Friday, October 3, 2008

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม...ตรวจตรา รู้เร็ว รีบรักษา มีโอกาสหาย

คุณผู้หญิงที่ไปรับการตรวจมะเร็งเต้านม บางคนอาจจะพบว่ามีก้อนเนื้อในเต้านม คุณอย่าเพิ่งกังวลใจมากไปจนกว่าจะทราบผลชิ้นเนื้อนั้น เพราะคุณอาจจะไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป เพราะส่วนใหญ่พบว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตามการจะแน่ใจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ต้องตรวจสอบด้วยวิธีเฉพาะเท่านั้นได้แก่ การตรวจด้วยวิธี Imaging method แบบนี้สามารถให้ผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรืออีกวิธีหนึ่งคือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ( tissue-biopsy) ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์

หลายทศวรรษที่ผ่านมาบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามที่จะไขปริศนาเกี่ยวกับกลไกการเกิดของโรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยทำให้สามารถพบวิธีการตรวจและรักษามะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มได้ ซึ่งมะเร็งเต้านมในระยะแรกนั้นหากวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องก็จะสามารถควบคุมหรือรักษาได้ และผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกตินาน 10-15 ปี แต่ก็น่าเสียดายที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยาใดๆ ที่สามารถป้องกันมะเร็งเต้านมได้ แม้ว่าเราจะทราบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ คุณผู้หญิงทั้งหลายจึงควรดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมาก ที่สุดในผู้หญิง ในยุโรปผู้หญิง 16 คน เป็นมะเร็งเต้านม 1 คน ส่วนในประเทศไทย มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่น โดยสถิติสาธารณสุขปี 2545 ระบุว่ามีสาเหตุการตายจากโรคมะเร็ง เป็นอันดับ 4

ลักษณะของเต้านมปกติ

เต้านมเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยต่อมและเนื้อเยื่อไขมันมากมายระหว่างชั้นของผิวหนังและผนังช่องอก ซึ่งเนื้อเยื่อไขมันนี่เองที่เป็นตัวกำหนดขนาดและรูปร่างของทรวงอก เมื่อคุณมีลูก ต่อมดังกล่าวจะผลิตน้ำนมส่งผ่านท่อน้ำนมไปยังหัวนม ดังนั้นช่วงที่ให้นมลูก ต่อมน้ำนมและท่อต่างๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น

เต้านมยังประกอบด้วยเส้นเลือดและน้ำเหลือง โดยน้ำเหลืองจะนำของเสียที่เต้านมขับออกไปยังเนื้อเยื่อขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่วที่เรียกว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซึ่งต่อมน้ำเหลืองจะทำหน้าที่กรองและทำความสะอาดน้ำเหลือง

มะเร็งเต้านมนั้นเป็นอย่างไร ?

มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ของเต้านมมีการแบ่งตัวโดยไม่สามารถควบคุมได้ มีการเบียดบังเนื้อเยื่อข้างเคียงและแพร่ขยายไปทั่วร่างกาย โดยเซลล์มะเร็ง จะเพิ่มจำนวนและแบ่งตัวได้ด้วยตนเอง มันจะแย่งสารอาหารจากเซลล์ปกติ และเข้าไปแทนที่เซลล์ปกติของเต้านม หากปล่อยไว้เซลล์ปกติเหล่านี้จะไม่สามารถเติบโตได้ แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งการตรวจแมมโมแกรม ( การเอกซเรย์เต้านม) บางครั้งอาจช่วยทำให้ตรวจพบโรคก่อนที่จะรู้สึกหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงได้

ว่าด้วยเรื่อง ก้อนที่เต้านม

เต้านม เป็นอวัยวะสำคัญที่บ่งบอกถึง ความเป็นสัตว์โลกที่เลี้ยงลูกด้วยนม สำหรับมนุษย์ถือว่า เต้านมเป็นสัญลักษณ์ ทางเพศที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเพศหญิง ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยแก่ ถ้าปราศจากอวัยวะนี้แล้ว คงจะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย อย่างน้อยที่สุด ความเป็นผู้หญิงคงจะด้อยลงไป ดังนั้น หามีโรคภัยไข้เจ็บ ที่เกี่ยวกับเต้านม และทำให้ผุ้หญิงต้องสูญเสีย ของสงวนสิ่งนี้แล้ว คงจะสร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ผู้ชายเวลานมแตกพาน บางครั้ง ยังอับอายเพื่อนฝูง จนต้องขอให้แพทย์ช่วยผ่าตัดให้

เต้านม ยังทำหน้าที่สำคัญ ในการสืบทอดความเป็นสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ ตามขั้นตอนของการสืบพันธุ์ สำหรับสตรีเลี้ยงลูกด้วยนมนั้น เต้านมต้องทำหน้าที่ ผลิตน้ำนมเพื่อเลี้ยงทารก

การเปลี่ยนแปลงของเต้านม

เมื่อเติบโตเข้าระยะวัยรุ่น เต้านมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของหัวนม รวมทั้งท่อน้ำนมต่างๆ พร้อมกับกระตุ้น ให้มีไขมันแทรกระหว่างท่อน้ำนม ฮอร์โมนอีกชนิดคือ โปรเจนเตอโรน ซึ่งร่างกายจะผลิตออกมาทุกเดือนตามรอบเดือน คอยกระตุ้นปลายท่อน้ำนมให้ขยาย เป็นที่อยู่ของต่อมน้ำนม ทำหน้าที่ผลิตน้ำนม ดังนั้น เวลาประจำเดือนใกล้จะมา ผู้หญิงจะรู้สึกว่าเต้านมโตขึ้น และตึงคัด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติ ที่ร่างกายตอบสนอง ต่อฮอร์โมนโปรเจนเตอโรน ที่หลั่งออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว ย่อมหมายความว่า วงจรของชีวิตแห่งความเป็นเพศหญิง กำลังดำเนินไปอย่างปกติ

เต้านมที่เติบโตเต็มที่ จะมีรูปร่างเกือบจะเป็นครึ่งทรงกลม มีส่วนปลายยื่นเข้าไปบริเวณรักแร้ หัวนมจะเชิดขึ้นเล็กน้อย เป็นที่เปิดของท่อน้ำนม หัวนมจะล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อสีชมพู เรียก ฐานหัวนม (AREOLA) เต้าที่นมแต่ละข้าง มีเส้นประสาทและเนื้อเยื้อพังผืด ประกอบจนเป็นรูปร่าง ที่มีความเต่งตึงในยามสัมผัส หัวนมจะมีเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยง เพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงลูกด้วยนม

เต้านมของผู้หญิง วางอยู่บนแผงหน้าอกด้านหน้า มีขอบเขตตั้งแต่ กระดูกซี่โครงที่ 2-6 จากบนลงล่าง และตั้งแต่กระดูกหน้าอก ไปจนถึงด้านข้างของทรวงอก เต้านมของผู้ชาย จะไม่เจริญเท่าผู้หญิง นอกจากในช่วงแตกเนื้อหนุ่ม อาจโตขึ้นเล็กน้อย เป็นการชั่วคราวที่เรียกว่า "นมแตกพาน"

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

สำคัญมากสำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป ควรสร้างอุปนิสัยในการตรวจเต้านม ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นคลำหาก้อนที่ผิดปกติในเต้านม

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยการคลำอย่างเป็นระบบ ใช้มือขวาในการคลำเต้านมข้างซ้าย และสลับกันคือ ใช้มือซ้ายคลำเต้านมด้านขวา คลำเต้านมโดยใช้ฝ่ามือเพียง 2-3 นิ้ว สัมผัสด้วยการหมุนไปรอบๆ ตามเข็มนาฬิกากดเบาๆ เพื่อให้ผิวหนังอยู่กับที่ เริ่มจากขอบนอกบนสุด หมุนเป็นวงกลมช้าๆ ตามเข็มนาฬิกา จนกลับมาถึงจุดเริ่มต้น ขยับน้ำมือเข้าไปหาหัวนมราว 1 นิ้ว แล้วหมุนรอบซ้ำแบบเดิมอีก จนเข้ามาในสุดถึงหัวนม พยายามใช้ความรู้สึกสัมผัส ของเต้านมปกติว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้จำได้ว่า เวลาเกิดความผิดปกติแล้ว มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ท่านที่มีรูปร่างผอมบาง อาจมีปัญหาว่ากระดูกหน้าอก อาจปรากฎชัดเจน จนคลำดูเหมือนก้อน

โปรดระลึกไว้เสมอว่า แม้ว่าท่านจะตรวจพบก้อนที่เต้านม ด้วยตนเองก็ตาม แต่แพทย์เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ยืนยันว่า ก้อนที่ท่านคลำได้นั้น เป็นก้อนที่ผิดปกติจริงหรือไม่ และเป็นชนิดไม่ร้ายแรง หรือเป็นมะเร็ง ข้อสำคัญ ขอเพียงแต่ให้ท่าน ขยันหมั่นตรวจเต้านม ด้วยตนเองบ่อยๆ เป็นประจำ

0 comments: