคมะเร็งนั้น ใช้เวลาเป็นแรมปี (ประมาณ 3 - 5 ปี) ไม่ใช่แค่วันสองวัน ดังนั้น หากคุณผู้หญิงได้รับการตรวจภายในประจำปี ซึ่งคุณหมอจะตรวจหา มะเร็งปากมดลูกให้ทุกครั้งอยู่แล้ว รับรองได้ว่าต้องพบความผิดปกติ ก่อนที่ปากมดลูกจะเป็นมะเร็งแน่นอน ไม่มีคำว่าพลาด เมื่อพบแล้วการรักษาก็ไม่ยาก แถมหายขาดได้ เป็นการชิงจังหวะลงมือก่อน ไม่ยอมให้ถึงขั้นเป็นมะเร็ง คุณผู้หญิงก็จะปลอดโรคนี้ไปโดยปริยาย อีกอย่าง โชคดีที่ถึงปากมดลูก จะเป็นอวัยวะภายใน แต่โดยพฤตินัยแล้ว เขาเป็นเสมือนอวัยวะภายนอก ที่แพทย์สามารถตรวจได้ละเอียด โดยไม่ต้องอาศัยวิธีพิเศษใดๆ มาช่วยมากนัก ไม่เหมือนกับอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ไต ลำไส้ รังไข่ ที่อยู่ในช่องท้องมองก็ไม่เห็น เวลาตรวจร่างกายก็ได้แต่เคาะๆ คลำๆ อวัยวะภายในเหล่านั้น จึงยากแก่การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก พอป่วยกันมาทีก็มักจะเป็นมากแล้ว พลอยทำให้รักษายากไปด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมาในย่อหน้านี้ คือเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงพบโรคมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าบ้านเรา ก็เพราะว่าคนของเขาเอาใจใส่ตัวเอง หมั่นมาตรวจร่างกาย ผู้หญิงขยันมาตรวจภายในประจำปี เมื่อปากมดลูกเป็นอะไร คุณหมอรีบรักษาให้ก่อนมะเร็งมากล้ำกราย เลยไม่ค่อยพบคนเป็นมะเร็งปากมดลูกสักเท่าไร เพราะฉะนั้น ขอชวนเชิญคุณผู้อ่านทุกท่าน แนะนำทั้งตัวเอง ญาติสนิทมิตรสหาย ให้มารับการตรวจร่างกาย (และตรวจภายในสำหรับคุณผู้หญิง) ประจำปีกัน จะได้ไม่พลาดโรคร้าย ที่อาจซ่อนอยู่ในตัว โดยไม่บอกกล่าวกัน

อาการที่ชักนำให้คุณผู้หญิง ยอมมาตรวจภายในมักได้แก่ มีเลือดออก ตกขาว หรือปวดในท้องน้อย นอกจากนั้น อาจคลำได้ก้อนเนื้อที่ท้องน้อย หรือมีกิจวัตรที่ผิดปกติไป เช่น การถ่ายอุจจาระลำบาก ปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือกะปริดกะปรอย จากการที่ก้อนของปากมดลูกและตัวมดลูก โตไปกดทับอวัยวะเหล่านั้น เมื่อตรวจภายใน จะพบก้อนเนื้อยื่นออกมา หรือไม่ก็เป็นแผล ที่บริเวณปากมดลูกในระยะแรก ระยะต่อมาตัวก้อนมะเร็ง จะลุกลามมาที่ช่องคลอด หรือบริเวณเนื้อเยื่อด้านข้างของคอมดลูก บางครั้งลามไปกดเบียดท่อไต ที่ผ่านมาบริเวณข้างเคียง จนทำให้ปัสสาวะจากไต ไหลลงกระเพาะปัสสาวะลำบาก อาจเป็นผลกรวยไต หรือตัวไตขยายขนาด เนื่องจากมีการคั่งของปัสสาวะได้ หากเป็นระยะหลังๆ โรคมะเร็งนี้อาจลุกลาม หรือกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะ, ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง, ปอด, กระดูก ฯลฯ

เมื่อคุณหมอตรวจพบ ความผิดปกติดังกล่าวที่ปากมดลูก ขั้นตอนมาตรฐานที่จำเป็น ต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนให้การรักษา จะเป็นดังนี้

• นำชิ้นเนื้อจากบริเวณปากมดลูกไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็ง
• ตรวจหาระยะที่แน่นอนของโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ โดย
1. การตรวจภายใน โดยสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
2. ถ่ายภาพ รังสี (เอกซเรย์) ปอด
3. ถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์) หรืออัลตร้าซาวด์ ตรวจดูไตและท่อไต
4. ตรวจดูความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง โดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หลังจากให้การวินิจฉัย และทราบระยะของโรคที่แน่นอนแล้ว ต่อไปคุณหมอก็จะแนะนำ แผนการรักษาที่เหมาะสมแก่เจ้าตัวและญาติผู้ใกล้ชิด โดยมีหลักการรักษาคร่าวๆ ดังนี้

หากเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 หมายถึง ตัวโรคมะเร็งยังอยู่กับที่ไม่ลุกลามไปที่ใด คุณหมอมักแนะนำวิธีการผ่าตัด นอกจากบางรายที่สุขภาพทั่วไป ไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัดจริงๆ ในการผ่าตัดคง จำเป็นต้องตัดทั้งตัวมดลูกออกไป พร้อมกับปากและคอมดลูก ส่วนรังไข่อาจเก็บรักษาไว้ เพื่อผลิตฮอร์โมนเพศหญิงต่อไปได้ ทั้งนี้ขึ้นกับอายุ และพยาธิสภาพของโรค นอกจากนี้ อาจพิจารณาผ่าตัดเพิ่มเติม เช่น การเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน การตัดเนื้อเยื่อ บริเวณด้านข้างของคอมดลูก และการตัดช่องคลอด ส่วนที่ติดกับปากมดลูกออกไปเพิ่ม โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามลักษณะการลุกลามของโรค เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

หากเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 เป็นต้นไป การรักษาหลักส่วนใหญ่ ได้แก่ การใช้รังสีรักษา (ร่วมกับเคมีบำบัดในบางกรณี) ซึ่งคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ จะแนะนำให้ทราบอย่างละเอียด มีอะไรติดใจสงสัยให้ซักถามได้เต็มที่เลย

ผลการรักษาโรคมะเร็งของปากมดลูก ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของโรคมะเร็ง สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย และความร่วมมือในการรักษาเป็นสำคัญ แม้ทางการแพทย์สมัยใหม่ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า โรคมะเร็งเหล่านี้ มีโอกาสที่จะรักษาไม่หาย หรือมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก แต่ด้วยแผนการรักษาที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน โอกาสรักษาจนหายขาดมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสำหรับคน ที่เพิ่งเริ่มเป็นระยะแรกๆ เช่น ระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดถึง 85 - 95% ระยะที่ 2 ก็ลดลงมาหน่อยเหลือ 60 - 70% เป็นต้น



คำแนะนำที่อยากให้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ

1. อย่าละเลย : ตรวจเช็คร่างกาย และตรวจภายในเป็นประจำทุกๆ ปี
2. อย่ารีรอ : รีบไปตรวจหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
3. อย่าลังเล : ตัดสินใจรักษาตามวิธีมาตรฐาน เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง





นายแพทย์ภานนท์ เกษมศานติ์
แผนกสูตินรีเวชกรรม


แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 14 - www.ram-hosp.co.th/books
[ ... ]

มะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีพบ ได้มากในช่วงอายุ 40-60 ปี ในเด็กก่อนหรือหลังวัย 10 ปี ก็อาจพบได้ เนื่องจากธรรมชาติของโรค โตและกระจายรวดเร็วในช่องท้อง สังเกตุได้ยากผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากแล้ว เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในหญิง แต่เป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับแรก ของโรคมะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ทั้งนี้ เนื่องจากธรรมชาติของโรคที่สามารถโต และกระจายได้อย่างรวดเร็วในช่องท้อง และเป็นตำแหน่งที่สังเกตได้ยาก ผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากแล้ว


สา่เหตุ : ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบเหตุส่งเสริมที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ ดังนี้ คือ

1. สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร เนื่องจากพบว่าในประเทศ อุตสาหกรรมมีผู้ป่วยเป็น มะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม
2. สตรีที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อย
3. ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งที่เต้านม มะเร็งมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหาร โอกาสเป็น มะเร็งรังไข่ มีมากกว่าคนปกติ

สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด มักพบในหญิงไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อย เคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ รับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ เคยใช้ยากระตุ้นการทำงานของรังไข่เพื่อให้มีบุตร

อาการ

1. อาจไม่มีอาการ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญ
2. มีอาการท้องอืดเป็นประจำ
3. มีก้อนในท้องน้อย
4. ปวด แน่นท้อง และถ้าก้อนมะเร็งโตมาก จะกดกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ส่วนปลาย ทำให้ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก
5. ในระยะท้ายๆอาจมีน้ำในช่องท้องทำให้ท้องโต ขึ้นกว่าเดิม เบื่ออาหาร ผอมแห้ง น้ำหนักลด

อาการและอาการแสดง ในระยะเริ่มแรกอาการไม่แน่นอน ปวดท้อง แน่นท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลำพบก้อนในท้อง หรือในอุ้งเชิงกราน เมื่อก้อนโตขึ้นกดเบียดกะเพาะปัสสาวะก็จะทำให้ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ถ้าก้อนไปกดลำไส้ใหญ่ส่วนปลายทำให้ปวดถ่วงและถ่ายอุจจาระลำบาก เมื่อมีการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งในช่องท้องก็จะมีนำในท้อง ประจำเดือนผิดปกติ

การวินิจฉัย

1. การตรวจภายใน อาจคลำพบก้อนในบริเวณท้องน้อย การคลำพบก้อนรังไข่ได้ในสตรีวัยหมดประจำเดือน ควรนึกถึงมะเร็งของรังไข่ไว้ด้วย (เพราะตามปกติวัยหมดประจำเดือน รังไข่จะฝ่อ)
2. การทำแพพสเมียร์จากในช่องคลอด ส่วนบนทางด้านหลัง อาจพบเซลล์มะเร็งของรังไข่ได้
3. การตรวจด้วยเครื่องความถี่สูงอาจช่วยบอกได้ว่ามีก้อนในท้อง ในรายที่อ้วนหรือหน้าท้องหนามาก คลำด้วยมือตามปกติตรวจไม่พบ
4. การผ่าตัดเปิดช่องท้อง และตรวจดู เป็นวิธีที่สำคัญ และแม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยโรคอย่างแน่นอน สามารถขลิบหรือตัดเอาเนื้อมาตรวจหาชนิดของมะเร็ง และทราบถึงระยะของโรคด้วย
5. การวินิจฉัย การตรวจภายใน เอ็กซเรย์ หรือ ULTRASOUND หากพบก้อนที่น่าสงสัย ควรทำผ่าตัดทุกราย เพื่อนำก้อนเนื้อไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา

การรักษา

การผ่าตัด เป็นวิธีแรกที่แพทย์จะเลือกทำการรักษา ถ้าไม่สามารถตัดออกได้หมด เนื่องจากโรคกระจายออกไปมากแล้ว แพทย์จะพยายามตัดออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจะให้การรักษาต่อด้วยเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด

การรักษา โดยการผ่าตัดเป็นหลัก ปัจจุบันผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีแม้เป็นระยะลุกลามก็สามารถควบคุมโรคได้ระยะเวลานาน ผลการรักษาขึ้นกับระยะของโรค ดังนั้นการตรวจพบระยะแรกๆ เท่านั้น จึงจะรักษาให้หายได้ ข้อควรปฏิบัติ ตรวจภายในปีละครั้งหลังอายุ 40 ปี สังเกตุอาการผิดปกติ ความผิดปกติของประจำเดือน เช่น เริ่มขาดประจำเดือนก่อนวัยอันควร มีเลือดออกผิดปกติ ปวดท้องน้อยควรพบแพทย์ทันที

การป้องกัน

เนื่องจากมะเร็งรังไข่ในระยะแรกๆ มักจะไม่มีอาการ อีกทั้งยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง การป้องกันจึงทำได้ยาก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ รับการตรวจภายในหรือตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง โดยแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง

ข้อควรปฏิบัติ

1. ควรได้รับการตรวจภายในปีละครั้ง หลังอายุ 40 ปี
2. หากมีความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ขาดประจำเดือนก่อนวัยอันควร การมีเลือดออกผิดปกติ ปวดท้องน้อย หรือสงสัยมีก้อนบริเวณท้องน้อย ควรพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจภายใน


แหล่งข้อมูล : www.thailabonline.com
[ ... ]

อาหาร โภชนาการ กับมะเร็ง

เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งฟังดูจะเป็นโรคไกลตัว แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นโรคที่ใกล้ตัวเราทุกคนมาก เนื่องจากในชีวิตประจำวันเราต้องสัมผัสสารเคมีมากมาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ จากการรวบรวมสถิติจาก The International Agency for Research on Cancer (IARC) GLOBOCAN 2002 database พบว่า ในแต่ละปีมีประชากรทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยโรคว่าเป็นมะเร็งถึง 10.9 ล้านคน และประชากรทั่วโลกที่ต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึง 6.7 ล้านคน โดยที่ 45 % ของประชากรที่ได้รับการวินิจฉัยโรคว่าเป็นมะเร็งอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ทางผู้เขียนจึงได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจากหลายแหล่งได้ตระหนักถึง ความสัมพันธ์ของอาหารโภชนาการและมะเร็ง จึงอยากเผยแพร่ตีพิมพ์ให้เกิดความรู้ และประโยชน์ต่อผู้อ่านเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาหาร สภาวะโภชนาการและการเป็นมะเร็งในกลุ่มคน โดยใช้หลักการศึกษาทางโภชนาการเป็นเครื่องมือทำการวิจัย สภาวะทางโภชนาการที่ดีคือ สภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารทุกอย่างครบถ้วนในปริมาณที่พอเหมาะคือ ในอาหาร 1 มื้อควรได้พลังงานคำนวณเป็นโปรตีนประมาณ 20% ไขมัน 30% และอาหารพวกแป้งอีก 50% ส่วนน้ำนั้นควรดื่มให้พออิ่มหลังอาหาร การพิจารณาสภาวะโภชนาการในลักษณะนี้ เป็นการคำนึงถึงปัญหาด้านการใช้พลังงานด้วย ทั้งที่ความจริงแล้วสารอาหารประเภทโปรตีนนั้นร่างกายควรนำไปใช้ในการซ่อมแซม และสร้างเนื้อเยื่อเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้เป็นพลังงาน เมื่อใดที่โปรตีนถูกนำมาใช้เป็นพลังงานจะหมายความว่า ความผิดปกติในเรื่องการใช้พลังงานของร่างกายเริ่มเกิดขึ้น หลักการบริโภคอาหารนี้แม้จะทำได้ยากแต่ก็มีความสำคัญมาก เพราะมีการศึกษาพบว่าการกินอาหารนั้น ถ้ามีสารอาหารบางประเภทสูงเกินไป แนวโน้มของการเป็นมะเร็งบางชนิดจะสูงขี้น

พฤติกรรมการกินกับมะเร็ง

ชาวญี่ปุ่นสองกลุ่มได้รับการศึกษาถึงอุปนิสัยการบริโภคอาหารและการเกิดมะเร็ง ในกลุ่มแรกเป็นชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีบริโภคนิสัยและโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิด ที่ต่างจากชาวญี่ปุ่นกลุ่มที่สอง ซึ่งอพยพไปอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นเมื่อคิดถึงเวลาปัจจุบันนี้แล้ว การสืบทอดลูกหลานจึงนับเป็น 2-3 ชั่วอายุ เมื่อนักระบาดวิทยาทำการสำรวจประวัติบริโภคนิสัยของชาวญี่ปุ่นทั้งสองกลุ่มตัวอย่าง ก็พบความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ

1. ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในญี่ปุ่นบริโภคธัญพืชคือ ข้าวทั้งเมล็ด ต่างจากชาวอเมริกันหรือญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา ที่บริโภคธัญญพืชในรูปแป้งทำเป็นขนมปัง
2. ชาวญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นบริโภคอาหารเนื้อน้อยกว่าชาวญี่ปุ่นอพยพ แต่บริโภคผักผลไม้รวมถึงสาหร่ายทะเลมากกว่า
3. เนื้อสัตว์ในอาหารของชาวญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นมักจะเป็นปลาที่รมควัน ซึ่งต่างจากชาวญี่ปุ่นอพยพที่เปลี่ยนไปบริโภคแบบฝรั่งที่นิยมเนื้อสัตว์ปรุงพอสุกแทน
4. ชาวญี่ปุ่นที่อพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มปริมาณการบริโภคอาหารไขมัน นม ไข่ มากขึ้นเรื่อยๆจนเท่าชาวผิวขาวในสหรัฐอเมริกาทั่วไป

ลักษณะบริโภคนิสัยที่ต่างกันของชนญี่ปุ่นสองกลุ่มนี้ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการตายด้วยมะเร็งดังกล่าวข้างต้นแล้ว นักระบาดวิทยาพยายามตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายสาเหตุของความสัมพันธ์ระหว่างบริโภคนิสัยกับการเกิดมะเร็ง ซึ่งสมมุติฐานบางสมมุติฐานได้รับการพิสูจน์และมีแนวโน้มว่าจะเป็นทฤษฎี

ข้อมูลจากการวิจัยของนักระบาดวิทยาพบว่า ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในถิ่นเดิมมีแนวโน้มต่อการตายด้วย โรคมะเร็งในกระเพาะอาหารสูงกว่าการตายเนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอัตราการตาย เนื่องจากมะเร็งในกระเพาะอาหารเมื่อเวลาผ่านไป แต่อัตราตายด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้นจนเป็นอัตราเดียวกับชาวอเมริกัน

สมมุติฐานที่อาจนำมาใช้อธิบายการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น คือ ในอดีตคนทางเอเชียตะวันออกเช่น คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคอาหารที่มีเนื้อสัตว์ค่อนข้างต่ำ ในแต่ละมื้ออาหารจะประกอบด้วยข้าว ผัก และผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลักษณะอาหารเช่นนี้ทำให้ผู้บริโภคได้กลุ่มอาหารที่เรียกว่า ใยอาหาร (dietary fiber) มากกว่าคนตะวันตก ซึ่งรับประทานอาหารที่มีเนื้อและไขมันเป็นองค์ประกอบในสัดส่วนที่สูงมาก

ใยอาหารกับมะเร็งบางชนิด

ปัจจุบันนี้มีการตั้งสมมุติฐานว่า การบริโภคอาหารที่มีใยอาหาร (dietary fiber) สูงนั้น จะช่วยให้มีโอกาสเป็นมะเร็งบางอวัยวะน้อยลง ใยอาหาร คือ องค์ประกอบของอาหารซึ่งได้จาก ผัก ผลไม้ และธัญญพืชต่างๆ ใยอาหารเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ของพืชทุกชนิด นับว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่มีองค์ประกอบเป็นน้ำตาลกลูโคสเช่นเดียวกับแป้ง แต่มีการจับตัวต่างจากแป้ง ดังนั้นเอมไซม์ที่ย่อยแป้งจึงไม่สามารถย่อยใยอาหารได้ ด้วยเหตุนี้ใยอาหารจึงถูกประเมินว่าไม่มีคุณค่าต่อการเจริญเติบโต หรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การที่ใยอาหารไม่ถูกย่อยและไม่ดูดซึมกลับมีประโยชน์ในตัวเองซึ่งอธิบายได้ดังนี้

เมื่อผัก ผลไม้ ถูกเคี้ยวกลืนผ่านลำคอลงไปถึงกระเพาะอาหารและเลยไปถึงลำไส้เล็ก สารอาหารคือ แป้ง น้ำตาล วิตามิน เกลือแร่ และโปรตีนที่มีอยู่จะถูกย่อยและถูกดูดซึมเข้าระบบโลหิต องค์ประกอบส่วนที่เหลือคือ ใยอาหารจะกลายไปเป็นองค์ประกอบของกากอาหารรอการถูกขับออกจากร่างกาย

แบคทีเรียบางชนิดที่มีอยู่ในลำไส้ใหญ่อาจมีส่วนก่อให้เกิดอันตรายต่อคนได้ เช่น ในการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า แบคทีเรียบางชนิดในทางเดินอาหารตอนล่างสามารถปล่อยเอมไซม์ออกมากระตุ้นสารพิษหลายชนิดให้แสดงฤทธิ์ หรือบางกรณี แบคทีเรียบางชนิดอาจจะเปลี่ยนสารเคมีที่มีอยู่ในกากอาหาร เช่น เกลือน้ำดี ให้กลายเป็นสารก่อมะเร็งบางชนิดได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการที่กากอาหารตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่นานๆ มีผลเสียต่อสุขภาพของร่างกาย จึงควรกินใยอาหารให้มากพอเพื่อทำให้เกิดความสะดวกสบายในการขับของเสียออกจากร่างกายโดยเร็วที่สุดในแต่ละวัน

ใยอาหารหลายชนิดซึ่งมนุษย์ย่อยไม่ได้นั้น แบคทีเรียที่อยู่ในทางเดินอาหารตอนล่างสามารถย่อยใช้เป็นอาหารได้ การที่แบคทีเรียย่อยใยอาหารได้นั้น เกิดข้อดีแก่ผู้บริโภคผัก ผลไม้ เพราะเมื่อแบคทีเรียย่อยใยอาหารแล้ว สิ่งที่เป็นผลพลอยได้หรือสิ่งที่แบคทีเรียขับถ่ายออกมาก็คือ กรดไขมันอิสระชนิดที่มีโมเลกุลเล็ก ซึ่งระเหยได้ (Volatile free fatty acid) กรดไขมันนี้มีความสำคัญกับสุขภาพของผู้บริโภคในด้านที่มีสมมุติฐานเกี่ยวกับการป้องกันมะเร็ง ดังจะอธิบายต่อไปนี้

จากการทราบว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ทำให้เกิดความเป็นด่างขึ้นในลำไส้ใหญ่ ซึ่งสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง จึงมีการตั้งสมมุติฐานว่าการลดความเป็นด่าง โดยการเพิ่มสารที่มีฤทธิ์กรดเข้าไปเป็นแนวทางที่จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น กรดไขมันอิสระที่เกิดจากการย่อยใยอาหารโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ของคน จึงเป็นความหวังที่จะทำให้สภาวะที่เหมาะกับการเจริญของเซลล์มะเร็งเปลี่ยนไปจนมีโอกาสการเกิดมะเร็งน้อยลง

ประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับใยอาหาร อีกหนึ่งประเด็น คือ สมมุติฐานที่กล่าวว่าใยอาหารเป็นปัจจัยที่จะทำให้เด็กผู้หญิงเป็นสาวช้าลง โดยอาศัยหลักการในทางสรีรวิทยาที่กล่าวสรุปได้ว่า การที่เด็กหญิงเริ่มมีประจำเดือนนั้น แสดงว่าเริ่มเป็นสาวและฮอร์โมนเพศหญิงเริ่มทำงาน การเจริญเติบโตโดยเฉพาะในเรื่องของความสูงจะมีอัตราลดลงทันที เพราะฮอร์โมนเพศนั้นจะไปกดการทำงานหรือการสร้างฮอร์โมนที่ส่งเสริมความสูงของร่างกาย เนื่องด้วยร่างกายต้องเตรียมพร้อมในกรณีที่จะต้องมีลูก จึงทำให้ร่างกายให้ความสำคัญกับการกระตุ้นระบบที่ช่วยในการเลี้ยงลูก คือ การมีเต้านมมากกว่าการทำให้เด็กหญิงสูงขึ้น

เมื่อพิจารณาช่วงอายุของการมีประจำเดือนของเด็กหญิงชาวตะวันตกและชาวเอเชีย จะพบว่าเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเด็กหญิงชาวตะวันตกมีประจำเดือนเมื่ออายุราว 10-11 ปีเท่านั้น ในขณะที่เด็กหญิงไทยจะเริ่มมีเมื่ออายุ 13-14 ปี แต่ในปัจจุบัน พบว่าเด็กหญิงไทยที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารที่มีความสมบูรณ์ทั้งโปรตีนและไขมัน จนสัดส่วนของใยอาหารที่ได้จากพืชผักต่ำลงนั้น เริ่มเป็นสาวมีประจำเดือนในช่วงอายุราว 10-12 ปี ซึ่งแสดงว่าฮอร์โมนเพศได้เริ่มทำงานแล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเพศของเด็กหญิงเร็วกว่าปรกตินี้มีการตั้งสมมุติฐานว่า เนื่องมาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารจากอาหารที่มีผักมาก เช่น น้ำพริกผักจิ้ม ชะอมชุบไข่ แกงเลียง ฯลฯ ไปเป็นอาหารที่มีเนื้อสัตว์และไขมันสูง

ไขมันคงเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ระบบฮอร์โมนของร่างกายเปลี่ยนจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าปรกติ เนื่องจากอาหารเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงนั้น จะมีไขมันกลุ่มที่เรียกว่า สเตียรอยด์ นอกจากนี้ไขมันธรรมดา เช่น น้ำมันพืชสามารถถูกร่างกายนำไปสร้างเสตียรอยด์ ซึ่งหลายชนิดเป็นฮอร์โมนเพศได้ ใยอาหารจะมีบทบาทมากในการลดระดับเสตียรอยด์ให้น้อยลง อธิบายโดยอาศัยหลักการเดียวกับที่มีการนำใยอาหารไปใช้ลดโคเลสเตอรอลในคนไข้โรคอ้วน

สมมุติฐานกล่าวว่า ใยอาหารในลำไส้ใหญ่สามารถจับตัวกับน้ำดีซึ่งมีองค์ประกอบเป็น เกลือน้ำดีที่ถูกสร้างมาจากโคเลสเตอรอล ดังนั้นถ้าการดูดซึมน้ำดีที่ผนังลำไส้ใหญ่เพื่อกลับไปใช้อีกลดลง เพราะถูกใยอาหารจับออกไปกับอุจจาระแล้ว การสร้างเกลือน้ำดีจะต้องเพิ่มขึ้นที่ตับ ซึ่งทำให้โอกาสที่ร่างกายเด็กหญิงวัย 10-11 ปี จะเอาไขมันไปสร้างเสตียรอยด์ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิงน้อยลง ส่งผลให้เด็กที่มีฮอร์โมนเพศหญิงช้าสามารถสูงได้มากกว่าเด็กที่ฮอร์โมนเพศหญิงออกมาเร็ว

ถ้าสมมุติฐานที่เกี่ยวกับว่าใยอาหารมีผลกับความสูงของเด็กหญิงเป็นจริงแล้ว การให้เด็กกินผักผลไม้ให้มากขึ้นกว่าเดิม และพยายามไม่ให้กินอาหารแบบตะวันตกโดยไม่จำเป็น จะส่งเสริมให้เด็กไทยสูงขึ้นกว่าเดิม เป็นการแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการกินเป็นสิ่งสำคัญที่อาจเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของคนก็ว่าได้ เพราะจากหลักฐานทางระบาดวิทยาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับมะเร็งค่อนข้างมั่นใจว่า การบริโภคอาหารของชาวเอเชียแบบโบราณ ลดอัตราความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นการกินแบบอินเดีย จีน ญี่ปุ่น หรือไทย

นอกจากนี้ความรู้ทางระบาดวิทยาได้อธิบายว่า ปริมาณใยอาหารที่คนต่างเชื้อชาติกิน เป็นตัวกำหนดอัตราการเป็นมะเร็งในลำไส้ใหญ่ จากการศึกษาในกลุ่มชนชาวตะวันตกพบว่า ได้รับใยอาหารในสัดส่วนต่ำกว่าชาวเอเชียหรือชาวอัฟริกา ทั้งนี้ เพราะอาหารคาร์โบไฮเดรตของชาวตะวันตกเป็นขนมปังจากข้าวสาลี ซึ่งในกระบวนการผลิตแป้งสาลีนั้นทำโดยการป่นเมล็ดข้าวสาลี ทำให้ใยอาหารถูกทำลายไป ต่างกับคนเอเชียที่กินข้าวเป็นเมล็ด ซึ่งใยอาหารยังอยู่ในสภาพเดิม และถ้าสังเกตุให้ดีจะพบว่าชาวตะวันตกรับประทานอาหารผักและผลไม้ในสัดส่วนที่ต่ำ ในขณะที่โปรตีนและไขมันในอาหารสูงกว่าชาวเอเชีย ทำให้โอกาสที่ความเข้มข้นของโคเลสเตอรอลในเลือดสูงจึงมีมาก และส่งผลให้มีการขับน้ำดีออกสู่ลำไส้มากขึ้นเพราะอาหารมีไขมันสูง

สารพิษจากการปรุงอาหาร

การที่ชาวเอเชียมีอัตราการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าชาวตะวันตกนั้น มีข้อสันนิฐานว่า เนื่องมาจากองค์ประกอบของอาหารที่มักปิ้งย่าง รมควัน หรือหมักดอง อาหารมีรสเค็มจัด อาหารเหล่านี้บางประเภท เช่น อาหารปิ้งย่างหรือรมควันเป็นอาหารที่มีสารพิษกลุ่มที่เรียกว่า โพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons) ซึ่งเรียกย่อๆ ว่า พีเอเอช (PAH) เกิดขึ้นในควันดำที่รมอาหาร สารเคมีกลุ่มนี้เกิดระหว่างการปรุงอาหารและมีสมาชิกแตกหน่อขึ้นมากมายหลายชนิด โดยมีข้อมูลจากการศึกษาในห้องทดลองพบว่าบางชนิดเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ในสัตว์ทดลอง

สำหรับอาหารหมักดองหลายชนิดอาจมีสารก่อมะเร็ง กลุ่มที่เรียกว่า สารประกอบไนโตรโซ ซึ่งมีสมาชิกของสารประกอบดังกล่าวบางตัวก่อมะเร็งได้ในกระเพาะอาหาร และที่น่าห่วงก็คือ สารประกอบไนโตรโซ นั้นสามารถเกิดได้ในกระเพาะอาหารของคนถ้าในอาหารใส่ดินประสิว

ดินประสิวมีสองชนิดและมีชื่อเรียกทางเคมีว่า เกลือไนเตรตและเกลือไนไตรต์ สารเคมีทั้งสองชนิดนี้นิยมใส่ลงในอาหารเนื้อหมัก เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน เพื่อยับยั้งการเกิดพิษในอาหารเนื้อหมักเนื่องจากแบคทีเรียที่เรียกว่า คลอสทริเดียมบอททูลินัม (Clostridium botulinum) เกลือไนไตรต์ทำงานได้ดีกว่าเกลือไนเตรตปัญหาสำคัญของเกลือไนไตรต์คือ สามารถรวมตัวกับองค์ประกอบในอาหารหลายชนิด ได้เป็นสารพิษที่สามารถทำให้เซลล์เกิดก่อกลายพันธุ์ ซึ่งการก่อกลายพันธุ์นั้น มักจะเป็นลำดับขั้นต้นของการก่อมะเร็ง

ความเค็มจัดและเผ็ดจัดนั้น เข้าใจว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผิวของกระเพาะอาหารนั้นโดยปรกติมีความคงทนมากเพราะมีเมือกเคลือบอยู่ ในกรณีที่เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร บริเวณที่เป็นจะมีความอ่อนแอ จึงอาจไวต่อการเกิดมะเร็ง เนื่องจากสารพิษที่เกิดจากการรวมตัวของไนไตรตกับองค์ประกอบของอาหารที่กล่าวแล้วข้างต้นได้


แหล่งข้อมูล : ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร - กระทรวงสาธารณสุข
[ ... ]

พืช ผัก ผลไม้ เมนูพิชิตมะเร็ง

พืช ผัก ผลไม้ ที่เราไม่ค่อยชอบกินกัน ความจริงพืชธรรมชาติเหล่านี้ โรคมะเร็งไม่อยากถามหาเลยและยังกลัวสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ ดังนั้น หากคนเรากินพืช ผัก ผลไม้ อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ ร่างกายจะมีเกราะป้องกันมะเร็งได้อย่างดี ในผัก ผลไม้ มีอะไรดีที่พิชิตมะเร็งได้

เส้นใยอาหาร โดยทั่วไป หมายถึงสารจากพืชที่ไม่ย่อยสลายด้วยเอนไซม์ในทางเดินอาหารของคน การกินอาหารที่มีเส้นใยสูงมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และอาจลดความเสี่ยงของมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งเต้านม ช่องปาก กระเพาะอาหาร และทวารหนัก เป็นต้น

สารเม็ดสีในพืช มีคุณสมบัติต้านมะเร็งหลายชนิด เช่น ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

• คลอโรฟิลล์ : สารสีเขียว พบในพืชใบเขียวทั่วไป เช่น คะน้า ผักโขม ตำลึง และสาหร่าย เป็นต้น
• สารคาโรทีนอยด์ : สารสีส้ม-เหลือง และแดง-ส้ม มีหลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน ลูทีน ไลโคปิน เป็นต้น พบในแครอท ฟักทอง มะเขือเทศ และผักใบเขียวอื่นๆ
• สารแอนโทไชยานิติน : สารสีน้ำเงิน ม่วง แดง พบในหัวบีทเบอร์รี่ เชอร์รี่ องุ่นม่วงและแดง กะหล่ำม่วง เป็นต้น


ผักตระกูลกะหล่ำ มีหลากชนิด เช่น บรอคโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หัวผักกาด มีสาระสำคัญหลายชนิด เช่น suiforaphane และสาร isothiocyanate ซึ่งช่วยขับพิษสารเคมี สาร indole สามารถจับสารก่อมะเร็ง ขับสารเคมีและรักษาสมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน สาร giucosinolate ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันและยับยั้งการเจริญของเนื้องอก เป็นต้น

ส้ม – มะนาว นอกจากมีวิตามินซีแล้ว ยังประกอบไปด้วยสารอื่นๆ อีก เช่น สาร flavonoids ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง สาร limonoids ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการขับพิษ ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก สาร limonenes มีคุณสมบัติกระตุ้นการขับพิษ สาร carotenoids มีคุณสมบัติยับยั้งอนุมูลอิสระ สาร terpenes ลดการสร้างคลอเรสเตอรอล และส่งเสริมเอนไซม์ที่ยับยั้งสารก่อมะเร็ง

หอม – กระเทียม มีสารป้องกันมะเร็งหลายชนิด เช่น สาร diallyt disulfide และ diallyt trisulfide พบในน้ำมันกระเทียม สาร S-allyicystein พบในกระเทียมทุบ สารเหล่านี้มีกลไกการทำงานหลายอย่าง เช่น กระตุ้นการขับพิษ ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง เพิ่มภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

เห็ดและสาหรายทะเล สาร tentinan ในเห็ดหอมและเห็ดหลินจือ และสาร polysaccharide ในเห็ด Mitake สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลอง

ในสาหร่ายทะเลมีสาร mucin ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายเส้นใยอาหาร จะดูดซับน้ำและสารพิษ นอกจากนี้ยังพบสาร mucopolysaccharide ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย

เครื่องเทศ พบสารต้านมะเร็ง เช่น พริกไทย ขิง ขมิ้น rosemary และอื่นๆ สารเหล่านี้มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านอนุมูลอิสระ

ผัก - ผลไม้อื่นๆ

• สับปะรด : มีสาร bromelain ต้านมะเร็งในสัตว์ทดลอง ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
• ทับทิม แอปเปิล องุ่น และสตรอเบอร์รี่ : มีสาร Ellagic acid ที่สามารถจับและทำลายพิษของสารก่อมะเร็ง
• แอสปารากัส อะโวกาโด บรอคโคลี แตงโม : มีสาร glutathione เป็นสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และขับพิษสารเคมี
• ผักชีฝรั่ง : มีสาร polyacetylenes สามารถยับยั้งการสร้างสารส่งเสริมมะเร็งได้


แหล่งข้อมูล : หนังสือ - แม่ไม่รู้หนูเป็นมะเร็ง
[ ... ]

กินเป็น อยู่เป็น ไม่เป็นมะเร็ง

ในทางวิชาการนั้น หากกินเป็นอยู่เป็นจะสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ 30 -40% ทั้งยังสามารถป้องกันโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคกระดูกพรุน

1. ไม่สูบบุหรี่
• ผู้สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน นาน 10 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคมะเร็งปอด 8 -10 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
• 80% ของโรคมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่
• สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ถ้าหยุดสูบสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ถึง 60 – 70%
• การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ และโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง

2. ไม่ดื่มสุรา หรือดื่มสุราแค่พอควร ถ้ามีความจำเป็น
• ดื่มไม่ควรเกินปริมาณของ Ethanol 20 กรัม/วัน หรือประมาณวันละ 1 แก้ว
• ผู้ที่ดื่มสุรามากกว่า 60 กรัมของ Ethanol ต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเป็น 9 เท่าของผู้ไม่ดื่ม
• แต่ถ้าดื่มสุรามากกว่า 60 กรัมของ Ethanol และเป็นผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวันด้วย จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเป็น 50 เท่า
3. พฤติกรรมการกิน
• กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมกับวัย โดยกินอาหารให้หลากหลาย อย่ากินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นประจำ เพื่อให้ได้สารอาหารต่างๆ ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ และหลีกเลี่ยงการสะสมสารพิษอาหาร

- อาหารหมู่ที่ 1 : เนื้อสัตว์ ไข่ นม และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
- อาหารหมู่ที่ 2 : ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน
- อาหารหมู่ที่ 3 : ผักต่างๆ
- อาหารหมู่ที่ 4 : ผลไม้ต่างๆ
- อาหารหมู่ที่ 5 : ไขมันจากสัตว์และพืช


• เลือกกินอาหารที่ประกอบด้วยธัญพืช เช่น เมล็ดถั่วต่างๆ งา ข้าวโพด ข้าวกล้อง มันฝรั่ง มันเทศ

• กินพืชผัก ผลไม้สดให้มากเป็นประจำตามฤดูกาล กินผัก-ผลไม้สดวันละ 500 กรัม เป็นประจำหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารที่กิน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ 20% หรือมากกว่า



ในผัก ผลไม้ มีเส้นใยอาหาร เกลือแร่ วิตามิน และสารหลายชนิด (bioactive compounds) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งขบวนการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถป้องกันโรคมะเร็งและเพิ่มภูมิต้านทานโรค

• กินอาหารที่มีไขมันต่ำ : ในผู้ใหญ่ผู้ชายควรได้พลังงานวันละ 2,000 แคลอรี ผู้หญิง 1,600 แคลอรี และรับไขมันไม่เกิน 25 – 30% ของปริมาณพลังงานทั้งหมดต่อวัน

• กินอาหารที่เค็มน้อยและหวานน้อย กินเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือ 6 กรัม ในอาหารทั้งหมดของแต่ละวัน ควรกินน้ำตาลไม่เกิน 3 ช้อนโต๊ะต่อวัน

• อาหารหลายชนิดมีสารก่อมะเร็ง ควรกินให้น้อยลง อาหารเนื้อสัตว์ ปิ้ง ย่าง รมควัน ควรห่อด้วยกระดาษอลูมิเนียมจะช่วยลดสารก่อมะเร็ง ไม่กินส่วนที่ไหม้เกรียม ควรใช้วิธีต้ม นึ่ง อบ หรือใช้ไมโครเวฟ

• อาหารหมักดองเค็มและเนื้อสัตว์เค็มตากแห้ง ที่ใส่ดินประสิว (โปแตสเซียมไนเตรท) สารไนไตรท์ สามารถเปลี่ยนเป็นสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายได้ จึงควรกินอาหารเหล่านี้ให้น้อยลง วิตามินซี สามารถป้องกันการเกิดสารไนโตรซามีนในร่างกายได้ จึงควรกินผักสดร่วมกันอาหารประเภทนี้

• อาหารที่มีเชื้อราขึ้น อาจมีสารพิษ Aflatoxin ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ

• ผักชีฝรั่ง มีสาร polyacetylenes สามารถยับยั้งการสร้างสารส่งเสริมมะเร็งได้ ในท้องถิ่นที่มีการระบาดของพยาธิใบไม้ตับ ไม่กินปลาดิบๆสุกๆ (ลาบก้อย ก้อยปลา) ที่ทำมาจากปลาในตระกูลปลาตะเพียน หรือปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด ถ้ากินเนื้อสัตว์ สีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ในปริมาณที่มากเป็นเวลานาน จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ไม่ควรกินเกิน 80 กรัมต่อวัน

• ดื่มน้ำวันละ 8 – 10 แก้ว


4. หลีกการเผาไหม้ : หลีกเลี่ยงการสูดควันจากการเผาไหม้ของน้ำมัน ถ่านหิน ถ่านไม้ หรือจากการทำอาหาร
5. ออกกำลังกาย
6. ไม่อ้วน ไม่ผอม
7. ทำจิตใจให้สบาย


แหล่งข้อมูล : หนังสือ - แม่ไม่รู้หนูเป็นมะเร็ง
[ ... ]

การรักษา มะเร็งเต้านม

การรักษาโรคมะเร็งเต้านม อย่างจริงจังได้เริ่มขึ้น เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยการผ่าตัดเต้านม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ และกล้ามเนื้อหน้าอกออกจนหมด ได้ผลดี แต่หน้าอกด้านที่ถูกผ่าตัด จะแบนราบเห็นรอยกระดูกซี่โครงชัดเจน ต่อมาความรู้ความเข้าใจ เรื่องโรคมะเร็งเต้านมของสตรีดีขึ้น ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เร็วขึ้น จึงได้มีวิวัฒนาการผ่าตัด เอาเฉพาะเต้านม และต่อมน้ำเหลืองออก แต่เหลือกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกเอาไว้ ผลการผ่าตัด จะไม่เห็นรอยซี่โครง และโอกาสจะมาเสริมแต่งหน้าอก และใส่เต้านมเทียมมากขึ้น

วิวัฒนาการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ไม่เพียงแต่ทางศัลยกรรมเท่านั้น ยังมีการใช้เคมีบำบัด และรังสีบำบัดมาร่วมในการรักษา ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด ทำให้เปอร์เซ็นต์การอยู่รอด ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมดีขึ้น

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีการนำเอาวิธีการรักษา มะเร็งเต้านม โดยไม่ตัดเอาเต้านมออกหมด มาใช้ร่วมกับการฉายรังสี และเคมีบำบัด ใช้เฉพาะมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม ได้ผลและปลอดภัย ใกล้เคียงกับการรักษา โดยการตัดออกทั้งหมด

ทั้งหมดที่ได้กล่าว จะเห็นได้ว่า การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน และอนาคต มีการหันเหไปใช้วิธีการเก็บเต้านมไว้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้กระทำได้ เนื่องจากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องโรคมะเร็งเต้านมดีขึ้น มีการตื่นตัวที่จะตรวจตัวเอง และให้แพทย์ตรวจ เพื่อค้นหามะเร็งเต้านม ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นับเป็นโอกาสทองของชีวิต ที่จะรักษาตัวเองให้หายจาก มะเร็งเต้านม และไม่ต้องสูญเสียเต้านมอีกด้วย
[ ... ]

ควรเริ่มตรวจเต้านมเมื่อใด ?

สมาคมมะเร็งวิทยาในประเทศอเมริกาแนะนำว่า

• อายุระหว่าง 20-39 ปี ควรมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ในช่วง 1 สัปดาห์ หลังจากหมดประจำเดือนในแต่ละเดือน
• อายุระหว่าง 20-39 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุกๆ 3 ปี หรือทุกปีหากต้องมีการตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap smear)
• อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมและตรวจแมมโมแกรม เป็นประจำทุกปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์ สำหรับผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจ แมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 35 ปี

ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างไร ?

ถ้าคุณมีประจำเดือนมาเป็นปกติทุกเดือน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองหลังจากหมดประจำเดือนในแต่ละเดือน ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าอยู่ในวัยหมดประจำเดือน ให้ตรวจในวันแรกของทุกเดือน ส่วนผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ให้ตรวจในวันแรกที่เริ่มรับประทานยาแผงใหม่

การตรวจเต้านมควรทำระหว่างอาบน้ำในตอนเช้า เพราะก้อนเนื้อจะถูกตรวจพบได้ง่ายหากมือและเต้านมยังเปียกอยู่ โดยใช้ฝ่ามือ 3 นิ้ว (ไม่ใช่ปลายนิ้ว) ของนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง คลำขึ้นลงหรือเป็น วงกลม ให้ทั่วทั้งเต้านม รักแร้ และตรวจหัวนมว่ามีของเหลวไหลออกมาหรือไม่

จากนั้นให้ตรวจเต้านมขณะยืนหรือนั่งหน้ากระจก ตรวจทั้งในขณะที่ยกแขนขึ้นและแนบข้างลำตัว มองดูการเปลี่ยนแปลงในขนาดและรูปร่าง ดูรอยบุ๋มและความผิดปกติของหัวนม ต่อจากนั้นให้ตรวจ เต้านมขณะที่นอนหงายกับพื้น วางหมอนใบเล็กๆ หรือผ้าเช็ดตัว หนุนไหล่ข้างที่จะตรวจ ใช้มือขวาตรวจเต้านมข้างซ้าย และใช้มือซ้ายตรวจเต้านมข้างขวา ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที หาก มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเองควรปรึกษาแพทย์

สัญญาณ-อาการก่อนที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ?

ในระยะก่อนเป็นมะเร็งเต้านมนั้นจะไม่มีสัญญาณหรืออาการเตือนใดๆ เลย ดังนั้นการตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยในช่วงที่เซลล์มะเร็งเติบโตจะทำให้มีอาการซึ่งควรรีบพบแพทย์ดังนี้ - มีก้อนเนื้อที่เต้านมหรือใต้วงแขน

• ขนาดและรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป
• หัวนมมีของเหลวไหลออกมาหรือมีรูปร่างผิดปกติ
• มีผื่นแดงหรือตกสะเก็ดของผิวหนังหรือหัวนม
• มีรอยขรุขระหรือรอยบุ๋มของผิวหนังเต้านม (คล้ายเปลือกส้ม)

การวินิจฉัยและกำหนดระยะของมะเร็งเต้านม

เมื่อมีการตรวจพบก้อนเนื้อ อาจมีความจำเป็นต้องตรวจ แมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์เต้านมหลายครั้ง โดยการตรวจอัลตราซาวด์เหมาะสำหรับการตรวจดูบริเวณพังผืด และในวัยรุ่นที่เนื้อเยื่อยัง หนาอยู่ อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (biopsy) ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกธรรมดา
มะเร็งเต้านมจะถูกแบ่งเป็นระยะตามการแพร่กระจายของ เซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะข้างเคียงและอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะพวกต่อมน้ำเหลืองต่างๆ ซึ่งระยะของโรค จะช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม
[ ... ]

คุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมไหม ?

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมต่อไปนี้สามารถแก้ไขได้ เช่น

• ใช้ฮอร์โมนทดแทนในการรักษาภายหลังวัยหมดประจำเดือน
• ใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน (OCPs) เป็นระยะเวลานาน
• ไม่เคยให้นมบุตร
• ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2-5 แก้วต่อวัน
• มีน้ำหนักตัวมากเกินไป (โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน)
• ขาดการออกกำลังกาย
• รับประทานอาหารพวกไขมันมากเกินไป

การใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือยาคุมกำเนิดแบบ รับประทานอาจมีความจำเป็นแม้ว่าจะมีความเสี่ยง แต่ ความสัมพันธ์ระหว่างยาคุมกำเนิดแบบรับประทานกับมะเร็งเต้านมยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ว่ามีทางเลือกอื่นๆ บ้างหรือไม่

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่

• เป็นผู้หญิง
• อายุ (ความเสี่ยงมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น)
• มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
• หมดประจำเดือนหลังอายุ 50 ปี
• การที่ไม่เคยมีบุตร
• มีบุตรภายหลังอายุ 30 ปี
• มีแม่ พี่น้อง หรือลูกสาวเคยเป็นมะเร็งเต้านม
• เคยตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม หรือเต้านมมี การเปลี่ยนแปลงอยู่ในภาวะก่อนเป็นมะเร็งเต้านม
• มีความผิดปกติของยีนส์ที่ได้รับ การถ่ายทอดพันธุกรรมมาจากพ่อแม่
• เคยมีประวัติเป็นมะเร็งมดลูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่ (รวมถึงประวัติในครอบครัวเคยมีคนเป็นด้วย)

การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ และเมื่อพบความผิดปกติใดๆ ควรรีบไปรับการตรวจเบื้องต้น หรือตรวจร่างกายกับแพทย์เป็นระยะ ในช่วงที่เหมาะสมกับวัยและประวัติความเสี่ยง จะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก


แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday
[ ... ]

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม...ตรวจตรา รู้เร็ว รีบรักษา มีโอกาสหาย

คุณผู้หญิงที่ไปรับการตรวจมะเร็งเต้านม บางคนอาจจะพบว่ามีก้อนเนื้อในเต้านม คุณอย่าเพิ่งกังวลใจมากไปจนกว่าจะทราบผลชิ้นเนื้อนั้น เพราะคุณอาจจะไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป เพราะส่วนใหญ่พบว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตามการจะแน่ใจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ต้องตรวจสอบด้วยวิธีเฉพาะเท่านั้นได้แก่ การตรวจด้วยวิธี Imaging method แบบนี้สามารถให้ผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรืออีกวิธีหนึ่งคือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ( tissue-biopsy) ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์

หลายทศวรรษที่ผ่านมาบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามที่จะไขปริศนาเกี่ยวกับกลไกการเกิดของโรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยทำให้สามารถพบวิธีการตรวจและรักษามะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มได้ ซึ่งมะเร็งเต้านมในระยะแรกนั้นหากวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องก็จะสามารถควบคุมหรือรักษาได้ และผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกตินาน 10-15 ปี แต่ก็น่าเสียดายที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยาใดๆ ที่สามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้ แม้ว่าเราจะทราบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ คุณผู้หญิงทั้งหลายจึงควรดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมาก ที่สุดในผู้หญิง ในยุโรปผู้หญิง 16 คน เป็นมะเร็งเต้านม 1 คน ส่วนในประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น โดยสถิติสาธารณสุขปี 2545 ระบุว่ามีสาเหตุการตายจากโรคมะเร็ง เป็นอันดับ 4

ลักษณะของเต้านมปกติ

เต้านมเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยต่อมและเนื้อเยื่อไขมันมากมายระหว่างชั้นของผิวหนังและผนังช่องอก ซึ่งเนื้อเยื่อไขมันนี่เองที่เป็นตัวกำหนดขนาดและรูปร่างของทรวงอก เมื่อคุณมีลูก ต่อมดังกล่าวจะผลิตน้ำนมส่งผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม ดังนั้นช่วงที่ให้นมลูก ต่อมน้ำนมและท่อต่างๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น

เต้านมยังประกอบด้วยเส้นเลือดและน้ำเหลือง โดยน้ำเหลืองจะนำของเสียที่เต้านมขับออกไปยังเนื้อเยื่อขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วที่เรียกว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซึ่งต่อมน้ำเหลืองจะทำหน้าที่กรองและทำความสะอาดน้ำเหลือง

มะเร็งเต้านมนั้นเป็นอย่างไร ?

มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ของเต้านมมีการแบ่งตัวโดยไม่สามารถควบคุมได้ มีการเบียดบังเนื้อเยื่อข้างเคียงและแพร่ขยายไปทั่วร่างกาย โดยเซลล์มะเร็ง จะเพิ่มจำนวนและแบ่งตัวได้ด้วยตนเอง มันจะแย่งสารอาหารจากเซลล์ปกติ และเข้าไปแทนที่เซลล์ปกติของเต้านม หากปล่อยไว้เซลล์ปกติเหล่านี้จะไม่สามารถเติบโตได้ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งการตรวจแมมโมแกรม ( การเอกซเรย์เต้านม) บางครั้งอาจช่วยทำให้ตรวจพบโรคก่อนที่จะรู้สึกหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงได้

ว่าด้วยเรื่อง ก้อนที่เต้านม

เต้านม เป็นอวัยวะสำคัญที่บ่งบอกถึง ความเป็นสัตว์โลกที่เลี้ยงลูกด้วยนม สำหรับมนุษย์ถือว่า เต้านมเป็นสัญลักษณ์ ทางเพศที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเพศหญิง ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยแก่ ถ้าปราศจากอวัยวะนี้แล้ว คงจะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย อย่างน้อยที่สุด ความเป็นผู้หญิงคงจะด้อยลงไป ดังนั้น หามีโรคภัยไข้เจ็บ ที่เกี่ยวกับเต้านม และทำให้ผุ้หญิงต้องสูญเสีย ของสงวนสิ่งนี้แล้ว คงจะสร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ผู้ชายเวลานมแตกพาน บางครั้ง ยังอับอายเพื่อนฝูง จนต้องขอให้แพทย์ช่วยผ่าตัดให้

เต้านม ยังทำหน้าที่สำคัญ ในการสืบทอดความเป็นสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ ตามขั้นตอนของการสืบพันธุ์ สำหรับสตรีเลี้ยงลูกด้วยนมนั้น เต้านมต้องทำหน้าที่ ผลิตน้ำนมเพื่อเลี้ยงทารก

การเปลี่ยนแปลงของเต้านม

เมื่อเติบโตเข้าระยะวัยรุ่น เต้านมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของหัวนม รวมทั้งท่อน้ำนมต่างๆ พร้อมกับกระตุ้น ให้มีไขมันแทรกระหว่างท่อน้ำนม ฮอร์โมนอีกชนิดคือ โปรเจนเตอโรน ซึ่งร่างกายจะผลิตออกมาทุกเดือนตามรอบเดือน คอยกระตุ้นปลายท่อน้ำนมให้ขยาย เป็นที่อยู่ของต่อมน้ำนม ทำหน้าที่ผลิตน้ำนม ดังนั้น เวลาประจำเดือนใกล้จะมา ผู้หญิงจะรู้สึกว่าเต้านมโตขึ้น และตึงคัด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ ที่ร่างกายตอบสนอง ต่อฮอร์โมนโปรเจนเตอโรน ที่หลั่งออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว ย่อมหมายความว่า วงจรของชีวิตแห่งความเป็นเพศหญิง กำลังดำเนินไปอย่างปกติ

เต้านมที่เติบโตเต็มที่ จะมีรูปร่างเกือบจะเป็นครึ่งทรงกลม มีส่วนปลายยื่นเข้าไปบริเวณรักแร้ หัวนมจะเชิดขึ้นเล็กน้อย เป็นที่เปิดของท่อน้ำนม หัวนมจะล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อสีชมพู เรียก ฐานหัวนม (AREOLA) เต้าที่นมแต่ละข้าง มีเส้นประสาทและเนื้อเยื้อพังผืด ประกอบจนเป็นรูปร่าง ที่มีความเต่งตึงในยามสัมผัส หัวนมจะมีเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยง เพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงลูกด้วยนม

เต้านมของผู้หญิง วางอยู่บนแผงหน้าอกด้านหน้า มีขอบเขตตั้งแต่ กระดูกซี่โครงที่ 2-6 จากบนลงล่าง และตั้งแต่กระดูกหน้าอก ไปจนถึงด้านข้างของทรวงอก เต้านมของผู้ชาย จะไม่เจริญเท่าผู้หญิง นอกจากในช่วงแตกเนื้อหนุ่ม อาจโตขึ้นเล็กน้อย เป็นการชั่วคราวที่เรียกว่า "นมแตกพาน"

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

สำคัญมากสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป ควรสร้างอุปนิสัยในการตรวจเต้านม ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นคลำหาก้อนที่ผิดปกติในเต้านม

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยการคลำอย่างเป็นระบบ ใช้มือขวาในการคลำเต้านมข้างซ้าย และสลับกันคือ ใช้มือซ้ายคลำเต้านมด้านขวา คลำเต้านมโดยใช้ฝ่ามือเพียง 2-3 นิ้ว สัมผัสด้วยการหมุนไปรอบๆ ตามเข็มนาฬิกากดเบาๆ เพื่อให้ผิวหนังอยู่กับที่ เริ่มจากขอบนอกบนสุด หมุนเป็นวงกลมช้าๆ ตามเข็มนาฬิกา จนกลับมาถึงจุดเริ่มต้น ขยับน้ำมือเข้าไปหาหัวนมราว 1 นิ้ว แล้วหมุนรอบซ้ำแบบเดิมอีก จนเข้ามาในสุดถึงหัวนม พยายามใช้ความรู้สึกสัมผัส ของเต้านมปกติว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้จำได้ว่า เวลาเกิดความผิดปกติแล้ว มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ท่านที่มีรูปร่างผอมบาง อาจมีปัญหาว่ากระดูกหน้าอก อาจปรากฎชัดเจน จนคลำดูเหมือนก้อน

โปรดระลึกไว้เสมอว่า แม้ว่าท่านจะตรวจพบก้อนที่เต้านม ด้วยตนเองก็ตาม แต่แพทย์เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ยืนยันว่า ก้อนที่ท่านคลำได้นั้น เป็นก้อนที่ผิดปกติจริงหรือไม่ และเป็นชนิดไม่ร้ายแรง หรือเป็นมะเร็ง ข้อสำคัญ ขอเพียงแต่ให้ท่าน ขยันหมั่นตรวจเต้านม ด้วยตนเองบ่อยๆ เป็นประจำ
[ ... ]

อาการ การวินิจฉัย และการรักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาว - Leukemia

อาการ

1. เลือดจาง ซีด
2. หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย
3. เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนัง เหงือก เป็นจ้ำตามตัว
4. ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบก้อนในท้องเนื่องจากตับ ม้ามโต
5. ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย มีไข้

การวินิจฉัย

เนื่องจากอาการแสดงต่างๆ ที่กล่าวเป็นอาการของโรคอื่นๆ อีกหลายชนิดที่ไม่ใช่ลิวคีเมีย เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวินิจฉัยแยก จากโรคอื่นๆ โดยการตรวจเลือดและการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่นการตรวจไขกระดูก ก่อนที่จะบอกได้แน่นอน โรคนี้เป็นโรคร้ายแรง เมื่อเกิดขึ้นแล้วยากที่จะรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการวินิจฉัย จึงต้องกระทำด้วยความระวัง ควรจะมีหลักฐานเพียงพอก่อน ที่จะให้การวินิจฉัยลงไปอย่างแน่นอนว่า ผู้ป่วยเป็นลิวคีเมียจริง

การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว สามารถทำได้ค่อนข้างง่าย จากการดูลักษณะเม็ดเลือดที่ได้ จากการเจาะเลือดตามปกติ เรียกว่าการตรวจ complete blood count (CBC) ผู้ตรวจที่มีความชำนาญ สามารถให้การวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว จากการดูสไลด์เพียงแผ่นเดียว อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องตรวจเลือดจากไขกระดูกเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนมากขึ้น การเจาะไขกระดูกดังกล่าวทำได้โดย ใช้เข็มฉีดยาขนาดใหญ่ดูดเลือด จากไขกระดูกบริเวณสะโพก หรือบริเวณกลางหน้าอก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรม หรือทางโลหิตวิทยาจะสามารถให้การวินิจฉัยได้

การรักษา

การรักษา โดยทั่วไปจะใช้วิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหลัก นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก และรังสีรักษา เพื่อเสริมการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว การตอบสนองต่อการรักษา ด้วยยาเคมีบำบัด และอายุของผู้ป่วยด้วย ข้อแนะนำสำหรับการป้องกันโรคนี้ คือ การหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับการสัมผัสกับกัมมันตภาพรังสี และสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น ยาฆ่าแมลง สีทาบ้าน ควันพิษต่างๆ และผู้ที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรคที่ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละครั้ง

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแตกต่างกันไปตามชนิดของมะเร็ง และสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน หากเป็นชนิดเรื้อรัง แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดแบบรับประทาน เพื่อให้จำนวนเม็ดเลือดที่ผิดปกติลดลง และขนาดของตับม้ามลดลงในเวลาที่เหมาะสม การให้ยารับประทานอาจมีการปรับขนาดของยาบ้างตามจำนวนเม็ดเลือดขาว แต่จะให้ไปเรื่อยๆ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ถึงแม้จะมีอาการไม่มาก แต่เป็นมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว วิธีที่อาจรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ให้หายขาดและได้ผลดีได้ คือการปลูกถ่ายไขกระดูก

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน มีเป้าหมายคือต้องการให้โรคเข้าสู่ระยะสงบ (remission) ระยะสงบเป็นระยะที่จำนวนของเซลล์มะเร็งลดลง และเซลล์ปกติมีจำนวนและหน้าที่กลับมาปกติ ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะสงบจะอยู่ในระยะนี้ได้ประมาณ 3-9 เดือน หลังจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับเป็นโรคใหม่ (relapse)

การรักษาเพื่อให้เข้าสู่ระยะสงบนั้น รักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) ขนาดค่อนข้างสูง เข้าทางเส้นเลือด หลังจากให้ยา ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง และเม็ดเลือดต่ำลง ทำให้ติดเชื้อง่ายและมีไข้ ระยะนี้เป็นระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อนและอันตรายถึงชีวิตได้ง่าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะและให้เลือดประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้น หากผู้ป่วยไม่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน ก็จะฟื้นตัวเข้าสู่ระยะสงบ ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีอาการปกติเหมือนตอนก่อนจะป่วย แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับเป็นโรคใหม่ จึงต้องให้การรักษาเพื่อที่จะป้องกันการกลับเป็นโรคใหม่ โดยการให้ยาเคมีบำบัดซ้ำในขนาดสูง หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละราย มักจะต้องได้เคมีบำบัดหลายรอบหลายครั้ง โดยทั่วไปประมาณ 3-6 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 2-3 เดือน ในปัจจุบันเราสามารถรักษา ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ให้หายขาดได้ประมาณ 1 ใน 3 ถึง 1 ใน 2 ของผู้ป่วยทั้งหมด การที่ผู้ป่วยแต่ละรายจะหายขาดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุด คือ อายุและสภาพร่างกายของผู้ป่วย และชนิดความผิดปกติทางพันธุกรรมของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ผู้ป่วยเป็น

การรักษาโรคลิวคีเมียทำได้ 2 วิธี คือ

1. การป้องกันไม่ให้เกิดโรค
2. การรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว


การป้องกันไม่ให้เกิดโรค

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงมาก แม้ว่าวิทยาการก้าวหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม เรายังไม่มีวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคลิวคีเมียได้ เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนสาเหตุว่า สาเหตุต่างๆ ที่กล่าวถึงนั้นเป็นเพียงสาเหตุชักจูงเท่านั้น เรายังไม่ทราบว่า ทำไมคนบางคนได้รับสาเหตุชักจูงแล้วเป็นโรคลิวคีเมีย แต่บางคนไม่เป็น

การรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว

การรักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้วนั้น แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ การรักษาตัวโรคลิวคีเมียเอง และการป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อน หรืออาการต่างๆ ที่เป็นผลจากโรคลิวคีเมีย

การรักษาตัวโรคลิวคีเมียเอง การรักษาโรคลิวคีเมียเองนั้น ทำได้โดยการใช้ยาซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าหรือทำลายเซลล์ลิวคีเมีย (และในขณะเดียวกันก็อาจจะทำลายเซลล์ เม็ดเลือดที่ปกติด้วย) ในปัจจุบันนี้ การรักษาโรคลิวคีเมียได้ผลดีขึ้นมาก ทั้งนี้ก็เป็นผลจากยาที่นำมาใช้มีคุณภาพดีขึ้น ลิวคีเมียบางชนิด อาจจะรักษาให้หายขาดได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิวคีเมียในเด็ก สำหรับลิวคีเมียในผู้ใหญ่แม้ว่าการรักษาจะดีขึ้นมาก แต่ก็ยังไกลจากความหวังในเรื่องหายขาด

นอกจากนี้ การรักษามีความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับเลือดเข้าไปชดเชย เพื่อให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงมากพอ ที่จะทำหน้าที่นำออกซิเจน ไปให้อวัยวะต่างๆ ได้

การป้องกันและการรักษาโรคแทรกซ้อน การป้องและรักษาโรคแทรกซ้อนนั้น ก็ทำไปตามอาการของผู้ป่วย เช่น ซีดมากก็ให้เลือดถ้า เกล็ดเลือดต่ำ มีอาการเลือดออก ตามที่ต่างๆ ก็ต้องให้เกล็ดเลือด

ผู้ป่วยพวกนี้มักจะมีอาการติดเชื้อง่ายจาก 2 สาเหตุ คือ

1. เป็นผลจากโรคลิวคีเมียเอง เพราะมีเม็ดเลือดขาวที่ไม่ปกติ ไม่สามารถต่อสู้กับผู้ร้ายได้ เพราะฉะนั้น จึงมีการติดเชื้อบ่อย
2. เป็นผลจากการรักษาด้วยยา ซึ่งสามารถกดไขกระดูกได้ด้วย ดังนั้นเม็ดเลือดขาวอาจจะต่ำกว่าปกติระยะหนึ่ง ทำให้มีการติดเชื้อง่าย

ไม่ว่าจะเป็นผลจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังกล่าว เมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรคเหล่านั้น และเนื่องจากขาดเม็ดเลือดที่ดีๆ ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อ โรคพวกนั้นได้ ก็อาจจะเป็นที่จะต้องให้เม็ดเลือดขาวที่ดีๆ เข้าไปในผู้ป่วยด้วย การหาทั้งเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาว จำเป็นต้องได้เลือดจากผู้บริจาคในวันเดียวกัน เพื่อจะทำการปั่นแยกเอาเฉพาะเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดให้ผู้ป่วย เพราะในเลือดที่บริจาคมาหลายวัน ทั้งเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดหายไป หรือเสื่อมหน้าที่ไปเกือบหมดแล้วทั้งนั้น

ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลิวคีเมียอาจมีผลแทรกซ้อนได้ เช่น ยาที่ทำลายเซลล์ลิวคีเมียโดยตรงอาจจะทำให้ผมร่วง หรือเป็นหมันได้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยส์ อาจทำให้หน้าอ้วน เป็นแผลเป็นในกระเพาะอาหาร หรือกระดูกผุได้ เป็นต้น


แหล่งข้อมูล : www.thailabonline.com
[ ... ]

Thursday, October 2, 2008

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย - Leukemia)

ในร่างกายคนปกติมีเลือดประมาณ 70 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ประมาณ 55-60% ของเลือด เป็นส่วนที่เรียกว่า พลาสมาหรือ น้ำเลือด ที่เหลือเป็นส่วนของเม็ดเลือด ในส่วนที่เป็นเม็ดเลือดยังแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ 3 ชนิด คือ


1.เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

2.เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่คล้ายตำรวจ คอยต่อสู้กับเชื้อโรคซึ่งเปรียบได้กับผู้ร้าย

3.เกล็ดเลือด มีหน้าที่เกี่ยวกับการห้ามเลือดในเวลาที่ร่างกายมีเลือดออก

ในภาวะปกติ เม็ดเลือดทั้ง 3 ชนิด สร้างจากเซลล์ในไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในแกนกลางของกระดูกทั่วไป ในคนปกติจะมีเม็ดเลือดอยู่หลายชนิด เช่นเม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, เกล็ดเลือด เป็นต้น

เม็ดเลือดแต่ละชนิดจะมีอายุขัยในร่างกายคนแตกต่างกันไป เช่นเม็ดเลือดแดงมีอายุ 120 วัน, เม็ดเลือดขาว มีอายุ 2-3 สัปดาห์ เป็นต้น เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็จะถูกปล่อยออกมาจากไขกระดูกเข้าเส้นเลือด ออกไปทำหน้าที่ต่างๆ กัน แล้วแต่ชนิดของเม็ดเลือดนั้นๆ เมื่อครบอายุของเม็ดเลือดนั้นๆ แล้วก็จะถูกทำลายไป ซึ่งส่วนใหญ่การทำลายนี้จะเกิดขึ้นที่ม้าม แล้วก็จะมีเม็ดเลือดที่เกิดมาใหม่มาทำหน้าที่ทดแทนเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ในคนปกติการสร้างและการทำงายเม็ดเลือดนี้ จะอยู่ภายใต้กลไกการควบคุมของร่างกาย เพื่อให้เกิดความสมดุลย์กัน เมื่อใดก็ตามที่กลไกการควบคุมดังกล่าวเสียไป ทำให้การสร้างและการทำงานไม่ได้สมดุลย์กัน ก็จะเกิดเป็นพยาธิสภาพขึ้น ความผิดปกติเกิดขึ้นกับการแบ่งตัวเหล่านี้ เช่นได้รับสารรังสี สารเคมี หรือไวรัสบางชนิด การแบ่งตัวจะผิดปกติไป หากร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวที่ผิดปกติเหล่านี้ไว้ได้ จำนวนเม็ดเลือดที่เกิดผิดปกติก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดภาวะมะเร็งขึ้น

Leukemia ลิวคีเมีย หมายถึงภาวะที่ร่างกายมีการสร้างเม็ดเลือด ชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่าปกติหลายเท่า จนเป็นอันตรายต่อเม็ดเลือดข้างเคียง และอวัยวะอื่นๆ ในความหมายเช่นนี้ ลิวคีเมียก็เปรียบได้กับมะเร็งของเม็ดเลือดนั่นเอง

มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบเลือด ที่เกิดจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวออกมามากในกระแสเลือด เป็นผลให้ระบบการทำงานของเม็ดเลือดเสียไป สาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าปัจจัยทางพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด และการได้รับสารเคมีบางอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลง และสารกัมมันตภาพรังสี สามารถทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดได้

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ เลือดจาง ซีด หน้ามืด เวียนศรีษะ เหนื่อยง่าย เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนัง เหงือกเป็นจ้ำ ตามตัวอาจพบต่อมน้ำเหลืองโต ติดเชื้อง่าย เป็นไข้บ่อยๆ และยังอาจพบก้อนในท้องเนื่องจากตับ ม้ามโต ด้วยลิวคีเมีย เกิดขึ้นเพราะมีการสร้างเม็ดเลือด (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเม็ดเลือดขาว) มากขึ้นกว่าปกติมาก จนไปเบียดเบียนแย่งที่ของเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดทำให้เกิดโรคขึ้น

เมื่อเกิดภาวะมะเร็งเม็ดเลือดขาวขึ้น จะเกิดการรบกวนการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดถูกสร้างได้น้อยลง ผู้ป่วยก็จะมีอาการซีดลง มีจุดจ้ำเลือดขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออกจากเยื่อบุต่างๆ ในร่างกาย อันเป็นผลจากการสร้างเกล็ดเลือดต่ำลง มีไข้ และอาจติดเชื้อรุนแรงเนื่องจากเม็ดเลือดขาวปกติ ซึ่งจะทำหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ มีปริมาณลดลง และเนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นมะเร็งที่เกิดกับเลือด ซึ่งไหลเวียนไปทั่วร่างกาย มะเร็งที่เกิดขึ้นจึงกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็วตั้งแต่แรกเป็น ดังนั้นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงไม่มีการแบ่งระยะของโรค
[ ... ]

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Multiple myeloma)

ในทางการแพทย์แล้ว มะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น มีมากมายหลายชนิดกว่าที่รู้จักกันทั่วไป และมีรายละเอียดของโรคอยู่มาก แต่ในยุคนี้ ยังมีมะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกชนิดที่ควรรู้จักกันครับ เนื่องจากพบมากเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มของมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งหมด ที่พบในคนไทยเลยทีเดียว คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด มัลติเพิล มัยอีโลมา (multiple myeloma) ไม่มีชื่อภาษาไทยให้เรียกครับ คงต้องเรียกกันทับศัพท์ยากๆ อย่างนี้ต่อไป มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหลายอย่าง ที่ไม่เหมือนกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ ที่สำคัญคือยังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้ด้วย

คนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอีโลมานี้ มักจะมีอาการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเลยทีเดียวก็ว่าได้ คือ ปวดหลัง ปวดกระดูก ร่วมกับโลหิตจาง ถ้าเกิดในคนสูงอายุ ต้องระวังให้ดี ตรวจเช็คอย่างละเอียดโดยแพทย์ หากละเลยอาจทำให้โรคเข้าสู่ระยะลุกลามมาก การดูแลรักษาจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้

อาการที่เป็นเอกลักษณ์์

โรคนี้อาจมีอาการแสดงได้หลายอย่าง เช่น มีอาการปวดหลัง ปวดกระดูก เกิดจากกระดูกมีรูพรุนไปหมด เพราะเซลล์มะเร็งปล่อยสารบางชนิดออกมา ทำให้แคลเซียมละลายออกมาจากกระดูก จนเกิดเป็นรูพรุน โดยทั่วไปมักจะเกิดกับกระดูก หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (chronic leukemia) ส่วนที่มีลักษณะแบนๆ เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะ กระดูกเชิงกราน กระดูกขา เป็นต้น ทำให้กระดูกหักง่าย บางคนพลิกตัวนิดเดียว กระดูกซี่โครงก็หักแล้ว บ่อยครั้งที่พบว่า มีอาการเจ็บปวดภายหลังจากไปหาหมอนวดมา เมื่อมาหาหมอจริงเลยส่งไปเอกซเรย์ พบว่ามีกระดูกหัก ตรวจไปตรวจมาพบว่าเป็นโรคนี้ก็มีบ่อยครับจากที่มีการละลายของแคลเซียม ออกมาจากกระดูก จึงทำให้ตรวจได้ว่า มีปริมาณแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะที่ตามมาคือก็คือ มีอาการซึม ไม่โต้ตอบ ท้องผูก ปัสสาวะออกน้อย เป็นต้น

นอกจากนี้คนที่เป็นโรคนี้ จะมีปริมาณโปรตีนในเลือดสูงมากขึ้นผิดปกติด้วย ศัพท์แพทย์เรียกว่า “โกลบูลิน” เมื่อมีโปรตีนในเลือดสูงขึ้น สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ เลือดจะมีความหนืดมากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างจากที่เลือดหนืดมาก เช่น อาการทางสมอง คือมึนงงจากที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดี หรืออาจเกิดเส้นเลือดอุดตันได้ หากเลือดหนืดมากๆ

บางคนอาจไปพบแพทย์ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องไต คือเกิดภาวะไตวายขึ้น เนื่องจากสาเหตุหลักสองประการ คือ โปรตีนที่ผิดปกติที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น ไปมีพิษต่อไต และปริมาณของแคลเซียมที่สูงขึ้นในเลือด ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำร้ายไตเช่นกันบางคนอาจจะมีลิ้นโตคับปาก เนื่องจากการที่มีโปรตีนที่ผิดปกติ ไปสะสมอยู่ที่บริเวณลิ้น ทำให้พูดไม่สะดวก รับประทานอาหารไม่สะดวก บางคนอาจมีจ้ำเลือดสีคล้ำๆ ขึ้นตามตัว แขน ขา เนื่องจากโปรตีนที่ผิดปกติ ไปจับกับสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้

นอกจากนี้ บางคนอาจมาด้วยอาการปวดเมื่อย ตามเนื้อตัวโดยไม่รู้สาเหตุ ไปพบแพทย์มาหลายสาขา ก็หาสาเหตุไม่พบ หรือบางคนมาพบแพทย์แผนกกระดูก เพราะกระดูกหัก จะเห็นว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ เป็นโรคที่แพทย์อาจให้การวินิจฉัยยาก มีอาการทางคลินิกที่หลากหลาย หากตรวจไม่ตรงจุด อาจทำให้การวินิจฉัยโรคล่าช้าได้

รักษาได้ไหม ?

มีหลายวิธีครับ โดยทั่วไปมักจะเริ่มต้น ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อควบคุมโรคให้ได้ก่อน ยาเคมีบำบัดที่ให้ส่วนใหญ่ ผลข้างเคียงไม่มากนัก แต่หากจะให้อาการดีขึ้นไปอีก อาจต้องทำการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งในบางกรณีต้องทำถึงสองครั้งในคนๆ เดียวกัน หากผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามในคนสูงอายุ หรือสภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอ อาจจะให้ยา เพียงเพื่อควบคุมโรคไม่ให้ลุกลาม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ นอกจากนี้ในบางคนหากมีอาการปวดกระดูกมาก หรือมีก้อนของเนื้อร้ายเกิดขึ้น ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกาย ก็อาจต้องใช้การฉายรังสีเข้าช่วยอีกทางหนึ่ง

หลายคนอาจกังวลกับคำว่า “มะเร็ง” และ “ยาเคมีบำบัด” แน่นอนครับต้องยอมรับว่า “ทำใจยาก” แต่ปัจจุบันมียาใหม่ๆ ที่ใช้รักษาโรคนี้ที่ผลข้างเคียงไม่มานัก ผลการรักษาดีพอสมควร ใช้กรณีที่ดื้อต่อยาที่ให้กันโดยทั่วไป เช่น ยาโบติโซมิบ (Botezomib) ทัลลิโดมายด์ (Thalidomide) แต่ยาพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วราคาจะค่อนข้างสูง ใช้แล้วโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจดีขึ้น แต่โรคทรัพย์จางอาจจะตามมาได้ครับ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิล มัยอีโลมานี้อาการเข้าข่ายโรคอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโลหิตจาง โรคข้อกระดูก กระดูกพรุน ฯลฯ ทำให้ไปหาแพทย์เฉพาะทางเหล่านั้น จึงอยากให้ตระหนักว่าหากมีความผิดปกติต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นร่วมกัน ก็จำเป็นที่แพทย์ต้องตรวจอย่างละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุโรคแท้จริง ซึ่งอาจต้องปรึกษาโลหิตแพทย์ร่วมด้วยครับ


ร.ศ.พ.อ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูลผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา





แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday
[ ... ]

มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่สามารถพบได้เร็วกว่ามะเร็งชนิดอื่นเนื่องจากเห็นได้จากภายนอก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ธรรมชาติของมะเร็งผิวหนังจะขยายตัวค่อนข้างช้าอาจนานถึง 5-6 ปี แต่ถ้าไม่รักษาจะมีผลต่ออวัยวะใกล้เคียงไปจนถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มะเร็งผิวหนังจะมีลักษณะอย่างไร

1.ผื่นแอคตินิค เคราโตซิล ( Actinic Keratisis = AKS ) เป็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ โดยมีลักษณะเป็นผื่นขุยๆ มักพบบริเวณหน้า แขน ลำตัว หลังมือ หรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดมาก ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้

2.มะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา ( Basal Cell Carcinoma = BCC ) เป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงน้อย เพราะเกิดบริเวณชั้นตื้นๆ มักเกิดการทำลาย เพราะบริเวณตำแหน่งที่เป็น ถ้าเป็นบริเวณใกล้เคียงอวัยวะที่สำคัญ เช่น ตา จมูก ปาก หู อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะนั้นได้ มะเร็งชนิดนี้มักพบบริเวณ หู จมูก ใบหน้า หน้าอก หลัง ลักษณะที่พบมีหลายแบบ


2.1 เป็นก้อนเนื้อนูนสีเดียวกับผิวหนัง หรือ ชมพูใส มีขอบ อาจมีเลือดออกบ่อยๆ


2.2 ลักษณะคล้ายสิว เป็นๆ หายๆ มักมีเลือดออก


2.3 ลักษณะเป็นก้อนแบนแข็งติดกับผิวหนัง


2.4 ลักษณะเป็นก้อนขุย มีสะเก็ดดำเลือดออก


อาการที่สำคัญ คือ มีการระคายเคืองบริเวณก้อนเนื้อ แผลเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มีเลือดออก

3.มะเร็งสะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา ( Squamous Cell Carcinoma = SCC ) ลักษณะคล้ายกับมะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา การลุกลามมักเร็วกว่ามะเร็งชนิด บาซอลเซลล์ คาร์ชิโนมา มักจะลุกลามลงลึกสู่ด้านล่างของเซลล์ผิวหนัง ถ้าคลำดูผิวหนังด้านล่างมักจะพบว่าเป็นก้อนแข็งๆ

4.มะเร็งแมลิกแนนท์ เมลาโนมา ( Malignant Melanoma ) ลักษณะคล้ายไฝดำ แต่จะกระจายอย่างรวดเร็วสู่อวัยวะภายใจสามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วจัดเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงที่สุดมะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา และมะเร็งชนิดสะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา พบได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 60 - 80 ปี

สาเหตุการเกิด

1.แสงแดดซึ่งมีรังสีอัลตร้าไวโอเล็ท ในช่วงเวลา 10.00 - 15.00 น.

2.การระคายเคืองของสารเคมี เช่น การได้รับสารหนู ยาแผนโบราณ แหล่งน้ำ อาหาร

3.การเป็นแผลเรื้อรังจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการทำลายยีนส์ที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังตามปกติ

4.พันธุกรรม

เราจะป้องกันได้อย่างไร

•หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 - 15.00 น.

•ใช้ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF > 15

•หลีกเลี่ยงภาวะที่เสี่ยงต่อการระคายเคืองของผิวหนัง เช่น การสัมผัสสารเคมีบ่อยๆ หรือ การใช้วัตถุขัดถูผิวหนังอย่างแรงๆ บางชนิด

ท่านทราบไหม ไฝบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง เราจะสังเกตได้อย่างไร

•ใฝที่มีลักษณะขอบไม่เรียบ

•สีไฝไม่สม่ำเสมอ

•ขนาดโตมากกว่า 6 มม.

•เมื่อแบ่งเส้นผ่าศูนย์กลางแล้ว ลักษณะของไฝสองข้างจะไม่เหมือนกัน
มีวิธีการรักษาอย่างไร

•ถ้าเป็นผื่นแอคตินิค เคราโตซิส สามารถใช้การจี้ด้วยความเย็นในการรักษาก็เพียงพอ

•ถ้าลุกลามเป็นมะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา ใช้วิธีการจี้ไฟฟ้า ร่วมกับการขูดผิวหนังหรือการตัดออกและการผ่าตัดพิเศษที่เรียกว่า Moh's Surgery ซึ่งวิธีการใดขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายของผู้ป่วย และลักษณะของเนื้อที่ผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย

•ถ้าเป็นมะเร็ง สะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา ต้องใช้วิธีการ ผ่าตัด Moh's Surgery
หากเกิดแผลเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ มีเลือดออก มีการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน ควรรีบมารับการตรวจจากแพทย์ผิวหนังโดยเร็ว





แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com
[ ... ]

เส้นทางแพร่กระจายของมะเร็งปอด

มะเร็งปอด มักเจริญเติบโตขึ้นมาจากจุดเล็กๆ ในปอด และเนื่องจากปอดเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมากมาย เช่นเดียวกันกับหลอดน้ำเหลืองที่เป็นเส้นทางใช้ระบายน้ำเหลืองจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เราต้องทราบก่อนว่าระบบน้ำเหลืองเป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคแปลกปลอมต่างๆ อันประกอบด้วยหลอดน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลืองซึ่งใช้เป็นที่กักเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ดังนั้นถ้ามีเซลล์มะเร็งหลุดเข้ามาในระบบน้ำเหลือง ก็จะถูกกักเก็บไว้ที่ต่อมน้ำเหลืองก่อน และสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นทำให้ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย เช่น เราอาจพบว่าคนที่เป็นมะเร็งปอดบางคนมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอมีขนาดใหญ่โตขึ้น เป็นต้น


ถ้าเซลล์มะเร็งมีการแพร่เข้าไปในต่อมน้ำเหลืองแล้ว ก็มักจะแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย โดยมักจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ กับขั้วปอดก่อน แล้วค่อยกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณส่วนกลางของทรวงอก คอ และ/หรือช่องท้อง หรือถ้าเซลล์มะเร็งหลุดเข้าไปในกระแสเลือดแล้วมักจะแพร่กระจายไปที่ตับ ปอดอีกข้างหนึ่ง สมอง กระดูก และ/หรือไขกระดูกได้
มะเร็งปอดก็มีการจัดขั้นตอนความรุนแรงไม่ต่างกับมะเร็งชนิดอื่น คือตั้งแต่ระยะเริ่มต้นยังไม่รุนแรง จนถึงระยะสุดท้ายที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จำเป็นต้องรู้ระยะของโรคเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยพิจารณาตามลักษณะของก้อนมะเร็งในปอด ประเมินดูว่าก้อนมะเร็งนั้นจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณปอด หรือกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่
[ ... ]

มาทำความรู้จักกับมะเร็งปอดให้มากขึ้น

เมื่อเอ่ยถึงมะเร็ง แทบทุกคนต่างรู้กิตติศัพท์ความร้ายแรงเป็นอย่างดี ไม่มีใครอยากให้มะเร็งมากเกิดกับตนเองหรือคนใกล้ชิดเป็นแน่ ทางที่ดีที่สุดคือควรเรียนรู้และหาทางป้องกันตัวเองให้ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดซึ่งพบมากในคนไทย โดยพบเป็นอันดับสองในผู้ชาย และเป็นอันดับสี่ในผู้หญิง

มะเร็งปอด คืออะไร
คือ การที่เซลล์ของเนื้อปอดข้างใดข้างหนึ่งเกิดการแบ่งตัวที่มากเกินปกติไม่สามารถควบคุมได้ จึงเติบโตกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายที่ขัดขวางการทำงานตามปกติของปอด และเนื่องจากปอดเป็นอวัยวะใหญ่ที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงมาก จึงเป็นเส้นทางที่เซลล์มะเร็งปอดจะแพร่ไปสู่อวัยวะอื่น เช่น ตับ สมอง หรือกระดูก ทำให้เกิดมะเร็งก้อนใหม่ได้อีก รวมทั้งยังอาจแพร่ไปทางหลอดน้ำเหลือง นำไปสู่การเกิดต่อมน้ำเหลืองโตได้ด้วย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด
มะเร็งปอดไม่ใช่โรคติดต่อ การสัมผัสคนที่เป็นหรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ไม่ได้ทำให้เกิดโรค แต่พบว่ากว่า 85% ของคนที่เป็นมะเร็งปอดมีประัวัติเคยสูบบุหรี่ ขณะที่อีก 1 ใน 6 ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน รวมทั้งสภาพแวดล้อม และกรรมพันธุ์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด

•การสูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากถึง 10 เท่าของผู้ไม่สูบ เพราะในควันบุหรี่มี ทาร์ หรือ น้ำมันดิน เป็นสารก่อมะเร็งตัวสำคัญ ยับไม่นับสารก่อมะเร็งอื่นๆ อีกกว่า 60 ชนิด ยิ่งคนที่สูบมาก สูบนาน ก็มีความเสี่ยงสูง แม้แต่ผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่ของผู้อื่นที่สูบโดยตัวเองไม่ได้เป็นผู้สูบก็จัดว่ามีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

•อายุและเพศ อายุที่มากขึ้นก็เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากขึ้น เนื่องจากเซลล์มีโอกาสผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย หรือการได้รับสารก่อมะเร็งสะสมไว้นาน ทำให้คนสูงอายุมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนหนุ่มสาว และพบว่าผู้หญิงมีความไวต่อสารมะเร็งมากกว่าผู้ชาย

•ฝุ่นแร่แอสเบสตอส หรือใยหิน เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมมากมาย เช่น การก่อสร้างอาคาร ทำผ้าเบรค ฉนวนความร้อน เหมืองแร่ อู่ต่อเรือ สิ่งทอ เป็นต้น พบว่าคนงานที่ต้องสัมผัสฝุ่นแร่ชนิดนี้ หากไม่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าคนทั้วไป 5 เท่า และหากสูบบุหรี่ด้วยจะเสี่ยงมากขึ้นถึง 90 เท่าทีเดียว

•สิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ก๊าซเรดอน ในเหมืองแร่ใต้ดิน สารหนู โครเมียม นิกเกิล ควันพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น คนที่ทำงานท่ามกลางสิ่งเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป

•ความผิดปกติของพันธุกรรมและการกำเนิด ในบางคนอาจมียีนที่ทำหน้าที่ต้านสารก่อมะเร็งทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่กำเนิด หรือคนที่มีประวัติคนในครอบครัวสายตรง คือ พ่อแม่ พี่น้อง เป็นมะเร็งปอดก็มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นตาม ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มนี้พบว่า เป็นมะเร็งในอายุน้อยกว่า 40 ปี และเป็นมะเร็งได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ หรือทำงานในพื้นที่ที่มีฝุุ่นละอองก็ตาม





แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday
[ ... ]

มะเร็งปอด


มะเร็งปอด
มะเร็งปอด เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งของหลอดลมและปอด แต่เป็นชนิดที่ร้ายแรง เริ่มแรกมะเร็งปอดจะเป็นก้อนขนาดเล็ก หากปล่อยไว้ก้อนจะโตขึ้นลุกลามเข้าแทนที่เนื้อปอดปกติ และกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ สมอง กระดูก เป็นต้น

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

1.บุหรี่ จากการศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกยืนยันว่า มะเร็งปอดเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสูบบุหรี่ ทั้งผู้สูบเอง และผู้ได้รับควันบุหรี่

•การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอด

•ผู้สูบบุหรี่โดยเฉลี่ยมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ 12 เท่า

•ผู้ที่สูบบุหรี่นานไม่เกิน 20 ปี จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 9 เท่า

•ผู้ที่สูบบุหรี่นานระหว่าง 21-40 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 30 เท่า

•ผู้ที่สูบบุหรี่นานระหว่าง 41-60 ปี มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ถึง 47 เท่า

•ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดร้อยละ 80 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี

•ผู้ที่ต้องดูดควันบุหรี่ของคนอื่น เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งด้วย

ประโยชน์ของการหยุดบุหรี่

•ถ้าผู้สูบบุหรี่ สามารถหยุดบุหรี่ได้ทัน ก่อนที่ปอดจะได้รับความเสียหายอย่างถาวร โอกาสของการเกิดโรคมะเร็งปอดจะลดลงทันที

•ผู้สูบบุหรี่ สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้นาน 10-15 ปี จะลดอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้ครึ่งหนึ่ง

•สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปอดแล้ว การเลิกสูบบุหรี่จะทำให้อาการดีขึ้น และอยู่ได้นานขึ้นกว่าผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป

2.แอสเบสตอส (Asbestos = สารใยหิน)

เป็นแร่ธาตุที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ครัช ฉนวนความร้อน อุตสาหกรรมสิ่งทอเหมืองแร่

•ผู้ที่เสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้แอสเบสตอส เป็นส่วนประกอบ

•ระยะเวลาที่สัมผัสฝุ่นแอสเบสตอสจนเป็นมะเร็งปอด อาจใช้เวลา 15-35 ปี

•ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ทำงานกับฝุ่นแร่แอสเบสตอส เสี่ยงต่อมะเร็งปอด มากกว่าคนทั่วไป 5 เท่า

3.เรดอน เป็นก๊าซกัมมันรังสีไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนี่ยมในหินและดิน กระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินในที่ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในเหมืองใต้ดิน อาจมีปริมาณมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

4.มลภาวะในอากาศ ได้แก่ ควันพิษจากรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
อาการ : ระยะแรกของโรค จะไม่มีอาการใดๆ บ่งชี้อย่างแน่ชัด เมื่อโรคลุกลามมากแล้วอาการที่อาจพบ ได้แก่

•ไอเรื้อรัง \ ไอเป็นเลือด

•หอบเหนื่อย \ เจ็บแน่นหน้าอก

•น้ำหนักลดรวดเร็ว \ เบื่ออาหาร

•กลืนอาหารลำบาก

•เสียงแหบ

•มีก้อนที่คอ (มะเร็งกระจายมาตามต่อมน้ำเหลืองที่คอ)

•ปวดกระดูกซี่โครง ไหปลาร้า ปวดกระดูกสันหลัง (มะเร็งกระจายมากระดูก)

•แขน ขา อ่อนแรง (มะเร็งกระจายไปสมอง)

•ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้

โดยอาการดังกล่าวมักเป็นอาการร่วมของโรคต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป
การวินิจฉัย

1.ถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์

2.ตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็ง (Sputum Cytology)

3.ส่องกล้องตรวจดูภายในหลอดลม (Bronchoscopy)

4.ขลิบชิ้นเนื้อจากหลอดลมหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า ไปตรวจเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา (Biopsy, Scalene node biopsy)

การรักษา

1.การผ่าตัด

2.รังสีรักษา

3.เคมีบำบัด

4.การรักษาแบบผสมผสานวิธีดังกล่าวข้างต้น

5.การรักษาแบบประคับประคอง

การป้องกัน

1.เลิกสูบบุหรี่

2.หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม

3.รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น และอาหารที่มีวตามินซี วิตามินอี รวมทั้งเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด

4.การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มสุรา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้





แหล่งข้อมูล : สถาบันโรคทรวงอก
[ ... ]

มะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อน เป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงมากชนิดหนึ่ง แต่เป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยพบบ่อยนักเป็นมะเร็งของผู้ใหญ่เกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับอ่อน
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งตับอ่อนแต่พบว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงได้ดังนี้

1.ในคนที่สูบบุหรี่จัด มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับอ่อนมากกว่า

2.ในคนที่มีครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อน มีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนได้สูงกว่า

3.ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน มีปัจจัยเสี่ยงสูงกว่า

อาการและอาการแสดง
อาการของมะเร็งตับอ่อนเมื่อเริ่มเป็นมักไม่มีอาการต่อเมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้นจะไปกดทับทางเดินน้ำดี ทำให้มีตัวเหลือง ตาเหลือง หรือ ปวดหลังได้ ซึ่งมักเป็นอาการที่พบได้ในโรคทั่วๆไป ไม่ใช่อาการเฉพาะของมะเร็งตับอ่อนถ้าโรครุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการแน่นท้องจากมีน้ำในท้อง เบื่ออาหาร ผอมลง หรือมีอาการจากการที่โรคแพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น อาการปวดกระดูกจากการมีโรคแพร่ไปกระดูก เป็นต้น

การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและหาระยะของโรค
มะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่วินิจฉัยโรคได้ยากแต่อย่างไรก็ตามจากการ ซักประวัติ อาการ อาการแสดง และการตรวจร่างกาย ถ้าแพทย์สงสัยว่าเป็นโรค ตับอ่อน มักจะทำการตรวจเพิ่มเติม โดยการทำอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ดูพยาธิสภาพของตับอ่อน และตับเพราะมะเร็งตับอ่อนกระจายไปตับได้สูง และอาจมีการตรวจเลือดเพื่อตรวจสารที่เรียกว่า ซี อี เอ (CEA) หรือ ซี เอ 19-9 (CA 19-9) ถ้าภาพอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบมีก้อนเนื้อของตับอ่อนแพทย์มักทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อออก เพื่อการรักษาและเพื่อนำก้อนเนื้อไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา (การตัดชิ้นเนื้อจากตับอ่อนก่อนผ่าตัดเพื่อการพิสูจน์ทางการพยาธิวิทยาก่อนการผ่าตัด มักทำไม่ได้เพราะมีอันตรายค่อนข้างสูง) ว่าใช่มะเร็งตับอ่อนหรือไม่

ก่อนผ่าตัดแพทย์จะมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม ตรวจปัสสาวะ และภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อดูสภาพร่างกายผู้ป่วยและดูว่ามีโรคแพร่กระจายไปปอดและตับหรือยัง
ระยะของโรคมะเร็งตับอ่อน แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1
ก้อนมะเร็งลุกลามอยู่ในตับอ่อนหรืออาจเริ่มลุกลามเข้าลำไส้เล็กส่วนที่ อยู่ติดกัน
ระยะที่ 2
มะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อนเข้ากระเพาะอาหารและ / หรือม้ามและ / หรือลำไส้ใหญ่
ระยะที่ 3
มะเร็งลุกลามกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว
ระยะที่ 4
มะเร็งลุกลามเข้ากระแสโลหิตแพร่ไปยังอวัยวะที่ไกลออกไปที่พบได้บ่อยคือ ตับ

การรักษามะเร็งตับอ่อน
วิธีการรักษาที่ใช้รักษามะเร็งตับอ่อนมี 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด เคมีบำบัดและรังสีรักษา โดยทั่วๆ ไป เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนแพทย์จะแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำผ่าตัดได้และกลุ่มที่ทำผ่าตัดไม่ได้
กลุ่มที่ทำผ่าตัดได้ คือ ผู้ป่วยที่โรคยังลุกลามไม่มากและมีสภาพร่างกาย แข็งแรง เมื่อผ่าตัดแล้วแพทย์จะนำก้อนเนื้อไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา และถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ก็จะมีการรักษาเพิ่มเติมโดย เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาร่วมด้วย

กลุ่มที่ทำผ่าตัดไม่ได้ คือ กลุ่มที่โรคลุกลามมากแล้วแต่ยังแข็งแรงมักให้การรักษา โดยเคมีบำบัด ร่วมกับรังสีรักษาแต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงการรักษาจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
ความรุนแรงของมะเร็งตับอ่อน ความรุนแรงของมะเร็งตับอ่อนขึ้นกับหลายปัจจัยที่สำคัญได้แก่

1.ระยะของโรคมะเร็งระยะยิ่งสูงความรุนแรงก็มากขึ้น

2.สภาพร่างกายของผู้ป่วยถ้าร่างกายไม่แข็งแรงก็จะเป็นอุปสรรค ต่อการรักษา

3.โรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น โรคไต หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น ......ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา

4.อายุ ผู้ป่วยสูงอายุมักทนการรักษาได้ไม่ดี

การติดตามผลการรักษา
เมื่อให้การรักษาครบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจติดตามโรคและดูแลผู้ป่วยต่อสม่ำเสมอ โดยภายใน 1-2 ปี หลังครบการรักษามักนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ในปีที่ 3-5 หลังการรักษามักนัดตรวจทุก 2-3 เดือน และในปีที่ 5ไปแล้วมักนัดตรวจทุก 6-12 เดือน

ในการมาตรวจทุกครั้ง ควรนำญาติสายตรงหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อร่วมพูดคุยปรึกษากับแพทย์โดยตรง และถ้ารับประทานยาอะไรอยู่ หรือมีการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ท่านอื่นๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อจะได้ให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม




แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com
[ ... ]

รักษามะเร็งตับด้วย RFA

มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่คนไทยเป็นกันไม่น้อย และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงส่วนสาเหตุที่แท้จริงยังเป็นที่ศึกษาวิจัย แต่ตัวการที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งในตับที่สำคัญ ได้แก่ การอักเสบของตับเรื้อรัง จากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งติดจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ด้วยวิธีเดียวกันกับการติดเชื้อเอดส์ เช่น จากเพศสัมพันธ์ ทางสารคัดหลั่ง เลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน นอกจากนี้คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นกิจวัตรกระทั่งเป็นโรคตับแข็ง หรือคนที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับจากการกินอาหารดิบๆ สุกๆ ก็เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งตับเป็นลำดับต่อไปได้ ส่วนการรับประทานอาหารที่มีสารพิษ เช่น เชื้อราจำพวกอัลฟาทอกซินที่พบในถั่วลิสงขึ้นรา ก็เป็นที่ยืนยันว่ามีอัตราเสี่ยงในการก่อมะเร็งตับได้สูงเช่นกัน

คนที่เป็นมะเร็งตับในระยะเริ่มแรกมักจะไม่ค่อยมีอาการใด ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลาม จึงมีอาการหลักๆ ของโรคเกี่ยวกับตับ เช่น ปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบน ท้องอืด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผอมลง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม นอกจากนี้อาจจะคลำก้อนได้ที่ท้อง อึดอัดแน่นท้อง หายใจลำบาก ฯลฯ อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดสังเกตควรพบแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจอย่างละเอียด โดยจะมีกระบวนการวินิจฉัยมะเร็งตับอย่างเป็นขั้นตอน หากพบว่าเป็นมะเร็งตับจริงปัจจุบันวิทยาการในการรักษามะเร็งตับก้าวหน้าไปไม่น้อย โดยมีหลายวิธีตามความเหมาะสมกับภาวะมะเร็งตับของแต่ละคนโดยแพทย์จะพิจารณาร่วมกันเป็นทีม เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การฉายรังสีระบบใหม่ (Gamma Knife, Cyber knife, etc.) การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) การให้เคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือดแดงร่วมกับการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง (TOCE or Transarterial Oily Chemo Embolization) การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยตรง และเทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจของแพทย์ทั่วโลกคือ การทำลายก้อนมะเร็งด้วยความร้อน (Thermal Ablation) ซึ่งมีหลายเทคโนโลยี เช่น

การใช้เลเซอร์ การใช้ไมโครเวฟ การใช้คลื่น RFA แต่เทคโนโลยีที่นิยมกันมากที่สุดในปัจจุบันคือ การใช้ RFA (Radiofrequency) นี่เอง RFA ย่อมาจาก Radiofrequency Ablation เป็นวิธีการทำลายก้อนมะเร็งด้วยการใช้เข็มแบบพิเศษ (RF needle) ขนาดเท่ากับไส้ปากกาลูกลื่น ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แทงผ่านผิวหนังเข้าไปในก้อนมะเร็งเป้าหมาย โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยนำทาง ต่อวงจรเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator) และตัวผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของวงจรด้วยการแปะแผ่นสายดิน (ground pad) ที่หน้าขาของผู้ป่วย (รูปที่ 1) เมื่อปล่อยไฟฟ้ากระแสสลับจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator) ขนาด 50-200 วัตต์ ผ่านเข้าไปในเข็ม ซึ่งส่วนปลายเข็มเป็นขั้วไฟฟ้า (Electrode) และใช้การเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากเครื่อง ทำให้เกิดคลื่นความถี่สูงประมาณ 375-500 KHz จะทำให้โมเลกุลของเนื้อเยื่อรอบๆ เข็มสั่นสะเทือนและเสียดสีกันจนเกิดความร้อน (Friction heat) ซึ่งจะแผ่กระจายออกไปรอบๆ จนครอบคลุมก้อนมะเร็งทั้งก้อน จากการศึกษาพบว่าความร้อนที่มากกว่า 50 องศาเซลเซียสสามารถทำให้เซลล์ตายได้ ก้อนมะเร็งที่ได้รับการรักษาจะเปรียบเสมือนเนื้อย่าง ซึ่งในต่างประเทศใช้วิธีการรักษามะเร็งตับ RFA นี้กันมานานประมาณ 12 ปีแล้ว ส่วนในประเทศไทยเริ่มใช้กันมา ประมาณ 3-4 ปี ที่ผ่านมานี้เอง อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะกับโรคมะเร็งตับปฐมภูมิ (Hepatocellular carcinoma) และ มะเร็งทุติยภูมิ ที่กระจายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่มาที่ตับ (Colonic Metastasis) รวมถึงมะเร็งที่แพร่กระจายจากมะเร็งที่อื่น เช่น มะเร็งเต้านม เป็นต้น แต่สำหรับกรณีนี้มีผลการวิจัยน้อยจึงยังสรุปผลการรักษาไม่ได้เต็มที่นัก นอกจากนี้ RFA ยังใช้ในการรักษามะเร็งปอด มะเร็งไตได้ด้วย แต่ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างในการรักษา สำหรับการรักษามะเร็งตับเองก็มีข้อจำกัดบางประการเช่นกันเกี่ยวกับจำนวน ขนาด และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง คือจำนวนไม่เกิน 3 ขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร ตำแหน่งต้องไม่อยู่ในที่ที่จะเกิดอันตรายจากความร้อนสู่อวัยวะใกล้เคียง ดังนั้นใช่ว่าทุกคนที่เป็นมะเร็งตับจะสามารถรักษาได้ด้วยวิธีนี้แต่ต้องผ่านการพิจารณาของหมอศัลยกรรมก่อน ว่าไม่สามารถผ่าตัดได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น มีโรคตับแข็ง ขั้นที่ว่าถ้าได้รับการผ่าตัดแล้ว ตับที่เหลืออยู่จะไม่สามารถทำงานได้ ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดเอาตับกลีบหนึ่งออกไปแล้วเหลือตับเพียงกลีบเดียว (ตับมี 2 กลีบใหญ่คือกลีบซ้ายและกลีบขวา) แล้วมีก้อนขึ้นมาที่กลีบที่เหลือ ผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคไต หรือโรคปอด ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการดมยาขณะผ่าตัดหรือเสี่ยงต่อการฟื้นตัวหลังผ่าตัด จากนั้นหมอก็จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำ RFA ว่าขนาดก้อน เท่าไหร่ ตำแหน่งอยู่ตรงไหนจากภาพอัลตราซาวด์และภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จะทำโดยใช้เทคนิคใด ผลการรักษาน่าจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำ RFA ที่จะเป็นไปได้และอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติฟังให้เข้าใจก่อนทำการรักษา ก่อนการรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องเช็คเลือดก่อนว่าผู้เป็นมะเร็งนั้นมีภาวะการแข็งตัวของเลือดเป็นปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติต้องแก้ไขก่อน เพราะการรักษาจะใช้อัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือนำทาง ผู้ป่วยจะได้รับยาชาเฉพาะที่ ไม่ดมยาสลบ โดยมีทีมวิสัญญีเป็นผู้ดูแล ระยะเวลาการทำขึ้นกับว่าการวางเข็มกี่ตำแหน่ง ทำการย่างกี่ชุด โดยเฉลี่ยการวางเข็ม 1 ตำแหน่ง รวมการย่าง 1 ชุด ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที หลังขั้นตอนในห้องผ่าตัดทีมวิสัญญี และทีมห้องผ่าตัดจะสังเกตอาการอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนส่งผู้ได้รับการรักษากลับห้องพัก หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้ ในวันต่อมา การรักษาด้วยวิธี RFA นี้ไม่ได้เป็นการเอาก้อนมะเร็งออก แต่ก้อนจะมีขนาดเล็กลง และหากติดตามดูภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอกซเรย์เอ็มอาร์ไอ ตัวก้อนจะแสดงให้เห็นปฏิกิริยาว่าก้อนไม่มีเซลล์มะเร็งที่มีชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้นการติดตามผลการรักษาด้วยการเอกซเรย์ตามระยะที่แพทย์สั่ง มีความสำคัญมาก เพราะหากพบว่ามีก้อนขึ้นมาในตำแหน่งที่สามารถทำการรักษาได้อีก ก็จะได้รักษาได้ทันแต่เนิ่นๆ ส่วนผลการรักษานั้นมีผลการวิจัยทั่วโลกพอสรุปว่าวิธีการรักษาด้วย RFA นี้ได้ผลดีในผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็ก จะทำให้มีอัตราการมีชีวิตอยู่รอดยาวถึง 3-5 ปี ได้มากกว่าผู้ที่มีก้อนขนาดใหญ่ แม้ว่าในต่างประเทศจะใช้มา 10-12 ปีก็จริง แต่ละการศึกษามีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กที่มีผู้เสียชีวิตจากภาวะตับแข็ง หรือโรคมะเร็งลำไส้ที่แพร่กระจายไปที่อื่น จึงทำให้การศึกษาแต่ละฉบับไม่สามารถสรุปผลกรรักษาได้ชัดเจนนัก แต่โดยทั่วไปถ้าก้อนขนาดเล็กกว่า 3.5 เซนติเมตร อัตราการอยู่รอด 1 ปี มีถึง 99% 2 ปี 92-96% และ 3 ปี ประมาณ 86-88% ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ที่หลายสถาบัน เช่น โรงเรียนแพทย์ต่างๆ โรงพยาบาลหลักของรัฐบาล สถาบันมะเร็ง โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง แพทย์ที่ทำการรักษา ส่วนใหญ่เป็นรังสีแพทย์ สาขารังสี
ร่วมรักษา (Intervention Radiologist) หรือศัลยแพทย์ทางเดินอาหารและตับ และแพทย์มะเร็งวิทยาบางท่านก็สามารถทำได้ หากแพทย์ผู้นั้นสามารถใช้อัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในการนำทางให้เห็นเข็มเข้าสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตามการรักษาโรคมะเร็งตับนั้นการผ่าตัดยังคงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด

การรักษาด้วย RFA หรือวิธีอื่นของรังสีร่วมรักษา เป็นการรักษาอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น และมีข้อจำกัดหลายอย่าง ตั้งแต่ลักษณะของก้อน ซึ่งจำเพาะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ทำต้องมีประสบการณ์ที่ดี ผู้ช่วยต้องเป็นทีมงานที่ฝึกพิเศษ เครื่องมือนำทางต้องเป็นเครื่องมือที่ดีเห็นภาพชัดเจน การติดตามผลการรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์ที่ดีจะบอกได้ว่ามีก้อนเหลืออยู่หรือมีก้อนใหม่หรือไม่ การตรวจเช็คสุขภาพประจำปี ไม่เพียงแต่ตรวจเช็คเลือดเท่านั้น การทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ไต) จะเป็นเครื่องมือที่คุ้มค่าที่จะใช้ตรวจพบมะเร็งระยะแรกของตับ เพราะราคาการตรวจไม่แพงมากนัก เมื่อพบก้อนขนาดเล็กก็จะให้ผลการรักษาที่ดีหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เปิดดูได้ในเวปไซต์ของ สมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาได้ที่ www.thaivir.org
แพทย์รังสีรักษาต่างจากแพทย์รังสีร่วมรักษาอย่างไร แพทย์รังสีรักษาคือแพทย์ที่สั่งให้ผู้ป่วยรับการฉายรังสี

เพื่อรักษามะเร็งและเป็นผู้ติดตามตรวจเช็คผลที่เกิดจากการใช้รังสีมารักษาผู้ป่วย แต่แพทย์รังสีร่วมรักษา คือรังสีแพทย์ที่จบรังสีวินิจฉัย สามารถแปลผลฟิล์มเอกซเรย์ว่ามีพยาธิสภาพตรงส่วนใด และทำงานด้านรังสีร่วมรักษาโดยใช้เครื่องเอกซเรย์เป็นตัวนำทางเพื่อทำหัตถการต่างๆ กับผู้ป่วย โดยสรุปรังสีร่วมรักษาก็คือแพทย์ที่อ่านฟิล์มแต่ทำงานเพิ่มในส่วนของการร่วมรักษากับแพทย์สาขาอื่นๆ ด้วย




แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday
[ ... ]