Saturday, October 18, 2008

สั่งเก็บ “นมข้นจืดมะลิ” อย.พบปนเปื้อนเมลามีนเกินมาตรฐาน 37 เท่า













อย.ตรวจพบเมลามีนปนเปื้อนในนมข้นจืดตรามะลิ เกินมาตรฐานถึง 37 เท่า สั่งอายัดที่โรงงาน 1.5 แสนกระป๋อง - ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดสั่งเก็บห้ามขายหมด เนยเค็ม ครีมเทียม นมข้นหวาน ยี่ห้อเดียวกันรอลุ้นผล ส่วนยี่ห้ออื่นเก็บตรวจแล้วแต่ยังไม่ทราบผล



เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข แถลงว่า อย.ได้รับผลการตรวจวิเคราะห์สารเมลามีนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสารเมลามีน 1 รายการ คือ นมข้นแปลงไขมันไม่หวาน สูตรน้ำมันปาล์ม ตรามะลิ ชนิดกระป๋อง เลขสารบบ อย.14-1-02323-1-0037 น้ำหนักสุทธิ 385 กรัม วันหมดอายุ 160109 ผลิตโดยบริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ตรวจพบปริมาณ สารเมลามีน 92.82 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่ อย.กำหนดในผลิตภัณฑ์นมต้องมีเมลามีนไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม



รมช.สธ.กล่าวอีกว่า อย.ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ มาตรวจสอบทั้งสิ้นจำนวน 10 รายการ พบ 1 รายการ, ไม่พบการปนเปื้อนของสารเมลามีนจำนวน 6 รายการ คือ 1.นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี ชนิดละลายทันทีสูตร 2 นูโอ-พลัส เครื่องหมายการค้าสโนว์แบรนด์ 2.นมผงดัดแปลงสำหรับทารกชนิดละลายทันที สูตร 1 สำหรับทารก ตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ปี นูโอ เครื่องหมายการค้าสโนว์แบรนด์ 3. ผลิตภัณฑ์นมชนิดละลายทันที สูตร 3 ผลิตภัณฑ์นมชนิดละลายทันที สำหรับเด็กวัย 1 ปีขึ้นไป และทุกคนในครอบครัว นูโอ-คิดส์ เครื่องหมายการค้าสโนว์แบรนด์



4.นมข้นแปลงไขมันหวานสูตรน้ำมันปาล์มผสมมันเนย ตรามะลิ นมผงขาดมันเนย 20% 5.Foster Farms Dairy NON FAT DRY MILK MADE FROM PASTEURIZED MILK และ 6. Skimmed Milk Powder และอีก 3 รายการ รอผลการตรวจสอบ ได้แก่ เนยชนิดเค็ม ตราออร์คิด ครีมเทียมข้นหวานชนิดพร่องไขมัน ตรา เบิดวิงซ์ นมข้นแปลงไขมันหวาน ตรามะลิ



นายวิชาญ กล่าวด้วยว่า เมื่อได้รับผลการตรวจวิเคราะห์พบสารเมลามีน เจ้าหน้าที่ อย.จึงรีบเข้าไปตรวจสอบยังโรงงาน เลขที่ 158 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสอบการใช้วัตถุดิบ โดยบริษัทได้แจ้งว่า วัตถุดิบที่นำมาใช้มาจากหลายแหล่ง หลายประเทศ เช่น เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี อินเดีย และพม่า เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของบริษัทมาตรวจสอบเพิ่มเติมอีกจำนวน 15 รายการ และได้ประสานด่วนโดยทำหนังสือถึงบริษัทฯ ผู้ค้าปลีก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์รุ่นที่มีปัญหาดังกล่าว รวมทั้งทุกผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้วัตถุดิบเดียวกัน พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบเดียวกันออกจาก ชั้นวางจำหน่ายทุกแห่งทันที



นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบที่โรงงานเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดนมชนิดนี้ทั้งสิ้น 1.5 แสนกระป๋อง ซึ่งทราบว่าในรอบปีนี้บริษัทมีการผลิตสินค้าชนิดนี้ทั้งสิ้น 4 ล็อต โดยล็อตที่มีการตรวจพบสารเมลามีนปนเปื้อนเป็นล็อตที่ผลิตเมื่อราววันที่ 16 มกราคม 2551 ซึ่งผลิตจำนวนทั้งสิ้น 4 หมื่นกระป๋อง อย.ได้สั่งเก็บออกจากท้องตลาดทั้งหมด ส่วนอีก 3 ล็อตได้สั่งการให้นำออกจากชั้นวางจำหน่ายเป็นการชั่วคราวจนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ หากไม่มีก็ให้นำมาวางจำหน่ายได้ตามปกติ



“ในการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า วัตถุดิบที่บริษัทใช้มีการนำเข้าจากหลายประเทศ แต่ไม่มีประเทศจีนแน่นอน จึงต้องสอบย้อนกลับไปว่าประเทศที่ขายวัตถุดิบให้กับบริษัทนี้นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไหนต่อไป ส่วนระยะยาว อย.จะขอความร่วมมือให้บริษัทนี้ เฝ้าระวังและตรวจสอบวัตถุดิบเข้มข้นมากขึ้น ในขณะที่ อย.ก็จะเก็บสินค้าของบริษัทที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมาตรวจสอบเป็นระยะๆ เช่นกัน ส่วนสินค้าที่มีผู้บริโภคซื้อไปแล้ว หากเกิดอะไรขึ้นบริษัทต้องรับผิดชอบ ส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันของยี่ห้ออื่นๆ อย.ได้เก็บตัวอย่างมาตรวจแล้วแต่ยังไม่ทราบผล” นพ.พิพัฒน์ กล่าว



เลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพไตของแต่ละบุคคล ปริมาณที่รับประทาน และน้ำหนักตัวของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตามเกณฑ์มาตรฐานมีการระบุว่าสามารถบริโภคเมลามีนได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัมต่อวัน หากน้ำหนักตัว 40-50 กิโลกรัม ก็บริโภคได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัม ซึ่งนมชนิดนี้ 1 กระป๋องน่าจะมีปริมาณประมาณ 500 กรัม เพราะฉะนั้น หากบริโภคนมหมดใน 1 กระป๋อง จะได้รับสารเมลามีนประมาณ 45 มิลลิกรัม แต่โดยมากไม่มีใครบริโภคหมด 1 กระป๋องใน 1 วัน เพราะอย่างมากคงใส่ในกาแฟเพียงเล็กน้อย แต่หากเป็นในเด็กเล็กจะมีอันตรายมากกว่าเพราะระบบย่อยอาหารยังไม่ดี



“ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ที่ตรวจพบมีสารเมลามีนปนเปื้อน ประชาชนไม่ได้บริโภคปริมาณมากในแต่ละวัน และไม่ได้บริโภคเป็นประจำทุกวัน หากบริโภคทางสายกลางก็ไม่น่าจะมีอันตรายมาก ส่วนผู้บริโภคที่สงสัยว่าตนเองบริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์นมที่มีการปนเปื้อนของสารเมลามีนเข้าไปแล้ว แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ เพราะสารชนิดนี้สามารถขับออกได้ทางไต แต่หากเกรงจะเป็นนิ่วหรือโรคไต ก็ให้สังเกตตัวเอง ขณะที่ผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท เอสแอนด์พี ที่ อย.เก็บตัวอย่างมาตรวจเมื่อเร็วๆ นี้ ยังไม่ทราบผล” นพ.พิพัฒน์ กล่าว



เลขาธิการ อย.กล่าวต่ออีกว่า สำหรับความผิดที่จะได้รับ คือ โทษฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ อย.จะเข้มงวด ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีปัญหา และจะถือว่าเข้าข่ายต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน จะให้บริษัทมีมาตรการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ให้ปราศจากสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะสารเมลามีน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนซ้ำ และหาก อย.ตรวจสอบพบการปนเปื้อนซ้ำอีก จะมีโทษที่รุนแรงขึ้น และไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของบริษัท





[ ... ]

สารเมลามีนคืออะไร?? แล้วนมเด็กมีสารเหล่านี้ได้อย่างไร?



ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งของจีนในรอบเดือนนี้ นอกจากการจัดแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกแล้วยังมีข่าวดัง ที่ทารกหลายราย เสียชีวิต และอีกหลายพันคนที่ป่วยหนักจากการดื่มนมผงที่ผลิตขึ้นมาในประเทศจีน จนกระทั่งบริษัทซันลู่กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทต้นเหตุผู้ผลิตนมผงมรณะดังกล่าวต้องเรียกเก็บสินค้าคืน และประธานบริษัทก็ถูกรวบตัวเพื่อขยายผลดำเนินคดีต่อ






หากยังจำกันได้ สินค้าที่ผลิตในประเทศจีนนั้นมีปัญหาด้านคุณภาพบ่อยครั้ง โดยเฉพาะสินค้าสำหรับเด็ก เช่นการที่บริษัทแมตเทลต้องเรียกสินค้าที่เป็นของเล่นสำหรับเด็กในอเมริกาคืนทั้งหมดเมื่อปีก่อน หลังจากที่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสีที่ใช้ในของเล่นซึ่งมีปริมาณมากกว่าที่กำหนดไว้ถึง 180 เท่า และเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ก็พบว่ามีเด็กทารกที่ล้มป่วยจากโรคนิ่วในไตถึงกว่าหกพันคน และมีสามคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการดื่มนมที่ปนเปื้อนสารเมลามีน








ปัญหาเรื่องการเจือสารเมลามีนในนมผง ได้ทำให้ทางการจีนต้องเร่งรีบตรวจสอบ โดยทางคณะรัฐมนตรีได้แถลงข่าวในตอนเช้าวันพุธ (17 ก.ย.) โดยระบุว่า ทั่วประเทศจีนมีบริษัทที่ทำการผลิตนมผงสำหรับเด็กทั้งสิ้น 175 แห่ง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการหยุดการผลิตไปแล้ว 66 ที่ และจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 491 รายการจากอีก 109 บริษัทที่เหลือ ผลปรากฏว่ามีสินค้าจำนวน 69 รายการจาก 22 บริษัทที่มีสารเมลามีนผสมอยู่ในสัดส่วนที่มากน้อยต่างกันออกไป



ซึ่งการการตรวจสอบในครั้งนี้พบว่า นมผงที่ผลิตจาก บริษัทซานลู่ ในสือเจียจวงมีปริมาณสารเมลามีนที่สูงมาก โดยในสินค้าที่มีมากที่สุดมีถึง 2,563 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่สินค้าตัวอื่นๆอยู่ที่ 0.09 – 619 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม



ในขณะที่สำนักข่าวไชน่านิวส์ได้รายงานในตอนเช้าว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. ถึงเวลา 8.00 น.ของวันที่ 17 ก.ย. แต่ละท้องที่มีเด็กที่ป่วยเข้าโรงพยาบาลแล้วทั้งสิ้น 6,244 ราย แบ่งเป็น 4,917 รายที่มีอาการอย่างเบา ไม่มีความเสี่ยงถึงชีวิตและกำลังรับการรักษาหรือรักษาหายดีแล้ว ส่วนอีก 1,327 รายนั้นยังต้องอยู่รอดูอาการที่โรงพยาบาลต่อไป ซึ่งในประวัติการเข้าตรวจของผู้ป่วยเหล่านี้พบว่ามี 158 คนที่พบอาการไตเสื่อมอย่างเฉียบพลัน หรือคิดเป็น 2.5% ของผู้ป่วย ซึ่งหลังจากการรักษามี 94 คนที่อาการคงตัวหรือออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว และมีผุ้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3 รายมาจากมณฑลกันซู่ 2 รายและมณฑลเจ้อเจียง 1 ราย ซึ่งไม่ได้นับอยู่ในผู้ป่วย 6,244 คน

สารเมลามีนคืออะไร




สารเมลามีน คือสารเคมีที่ใช้ผสมในการผลิตเม็ดพลาสติก และพบในยาฆ่าแมลง ซึ่งเมื่อถูกความร้อนแล้วอาจมีสารฟอร์มัลดิไฮด์ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายแพร่กระจายออกมา คณะกรรมการอาหารและยา และกระทรวงสาธารณสุขของไทยเคยแถลงการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับอันตรายของสารเมลามีนที่ใช้ในภาชนะใส่อาหาร ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ. 2547 ว่า อะมิโนเรซิน ที่เป็นโพลิเมอร์ของเมลามีนกับฟอร์มัลดีไฮด์นี้ หากมีการนำไปใช้ไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสารฟอร์มัลดีไฮด์ที่เป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้






และในกรณีที่พบสารเมลามีนปนเปื้อนในนมผงสำหรับทารกนี้ ทางสื่อของจีนรายงานว่าบริษัทผู้ผลิตนมผงจีนบางรายนำสารดังกล่าวมาใส่ในนมเพื่อเพิ่มความเข้มข้น ซึ่งบริษัทผู้ผลิตบางรายก็โต้ว่าเกษตรกรเป็นผู้เติมสารอันตรายนี้เข้าไปเอง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การมีสารเมลามีนปนเปื้อนในนมผงนี้ ก็ทำให้เด็กที่บริโภคเข้าไปเกิดอาการเป็นนิ่วในไต ซึ่งเกิดจากการที่ตะกอนของเมลามีนซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมไม่สามารถย่อยสลายได้นั้นเดินทางเข้าไปสู่ระบบการย่อยอาหารพร้อมกับน้ำนม






สำหรับผู้ต้องสงสัยพัวพันกับกรณีดังกล่าวนั้นถูกจับกุมแล้ว 19 คน ในจำนวนนี้ได้แก่ 2 พี่น้องแซ่เกิ่ง ซึ่งจำหน่ายนมสด 3 ตันต่อวันให้แก่บริษัท ซานลู่ กรุ๊ป



ทั้งคู่ถูกจับกุมฐานผลิตและจำหน่ายอาหารปนเปื้อนสารพิษอันตราย โดย เกิ่ง ผู้พี่วัย 48 ปี เริ่มผสมสารเมลามีน ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้ามลงไปในนมเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มปริมาณโปรตีนให้ได้ตามที่มาตรฐานกำหนด



โดย เกิ่ง สารภาพว่า เขาเริ่มผสมสารเคมีลงไป หลังจากทางซานลู่ปฏิเสธรับนมจากพวกเขาหลายครั้ง ด้วยสาเหตุที่ว่านมไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ธุรกิจของพวกเขาประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก



นอกจากนี้ เขายังยอมรับว่า ไม่เคยให้ครอบครัวดื่มนมที่เจือปนสารพิษดังกล่าวเลย เมื่อถามว่าเจ้าตัวรู้หรือไม่ว่าผลลัพธ์จากการกระทำดังกล่าวจะร้ายแรงเช่นนี้ เกิ่ง กล่าวว่า “ผมไม่เคยคิดเลยว่ามันจะรุนแรงขนาดนี้ ผมรู้แต่เพียงว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น



ทั้งนี้ สองพี่น้องแซ่เกิ่งถูกตำรวจจับเป็นรายแรกๆ ส่วนผู้ต้องหาอีก 16 รายนั้นมาจากศูนย์รวบรวมนมเอกชน ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยลักลอบจำหน่ายสารเมลามีน




มาตรการการจัดการของจีนต่อผู้ผลิตนมผงผสมสารปนเปื้อน




หลังจากที่พบว่ามีเด็กทารกล้มป่วยและเสียชีวิตจากการที่ดื่มนมปนเปื้อนสารเมลามีนไปแล้ว ทางการจีนก็มีมาตรการในการจัดการเหตุสลดดังกล่าวโดยสั่งปลดเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนสี่รายในแคว้นเหอเป่ย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของบริษัทซานลู่ หนึ่งในบริษัทที่ผลิตนมอันตรายดังกล่าว นอกจากนี้ตำรวจจีนก็รวบตัวประธานบริษัทซันลู่ ไว้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันบริษัทซันลู่ก็ได้เรียกเก็บสินค้าจากทั่วประเทศคืนเป็นการด่วนอีกด้วย






จากกรณีนี้ ทางการจีนจึงได้เริ่มตรวจสอบกรณีนี้อย่างจริงจังไปทั่วประเทศ และพบว่ามีอีก 22 บริษัทที่ผลิตนมปนเปื้อนสารเมลามีนนี้ด้วยเช่นกัน






หน่วยงานด้านการตรวจสอบคุณภาพอาหารของจีนก็ได้เปิดเผยว่า บริษัทกวางตุ้ง ยาชิลี กรุ๊ป และฉิงเดา ซันแคร์ ซึ่งได้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมผงให้แก่หลายประเทศ ก็ได้ระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์นมของตนแล้ว








อย. ไม่พบผลิตภัณฑ์นมผงจากจีนปนเปื้อนสารเมลามีนในไทย




ทางด้านประเทศไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งตรวจสอบผลิตภัณฑ์นมผงทุกชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีน ที่พบมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งผลการตรวจสอบไม่พบการนำเข้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ได้กำชับให้กองงานด่านอาหารและยา เฝ้าระวังการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นพิเศษ รวมทั้งผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ และยี่ห้ออื่นๆ ด้วย เพื่อป้องกันความปลอดภัยให้แก่เด็กทารกในประเทศ โดยถ้ามาจากแหล่งกำเนิดตามที่เป็นข่าว ให้อายัดและเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ พร้อมเรียกร้องให้หันมาให้ความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนอกจากปลอดภัยต่อทารกแล้ว ยังรับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเด็กอีกด้วย

นมผงจีนกับนมโคไทย




เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ฟาร์มโชคชัย จำกัด เปิดเผยว่า ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมของไทย หันมานำเข้านมผงราคาถูกจากจีน ซึ่งมีคุณภาพต่ำในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการนำเข้านมผงจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่นมผงจากจีนไม่มีคุณภาพ จึงต้องการให้โรงงานผลิตน้ำนมและผู้บริโภคควรให้ความระมัดระวัง






ทั้งนี้ เมื่อหลายปีก่อน เคยมีการประท้วงของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยการนำน้ำนมดิบมาเททิ้ง เพราะผลิตออกมาแล้วไม่มีผู้รับซื้อ และถูกกดราคาจนต่ำเกินกว่าจะรับได้มาแล้ว






อันที่จริงแล้ว การเกิดวิกฤตด้านคุณภาพนมของจีนนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย ซึ่งถือว่ามีคุณภาพกว่า สามารถฟื้นตัวได้อีกครั้ง และหากภาครัฐให้ความใส่ใจอย่างเพียงพอ อุตสาหกรรมนมโคไทย ก็อาจจะพัฒนา และขยายตัวได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน อีกทั้ง การเกิดวิกฤตด้านคุณภาพสินค้าของจีนในครั้งนี้ น่าจะเป็นตัวกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้ผลิตทั่วโลกคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคมากกว่าการแสวงหาผลกำไรได้อีกด้วย

ผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่พบการปนเปื้อนสารเมลามีน


ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2551




  1. บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด



    - เวเฟอร์สติ๊กไวท์ช็อกโกแลต (เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลตขาว) (เครื่องหมายการค้าโอรีโอ) 10-3-26848-1-0365 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551



    - เวเฟอร์สติ๊กช็อกโกแลต (เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต) (เครื่องหมายการค้าโอรีโอ) 10-3-26848-1-0367 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551




  2. บริษัท มาร์ส ไทยแลนด์ อิงค์ จำกัด



    - M&M’S MILK CHOCOLATE 10-3-03839-1-0045 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551



    - DOVE MILK CHOCOLATE 10-3-03839-1-0066 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551



    - SNICKERS 10-3-03839-1-0060 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551



    - M&M’S MINIS 10-3-03839-1-0058 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551



    - M&M’S PEANUT CHOCOLATE 10-3-03839-1-0059 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551



    - DOVE HAZEL, ALMOND AND RAISIN 10-3-03839-1-0092 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551



    - DOVE HAZELNUT 10-3-03839-1-0071 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551






  3. บริษัท ซิโน-แปซิฟิคเทรดดิ้ง (ไทยแลนด์)



    - ผลิตภัณฑ์ เมนทอส โยเกิร์ต มิกซ์ (MENTOS YOGHURT MIX) ลูกอมรสโยเกิร์ต กลิ่นผลไม้รวม 10-3-11523-1-2385 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551






  4. บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด



    - ไอซ์คอนเฟคชันรสช็อกโกแลตเคลือบรสช็อกโกแลต และชิ้นขนมปังกรอบรสช็อกโกแลต (ไอศกรีมดัดแปลงผสม) (เครื่องหมายการค้า วอลล์ มินิ ป๊อปเปอร์) 10-3-08945-1-0099 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551



    - ไอซ์คอนเฟคชันกลิ่นวานิลลาเคลือบรสช็อกโกแลต, ถั่วลิสง และชิ้นข้าวกรอบ (ไอศกรีมดัดแปลงผสม) (เครื่องหมายการค้า วอลล์ มินิ ป๊อปเปอร์) 10-3-08945-1-0100 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551



    - ไอซ์คอนเฟคชัน กลิ่นวานิลลา และบิสกิต รสช็อกโกแลต (ไอศกรีมดัดแปลงผสม) (เครื่องหมายการค้า วอลล์ มอ ซอฟท์ คุกกี้ แซนด์วิช) 10-3-08945-1-0096 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551



    - ไอซ์คอนเฟคชัน กลิ่นวานิลลา ประกบด้วยบิสกิต รสช็อกโกแลต (ไอศกรีมดัดแปลงผสม) (เครื่องหมายการค้า มอ ซอฟท์ คุกกี้ แซนด์วิช) 10-3-08945-1-0095 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551






  5. บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด



    - นมขาดมันเนย พาสเจอร์ไรส์ ตราดัชมิลล์ 73-1-17929-1-0179 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - นมสดพาสเจอร์ไรส์ ตราดัชมิลล์ 73-1-17929-1-0142 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - นมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ รสหวาน ตราดัชมิลล์ 73-1-17929-1-0141 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - นมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ รสช็อกโกแลต-มอลต์ ตราดัชมิลล์ 73-1-17929-1-0166 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - นมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ รสกาแฟ ตราดัชมิลล์ 73-1-17929-1-0014 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - นมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ รสโกโก้ ตราดัชมิลล์ 73-1-17929-1-0140 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - นมปรุงแต่งพาสเจอร์ไรส์ กลิ่นสตรอเบอรี่ ตราดัชมิลล์ 73-1-17929-1-0012 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - นมสดพร่องมันเนย พาสเจอร์ไรส์ รสกาแฟ ตราดัชมิลล์ 73-1-17929-1-0137 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - โยเกิร์ตผสมสตรอเบอรี่ (แคลเซียมสูง) ตราดัชชี่ 73-1-17929-1-0018 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - โยเกิร์ตผสมน้ำผึ้งและเลมอน (แคลเซียมสูงและมีวิตามิน) ตราดัชชี่ 73-1-17929-1-0167 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    - โยเกิร์ตผสมวุ้นมะพร้าว (แคลเซียมสูง) ตราดัชชี่ 73-1-17929-1-0019 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551






  6. บริษัท ดูเม็กซ์ จำกัด



    - นมดัดแปลงสำหรับทารก (ดูเม็กซ์ ไฮคิว เนเชอรัล ชีลด์ เครื่องหมายการค้า) 11-1-02623-1-0101 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



    -นมดัดแปลงสำหรับทารก (ดูแลค เครื่องหมาย การค้า) 11-1-02623-1-011 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551



ประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2551




  1. น้ำนมถั่วเหลือง ยูเอชที ไวตามิลค์




  2. กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม ตราเนสกาแฟเอสเปรสโซ




  3. แคดเบอรี่ไทม์ เอ๊าต์ ช็อกเก็ตส์ ช็อกโกแลตนมสอดไส้ชิ้นเวเฟอร์ครีมรสช็อกโกแลต




  4. ช็อกโกแลตนมผสมลูกเกดและนัต ตราแวนฮูเต็น




  5. ซอสถั่วเหลือง ตราคิดโคแมน




  6. ซูซิ แอนด์ ซาซิมิ ซอยซอส (ซอสถั่วเหลือง) ตราคิดโคแมน




  7. สไปซี่ เทอริยากิ ซอส (ซอสสำหรับหมัก) ตราคิดโคแมน




  8. เทมปุระ แอนด์ นู้ดเดิ้ลซอส (ซอสสำหรับบะหมี่และเทมปุระ) ตราคิดโคแมน




  9. นมผง(ละเอียดสีขาว)ระบุ"ตัวอย่างนมผง" จาก บ. ซีพี-เมจิ จำกัด




  10. โยเกิร์ตพร้อมดื่ม รสผักผลไม้ผสม ตราดัชมิลล์




  11. โยเกิร์ตพร้อมดื่ม รสพรุน ตราดัชมิลล์




  12. โยเกิร์ตผสมธัญญาหารและใยอาหารสูงไม่มีไขมัน ไม่มีโคเลสเตอรอล ตราดัชชี่




  13. โยเกิร์ตผสมบุก ตรา ดัชชี่ 0% ไม่มีไขมัน ไม่มีโคเลสเตอรอล




  14. นมถั่วเหลือง ยู เอช ที ผสมผงสกัดใบแป๊ะก้วย เครื่องหมายการค้า แอนลีน




  15. ผลิตภัณฑ์นม ยู เอส ที รสจืด สูตรผสมน้ำมันสกัดที่ให้ ดี เอช เอ และ เออาร์เอเครื่องหมายการค้า อะเล็คต้า-เอ็นเอฟ




  16. ผลิตภัณฑ์นม ยู เอช ที รสจืด สูตรผสมน้ำมันสกัด จากสาหร่ายเซลล์เดียวเครื่องหมายการค้า เอนฟาคิตเอน




  17. ดับเบิลค์ มิลค์ รสนม ตรา ที-สไตล์




  18. ดูเม็กซ์ไฮคิว3พลัส เนเชอรัลโพรเทก นมปรุงแต่งกลิ่นวานิลลายูเอชที




  19. นมผงปรุงแต่งรสน้ำผึ้งสูตรผสมใยอาหาร 2% และผักโขมกับแอปเปิล ตราคาร์เนชัน วัน พลัส เครื่องหมายการค้าเนสท์เล่




  20. นมผงปรุงแต่งกลิ่นวานิลลา สูตรผสมใยอาหาร 2% และผักโขมกับแอปเปิลตราคาร์เนชัน ทรี พลัส เครื่องหมายการค้าเนสท์เล่




  21. นมผงปรุงแต่งรสน้ำผึ้ง ตราหมีแอดวานซ์พรีไบโอวัน วันพลัส สำหรับเด็ก 1ปี ขึ้นไปและทุกคนในครอบครัว เครื่องหมายการค้าเนสท์เล่




  22. LactoseบรรจุถุงพลาสติกRaw material Sample for analysis RM Name Lactose




  23. นมผงบรรจุถุงพลาสติก RM name SBMP(sweet butter milk powder)




  24. นมผงบรรจุถุงพลาสติกใส RM Name MSK(Skim milk powder)




  25. นมผงปรุงแต่งกลิ่นวานิลลา ตราหมีโพรเท็กซ์ชัน วันพลัส พรีไบโอวันแล็กโทบาซิลลัสโพรเท็กซ์ทัส เหมาะสำหรับเด็ก1ปีขึ้นไป และทุกคนในครอบครัว




  26. นมผงปรุงแต่งรสจืดกลิ่นวานิลลา ตราหมีแอดวานซ์พรีไบโอวัน วันพลัส สำหรับเด็ก1ปีขึ้นไปและทุกคนในครอบครัว




  27. นมผงปรุงแต่งกลิ่นวานิลลาสูตรผสมใยอาหาร 2% และผักโขมกับแอปเปิล ตราคาร์เนชัน วันพลัส




  28. นมผงดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง สำหรับทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่6เดือนถึง3ปี ตราหมีพรีไบโอ1




  29. นมผงดัดแปลงสำหรับทารกเสริมธาตุเหล็กพรีไบโอ1 กอส-ฟอสไฟเบอร์ ดีเอชเอพลัส เออาร์เอ ตราแล็คโตเย่น1




  30. นมผงดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กเสริมธาตุเหล็ก ตราแนน2บิพิดัส บีแอล ออฟติโปร2ดีเอชเอ พลัส เออาร์เอ นิวคลีโอไทด์ ทอรีน




  31. NZMP Buttermilk Powder (Fonterra) Product of New Zealand.




  32. นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ช่วงวัยที่ 1 สำหรับทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง1ปี เอนฟาแล็ค




  33. คอฟฟี่ โอทมีล แครกเกอร์ (ขนมปังกรอบและข้าวโอ๊ตรสกาแฟ ตราเหมาฮวด )




  34. ดีลักซ์ แซนด์วิช พีนัตบัตเตอร์ (ขนมปังกรอบรสผักไส้ครีมเนยถั่ว) ตราฮับเส็ง




  35. ผลิตภัณฑ์นมคืนรูปขาดมันเนยยูเอชทีผสมน้ำส้ม ตราโฟร์โมสต์ แคลซีเม็กซ์ บิวตีวา




  36. ผลิตภัณฑ์นมขาดมันเนยยูเอชที ตราโฟร์โมสต์ แคลซีเม็กซ์ เฮลติ โบนซ์




  37. โอวัลติน ผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์รสมอลต์ช็อกโกแลตสูตรไฮไนน์




  38. ซุปถั่วเหลืองกึ่งสำเร็จรูป ผสมธัญพืชรวม ตรากรีนแม็กซ์




  39. ชีสนัตแครกเกอร์ขนมปังกรอบรสชีสและถั่ว ตราเหมาฮวด (นมพร่องมันเนย2.64% )




  40. โคโคโร ช็อกโกแลตเวเฟอร์ สอดไส้ครีมกลิ่นวานิลลา (เครื่องหมายการค้าจูลี่ส์)




  41. MiNi Cornetto วอลล์มินิคอร์นเนตโต ไอศกรีมดัดแปลงผสมกลิ่นมินต์ราดหน้าด้วยน้ำเชื่อมรสช็อกโกแลตชิป




  42. ขนมปังกรอบเคลีอบครีมกลิ่นนม ตรา เซียงไฮ




  43. นมถั่วเหลืองยูเอชที เครื่องหมายการค้าแลคตาซอย




  44. ลูกอมช็อกโกแลตนม (ตราแบร์ดี้)




  45. ขนมหวานรสโกโก้ ตราแทงโก




  46. นมผงดัดแปลงสำหรับทารก เครื่องหมายการค้า เอส-26*




  47. NUO(INSTANT MODIFIED POWDERED MILK FOR INFANT)(SNOWBRAND)




  48. นมผงดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี ชนิดละลายทันที สูตร 2 นูโอ-พลัส (เครื่องหมายการค้าสโนว์ แบรนด์)




  49. นมผงดัดแปลงสำหรับทารกชนิดละลายทันทีสูตร1สำหรับทารก ตั้งแต่แรกเกิดถึง1ปี นูโอ (เครื่องหมายการค้าสโนว์แบรนด์)




  50. ผลิตภัณฑ์นมชนิดละลายทันที สูตร 3 ผลิตภัณฑ์นมชนิดละลายทันที สำหรับเด็กวัย1ปีขึ้นไปและทุกคนในครอบครัวนูโอ-คิดส์(เครื่องหมายการค้าสโนว์แบรนด์)




  51. นมข้นแปลงไขมันหวานสูตรน้ำมันปาล์มผสมมันเนย ตรามะลิ (นมผงขาดมันเนย20%)




  52. Foster Farms DaIry NON FAT DRY MILK MADE FROM PASTEURIZED MILK




  53. Skimmed Milk Powder




  54. ผลิตภัณฑ์ของนมคืนรูปพาสเจอร์ไรส์ รสช็อกโกแลต ตราไมโล




  55. เครื่องดื่มนมไขมันต่ำผสมชาขาวตรา หมีโกลด์




  56. นมสเตอริไลส์ขาดมันเนย ตรา หมี




ประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2551




  1. ขนมปังกรอบรสช็อกโกแลต ชนิดแผ่นบาง ตราโอเค

    วันหมดอายุ : 01.08.2009



  2. ขนมปังกรอบรสชีส ชนิดแผ่นบาง ตราโอเค

    วันหมดอายุ : 01.08.2009



  3. ขนมปังกรอบรสนม ชนิดแผ่นบาง ตราโอเค

    วันหมดอายุ : 01.08.2009



  4. นมโค บริษัท เอสแอนด์ พี ซินเดเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : หัวนมผง ตาตูล่า FULL CREAM MILK POWDER

    วันหมดอายุ : EXP 01/10



  5. นมโค บริษัท เอสแอนด์ พี ซินเดเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : หางนมผง Sungold SKIM MILK POWDER

    วันหมดอายุ : EXP 11/09



  6. แป้ง/ผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสแอนด์ พี ซินเดเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : แป้งสาลี ตราแต้มทอง



  7. แป้ง/ผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสแอนด์ พี ซินเดเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : แป้งกิเลนแดง



  8. แป้ง/ผลิตภัณฑ์ บริษัท เอสแอนด์ พี ซินเดเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : แป้งสาลี FM ดาว



  9. เนย บริษัท เอสแอนด์ พี ซินเดเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : เนยเค็ม ตราอลาวรีชนิดเค็ม



  10. เนย บริษัท เอสแอนด์ พี ซินเดเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : เนยชนิดเค็ม ตราออร์คิด วันหมดอายุ : EXP290509



  11. บริษัท เอสแอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : คุกกี้เนย บรรจุกระป๋อง วันหมดอายุ : 130309 AA370918



  12. บริษัท เอสแอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : คุกกี้นม(MILK COOKIGS) บรรจุกล่องโลหะสี่เหลี่ยมจตุรัส วันหมดอายุ : 250909 BH542220



  13. บริษัท เอสแอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : คุกกี้เนย(BUTTER COOKIES) DISNEYบรรจุกล่องโลหะสี่เหลี่ยมผืนผ้า วันหมดอายุ : 200309 BH462254



  14. บริษัท เอสแอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : คุกกี้เนย(MILK COOKIES) DISNEY บรรจุกล่องโลหะสี่เหลี่ยมผืนผ้า หมดอายุ : 210309 BH460007



  15. บริษัท เอสแอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : คุกกี้คลาสสิกรสนม เดลิโอ บาย เอสแอนด์พี (Butter Cookies Classic Style Delio By S&P) บรรจุซองMetaliteสีแดง



  16. บริษัท เอสแอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : คุกกี้ ALMOND บรรจุซองMetaliteสีเงิน 17.บริษัท เอสแอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ชื่อผลิตภัณฑ์ : คุกกี้ CHOC-CHIP บรรจุซอง Metalite สีเงิน




[ ... ]

Monday, October 13, 2008

เด็กๆก็เป็น เบาหวานได้

เด็กๆก็เป็น เบาหวานได้

“ตอนแรก เราคิดว่า ลูกป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่” “คุณครูบอกว่า สงสัยลูกจะมีปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะเห็น เข้าห้องน้ำบ่อยๆ และหิวน้ำตลอดเวลา” “ลูกบ่นว่า รู้สึกเพลียและ เริ่มมีน้ำหนักลดลง เราคิดว่าลูกคร่ำเคร่ง เรื่องการสอบ หรือ ว่ากลัวอ้วน จึงพยายามลดน้ำหนัก”


โรคเบาหวานนั้นเป็นได้กับเด็ก ไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นแต่กับผู้ใหญ่เท่านั้น โดยอาการแสดงของเบาหวานในเด็ก ในช่วงแรกนั้น มักจะไม่มีอาการจำเพาะให้เห็นแตกต่างไปจากโรคอื่นๆ ที่พบบ่อยในเด็ก ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ หลายคนอาจจะ ไม่ได้นึกถึงว่าอาการต่างๆ ที่ลูกกำลังเป็นอยู่ นี้แหละคือ อาการของเบาหวานในเด็กนั่นเอง


อุบัติการณ์ ของเบาหวาน ทั้งในเด็ก แล ะในผู้ใหญ่นั้น เพิ่มมากขึ้นทุกปี ด้วยเหตุผลบางอย่าง ที่ทางการแพทย์ยังไม่เข้าใจแน่ชัด ว่าอะไรเป็นตัวการที่ทำให้มีคนไข้ เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น


ปัจจุบันนี้พบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวาน มีทั้งด้านกรรมพันธุ์ และ ปัจจัยอื่นๆ ทั้งสภาพแวดล้อม และ วิธีการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร, การได้รับสารพิษ, การติดเชื้อบางอย่าง โดยเฉพาะไวรัส และ การไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

โดยปกติร่างกายคนเรา จะมีการควบคุมระดับน้ำตาล ในกระแสเลือด และ มีการนำน้ำตาลกลูโคส ที่ได้จากการย่อยอาหารที่ทานเข้าไป นำไปใช้ เป็นพลังงาน ในเซลล์ต่างๆ โดยมีฮอร์โมน อินสุลิน ที่สร้างโดย เบต้าเซลล์ที่ตับอ่อน เป็นตัวหลักสำคัญในการควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาลกลูโคส ในกระแสเลือดและการนำกลูโคส เข้าสู่เซลล์

ถ้าขาดอินสุลิน หรือ มีอินสุลินไม่พอที่เซลล์ต่างๆ จะใช้ในการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ ก็จะทำให้การทำงานของเซลล์ต่างๆในร่างกายแปรปรวน เกิดภาวะเป็นกรดขึ้นในร่างกาย และ มีสารคีโตน ซึ่งเป็นสารตัวกลางของการทำงาน ในเซลล์ สะสมในกระแสเลือดมากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดที่ขึ้นสูง ทำให้เลือดข้นขึ้น การไหลเวียนของเลือด ก็เริ่มผิดปกติ ปัสสาวะจะออกมาก (ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย) แต่ระดับน้ำตาลกลูโคสในเซลล์ต่างๆ กลับต่ำ ทำให้เซลล์ต่างๆ ส่งสัญญาณว่า ยัง “หิว” ทำให้คนไข้ ยังทานอาหารได้ตลอดเวลา, และ ดื่มน้ำมาก เพราะสูญเสียน้ำจากการที่ปัสสาวะออกมาก ซึ่งเป็นอาการเด่นของคนที่เป็นโรคเบาหวาน


โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออก เป็น 2 แบบ ตามที่คนทั่วไปรู้จักกันดี คือ


1. โรคเบาหวานที่พบในเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ต้องพึ่งพาอินสุลินในการรักษา (insulin-dependent diabetes mellitus, type 1 diabetes) ต่างจากเบาหวานในผู้ใหญ่ บ้างพอสมควร เนื่องจาก เบาหวานในเด็ก มักจะเป็นชนิดที่เกิด จากการขาดอินสุลิน เพราะ เกิดการทำลายเบต้าเซลล์ ที่มีอยู่ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ สร้างอินสุลิน ทำให้ไม่สามารถสร้าง อินสุลินออกมา ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การรักษาจึงต้องทำการฉีดอินสุลินเพื่อช่วย ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ ใกล้เคียงสภาวะปกติ ไม่สามารถใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ชนิดรับประทานได้




2. โรคเบาหวานที่พบในผู้ใหญ่ หรือ ที่เรียกกันว่า เบาหวานแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาอินสุลิน (Non-insulin-dependent diabetes mellitus, NIDDM, type 2 diabetes) ส่วนใหญ่จะเกิด จากการที่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไม่ตอบสนอง ต่ออินสุลินได้ดีเหมือนอย่างเคย มักจะพบ ในคนอายุ 40 ปี ขึ้นไป ที่ค่อนข้างอ้วน และการรักษาในรายที่เพิ่งเริ่มเป็น ก็จะใช้เพียง การปรับเปลี่ยนอาหาร และ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเป็นมากขึ้น ก็อาจใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาล ชนิดรับประทานได้ ยกเว้น ในบางรายที่มีระดับน้ำตาลค่อนข้างสูง ควบคุมยาก ก็อาจจะต้องอาศัยการฉีด อินสุลินร่วมด้วย

อาการแสดงของโรคเบาหวาน ในเด็กก็มักจะแตกต่าง จากของผู้ใหญ่ เนื่องจากคุณพ่อ คุณแม่ หลายคนอาจจะคิดว่า เด็กไม่ป่วยเป็นเบาหวาน และอาการของเด็กที่เป็นเบาหวาน ก็มักจะไม่มีอาการจำเพาะที่แตกต่างเป็นพิเศษจากโรคที่พบบ่อยอื่นๆ ทำให้บางครั้ง ผู้ดูแลก็อาจจะไม่ทันได้นึกถึงว่าเด็กก็เป็นเบาหวานได้


คุณพ่อ คุณแม่จึงควรจะทำความรู้จักกับอาการแสดงของโรคเบาหวานในเด็ก และคอยสอดส่องดูว่าลูกจะมีอาการที่ชวนให้นึกถึงว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ดังนี้ คือ


1. ลูกชอบดื่มน้ำมาก ถึงขั้น “ กระหายน้ำ ” บ่อยๆ, ปัสสาวะบ่อย, และ มี น้ำหนักตัวลดลง แม้ว่าดูเหมือน จะหิวบ่อย และ ทานอาหาร ได้ดี


2. ควรนึกถึงโรคเบาหวานในเด็ก ในรายที่เคยควบคุมการปัสสาวะได้ดีแล้ว แต่กลับมาควบคุมการปัสสาวะไม่ได้อีก โดยเฉพาะการปัสสาวะรดที่นอนในเวลากลางคืนในเด็กโตที่เคย “ แห้ง ” ในเวลากลางคืนมานานแล้ว





3. ในเด็กผู้หญิง บางครั้งอาจจะมีปัญหาการ ติดเชื้อรา ในบริเวณช่องคลอด, ขาหนีบ คัน หรือ มีตกขาวนิดหน่อย

4. พบว่าอาการแรกของโรคเบาหวานในเด็ก ที่นำให้มาพบแพทย์ (พบประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเบาหวาน ในเด็ก) ก็คือ อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงมากในขนาดที่จะเป็นอันตราย และมีภาวะเป็นกรด และมีสารคีโตนคั่งในกระแสเลือดที่เรียกว่า diabetic ketoacidosis ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และ อาจมีไข้ร่วมด้วยทำให้อาจเข้าใจผิดว่าเด็กป่วย เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือ ไส้ติ่งอักเสบ หรือ ไวรัสลงกระเพาะ ฯลฯ ในรายที่รุนแรงก็จะพบว่าเด็กจะเริ่มซึมลงมีการหายใจ หอบลึก จากภาวะเลือดเป็นกรดมากขึ้น และมีกลิ่นของลมหายใจ ที่เป็นกลิ่นลักษณะพิเศษ และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันการณ์ก็จะหมดสติ (โคม่า) และเสียชีวิตได้


ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ สงสัยว่าลูกอาจจะมีอาการของโรคเบาหวาน แพทย์สามารถทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าลูกเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ โดยการตรวจปัสสาวะ และ/หรือ เลือด เพื่อดูระดับน้ำตาล และระดับของสารคีโตน ว่าสูงผิดปกติมากน้อยแค่ไหน และประเมินความรุนแรงของการดำเนินโรคในคนไข้รายที่มีภาวะ diabetic ketoacidosis ที่รุนแรงก็อาจจะต้องนำคนไข้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิดในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ไอ ซี ยู, ICU ) เพื่อจะได้ ติดตามการรักษาได้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสเกิดผล แทรกซ้อนได้ง่าย จากโรคที่เป็นค่อนข้างรุนแรง


--------------------------------------------------------------------------------

นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Wednesday, 07 September 2005 )
[ ... ]

โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic Dermatitis)
โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นอย่างไร?

โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนังเป็นโรคผิวหนังอักเสบอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ลักษณะที่สำคัญของโรคคือ ผิวหนังของเด็กจะแห้งและมีอาการคันมาก นอกจากนี้ผิวหนังจะไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ทำให้มีผื่นขึ้นเป็นๆหายๆ


อาการเป็นอย่างไร?

ลักษณะของโรคที่พบแตกต่างกันตามวัยของผู้ป่วย ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมีอาการก่อนอายุ 5 ปี อาจแบ่งอาการของโรคนี้ออกเป็น 3 ช่วงอายุคือ


วัยทารก พบตั้งแต่อายุ 2-3เดือนขึ้นไป ผื่นจะขึ้นบริเวณแก้ม ด้านนอกของแขนขา ข้อมือและข้อเท้า โดยลักษณะผื่นจะเป็นตุ่มแดง คัน หรือตุ่มน้ำใส มีน้ำเหลืองเยิ้ม ต่อมาแห้งเป็นสะเก็ดกรัง อาการของโรคอาจดีขึ้นเมื่ออายุ 2-3 ปี วัยเด็กโต ผื่นจะขึ้นเป็นตุ่มหรือเป็นปื้นแดงหนาที่คอ ข้อพับต่างๆ เช่น ข้อพับของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการคันมากและเกาจนเป็นปื้นหนา วัยผู้ใหญ่ ผื่นจะเหมือนในเด็กโต แต่อาจมีผื่นที่ข้อมือและข้อเท้าร่วมด้วย ในรายที่มีอาการเป็นมาก ผื่นสามารถขึ้นได้ทั่วร่างกาย

โรคนี้เกิดจากสาเหตุอะไร? ติดต่อได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ เชื่อว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคนี้ มักมีบิดามารดาหรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด แพ้อากาศ ผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนังร่วมด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า อาหารบางชนิด สารระคายเคือง หรือไรฝุ่น จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเป็นมากขึ้น โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จึงไม่ติดต่อไปยังผู้ใกล้ชิด


ปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบขึ้นมีอะไรบ้าง?
1. การติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
2. สารระคายเคืองต่างๆ เช่น ผ้าเนื้อหนาหรือสาก ผ้าไนล่อน สบู่และแป้งบางชนิด ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
3. อากาศร้อน หรือหนาวเกินไป
4. ผู้ป่วยบางรายจะมีผื่นกำเริบขึ้น เมื่อรับประทาน นม ไข่ อาหารทะเล อาหารทอด ถั่ว เป็นต้น
5. การแพ้สารต่างๆในอากาศ เช่น ไรฝุ่น 6. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล จะทำให้อาการคันเป็นมากขึ้น



จะป้องกันและรักษาอย่างไร?
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่ทำให้อาการกำเริบเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้ปกครองควรสังเกตผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อหาปัจจัยข้างต้นที่ทำให้ผื่นมีอาการกำเริบแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น


ในทารกที่มีประวัติครอบครัวที่เสี่ยงต่อโรคนี้สูง ควรแนะนำให้ดื่มนมมารดาเพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้นมวัว ไม่รับประทานอาหารที่ทราบแน่ชัดว่าทำให้ผื่นกำเริบ
เลือกใช้เสื้อผ้าเนื้อนุ่ม โปร่ง ใส่สบาย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าแพร ไม่ควรใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ ผ้าเนื้อหนาหยาบ หรือผ้าขนหนู ควรจะซักล้างผงซักฟอกออกจากเครื่องนุ่งห่มให้สะอาด
หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด การออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่ออกมาก เช่น กีฬากลางแจ้ง
เลือกใช้สบู่อ่อนๆสำหรับเด็ก หรือสบู่ที่มีน้ำมันผสม ไม่ควรฟอกสบู่บ่อยเกินไป

2. ป้องกันผิวแห้ง โดยใช้สารเคลือบผิว เช่น โลชั่น ครีมบำรุงผิวชนิดอ่อน ทาหลังอาบน้ำทันที ไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป และไม่ควรใช้น้ำที่ร้อนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น


3. ครีมสเตียรอยด์ ทาเฉพาะผื่นที่มีอาการเห่อแดงและอักเสบ เมื่ออาการทุเลาแล้วควรหยุด ไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และไม่ควรซื้อยาประเภทนี้ใช้เอง ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้ผิวหนังบางและมีผลข้างเคียงอื่นที่เป็นอันตรายตามมา


4. ลดอาการคัน โดยรับประทานยาแก้แพ้ เพราะการเกาจะทำให้ผื่นเป็นมากขึ้นหรือเกิดแผลถลอก และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้ ข้อควรระวังในการรับประทานยาแก้แพ้นี้คือ อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน


5. ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น มีตุ่มหนอง คราบน้ำเหลือง ควรใช้ผ้าก๊อสสะอาดชุบน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือประคบแผล ครั้งละประมาณ 15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าผื่นจะแห้ง และอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย นอกจากนี้ควรรักษาสุขอนามัยส่วนตัวของผู้ป่วยให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น ตะไบอย่าให้คม ดูแลไม่ให้สกปรก


โรคนี้จะหายได้หรือไม่ ?
อาการของโรคมักเป็นเรื้อรัง โรคจะดีขึ้นและเป็นๆหายๆได้ แต่ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยอาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี ผู้ปกครองไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์



--------------------------------------------------------------------------------

โดย ชมรมแพทย์ผิวหนังเด็กแห่งประเทศไทย
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Friday, 09 September 2005 )
[ ... ]

ภูมิแพ้ในเด็ก

ภูมิแพ้ในเด็ก


คุณพ่อ คุณแม่มักจะรู้สึกว่าลูกมีอาการป่วยบ่อยๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดท้อง อาเจียนบ่อยๆ หรือ งอแงกวนบ่อยๆ ว่าเป็นจากการที่ลูกเป็นเด็กไม่แข็งแรง หรือ เป็นเด็กเลี้ยงยาก


ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาการเหล่านี้ก็มักจะเกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะไวรัสหลายชนิดที่จะมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอๆ ตามฤดูกาลที่เปลี่ยนไป แต่ก็มีบางส่วนที่อาจจะเกิดจากปัญหาภูมิแพ้ แม้ว่าปัญหาภูมิแพ้บางโรคจะมีส่วนจากกรรมพันธุ์ร่วมด้วยอย่างมาก เช่น กรณีที่คุณพ่อ คุณแม่ มีปัญหาหอบหืด ซึ่ง เป็นโรคที่เกี่ยวพันกับการแพ้ชนิดหนึ่ง ลูกก็จะมีโอกาสเกิดโรคหอบหืดได้มากกว่าครอบครัวที่ไม่มีประวัติหอบหืด แต่การแพ้สารบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงนั้นไม่ได้มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น ถ้า คุณแม่แพ้ยาเพนนิซิลิน ไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณจะต้องแพ้ยาเพนนิซิลินไปด้วย แต่ลูกอาจจะมีปัญหาภูมิแพ้แบบ ทั่วๆไปอื่นๆ เช่น แพ้อากาศ แพ้ไรฝุ่นได้


การแพ้นมวัว
เมื่อลูกเกิดปัญหาภูมิแพ้ต่อสารบางอย่างขึ้น เช่น การแพ้นมวัว ซึ่งเป็นการแพ้สารโปรตีนพิเศษบางอย่างในนมวัว เมื่อลูกทานนมวัว และ มีการย่อยสลายโปรตีนนมวัว เพื่อการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายระบบภูมิคุ้มกันของ ลูกซึ่งมีปัญหาการแพ้นมวัวนี้ ก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดไปจากปกติกล่าวคือ แทนที่จะนำสารโปรตีนที่ได้จากการย่อยนมวัว ไปใช้ในการเสริมสร้างร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันที่มีปฏิกิริยาผิดปกติไปนี้ กลับสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนนมวัวขึ้นอย่างมาก และเกิดปฏิกิริยาต่อต้านสารโปรตีนจากนมวัวขึ้นในร่างกาย ทำให้เกิดอาการบวม และอักเสบขึ้นตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ เช่น เกิดผื่นแพ้ของผิวหนังผื่นลมพิษน้ำมูก คัดจมูก หอบหืด หรือ มีปัญหาท้องอืด ท้องเสีย ถ่ายมีมูก ปนเลือด ฯลฯ แล้วแต่ความรุนแรงของการแพ้ที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อ ทารกได้รับประทานนมวัวต่อไปอีกเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ปฏิกิริยาแพ้นมวัวนี้ ยิ่งเป็นมากขึ้น แม้ว่าคุณได้หยุดการให้นมวัวไปแล้ว สักพักโดยการเปลี่ยนนม ไปเป็นนมถั่วเหลือง (Soy milk) หรือ นมวัวชนิดพิเศษ ที่ทำให้มีคุณสมบัติในการก่อให้เกิดการแพ้น้อย (Hypoallergenic, HA) แล้ว เห็นว่าอาการดีขึ้นจึงเริ่มเปลี่ยนกลับไปใช้นมวัวเหมือนเดิม ปฎิกริยาแพ้นมวัว ซึ่งยังคงอยู่ในร่างกายของลูก ก็จะกลับมาทำให้อาการแพ้นมวัว เช่น ผื่น ท้องอืด ฯลฯ กลับมาได้อีก


จึงควรทำตามที่แพทย์แนะนำให้ทานนมพิเศษสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เช่น นมถั่วเหลือง หรือ นม Hypoallergenic, HA, หรือนมสูตรพิเศษอื่นๆ ซึงแพทย์ที่ดูแลจะช่วยแนะนำเกี่ยวกับนมพิเศษต่างๆเหล่านี้ให้เหมาะสมกับปัญหาที่ลูกเป็นอยู่ และแนะนำให้ทานไปตลอด (ส่วนใหญ่จะนานเป็นปี) จนกว่าระบบภูมิคุ้มกันเรื่องการแพ้นมวัวนี้ลดน้อยลง ก็อาจจะกลับมาลองทานนมวัวได้ในภายหลัง


ลูกเป็นหวัด หรือ ภูมิแพ้ กันแน่
บางครั้งการจะพยายาม แยกให้ได้ชัดเจนว่า อาการป่วยที่ลูกกำลัง เป็นอยู่นี้ เป็นจากการ ติดเชื้อหวัด หรือ เป็นจาก ภูมิแพ้กันแน่นั้น ไม่ง่าย เพราะ อาการของ ทั้งสองโรคนี้ใกล้เคียง กันมาก แต่ ในรายละเอียดของโรคทั้งสองนี้ อาจมีความแตกต่างกันได้บ้าง ดังนี้


ระบบทางเดินหายใจส่วนบน

การติดเชื้อหวัด : อาการหวัด น้ำมูก ที่ลูกเป็นอยู่นั้น มีน้ำมูกข้น (อาจมีสีเหลือง หรือเขียว ด้วย) และอาการมักจะดีขึ้น ภายใน 1-2 สัปดาห์

ภูมิแพ้ : ภูมิแพ้อากาศ ส่วนใหญ่จะมีอาการ คัดจมูกบ้าง จาม หรือมี น้ำมูก ใสๆ อยู่เรื่อยๆ


ในบางกรณีที่ อาการแพ้เป็นค่อนข้างรุนแรง ที่เรียกว่า เป็น การแพ้แบบอนาไฟแลกซิส (Anaphylaxis) ที่อาจทำให้ผู้นั้น เกิดอาการช็อค ชีพจร เบาเร็ว และความดันโลหิตต่ำ หรือ แบบที่มีการบวมอย่างเฉียบพลันของบริเวณใบหน้า รอบริมฝีปาก และในคอที่เรียกว่า แองจิโอ-เอ็ดดีม่า (Angioedema) อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ลักษณะการแพ้แบบรุนแรง นี้ มักเกิดจากการแพ้ยาเพนนิซิลิน แพ้อาหารทะเล หรือ แพ้ถั่วลิสง ฯลฯ จึงควรรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่คลินิก หรือโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ระบบทาง เดินหายใจส่วนล่าง

หลายต่อหลายครั้ง ที่ลูกอาจมีอาการ หวัด และ ไอ ค่อนข้างมาก และ อาจมีอาการหอบด้วย ( มีเสียง วี๊ดๆ, wheezing ) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ได้ เช่น เชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), เชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV) และ เชื้อไวรัสพาราอินฟลูเอนซ่า (Parainfluenza) ซึ่งเชื้อเหล่านี้มีหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้บางครั้งจะดูเหมือนลูกมีอาการหอบได้บ่อยๆ แต่ก็มีหลายเปอร์เซนต์ (ประมาณ 15%) ที่ อาการหอบจะเกิดจากปัญหาภูมิแพ้ และมีโอกาสเป็นซ้ำบ่อยๆ จนกลายเป็นโรคหอบหืดในที่สุด ซึ่งในเด็กเหล่านี้ในตอนเล็กๆ จะมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดต่างๆได้ง่ายและ มีอาการไอ หอบอยู่นานๆ หายได้ยาก


ในบางรายอาจมีอันตรายจากการที่หลอดลม เกิดการบวม และหดตัวอย่างมาก อีกทั้งมีเสมหะเยอะมาก ทำให้หลอดลมตีบมากจนแทบจะไม่มีอากาศผ่านเข้าสู่ปอดได้ เกิดการหายใจล้มเหลวได้ ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ จะ สังเกตดูได้จากการดูอัตราการหายใจที่ค่อนข้างเร็ว ( เช่น มากกว่า 30-40 ครั้ง ต่อ นาที) หรือมีลักษณะ ซี่โครงบาน จมูกบาน อกบุ๋ม ทานนม ไม่ค่อยได้ ดูกระสับกระส่าย ถ้าลูกมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาลูกไป พบแพทย์โดยเร็วที่สุด

เรื่องของตา

อาการตาแดงนั้นอาจเกิดได้ จากการติดเชื้อหรือ จากการแพ้ ถ้ามีขี้ตาค่อนข้างมากโดยเฉพาะตอนเช้า ที่มีขี้ตาเหลืองๆ (ตาแฉะ) มักจะ เกิดจากการติดเชื้อ แต่ถ้ามีอาการ ตาแดง คันตาบ่อยๆ (ขยี้ตาบ่อยๆ) มีน้ำตาเยอะ หรือ มีขี้ตาเพียงเล็กน้อยมักเป็นจากภูมิแพ้ เช่น แพ้ฝุ่น แพ้ ละออง เกสร ฯลฯ ได้

ผื่นผิวหนัง

ผื่นในเด็กทารกนั้นพบได้บ่อยเนื่องจากผิวหนังของเด็กนั้น ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาต่อ สภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่น ผื่นกลากน้ำนม, ผื่นจุดแดงๆ เล็กๆ ตามตัว ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัญหา ภูมิแพ้แต่ผื่นเหล่านี้ ก็มักจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อลูกอายุมากขึ้นเกิน 2-3 เดือน ขึ้นไป ซึ่งในช่วงเวลา ดังกล่าว ผื่นอื่นๆ ที่ เกิดจากปัญหาภูมิแพ้ ก็จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ที่พบบ่อย คือ ผื่นเอ็กซีม่า (eczema) หรือ ที่ เรียกกันอีก ชื่อหนึ่งว่า อะโทปิก-เดอมา-ไททิส (atopic dermatitis) ซึ่ง อาจเกิดจากการแพ้สารอาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง อาหารทะเล ธัญพืชบางอย่าง ถั่วลิสง ฯลฯ ผื่นแพ้ แบบนี้ จะ เป็นผื่นหนาๆ แดง คัน มักเป็นตามแก้ม ข้อพับของแขน และขา ซอกคอ ในรายที่เป็นมากบางครั้งจะมีการ เห่อ แดง มีน้ำเหลือง ซึมๆ ออกมาด้วย ผิวส่วนอื่นๆ จะค่อนข้างแห้ง และสากๆ



ผื่นแพ้ที่เกิดจากการสัมผัส (contact dermatitis) มักจะ เกิดจากการสัมผัสกับสิ่งที่แพ้โดยตรง เช่น สบู่ น้ำหอม แป้ง หรือ ครีมทาตัว ยาง ต้นไม้ ฝุ่นปูน จากการก่อสร้าง จะมี ลักษณะเป็น แบบผื่นเอ็กซีม่าได้ เช่นกัน แต่อาจดูว่าเป็นมาก ตรงเฉพาะบริเวณผิวหนังที่ สัมผัสกับสิ่งแพ้ และมักไม่เป็นมากจนกระจายไปทั่วตัว


ผื่นแพ้แบบลมพิษ(urticaria) ก็พบได้ เช่นกัน มักจะมีอาการคันมากร่วมด้วย ในเด็กเล็ก ผื่นลมพิษ อาจจะดูเป็นเม็ดเล็กๆไม่เป็น ปื้นใหญ่ แบบในเด็กโตก็ได้

ระบบทางเดินอาหาร

แม้ว่าอาการปวดท้องอาเจียนในเด็ก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย-อาหารเป็นพิษ หรือ จากไวรัส เช่น ไวรัสลงกระเพาะ แต่อาการอาเจียน ปวดท้องที่เกิดจากการแพ้ก็สามารถพบได้ในเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะการแพ้อาหาร เช่น การแพ้ นมวัว และ แม้แต่ปัญหาภูมิแพ้ ของระบบทาง เดินหายใจบางครั้ง ก็ทำให้เด็กมีอาเจียนเป็นเสลด เหนียวๆ ได้เช่นกัน

พฤติกรรม

ในเด็กที่มีปัญหาภูมิแพ้ อาจทำให้เกิดการคัน แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก หรือบางครั้งปวดท้อง ทำให้เด็กมีลักษณะเป็นเด็กที่งอแง หงุดหงิด กวนบ่อยกลายเป็นเด็กเลี้ยงยาก จนทำให้คุณพ่อ คุณแม่เครียดขึ้นได้


นอกจากนี้ช่วงเวลาของการ เจ็บป่วยบ่อยๆ ก็อาจจะช่วยแยกได้บ้าง คือ ในช่วงหน้าฝน และหน้าหนาว ซึ่งจะมีเชื้อไวรัสหวัดหลายชนิด แพร่กระจายในชุมชน ก็ทำให้เด็กป่วยได้ค่อนข้างบ่อย แต่พอเข้าหน้าร้อนโรงเรียนปิดเทอม ไม่ค่อยมีการระบาดของเชื้อที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เด็กก็จะไม่ค่อยป่วย


ในขณะที่เรื่องของภูมิแพ้ เช่น การแพ้ไรฝุ่น หรือแพ้ฝุ่นในห้องนั้น มักจะมีอาการเป็นไปเรื่อยๆตลอดปี หรือ ในรายที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ หรือ เกสรหญ้า ก็จะมีอาการมากในช่วงที่มีดอกไม้หรือ หญ้างาม คือ ฤดูใบไม้ผลิ และหน้าฝน ได้ เช่นกัน สำหรับการแพ้สารอาหารนั้นมักจะเกิดอาการขึ้นภายในระยะเวลาไม่นาน ( ไม่กี่นาที หรือ ไม่กี่ ชั่วโมง หลังได้รับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป )



เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้จะมีการรักษาอย่างไร?
สำหรับผื่นแพ้ทางผิวหนังที่เกิดขึ้นมักจะมีความคันและผิวแห้งแตก ซึ่งมีแนวทางการรักษาตามอาการ ดังนี้

ใช้ครีมบำรุงผิวชนิดที่เตรียมสำหรับผิวที่เกิดการแพ้ได้ง่ายทาตามตัว เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังในรายที่ผื่นแพ้ ค่อนข้างมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้ครีม ที่มีส่วนผสม ของสเตอรอยด์ที่เหมาะสม กับผิวที่มีปัญหานั้นๆ ให้ทาเพื่อ ควบคุมอาการแพ้ไม่ให้ลุกลาม ซึ่งครีมยาเหล่านี้ ควรใช้ ตาม คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ทานยาแอนติฮีสตามีน หรือ ที่เรียกกันว่า ยาแก้แพ้ ซึ่งจะมีผลในการลดอาการคันได้เป็นอย่างดี แต่อาจมีผลทำให้เด็กง่วงได้บ้าง
พยายามลดการสัมผัสกับ สารก่อแพ้ ลงให้มากที่สุด เช่น ถ้าลูกแพ้ขนแมว ก็ควรจะ เลิกเลี้ยงแมว เปลี่ยนเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างอื่นแทน หรือ แพ้ไรฝุ่น และฝุ่นมาก แต่ทั้งบ้านเป็นพรม ถ้าไม่ได้แก้ไข เรื่องพรมในบ้าน ก็จะทำให้อาการแพ้ฝุ่นไม่ค่อยจะดีขึ้น แม้ว่าจะทำการรักษาอย่างเต็มที่ ถ้าสามารถหยุดการสัมผัสกับสารที่แพ้ได้ ยิ่งนานเท่าไร ( อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ) ก็มีโอกาสที่ระบบภูมิแพ้ของลูกอาจจะดีขึ้นจนไม่เกิดปฏิกิริยาอีก เมื่อกลับมาสัมผัสสารนั้นๆ เช่น ในรายที่แพ้นมวัว หรือ สารอาหารบางชนิด แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกราย ( ต้องดูเป็นรายๆ ไป )
การทำการตรวจภูมิแพ้ (Allergy testing) ในเด็กเล็กนั้น ในบางกรณี อาจจะได้ผลไม่ชัดเจนและแปลผลยาก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก ยังทำงานไม่สมบูรณ์เต็มที่ ดังนั้นคุณจึงควรเลือกที่จะลดการสัมผัสกับสารก่อแพ้ให้มากที่สุดจะดีกว่า


จะมีทางป้องกันโรคภูมิแพ้ได้อย่างไรบ้าง ?
ถ้าครอบครัวของคุณมีปัญหาภูมิแพ้คุณควรจะดูแลตนเองในระหว่างการตั้งครรภ์ตั้งแต่แรก โดยการเลี่ยงสารก่อแพ้ต่างๆ ดังนี้


หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้ แพ้ได้ง่ายๆ เช่น ถั่วลิสง ( รวมถึง เนยถั่วลิสง, คุ๊กกี้ถั่ว, ไอสครีมถั่ว) หรือ อาหารทะเลปริมาณมากๆ
พยายามให้นมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ( ถ้าทำได้ ) ในช่วงการเลี้ยงนมแม่นั้น คุณเองก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ทาน ไข่ นมวัว ถั่ว และอาหารทะเล
ถ้าคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ เนื่องจากมีน้ำนมไม่พอ หรือ ไม่สามารถทำได้ จากสาเหตุต่างๆ ก็ควรพิจารณาใช้นมที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ทำ ให้เกิดการแพ้น้อย (Hypoallergenic) เพื่อลดโอกาส เกิด ปัญหาการแพ้ ให้ลด น้อยลง
ไม่ควรให้มีการสูบบุหรี่ในบ้าน
ไม่ใช้พรม ในห้องนอน ( หรือ ทั้งบ้าน )
ใช้ ที่นอนและ เครื่องนอนที่ป้องกันไรฝุ่น
รักษาความสะอาดในบ้านให้สม่ำเสมอ พยายามให้มีฝุ่น เชื้อรา และ สารก่อแพ้ ให้น้อยที่สุด
ไม่ควรมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน ( เช่น แมว, หนูแฮมสเตอร์, นกแก้ว, นกหงส์หยก ฯลฯ ) หรือ ปลูกต้นไม้ในห้องนอน ( มีเชื้อรา ในดินได้ )

--------------------------------------------------------------------------------

นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Friday, 09 September 2005 )
[ ... ]

การดูแลเด็กที่เป็นเบาหวาน

การดูแลเด็กที่เป็นเบาหวาน


การดูแลเด็กที่เป็นเบาหวานนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ใกล้ชิดลูกจะต้องมีความรู้และใช้การสังเกตอาการต่างๆของเบาหวานในเด็ก เพื่อที่จะได้ช่วยลูกในเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับขนาดของอินสุลินที่ใช้ฉีดทุกวันให้แก่ลูก และคอยให้กำลังใจและสนับสนุนให้ลูกได้ปฎิบัติตนเหมือนเด็กปกติคนอื่นๆทั่วไป

การดูแลเด็กที่เป็นเบาหวานนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ใกล้ชิดลูกจะต้องมีความรู้และใช้การสังเกตอาการต่างๆของเบาหวานในเด็ก เพื่อที่จะได้ช่วยลูกในเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับขนาดของอินสุลินที่ใช้ฉีดทุกวันให้แก่ลูก และคอยให้กำลังใจและสนับสนุนให้ลูกได้ปฎิบัติตนเหมือนเด็กปกติคนอื่นๆทั่วไป

การรักษาอาการต่างๆของเบาหวานนั้นพอจะแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นกลุ่มอาการที่แสดงออกอย่างเฉียบพลัน และมีอันตรายต่อตัวคนไข้เอง ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัย และให้การรักษาอย่างถูกต้อง อันเกิดจากการขาดอินสุลิน ทำให้น้ำตาลกลูโคสที่เกิดขึ้นจากการย่อยอาหารนั้นไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ต่างๆได้ แม้ว่าน้ำตาลในเลือดจะสูงแต่ในเซลล์มีภาวะขาดน้ำตาล ทำให้เซลล์ต่างๆทำงานผิดปกติไป อีกทั้งระดับน้ำตาลที่สูงมากในเลือดก็จะท้นออกมาในตอนที่ไหลเวียนผ่านไต ออกมากับปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะออกมาก และทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย กระหายน้ำ ในเวลาต่อมาก็จะเกิดภาวะเลือดข้น การไหลเวียนของเลือดในอวัยวะต่างๆไม่ดีนักจนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด เริ่มเข้าสู่ระยะช็อค คนไข้จะมีอาการทางสมองด้วย เช่น อาเจียน ซึมลง และเข้าสู่โคม่า จนถึงเสียชีวิต ในที่สุด


2. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อันเกิดจากการให้อินสุลินมากเกินขนาด หรือให้อินสุลินใน ขนาดปกติ แต่เนื่องจากมีการเจ็บป่วย หรือทานอาหารไม่ได้ เช่น มีท้องเสีย อาเจียนมาก ทำให้อินสุลินที่ได้เข้าไปในร่างกายมีผลทำให้น้ำตาลเข้าสู่เซลล์ต่างได้ดี จนไม่มีน้ำตาลเหลือพอในกระแสเลือด ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่ต่ำมากก็ทำให้เซลล์ต่างๆทำงานผิดปกติได้เช่นกัน โดยเฉพาะในสมอง ทำให้คนไข้มีอาการซึมลง หมดสติ หรือถึงขั้นชักจากน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาจเสียชีวิต หรือมีสมองพิการได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
อาการของ 2 ภาวะนี้ สำหรับคนทั่วไปอาจจะแยกสาเหตุจากกันยาก และต้องใช้การตรวจทางห้องปฎิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ เพื่อดูระดับน้ำตาล เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง ได้ทันการ กล่าวคือ ถ้าเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ก็ จะต้องให้น้ำตาลกลูโคสในปริมาณที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเพิ่มอินสุลิน แต่ถ้าเป็นจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่รุนแรง ก็จะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ชดเชยภาวะขาดน้ำ และภาวะเลือดเป็นกรด และต้องปรับขนาดอินสุลินที่ให้เพิ่มขึ้น


ในระยะแรกของการเป็นเบาหวานในเด็ก อาจจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ทราบว่าจะต้องใช้อินสุลินขนาดมากน้อยเพียงไร และเรียนรู้เรื่อง


1.การตรวจปัสสาวะ หาน้ำตาลและคีโตน (คีโตน คือสารชนิดหนึ่งที่จะออกมาในปัสสาวะในรายที่มีภาวะขาดน้ำมาก)
2. การตรวจเลือด โดยการเจาะปลายนิ้ว เพื่อดูระดับน้ำตาล ในบางครั้งที่จำเป็น

3. ฝึกหัดการฉีดอินสุลิน ในเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ หรือญาติ เป็นคนฉีดให้ ในเด็กที่อายุ มากกว่า 12 ปี ก็จะสามารถฝึกให้ฉีดอินสุลินเองได้

4. เรียนรู้การปรับขนาดของอินสุลิน ผู้ที่ดูแลคนไข้เด็กที่เป็นเบาหวานจะต้องเข้าใจวิธีปรับลดหรือเพิ่มอินสุลินที่ให้ โดยอาศัยผลการตรวจปัสสาวะเป็นหลัก ต้องตรวจวันละ 4 ครั้ง คือก่อนอาหารหลัก 3 ครั้ง และก่อนนอน แต่ถ้าไม่สามารถทำได้อาจตรวจเพียงครั้งเดียวตอนเช้า โดยใช้ปัสสาวะครั้งที่ 2 ไม่ใช้ปัสสาวะที่ถ่ายครั้งแรกหลังตื่นนอน เนื่องจากเป็นปัสสาวะที่ค้างในกระเพาะปัสสาวะตลอดคืนที่สะสมน้ำตาลหลังอาหารค่ำจึงใช้ไม่ได้

การรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

รายการอาหารของผู้ป่วยเบาหวานควรจะอยู่ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม และสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ผล แพทย์และนักโภชนาการจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารตามความต้องการของร่างกาย ควรจำกัดอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง (ของหวาน , อาหารจำพวกแป้ง) เพื่อป้องกันมิให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงมากซึ่งทำให้ต้องการอินสุลินมากขึ้น แต่ในเด็กที่เป็นเบาหวาน จำเป็นต้องได้อาหารในปริมาณที่ร่างกายต้องการ เพื่อการเจริญเติบโตจนกว่าร่างกายจะเจริญเติบโตเต็มที่


--------------------------------------------------------------------------------
นพ. ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 01 August 2005 )
[ ... ]

อ้วนอันตราย ! ไม่อ้วนเอาเท่าไร ? ตอนที่ 3

การรักษาโรคอ้วน
การที่มีน้ำหนักมากเกินไปจะมีผลเสียต่อสุขภาพทางร่างกายและจิตใจได้อย่างมาก จึงควรที่จะควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมกับส่วนสูง เพศ และอายุ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้มีรูปร่างสวยงามดีขึ้นเท่านั้นแต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนต่างๆ ของโรคอ้วนตามมาอีกด้วย

การลดความอ้วนจะได้ผลดีถ้าคนอ้วนนั้นมีแรงจูงใจที่ดี มีความตั้งใจที่แน่วแน่ ได้รับความร่วมมือสนับสนุนอย่างดีจากครอบครัวและควรต้องรักษาแต่เนิ่นๆ

ในเด็กและวัยรุ่น ร่างกายกำลังเจริญเติบโต การควบคุมน้ำหนักจำเป็นต้องทำอย่างถูกต้อง จะใช้วิธีควบคุมน้ำหนักให้คงที่หรือขึ้นช้าๆ(weight control) แทนการลดน้ำหนัก(weight reduction) เมื่อเด็กสูงขึ้นน้ำหนักที่คุมไว้จะได้สัดส่วนกับส่วนสูง การลดน้ำหนักในเด็กจะทำเมื่อเด็กนั้นอ้วนมากๆ (เกิน 70% of ideal body weight for height) หรือมีผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนเท่านั้น

ควรต้องประเมินหาว่าอ้วนจากสาเหตุอะไร หากรักษาได้จำเป็นต้องรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุด้วย และต้องพยายามหาปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กนั้นยังคงอ้วนอยู่ด้วยเช่น บริโภคนิสัยของเด็กและคนในครอบครัวทัศนคติและค่านิยมของการเลี้ยงดู การออกกำลังกายและกิจวัตรประจำวัน ความเครียดหรือปัญหาที่อาจเสริมให้เด็กกินมากขึ้น เป็นต้น

หลักทั่วไปของการรักษาโรคอ้วน คือ

ควบคุมอาหาร

เพิ่มการออกกำลังกาย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

วิธีอื่นที่ใช้ในผู้ใหญ่ที่อ้วนมากๆเช่น การใช้ยา, การใช้ลวดมัดขากรรไกร, การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ ฯลฯ นั้นไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก

1. การควบคุมอาหาร

ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่จำเป็นต้องลดน้ำหนัก แต่ผู้เลี้ยงดูเด็กควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการ
ให้อาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม

ในเด็กอ้วนที่อายุ > 2 ปี ควรแนะนำให้ลดปริมาณสารอาหารบางอย่าง เช่น การจำกัดของหวาน
ลูกกวาด ช็อกโกแลต ไอศกรีม เค้ก เป็นต้น ควรนัดเด็กมาตรวจสม่ำเสมอจนกว่าจะคุมน้ำหนักได้ พ่อแม่ควรช่วยสร้างบริโภคนิสัยที่ดีให้แก่เด็กซึ่งจะช่วยป้องกันโรคอ้วนได้ ควรให้เด็กรับประทานอาหารเป็นเวลา ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรให้เด็กกินเมื่อเบื่อหรือไม่มีอะไรทำเพราะเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ไม่ดีและจะแก้ไขยากในภายหลัง ควรให้เด็กเดินหรือวิ่งเล่นแทนการนั่งเฉยๆ หรือนอนดูโทรทัศน์นานๆ

ในเด็กโตควรถือหลักดังนี้คือ

1.ไม่ลดน้ำหนักโดยการอดอาหาร เพราะการอดอาหารจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย 80% ของวัยรุ่นที่ลดน้ำหนักมากเกินไปโดยไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องมักจะมีผลแทรกซ้อน เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ท้องผูก หงุดหงิด ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง เป็นลม ควรรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ ไม่งดมื้อใดมื้อหนึ่งเพราะการงดอาหารจะทำให้เกิดความหิวและรับประทานมากขึ้นในมื้อถัดไป ในเด็กวัยเรียนควรรับประทานอาหารมื้อเช้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพราะสมองต้องใช้พลังงานมาก ถ้างดมื้อเช้าอาจทำให้สมองไม่ปลอดโปร่ง เรียนหนังสือได้ไม่เต็มที่ ถ้ารับประทานอาหารให้ได้พลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ ร่างกายจะนำไขมันที่สะสมไว้มาใช้เป็นพลังงานทำให้น้ำหนักลดลงได้ ควรลดน้ำหนักโดยการลดแคลอรีของอาหารในแต่ละมื้อลง เช่น เดิมเคยทานข้าวมื้อละ 2-3 จาน ให้ลดเหลือมื้อละ 1 จาน รับประทานผลไม้แทนขนมหวาน ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม เป็นต้น

อาหารมื้อเย็นควรรับประทานแต่น้อยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอนเพราะขณะหลับร่างกายใช้พลังงานน้อย ไม่กินจุบจิบ ไม่รับประทานของว่างระหว่างมื้อ หากหิวให้รับประทานผลไม้แทน

2.รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างการนำไปใช้ในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

อาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไขมัน ควรรับประทานแต่น้อย เพราะไขมันให้พลังงานสูงถึง 9 กิโลแคลอรี/1 กรัม เมื่อเทียบกับโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตซึ่งให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี/ 1 กรัม ควรหลีกเลี่ยงไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันที่ได้จากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เพราะจะมีคลอเรสเตอรอลสูง ควรใช้ไขมันที่ทำจากพืชแทน เช่น น้ำมันงา น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น

ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ สมองสัตว์ หนังไก่ทอด ของมันจัด

ใช้วิธีการอบ นึ่ง ย่าง แทนการทอดและการผัดอาหาร

หลีกเลี่ยงของหวาน เช่น ช็อกโกแลต ทอฟฟี่ ขนมหวาน น้ำอัดลม

รับประทานอาหารที่มีกากมาก ให้แคลอรีต่ำ มีวิตามินและเกลือแร่สูง เช่น ผักและผลไม้ให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัดและให้พลังงานสูง เช่น ทุเรียน ลำไย มะม่วงสุก ลิ้นจี่

รับประทานผลไม้ที่ให้พลังงานน้อย เช่น ฝรั่ง ส้ม มะละกอ สับปะรด

อาหารจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ควรรับประทานในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเผาผลาญโปรตีนที่มีอยู่ในร่างกาย
ไม่ดื่มเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด

2.เพิ่มการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายและการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นทุกชนิดจะช่วยในการเผาผลาญพลังงานที่มีอยู่ในร่างกาย นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย

กิจวัตรประจำวันบางอย่างควรเปลี่ยนเพื่อให้ร่างกายได้ใช้พลังงานมากขึ้น เช่น เดินขึ้นลงทางบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ใช้การเดินแทนการใช้รถถ้าระยะทางไม่ไกลนัก การทำงานบ้าน เช่น ซักผ้า รีดผ้า ถูบ้าน กวาดถนน รดน้ำต้นไม้ ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดี

การออกกำลังกายแต่พอควรไม่หักโหมและทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง
และยังช่วยควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย

การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคนอ้วน คือ ว่ายน้ำ เดินเร็ว ถีบจักรยาน เป็นต้น หากอ้วนมากหรือมีอาการปวดข้อควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ทำให้มีการกระแทรกของข้อสูง เช่น กระโดดเชือก วิ่งแข่ง


3.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เป็นการเปลี่ยนสุขนิสัยในการบริโภคและการออกกำลังกายเสียใหม่ โดยใช้วิธีการควบคุมตนเอง (Self monitoring) เป็นการช่วยประเมินการกินและการออกกำลังกายของเด็กอ้วน โดยการใช้การจดบันทึกอย่างละเอียดทั้งวัน เวลา สถานที่ ปริมาณ และชนิดของอาหารที่กินรวมทั้งอารมณ์และกิจกรรมอื่นที่ทำขณะนั้น เมื่อจดบันทึกไประยะหนึ่งผู้ป่วยจะมีการระมัดระวังการกินอาหารมากขึ้น และยังใช้ในการติดตามการรักษาได้ด้วย

การควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus control ) เป็นการปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการบริโภคอาหาร เช่น ไม่ซื้ออาหารหวานเข้าบ้าน จำกัดเวลาและสถานที่ในการกินอาหาร ไม่กินขณะดูโทรทัศน์ หลีกเลี่ยงการไปงานเลี้ยงบ่อยๆ เลิกนิสัยการกินที่ทำเป็นกิจวัตร เช่น ตักข้าวพูนจาน เป็นต้น

การส่งเสริมให้กำลังใจ (Reinforcement) การให้รางวัล คำชมเชย จะทำให้พฤติกรรมที่พยายามลดน้ำหนักคงอยู่และมีกำลังใจที่จะทำต่อไป

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะได้ผลดีต้องให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วม(Family-oriented approach) ควรให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายที่ถูกต้อง และควรดูแลร่วมกันเป็นทีระหว่างนักโภชนาการ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และแพทย์ เพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น


สรุป :

การป้องกันโรคอ้วนในเด็กเป็นสิ่งที่บุคคลากรทางการแพทย์และคุณพ่อคุณแม่รวมทั้งคุณครูที่โรงเรียนทุกคนต้องร่วมมือกันเพราะโรคอ้วนในเด็กมีอุบัติการสูงขึ้น ผลแทรกซ้อนระยะยาวของโรคอ้วนในเด็กซึ่งจะแสดงให้เห็นชัดในวัยผู้ใหญ่มีมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ร่วมกับการรักษาโรคอ้วนที่ยังไม่ได้ผลดีนัก จึงควรให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการสร้างบริโภคนิสัยที่ถูกต้องรวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรมีการติดตามการเจริญเติบโตของเด็กเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคอ้วน น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมในการป้องกันโรคอ้วนในเด็กอันจะนำมาซึ่งการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆที่จะตามมาในวัยผู้ใหญ่ต่อไป



--------------------------------------------------------------------------------

พ.ญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม
[ ... ]

อ้วนอันตราย ! ไม่อ้วนเอาเท่าไร ? ตอนที่2

ผลเสียของโรคอ้วน

โรคอ้วนนอกจากจะมีผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจในวัยเด็กแล้วยังมีผลเสียระยะยาวสืบเนื่องต่อไปในวัยผู้ใหญ่ด้วยคนอ้วนมากๆมีโอกาสตายและเกิดผลกระทบจากโรคของระบบหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนปกติ

เนื่องจากคนอ้วนจะมีไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะกรดไขมันอิสระและไตรกรีเซอไรด์ซึ่งจะไปสะสมตามผนังของหลอดเลือดทั่วร่างกายทำให้เส้นเลือดตีบหรืออุดตันและเกิดโรคของอวัยวะต่างๆตามมา ไขมันที่สะสมตามผนังหลอดเลือดทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไปเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ง่าย ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ถ้าเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรืออุดตันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวาย ถ้าความดันโลหิตสูงมากอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตกเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต ถ้าเส้นเลือดไปเลี้ยงไตตีบตันจะทำให้ไตทำงานได้ไม่เต็มที่ อัตราการตายจากหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุการตายที่พบมากที่สุดในคนอ้วน

นอกจากนี้คนอ้วนจะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ เดินหรือวิ่งเพียงเล็กน้อยก็เหนื่อยเพราะไขมันที่สะสมในทรวงอก ช่องปอด ช่องท้อง จะทำให้การหายใจเป็นไปได้ไม่เต็มที่ ซึ่งในคนที่อ้วนมากแบบอันตราย(morbid obesity) ในเวลานอนอาจเกิดการหยุดหายใจในขณะหลับ (sleep apnea) และเสียชีวิตได้เพราะขาดออกซิเจน จากการหายใจไม่เพียงพอ นอกจากนี้คนอ้วนมักเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ ได้ง่ายและบ่อยกว่าคนปกติ และใช้เวลาในการรักษาแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติอีกด้วย

โรคกระดูกและข้อ :

เนื่องจากต้องรับน้ำหนักมากเกือบตลอดเวลาทำให้เกิดการอักเสบและเสื่อมของข้อต่างๆ โดยเฉพาะข้อเข่า ข้อเท้า และข้อสะโพก เกิดอาการปวดของข้อต่างๆ ขณะเดินและวิ่ง ในเด็กบางรายจะพบความผิดปกติของเข่าเป็นเข่าชิดกัน(knock knee), บางรายมีขาโก่ง(bowleg) เพราะรับน้ำหนักมาก ในเด็กที่กำลังเข้าวัยรุ่นอาจเกิดการเสื่อมของส่วนหัวกระดูกสะโพก ทำให้มีการขาดเลือดมาเลี้ยง และเกิดพิการได้


โรคของผิวหนัง :

คนอ้วนมักจะมีเหงื่อออกมากจะเกิดความอับชื้นของผิวหนัง โดยเฉพาะตามซอกคอ ซอกขา และข้อพับต่างๆ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ผิวหนังบริเวณที่มีการเสียดสีขณะเคลื่อนไหวจะเกิดการอักเสบได้บ่อย 50% ของเด็กที่อ้วนมากๆ จะพบว่าผิวหนังที่ต้นคอหรือรักแร้เป็นสีดำคล้ำ ซึ่งมักพบร่วมกับภาวะเบาหวานที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาฉีด insulin

โรคของระบบต่อมไร้ท่อ :

โรคเบาหวานพบได้น้อยในเด็กที่อ้วน ในเด็กอ้วนบางคนอาจมีปัญหาระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (glucose intolerance) ได้ ในคนอ้วนจะมีการหลั่ง insulin ออกมามากกว่าปกติร่างกายอยู่ในภาวะดื้อต่อ insulin (insulin resistant) ในผู้ใหญ่ที่อ้วนมากและอ้วนมานานจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน(noninsulin dependent diabetes mellitus) ได้สูงกว่าคนปกติ และในผู้ป่วยหลายรายถ้าลดน้ำหนักลงได้โรคเบาหวานจะหายไป

ในผู้หญิงที่อ้วนอาจพบว่าเริ่มมีประจำเดือนตอนอายุน้อย, หรือเข้าสู่ระยะวัยหมดประจำเดือนช้าและมีประจำเดือนโดยไม่มีการตกของไข่ที่สัมพันธ์กันในรอบเดือน

ในผู้ชายอาจมีการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และมีเชื้ออสุจิน้อย

นอกจากนี้อาจพบการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอื่นอีกหลายชนิด เช่น ฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต (Growth hormone) เป็นต้น

ภาวะไขมันในร่างกายผิดปกติ :

ในคนอ้วนจะมีระดับไขมันตัวร้ายเช่น Triglyceride, LDL-cholesterol เพิ่มขึ้น ส่วนไขมันที่ดีเช่น HDL-cholesterol ลดลง



โรคมะเร็ง :

เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน จะมีโอกาสตายจากโรคมะเร็งสูงกว่าคนปกติ
ผู้ชายอ้วนจะตายจากมะเร็งของลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมากมากกว่าคนปกติ
ผู้หญิงที่อ้วนจะมีโอกาสตายจากมะเร็งของผนังมดลูก เต้านม และถุงน้ำดีมากกว่าคนปกติ

ผลเสียทางจิตใจและสังคม :

เด็กที่อ้วนมักโดนเพื่อนแกล้งหรือล้อเลียน เกิดความอายรูปร่าง ขาดความมั่นใจตนเอง มักไม่ได้รับเลือกให้เล่นเกมหรือเป็นตัวแทนของกลุ่ม เพราะมักจะอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่อยากไปโรงเรียน เมื่อเข้าวัยรุ่นจะกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนมากขึ้นเกิดปมด้อย ขาดความมั่นใจและเสียความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง มีผลเสียต่อการสร้างบุคลิกภาพและเอกลักษณ์ มักกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนและไม่เป็นที่สนใจของเพื่อนต่างเพศ ทำให้แยกตัว และในบางคนอาจวิตกกังวลมากเกิดอาการซึมเศร้าและกินมากขึ้น


การป้องกัน
เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ที่อ้วนเริ่มอ้วนมา
ตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนมีมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ร่วมกับการรักษาโรคอ้วนในผู้ใหญ่ที่ได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนัก การป้องกันไม่ให้เกิดโรคอ้วนในเด็กอย่างมีประสิทธิภาพน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้ โดยการให้ความรู้แก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงปัญหาและร่วมมือกันในการป้องกัน

1.ให้มีการติดตามการเจริญเติบโตในเด็กเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ :

ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงทุกครั้งที่มารับการตรวจสุขภาพเด็กตามวัย และดูอัตราการเพิ่มน้ำหนักในแต่ละช่วงอายุว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ จะช่วยให้เห็นแนวโน้มว่าเด็กจะเป็นโรคอ้วนหรือไม่แต่เนิ่นๆ โดยอัตราการเจริญเติบโตในเด็กวัยทารกคือ น้ำหนักจะเป็น 2,3, 4 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด เมื่ออายุ 5, 12 , 24 เดือนตามลำดับ ส่วนในเด็กวัยก่อนเรียนน้ำหนักควรเพิ่มปีละ 2-2.5 กิโลกรัม เด็กวัยเรียนน้ำหนักเพิ่มปีละ 3.5-4 กิโลกรัม

ในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนคือมีบิดาและหรือมารดาเป็นโรคอ้วนควรต้องมีการติดตามใกล้ชิด และให้ความรู้แก่บิดามารดาเกี่ยวกับโรคอ้วนและผลแทรกซ้อน การเลือกอาหารที่เหมาะสมรวมทั้งการออกกำลังกายที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอและร่วมมือกันทั้งครอบครัวเพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่

2. การให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการและบริโภคนิสัยที่ถูกต้อง :

ค่านิยมของสังคมไทยที่ว่า “เด็กอ้วนดี เด็กอ้วนน่ารัก” ทำให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ปกครองพยายามยัดเยียด ให้ลูกรับประทานให้มาก และด้วยความเชื่อที่ว่า “เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะหายอ้วนเอง” ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็ก ดังที่ทราบแล้วว่าถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ที่เป็นโรคอ้วนและมีพ่อหรือแม่อ้วนจะมีโอกาสโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และถ้าหลังอายุ 6 ปีแล้วยังคงเป็นโรคอ้วนอยู่ โอกาสที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนมีมากถึง 50% เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ร่วมมือในการฝึกบริโภคนิสัยที่ถูกต้องแก่เด็ก โดย


ให้นมหรืออาหารเสริมในปริมาณที่เหมาะสมเมื่อเวลาเด็กหิวเท่านั้น อย่าให้รับประทาน พร่ำเพรื่อ

ถ้าเด็กไม่หิวอย่ายัดเยียด หรือบังคับให้กินให้หมดตามปริมาณที่กะให้ เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการอาหารไม่เท่ากัน

หลีกเลี่ยงอาหารหวาน รวมทั้งลูกอม ทอฟฟี่ และช็อกโกแลต

ไม่ใช้อาหารหรือขนมหวานมาเป็นรางวัลในการทำกิจกรรมต่างๆ

ฝึกให้รับประทานอาหารที่มีกาก ผักและผลไม้ ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และจำกัดอาหารมันและทอดไม่ให้ มากกว่า 35% ของพลังงานทั้งหมด

ไม่รับประทานขณะดูโทรทัศน์ หรือรับประทานเพราะเบื่อหรือไม่มีอะไรทำ เพราะเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ไม่ถูกต้องและจะแก้ไขยากในภายหลัง

ให้พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม


3. เพิ่มการออกกำลังกาย และการทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องใช้พลังงาน

ควรสนับสนุนให้เด็กมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอเพื่อให้เป็นนิสัยติดตัวต่อไป จนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะเป็นการช่วยป้องกันและรักษาโรคอ้วนและทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงในอนาคต

บิดามารดาควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและทำให้เป็นกิจกรรมของครอบครัวที่ทุกคนมีส่วนร่วมสนุก ไม่เลือกการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ยากเกินไปสำหรับเด็ก

ลดเวลาที่ใช้ในการดูโทรทัศน์ เล่นวีดีโอเกมลงให้มากที่สุด
ทำกิจวัตรประจำวันอย่างกระฉับกระเฉง เช่น เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้บันไดเลื่อนหรือการใช้ลิฟต์ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ

4.ควรให้สื่อต่างๆ มีส่วนร่วมในการรณรงค์ป้องกันโรคอ้วน


โดยให้ความรู้เกี่ยวกับบริโภคนิสัยที่ถูกต้องในเด็ก การสนับสนุนให้มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้ประชาชนรับทราบถึงผลแทรกซ้อนที่จะตามมาหากปล่อยให้เด็กเป็นโรคอ้วน น่าจะเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาอันจะนำมาซึ่งความร่วมมือกันในการป้องกันและรักษาโรคอ้วนเสียแต่เนิ่นๆ เช่นเดียวกับการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ผ่านทางสื่อต่างๆซึ่งได้ผลดี

5.ควรเน้นให้แพทย์และพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกแขนงเตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงและผลแทรกซ้อนในระยะยาวของโรคอ้วน


ให้เฝ้าระวังติดตามเด็กกลุ่มเสี่ยงและมีส่วนในการให้ความรู้เกี่ยวกับโภชนาการ และการออกกำลังกายที่เหมาะสมแก่เด็กและครอบครัว

6.ให้โรงเรียนตระหนักถึงปัญหาและหันมาร่วมมือกันจัดให้มีการออกกำลังกาย ฝึกบริโภคนิสัย


และจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแก่เด็กนักเรียน และสนับสนุนไม่ให้มีการจำหน่ายอาหารที่มีไขมันสูงในโรงเรียน
[ ... ]

อ้วนอันตราย ! ไม่อ้วนเอาเท่าไร ?

อ้วนอันตราย ! ไม่อ้วนเอาเท่าไร ?

โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาทางโภชนาการที่มีความสำคัญและมีความเร่งด่วนในการป้องกันและรักษา เพราะอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้นมาก เด็กที่เป็นโรคอ้วนมักจะโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนและมักเกิดปัญหาแทรกซ้อนทั้งทางร่างกายและจิตใจตามมา อีกทั้งการดูแลรักษาทำได้ยากลำบากและได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นการป้องกันโรคอ้วนในเด็กและการรักษาที่มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็น

อุบัติการณ์ :

อุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์ของโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 25-30%

ในประเทศไทยจำนวนผู้ป่วยวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนที่มารับการรักษาที่คลินิควัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระหว่างปี พ.ศ.2534-2539 มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกันในแต่ละประเทศ คือ พบเพียง 10% ในประเทศเนเธอแลนด์และสแกนดิเนเวีย และเพิ่มเป็น 40-50% ในประเทศทางยุโรปตะวันออกบางประเทศ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในคนผิวดำและชาวแมกซิกัน พบอุบัติการณ์ของโรคอ้วนในผู้หญิงประมาณ 40% และพบสูงมากถึง 80% ของประชาชนในหมู่เกาะแปซิฟิค ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียและชาวโปลีนีเซียน ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น อเมริกาใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุบัติการณ์ของโรคอ้วนก็พบเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เมื่ออุบัติการณ์ของโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนมักพบมากในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นควรหาทางป้องกันและรักษาโรคอ้วนในเด็กให้ได้ผลเสียแต่เนิ่นๆ

การจะบอกว่าเด็กเป็นโรคอ้วนหรือไม่ทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่สะดวกในการตรวจประเมินเด็กอ้วนตามคลินิกทั่วไปคือการใช้น้ำหนักเปรียบเทียบกับน้ำหนักมาตรฐานที่ความสูงเดียวกัน อายุเดียวกันและเพศเดียวกัน จะถือว่าเป็นโรคอ้วน เมื่อน้ำหนักเกิน 20% ของน้ำหนักมาตรฐานสำหรับเด็กที่ความสูงเดียวกันและเพศเดียวกัน

ส่วนการวัดไขมันใต้ผิวหนัง(skin fold thickness) นั้นมีข้อจำกัดของการใช้คือ ไม่สะดวกและผู้วัดต้องมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือเพียงพอ เพื่อไม่ให้ผลที่ได้คลาดเคลื่อน

การใช้ดัชนีมวลรวม(Body Mass Index--BMI) ซึ่งคำนวณโดยใช้น้ำหนัก(กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง นั้นเป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลาย แต่ค่า BMI นี้จะแตกต่างกันไปตามอายุ เพศและเชื้อชาติ จะถือว่าเป็นโรคอ้วนเมื่อ BMI มากกว่า 95 percentile ที่อายุและเพศเดียวกัน สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อมูลสำหรับค่ามาตรฐานในเด็กอายุต่างๆ หากจะใช้ค่า BMI ในการประเมินโรคอ้วนในเด็กไทย จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้การประเมินคลาดเคลื่อน

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน

1.ครอบครัว

โรคอ้วนในพ่อแม่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคอ้วนในเด็ก คือถ้าพ่อและแม่ผอม ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าถ้ามีพ่อหรือแม่อ้วน แต่ถ้ามีทั้งพ่อและแม่อ้วนลูกจะมีโอกาสอ้วนมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบโรคอ้วนได้บ่อยในเด็กที่เป็นลูกคนเดียวหรือเด็กที่เป็นลูกคนเล็ก

เด็กที่เป็นโรคอ้วนจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อ้วนหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการคือ อายุที่เริ่มอ้วน ความรุนแรงของโรคอ้วน และการมีโรคอ้วนในพ่อแม่ คือเด็กอ้วนอายุน้อยกว่า 3 ปี และมีพ่อหรือแม่อ้วน จะมีโอกาสโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนมากกว่าเด็กอ้วนที่มีพ่อแม่ไม่อ้วน และถ้าเด็กยังอ้วนอยู่หลังอายุ 6 ปี โอกาสโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนมีมากกว่า 50% ไม่ว่าจะมีพ่อแม่อ้วนหรือไม่ก็ตาม ส่วนในเด็กวัยรุ่นที่เป็นโรคอ้วนนั้นพบว่า 70-80% ของวัยรุ่นที่อ้วน จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน

ในด้านความรุนแรงของโรคอ้วนนั้นพบว่ายิ่งอ้วนมากเท่าไรและอ้วนตั้งแต่อายุยังน้อยจะยิ่งเสี่ยงต่อการมีโรคอ้วนระดับรุนแรงในผู้ใหญ่และผลแทรกซ้อนของโรคอ้วนจะเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

50-75% ของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนระดับรุนแรง(น้ำหนักเกิน 60% ของน้ำหนักมาตรฐาน) เริ่มอ้วนมาแล้วตั้งแต่วัยเด็ก

2.การดูโทรทัศน์

ข้อมูลทั้งในและต่างประเทศพบว่าเด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ต่อสัปดาห์ประมาณ 15-30 ชั่วโมง ระยะเวลาที่เด็กใช้ในการดูโทรทัศน์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดโรคอ้วนในเด็ก เด็กที่ดูโทรทัศน์มากกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง มีโอกาสเกิดโรคอ้วนมากกว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์น้อยกว่าสัปดาห์ละ 14 ชั่วโมงถึง 4-6 เท่า การนั่งหรือนอนดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆนอกจากจะทำให้เด็กลดการทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยในการเผาผลาญพลังงานออกไปแล้ว เด็กก็มักจะรับประทานขนมขบเคี้ยวที่โฆษณาในรายการเด็กขณะดูโทรทัศน์อีกด้วย อาหารและขนมขบเคี้ยวที่เด็กเห็นในโฆษณามักมีรสหวานให้พลังงานสูง ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย

3.วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

ในสังคมปัจจุบัน ชีวิตที่รีบเร่งทำให้คนส่วนใหญ่ขาดการออกกำลังกาย การมีเครื่องอำนวยความ
สะดวกที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การทำกิจกรรมที่ช่วยให้มีการเผาผลาญพลังงานลดลง การมีบริโภคนิสัยที่เปลี่ยนไปตามสังคมตะวันตก ทำให้รับประทานอาหารที่มีไขมันและพลังงานสูงรวมทั้งขนมขบเคี้ยวเพิ่มมากขึ้น
[ ... ]

โคลิก เด็กร้อง 100 วันโดยไม่ทราบสาเหตุ

โคลิก เด็กร้อง 100 วันโดยไม่ทราบสาเหตุ


อาการที่เด็กร้องกระจองอแงแบบเอาเป็นเอาตายในช่วงอายุประมาณ 3 เดือนแรก หรือที่เรียกว่า “โคลิก” นั้น คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านอาจมีประสบการณ์กับตัวเองมาแล้ว คงพอรู้วิธีรับมือและปรับตัวเมื่อลูกร้องได้ แต่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ รวมไปถึงหลายคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ อาจมีข้อสงสัยว่า เด็กร้องแบบไหนถึงจะเรียกว่าร้องแบบโคลิกแล้ว จะมีวีธีการรับมือทำให้เด็กหยุดร้องได้อย่างไร

เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ “X-RAY สุขภาพ”จึงมาพูดคุยกับ ผศ.พ.ญ.ปานียา เพียรวิจิตร หน่วยทางเดินอาหารเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ผศ.พ.ญ.ปานียา อธิบายว่า การร้องโคลิก (colic) หรือที่เรียกว่า ร้อง 100 วัน พบได้ทั้งในเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงปริมาณไม่แตกต่างกัน การร้อง ในลักษณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่พบได้ค่อนข้างบ่อย คือประมาณ 20-30% โดยเกิดขึ้นในเด็กอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่อาการอาจจะรุนแรงขึ้นในช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์ แล้วหายไปเองเมื่อเด็กอายุประมาณ 3 เดือน

การร้องโคลิก จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของแต่ละวัน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเย็นมากกว่าช่วงเช้า โดยเด็กจะร้องเป็นเวลานานติดต่อกัน 2-3 ชั่วโมง ทำอย่างไรก็ไม่ยอมหยุดร้อง เด็กบางคนไม่ได้ร้องทุกวัน อาจจะร้องประมาณ 3-4 วันใน 1 สัปดาห์ ซึ่งระยะเวลาในการร้องของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เวลาที่เด็กร้องหน้าจะแดง เสียงร้องดัง แหลม และอาจมีอาการเกร็งแขนและขา ไม่ยอมหยุดง่าย ๆ เด็กบางคนมีการผายลมร่วมด้วย พ่อแม่อาจคิดว่า ลูกปวดท้อง มีแก๊สในท้อง แต่จริง ๆ แล้วเป็นการร้องโคลิก ความจริงถ้าเด็กร้องในช่วงแรก ๆ พ่อแม่อาจไม่รู้ว่าลูกเป็นอะไรแต่ถ้าเกิดเป็นซ้ำ ๆ ก็พอจะบอกได้ว่าเป็นการร้องโคลิก



เด็กที่ร้องอาจจะไม่ใช่ร้องแบบโคลิกทั้งหมด ดังนั้นควรตรวจสอบหาสาเหตุในเบื้องต้นก่อนว่าเด็กร้องเพราะอะไร เช่น ดูว่าผ้าอ้อมเปียกเนื่องจากเด็กปัสสาวะ หรืออุจจาระมั้ย หรือเป็นเพราะเด็กไม่สบาย เด็กหิว ท้องอืด มีอาการระคายเคืองจากถุงมือ หรือเสื้อผ้าที่สวมใส่ หรือมีอะไรไปรบกวนเด็กหรือไม่ ถ้าหาสาเหตุเหล่านี้ไม่เจอ พ่อแม่มือใหม่ที่ไม่มั่นใจก็ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ

ทั้งนี้เด็กที่ร้องแบบนี้ส่วนหนึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการแพ้นมวัว เพราะไม่ได้กินนมแม่ เมื่อแพ้นมวัวจะทำให้ปวดท้อง มีแก๊สในท้อง ก็ต้องให้เด็กหยุดกินนมวัวแล้วหันไปกินนมชนิดอื่นแทน โดยปกติเด็กที่แพ้นมวัวจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีผื่นขึ้น ถ่ายอุจจาระเหลวผิดปกติ อาเจียน ในขณะที่เด็กบางคนร้องเพราะติดการดูด ถ้าเพิ่งให้นมอิ่มแล้วเด็กร้อง ก็ไม่ควรให้นมหรือน้ำอีกเพราะอาจทำให้เด็กสำลัก โดยคุณหมอบางท่านแนะนำให้หาจุกนมหลอกมาให้เด็กดูดแทน เพื่อไม่ให้เด็กร้อง

ถ้าถามว่าอาการที่เด็กร้องติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะเป็นอันตรายหรือไม่ คงต้องบอกว่า ไม่เป็นอันตรายอะไร และไม่จำเป็นต้องให้ยาทาหรือยากินแก่เด็ก เพราะยากินบางชนิดมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ค่อนข้างมากอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ หรือยากินบางชนิดเป็นยาประเภทนอนหลับก็ไม่ควรใช้

การที่เด็กร้องเป็นเวลานาน 2-3 ชั่วโมงแม้เด็กจะไม่เป็นอันตราย แต่อาจเป็นอันตรายในทางอ้อม คือ พ่อแม่เครียด เพราะลูกไม่หยุดร้องเสียที บางคนเหนื่อยมาทั้งคืน อาจมีอารมณ์เผลอไปเขย่าลูกโดยไม่ตั้งใจ ตรงนี้น่าเป็นห่วง ดังนั้นถ้ารู้ว่าเด็กมีอาการร้องแบบโคลิก หมอจะแนะนำว่า อย่าให้คุณแม่เด็กดูแลเด็กคนเดียว ต้องหาคนมาช่วยดูแล หรือคนในครอบครัวช่วยดูแลสลับกัน เพราะมีเหมือนกันที่เผลอไปทำอะไรลูกโดยไม่รู้ตัว

สำหรับความเข้าใจเรื่องการร้องโคลิก พ่อแม่บางคนก็พอมีความรู้ในเรื่องนี้บ้าง ส่วนคนที่ไม่รู้และไม่มีประสบการณ์ หมอจะอธิบายให้เข้าใจว่าอาการแบบนี้จะหายไปเองใน 3 เดือน แต่ในช่วงที่มีปัญหาก็แนะนำว่าควรทำอย่างไรบ้างในเวลาที่เด็กร้องเพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วงนั้นไปได้



ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 6 โมงเย็นของทุกวันเด็กจะร้อง หมอจะให้คำแนะนำว่า ก่อนหน้านั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะให้เด็กอยู่ในห้องที่เงียบ ๆ แสงสว่างน้อย ๆ เพื่อให้เด็กสงบ พอจะช่วยบรรเทาการร้องลงไปได้บ้าง แต่เด็กคงไม่หยุดร้องไปเลยเสียทีเดียวขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน แนะนำให้อุ้มเด็กแล้วนั่งเก้าอี้โยก หรืออุ้มพาเดินรอบห้อง ให้เด็กนอนคว่ำบนตักแม่ หรือนอนตะแคง หรือ ใช้ผ้าอ้อมห่อตัวให้แน่นพอสมควรเหมือนกับเด็กขดตัวอยู่ในท้อง ให้เด็กนอนหงายแล้วนวดท้องในลักษณะทวนเข็มนาฬิกาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 5 นาที ซึ่งแต่ละวีธี จะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนด้วย เพราะวิธีการหนึ่งใช้ได้ผลกับเด็กคนหนึ่งแต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับเด็กคนอื่นเสมอไป

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่ง ลี้ลับว่าเป็นสาเหตุทำให้เด็กร้องนั้น ผศ.พ.ญ. ปานียา บอกว่า ต้องทำความเข้าใจว่าถ้าเด็กร้องซ้ำ ๆ ควรจะไปปรึกษาหมอตามสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านจะดีกว่า อย่าไปทึกทักเอาเองว่าเป็นโน่นเป็นนี่แล้วไปกวาดยา ทายา หรือ พาเด็กไปรดน้ำมนต์ เพราะอาจทำให้เด็กไม่สบายได้

ท้ายนี้ต้องขอเรียนว่า การร้องกับเด็กเป็นของคู่กัน ส่วนใหญ่ผ่านพ้น 3 เดือนไปแล้วจะดีขึ้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องอดทน เพราะการร้องโคลิก ไม่เป็นอันตราย และไม่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ส่วนที่บางคนอาจบอกว่า เด็กที่ร้องโคลิกเป็นเวลานานจะทำให้มีเวลานอนน้อยกว่าเด็กที่ไม่ร้องนั้น ตรงนี้ไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะการที่เด็กร้องช่วงหนึ่งอาจจะนอนหลับได้ดีในช่วงอื่น ๆ ก็ได้.


--------------------------------------------------------------------------------
suwat_krub@hotmail.com

X-RAY สุขภาพ
เดลินิวส์
5 กรกฎาคม 2548



แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Tuesday, 23 August 2005 )
[ ... ]

ลมชัก - โรคลมบ้าหมู ตอน 1

“ลมชัก - โรคลมบ้าหมู ตอน 1”

กลุ่มอาการชักเป็นที่รู้จักกันมานาน สำรวจได้จากเอกสารหรืออักขระประวัติศาสตร์โบราณย้อนหลังไปถึงยุคสมัยอียิปต์โบราณและโรมันโบราณ กลุ่มอาการนี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยก็รู้จักกันมานานเช่นกัน ในประวัติศาสตร์ไทยเคยบันทึกไว้ว่า พระบรมวงศานุวงศ์ไทยในสมัยโบราณมีกลุ่มอาการที่สรุปได้ว่า น่าจะเป็นกลุ่มอาการ “ลมชัก” ซึ่งชาวไทยเรียกกันต่อมาว่า “ลมบ้าหมู”

น่าสังเกตว่า ชาวไทยจะใช้สำนวนบรรยายกลุ่มอาการนี้ว่า “นาย ก. เป็นลมบ้าหมู” โดยไม่ใส่คำว่า “โรค” นำหน้า แต่ในปัจจุบันเมื่อความรู้ทางวิชาการดีขึ้นจะบรรยายกลุ่มอาการนี้ว่า นาย ก. เป็นลมบ้าหมู หรือเป็น โรคลมบ้าหมู ก็ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ซึ่งก็คือ กลุ่มอาการ ลมชัก หรือเป็นที่เข้าใจกันว่าคือ โรค ลมชัก

อาการชัก (seizure) คือปรากฏการณ์ที่สมองปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาชั่วครู่ โดยที่ผู้ป่วยไม่อาจควบคุมได้ เนื่องจากมีสาเหตุบางอย่างไปรบกวนการทำงานของสมอง ทำให้สมองส่วนนั้น ๆ สั่งงานมากผิดปกติขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นอาการชัก โดยมากมักเป็นอาการเกร็ง หรือกระตุก แต่อาจเป็นอาการที่สังเกตได้ยาก เช่น อาการเหม่อนิ่งไป ค้างอยู่ในท่าเดิม หรือทำอะไรโดยอัตโนมัติ เป็นต้น

อาการชักจะเกิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 3-5 นาที โดยมากมักไม่เกินครึ่งชั่วโมงแล้วจะหยุดไปได้เอง โดยกลไกบางอย่างในสมอง หลังชัก ผู้ป่วยอาจรู้สึกสับสน อ่อนเพลีย หรือ หลับไป

อาการชักจะเกิดเป็นซ้ำ ๆ ได้ หากรอยโรคที่เป็นสาเหตุในสมองยังคงอยู่ หรือยังไม่ได้รับการแก้ไข หรืออาจเกิดเพราะมีปัจจัยที่กระตุ้นให้ชักง่ายมาแทรกเสริม เช่น การอดนอน ความเครียด หรือการตรากตรำร่างกาย เป็นต้น อาการชักที่เกิดซ้ำ มักจะมีลักษณะเหมือนเดิมในคนไข้คนเดียวกัน แต่อาจแตกต่างไปจากคนไข้คนอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณของสมองที่เป็นสาเหตุของโรค

ในคนบางคน อาจเกิดอาการชักขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้งในชีวิต เมื่อมีภาวะบางอย่างในร่างกายผิดปกติไป อาทิ จากยา สุรา เบาหวาน การมีไข้สูงในเด็ก ครรภ์เป็นพิษ หรือเพียงเพราะการตรากตรำหรืออดนอนจนเกินควร ภาวะเหล่านี้เป็นเพียงอาการชักชั่วคราว “ยังมิจัดเป็นโรคลมชัก” จึงไม่ควรใช้คำว่า “โรค” นำหน้าคำว่า “ลมชัก” เพราะมักหายไปได้เองเมื่อหมดจากภาวะดังกล่าว ผิดกับ “โรคลมชัก” ที่เป็นความผิดปกติของสมอง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะ ชักซ้ำอยู่เรื่อย ๆ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาในระยะยาว

ลักษณะของอาการชัก

อาการชักมีหลายแบบ ขึ้นกับตำแหน่งของสมองที่ปล่อยไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมา ที่พบบ่อย ได้แก่

1. ลมบ้าหมู หรือ ชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (generalized tonic-clonic seizure หรือ GTC) เป็นอาการชักที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะหมดสติอย่างรวดเร็ว เกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟัน น้ำลายไหลเป็นฟอง ขณะชักผู้ป่วยจะหยุดหายใจชั่วคราว หรืออาจกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ตามด้วยการกระตุกทั้งตัวเป็นจังหวะ นานประมาณ 5 นาที จากนั้นจะ ค่อย ๆ หยุด ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและหลับไป เมื่อฟื้นแล้วอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ หรือสับสน ซึ่งผู้ป่วยจะจำเหตุการณ์ขณะชักไม่ได้

2. ชักเฉพาะส่วน (simple partial seizure หรือ SPS) อาจเกิดขึ้นโดยลำพัง หรือนำมาก่อนอาการชักแบบ GTC หรือ CPS ที่เรียกว่า อาการเตือน (aura) ก็ได้ ได้แก่ อาการชาเฉพาะที่ หูแว่ว เห็นภาพหลอน รู้สึกคุ้นเคย (deja vu) หรือ กระตุกเฉพาะบางส่วนของร่างกาย เป็นต้น

3. ชักแบบเหม่อนิ่ง (absence seizure) อาการชักชนิดนี้สั้นมาก มักเกิดในเด็กและอาจไม่ทันสังเกตเห็น ผู้ป่วยจะเหม่อนิ่งไป หรือตาค้าง นานประมาณ 5-10 วินาที แล้วกลับเป็นปกติทันที ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกตัวว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น บางครั้งอาจมีการกะพริบตาถี่ ๆ หรือกระตุกใบหน้าเล็กน้อย หรืออาจดูคล้ายกับอาการชักแบบ CPS ได้

4. ชักแบบทำอะไรโดยไม่รู้สึกตัว (complex partial seizure หรือ CPS) เป็นอาการชักที่พบบ่อยที่สุด แต่บ่อยครั้งจะเข้าใจผิดว่ามิใช่อาการชัก อาการคือ ผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัวไปทันที ตาจ้อง หรือเหม่อลอย อาจนิ่งค้างในท่าเดิมหรืออาจทำงานต่อไปโดยไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีการเคลื่อนไหวที่ไม่มีจุดประสงค์โดยอัตโนมัติ เช่น เคี้ยวหรือดูดริมฝีปาก ถูมือ คลำหาสิ่งของ พูดคำ ซ้ำ ๆ หรือเดินไปมา เป็นต้น ระหว่างเป็นผู้ป่วย บางรายอาจพอรู้สึกตัวเหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ตอบสนองต่อคนรอบข้างไม่ได้ ถ้าจับหรือมัดอาจมีการต่อสู้ดิ้นรน อาการมักเกิดนาน 2-4 นาที หายแล้วอาจสับสนและจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้

สาเหตุของโรคลมชักเกิดได้หลายสาเหตุ ที่มีผลกระทบต่อสมอง

1. เกิดจากกรรมพันธุ์ พบประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วย ส่วนมากจะเริ่มชักตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น บางชนิดจะหายได้เองเมื่อโตขึ้น แต่บางชนิดก็ร่วมกับความพิการทางสมอง ญาติพี่น้องหรือบุตรของผู้ป่วย มีโอกาสเป็นโรคลมชักสูงกว่าประชากรทั่วไป แต่การถ่ายทอดมักไม่เด่นชัดอย่างในโรคทางพันธุกรรมอื่น

2. เกิดจากรอยโรคในสมอง ได้แก่ ความพิการแต่กำเนิด การคลอดยาก อุบัติเหตุต่อสมอง การติดเชื้อในสมอง เส้นโลหิตในสมองอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดแผลเป็นขึ้นและเป็นจุดปล่อยไฟฟ้าที่ทำให้เกิดอาการชัก

การชักจากไข้สูงในวัยเด็ก หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็อาจก่อให้เกิดแผลเป็นขึ้นในสมองส่วนที่ไวต่อการขาดออกซิเจน และเกิดเป็นโรคลมชักตามมาได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ เนื้องอก หรือการติดเชื้อที่ลุกลาม เช่น ฝีในสมอง วัณโรค หรือพยาธิในสมอง หรือเส้นเลือดขอดในสมอง ก็เป็นสาเหตุของโรคลมชัก ซึ่งนอกจากผู้ป่วยจะเกิดอันตรายจากการชักแล้ว ยังมีอันตรายจากความร้ายแรงของโรคที่เป็นสาเหตุอีกด้วย

สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ พบได้อย่างละประมาณ ร้อยละ 2-5 ของผู้ป่วยโรคลมชัก อาการชักจากสาเหตุดังกล่าว มักไม่หายเอง บ่อยครั้งกลายเป็นโรคลมชักที่ดื้อยาจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างละเอียดจากแพทย์ ซึ่งบางรายอาจหายได้ด้วยการผ่าตัดสมอง

3. กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคลมชัก แม้ว่าจะตรวจไม่พบรอยโรคในสมอง แต่จะมีบริเวณที่ปล่อยไฟฟ้าที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเล็กเกินกว่าจะมองเห็นด้วยวิธีการตรวจในปัจจุบัน

ในเด็กจะพบเสมอว่า หากมีไข้สูง อาจเกิดอาการชักขึ้นได้ จากสถิติการสำรวจทั่วโลกก็จะพบได้ในลักษณะเดียวกัน และพบต่อไปว่าในกลุ่มของเด็กที่มีอาการชักเมื่อมีไข้สูงนี้จะหายไปได้เองประมาณ 65-75% ที่เหลืออยู่จำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง และอาจต้องใช้ยาควบคุมอาการชักอย่างต่อเนื่องด้วย

จะต้องไม่ลืมว่ากลุ่มอาการชักที่หายไปได้เอง เช่น อาการชักที่เกิดจากไข้สูง เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ ผลข้างเคียงของยา ผลข้างเคียงของสุรา ครรภ์เป็นพิษ ฯลฯ อาจทำให้เกิดอาการชักและหายไปเองได้ ไม่ต่อเนื่อง ไม่ต้องรักษาโดยใช้ยาควบคุมต่อเนื่อง จัดว่ายังไม่เป็นโรคลมชัก แต่ถ้ามีอาการชัก 7 ประการดังจะกล่าวต่อไปนี้แล้วไซร้ ให้จำไว้ว่า เป็นอาการชักที่บ่งบอกว่าเกิดจากโรคร้ายแรงของสมอง อาการชัก 7 ประการนั้นคือ

1. ชักแล้วไม่ฟื้นกลับมาเป็นปกติอีก
2. ชักติดต่อกันหลายครั้ง หรือชักไม่หยุด
3. ชักในระยะหลังทวีความรุนแรงขึ้น หรือเปลี่ยนแบบไปจากเดิม
4. หลังชักมีอาการอ่อนแรงมากขึ้น หรือนานขึ้น
5. ชักที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ
6. ชักที่เคยกินยาควบคุมอยู่ แต่ต่อมา กลับคุมไม่ได้
7. ชักที่เกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ อ่อนแรงครึ่งซีก หรืออาการทางระบบประสาทอย่างอื่น

ข้อมูลจาก www.md.chula.ac.th/ public/medinfo/disease/epilepsy


--------------------------------------------------------------------------------
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
เดลินิวส์
ชีวิตและสุขภาพ



แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Tuesday, 23 August 2005 )
[ ... ]

สมุนไพรส่งเสริมเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน

เรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นิสิต พิศุทธานันท์

ภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์

มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ (055) 261000-4 ต่อ 3618

สมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน เป็นสมุนไพรที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ และการรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยเบื้องต้น การคัดเลือกสมุนไพรที่ส่งเสริมให้ใช้ในชุมชน เป็นการใช้สมุนไพรเดี่ยว ซึ่งต่างจากการใช้ยาสมุนไพรตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยที่เป็นการรักษาแบบองค์รวม และมักใช้ยาเป็นตำรับประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรเดี่ยวมีการยอมรับจากนักวิชาการในปัจจุบันมากกว่า เพราะมีข้อมูลจากผลการวิจัยสนับสนุน

เป้าหมายของการพัฒนาสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยา ในมุมมองที่น่าจะเป็นไปได้คือ การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเป็นที่ยอมรับของประชาชน ประชาชนมีความรู้และใช้สมุนไพรในการรักษาอาการเล็กๆน้อยๆ มีการบริโภคสมุนไพรเพื่อเสริมสุขภาพมากขึ้น ประชาชนมีทางเลือกในการใช้ยาสำเร็จรูปที่ผลิตจากสมุนไพรที่มีคุณภาพ

สมุนไพรส่งเสริมเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน แบ่งตามฤทธิ์รักษาได้ดังนี้

กลุ่ม 1 รักษาอาการไอและระคายคอจากเสมหะ
















































ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ดีปลี

ผลแก่แห้ง

ประมาณครึ่งผล

ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือ

กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ

มะขาม

เนื้อในฝักแก่

หรือ

มะขามเปียก

จิ้มเกลือ รับประทานพอสมควร

มะนาว

ผลสดคั้นน้ำ

น้ำมะนาวเข้มข้นใส่เกลือเล็กน้อย

จิบบ่อยๆ หรือทำเป็นน้ำมะนาว

ดื่มบ่อยๆก็ได้

มะแว้งเครือ

ผลแก่สด

5-10 ผล

โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำ

ใส่เกลือ จิบบ่อยๆ หรือเคี้ยวผลสด

แล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ

มะแว้งต้น

ผลแก่สด

5-10 ผล

โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำ

ใส่เกลือ จิบบ่อยๆ หรือเคี้ยวผลสด

แล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ

เพกา

เมล็ด

ครึ่งถึง 1 กำมือ

(1.5 - 3 กรัม )

ใส่น้ำ 300 ซีซี ต้มไฟอ่อนพอเดือด

นาน 1 ชั่วโมง ดื่มวันละ 3 ครั้ง



กลุ่ม 2 รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด




























ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

กระเทียม

กลีบสด

5-7 กลีบ (5 กรัม )

ปอกเปลือก รับประทานดิบๆ หลังอาหาร

กระวาน

ผลแก่จัด

ตากแห้งบดเป็นผง

ครั้งละ 1 ช้อนชาครึ่ง

ถึง 3 ช้อนชา (1 - 2

กรัม )

ชงน้ำอุ่น ดื่ม หรือ

ใช้บรรเทาอาการไซ้ท้องเนื่องจากการใช้ยาระบายเช่น

มะขามแขก

กะทือ

เหง้าสด

ขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว (20 กรัม )

ย่างไฟพอสุกตำกับน้ำปูนใสคั้นเอาน้ำดื่ม





















































กระชาย

เหง้าและราก

ครึ่งกำมือ

( สด 5-10 กรัม

แห้ง 3-5 กรัม )

ต้มเอาน้ำดื่ม

กะเพรา

ใบและยอด

1 กำมือ ( สด 25 กรัม แห้ง 4 กรัม )

ต้มเอาน้ำดื่ม เหมาะสำหรับเด็กท้องอืด

กานพลู

ดอกตูมแห้ง

5-8 ดอก

(0.1-0.5 กรัม )

ต้มเอาน้ำดื่ม หรือบดเป็นผง

ชงน้ำดื่ม

1-3 ดอก

แช่ไว้ในกระติกน้ำร้อนที่ใช้ชงนมให้เด็กอ่อน

ข่า

เหง้าแก่

ขนาดเท่าหัวแม่มือ

( สด 5 กรัม

แห้ง 2 กรัม )

ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม

ขิง

เหง้าแก่

ขนาดเท่าหัวแม่มือ

( 5 กรัม )

ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม

ขมิ้น

เหง้าแก่

ล้างสะอาด หั่นเป็นชิ้นบางๆ ผึ่งแดด 1-2 วันบดให้ละเอียด

ผสมน้ำผึ้ง

ปั้นเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บในขวดสะอาด

รับประทานครั้งละ 2-3 เม็ดวันละ 3-5 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน ถ้ามีอาการ

ท้องเสียให้หยุดยา

ดีปลี

ผลแก่แห้ง

1 กำมือ

(10-15 ดอก )

ต้มเอาน้ำดื่ม



































ตะไคร้

ลำต้นแก่ สด

1 กำมือ

(40-60 กรัม )

ทุบพอแหลก ต้มเอาน้ำดื่ม

มะนาว

เปลือกผลสด

ครึ่งผล

คลึงหรือทุบเล็กน้อยพอให้น้ำมันออก

ชงน้ำร้อนดื่ม

เร่ว

เมล็ดในผลแก่

ครั้งละ 3-9 ผล

(1- 3 กรัม )

บดเป็นผง รับประทานวันละ 3 ครั้ง

แห้วหมู

หัวใต้ดิน

1 กำมือ

(60-70 หัว

หรือ 15 กรัม )

ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม

สด 5 หัว

โขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน



กลุ่ม 3 รักษาอาการท้องผูก
















































ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ขี้เหล็ก

ใบทั้งอ่อนและแก่

4-5 กำมือ

ต้มเอาน้ำ ดื่มก่อนอาหารหรือเวลามีอาการ

คูน

เนื้อในฝักแก่

เท่าหัวแม่มือ

(4 กรัม )

ต้มกับน้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย

ดื่มก่อนนอนหรือก่อนอาหารเช้า

ชุมเห็ดไทย

เมล็ดแห้ง

2 - 2 ช้อนคาวครึ่ง

(10-13 กรัม )

คั่ว แล้วต้มหรือชงน้ำร้อนดื่ม

ชุมเห็ดเทศ

ดอกสด

2-3 ช่อ

ต้มรับประทานกับน้ำพริก

ใบ

12 ใบ

ล้างสะอาด หั่น ตากแห้ง ต้มหรือชงน้ำดื่ม

บดเป็นผงผสมน้ำผึ้ง

ปั้นเม็ดเท่าปลายนิ้วก้อยรับประทานครั้งละ 3 เม็ดก่อนนอน

















มะขามแขก

ใบแห้ง

1-2 กำมือครึ่ง

(3-10 กรัม )

ต้มกับน้ำดื่ม หรือบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม

ฝัก

4-5 ฝัก

ต้มกับน้ำดื่มถ้ามีอาการไซ้ท้องให้ใช้ร่วมกับยาขับลม

เช่น กระวาน กานพลู



กลุ่ม 4 รักษาอาการท้องเสีย










































ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ทับทิม

เปลือกผลแห้ง

1 ใน 4 ผล

ฝนกับน้ำฝนหรือน้ำปูนใสให้ข้นๆ

รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง

หรือต้มกับน้ำปูนใส ดื่มน้ำที่ต้ม

ฝรั่ง

ใบแก่

10-15 ใบ

ปิ้งไฟ ชงน้ำดื่ม

ผลอ่อน

1 ผล

ฝนกับน้ำปูนใส รับประทานเวลามีอาการ

มังคุด

เปลือกผลตากแห้ง

ต้มกับน้ำปูนใส หรือฝนกับน้ำ ดื่ม

ถ้ามีอาการปวดเบ่ง มีมูกเลือด

ใช้เปลือกผลแห้งประมาณครึ่งผล (4 กรัม )

ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสครึ่งแก้ว

หรือบดเป็นผง ละลายน้ำข้าวหรือ

น้ำต้มสุก ดื่มทุก 2 ชั่วโมง

สีเสียดเหนือ

เนื้อไม้

ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำ กรอง เคี่ยว

ให้งวด จะได้ก้อนแข็งสีดำเป็นเงา เรียกว่า

ก้อนสีเสียด นำมาบดเป็นผง ประมาณ

1/3-1/2 ช้อนชา (0.3-1 กรัม ) ต้มน้ำดื่ม









































กล้วยน้ำว้า

ผลห่าม

ครั้งละครึ่งถึง 1 ผล

รับประทาน

ผลดิบ

ฝานเป็นแว่น ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผง

ชงน้ำดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนแกง วันละ 4 ครั้ง

ก่อนอาหารและก่อนนอน

ผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน รับประทานครั้งละ

4 เม็ด วันละ 4 ครั้งก่อนอาหารและก่อนนอน

ถ้ามีอาการท้องอืด เฟ้อ ให้ใช้ร่วมกับยาขับลม

เช่น น้ำขิง

ฟ้าทะลาย

ใบสด

1-3 กำมือ

ต้มกับน้ำ 10-15 นาที ดื่มก่อนอาหาร

หรือเวลามีอาการ

ล้างสะอาด ผึ่งลมให้แห้ง บดเป็นผงผสม

น้ำผึ้งปั้นลูกกลอน รับประทานครั้งละ

3-6 เม็ด วันละ 4 ครั้งก่อนอาหารและ

ก่อนนอน

ใบแห้ง

ขยำเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ขวดแก้ว เทเหล้า

40 ดีกรีให้ท่วมตัวยา ปิดฝาให้แน่น

เขย่าขวดวันละครั้ง ครบ 7 วัน เปิดฝา

กรองเอาแต่น้ำ เก็บใส่ขวดสะอาดปิด

มิดชิด รับประทาน 1-2 ช้อนโต๊ะ

วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร



กลุ่ม 5 รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน
























ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ขิง

เหง้าแก่

เท่าหัวแม่มือ

( สด 5 กรัม )

ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม

ยอ

ผลสดดิบหรือห่าม

ครั้งละ 2 กำมือ

(10 - 15 กรัม )

ฝานบางๆ ย่างหรือ

คั่วไฟอ่อนให้เหลืองกรอบ

ต้มหรือชงกับน้ำ จิบทีละน้อยบ่อยๆ ครั้ง

จะได้ผลดีกว่าดื่มครั้งเดียวจนหมด



กลุ่ม 6 รักษาโรคพยาธิลำไส้






























ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ฟักทอง

เมล็ด

60 กรัม

ทุบให้แตก ผสมน้ำตาลและนม

หรือน้ำ จนได้ 500 ซีซี

แบ่งดื่ม 3 ครั้ง ทุก 2 ชั่วโมง

หลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมง

รับประทานยาระบาย

มะเกลือ

ผลดิบสด

สีเขียว

ไม่ช้ำไม่ดำ

จำนวนเท่าอายุ

คนไข้

แต่ไม่เกิน 25 ผล

ตำโขลกพอแหลก ผสมกับ

หัวกะทิสด คั้นเอาแต่น้ำ

ดื่มให้หมดก่อนอาหารเช้า

หลังจากนั้นอีก 3 ชั่วโมง

รับประทานยาระบาย

มะขาม

เมล็ดแก่คั่ว

กะเทาะเปลือก

20-30 เมล็ด

เอาเนื้อในเมล็ดแช่น้ำเกลือ

จนนุ่ม รับประทาน























มะหาด

แก่นไม้

( เนื้อไม้ )

ปวกหาด

1-2 ช้อนชา

(3-5 กรัม )

แก่นไม้ต้มเคี่ยวจนเกิดฟอง

ช้อนฟองขึ้นตากแห้ง

ได้ผงสีเหลือง เรียก “ ปวกหาด ”

บดละเอียด ผสมน้ำต้มสุกที่

เย็นแล้ว รับประทานก่อนอาหาร

หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง

รับประทานยาระบาย

เล็บมือนาง

เมล็ด

เด็กใช้ 2-3 เมล็ด

(4-6 กรัม )

ผู้ใหญ่ใช้ 5-7 เมล็ด

(10-15 กรัม )

ทุบพอแตก ต้มเอาน้ำดื่มหรือ

หั่นทอดไข่รับประทาน

สะแก

เมล็ดแก่

แห้ง

1 ช้อนคาว

(1 กรัม )

ตำละเอียด ทอดกับไข่

ให้เด็กรับประทานตอนท้องว่าง



กลุ่ม 7 รักษาอาการเบื่ออาหาร
























ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ขี้เหล็ก

ใบ

ใบแห้ง 30 กรัมหรือ

ใบสด 50 กรัม

ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน

ใบอ่อน ดองเหล้า 7 วัน คนทุกวัน

สม่ำเสมอ ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา

ก่อนนอน

















บอระเพ็ด

เถาหรือต้นสด

2 คืบครึ่ง (30-40 กรัม )

ตำ คั้นเอาน้ำดื่ม

ต้มเคี่ยวกับน้ำ ใช้น้ำ 3 ส่วน ต้มเคี่ยว

ให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มวันละ 2 ครั้ง

ก่อนอาหาร เช้า เย็น หรือเวลามีอาการ



กลุ่ม 8 รักษาอาการขัดเบา














































ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

กระเจี๊ยบแดง

กลีบเลี้ยง

หรือ

กลีบรองดอก

ตากแห้ง บดเป็นผง

ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา

(3 กรัม )

ชงน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว (250 ซีซี )

ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส

วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน

จนกว่าจะหาย

ขลู่

ใบ

1 กำมือ

( สด 40-50 กรัม

แห้ง 15-20 กรัม )

หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ

1 ถ้วยชา (75 ซีซี ) วันละ 3 ครั้ง

ก่อนอาหาร ติดต่อกันทุกวัน

จนกว่าจะหาย

ชุมเห็ดไทย

เมล็ดแห้งคั่ว

1-3 ช้อนคาว

(5-15 กรัม )

ใส่น้ำ 1 ลิตร ตั้งไฟต้มให้เหลือ

600 ซีซี แบ่งดื่มวันละ 3 ครั้ง

ครั้งละ 200 ซีซี หลังอาหาร

ติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะหาย

ตะไคร้

ลำต้นแก่

1 กำมือ

( สด 40-60 กรัม

แห้ง 20-30 กรัม )

ต้มกับน้ำ ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา

วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะหาย

ฝานเป็นแว่นบางๆ คั่วไฟอ่อนๆ

พอเหลือง ชงเป็นชา

ดื่มวันละ 3 ครั้งๆละ 1 ถ้วยชา

ติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะหาย

สับปะรด

เหง้า

1 กอบมือ

( สด 200-250 กรัม

แห้ง 90-100 กรัม )

ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา

วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

ติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะหาย























หญ้าคา

ราก

1 กำมือ ( สด 40-50 กรัม

แห้ง 10 -15 กรัม )

หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้งก่อนอาหารติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะหาย

หญ้าหนวดแมว

ใบแห้ง

4 หยิบมือ (4 กรัม )

ชงกับน้ำร้อน 1 ขวดแม่โขง

เหมือนชงชา ดื่มวันละ 1 ขวด

โดยแบ่งดื่ม 3 ครั้งหลังอาหาร

คนเป็นโรคหัวใจห้ามรับประทานเพราะมีสาร potassium มาก

อ้อยแดง

ลำต้น

1 กำมือ

( สด 70-90 กรัม

แห้ง 30-40 กรัม )

หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม

ครั้งละ 1 ถ้วยชา

วันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร

ติดต่อกันทุกวันจนกว่าจะหาย



กลุ่ม 9 รักษาโรคกลากเกลื้อน






















ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

กระเทียม

กลีบกระเทียม

ใช้ไม้ไผ่เล็กๆ ขูดบริเวณที่เป็น

ให้ผิวแดง ฝานกลีบกระเทียม

แล้วนำมาถู

หรือตำคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น

บ่อยๆ หรือวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น

ทองพันชั่ง

ใบหรือราก

ใบ 5-8 ใบ หรือ

ราก 2-3 ราก

( อาจเพิ่มได้ตามอาการ )

ตำให้ละเอียด แช่เหล้า 7 วัน

ใช้ไม้ไผ่เล็กๆ ขูดบริเวณที่เป็น

ให้ผิวแดง ใช้น้ำยาที่ได้ ทาบ่อยๆ

















ข่า

เหง้าแก่

ล้างให้สะอาด ฝานเป็นแว่นบางๆ

หรือทุบให้แตก นำไปแช่เหล้าขาว

ทิ้งไว้ 1 คืน

ใช้ไม้ไผ่เล็กๆ ขูดบริเวณที่เป็น

ให้ผิวแดง ใช้น้ำยาที่ได้ ทา

วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น

ชุมเห็ดเทศ

ใบสด

ขยี้หรือตำให้ละเอียด

เติมน้ำเล็กน้อย

ใช้ไม้ไผ่เล็กๆ ขูดบริเวณที่เป็น

ให้ผิวแดง ใช้น้ำยาที่ได้ ทา

วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น

หายแล้วทาต่ออีก 7 วัน

หรือใช้ใบสดรวมกับกระเทียม

อย่างละเท่าๆกัน ผสมปูนแดง

ที่ใช้กินกับหมากเล็กน้อย

ตำผสมกัน

ใช้ไม้ไผ่เล็กๆ ขูดบริเวณที่เป็น

ให้ผิวแดง ใช้น้ำยาที่ได้ ทา

วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น



กลุ่ม 10 รักษาอาการฝี แผลพุพอง แมลงสัตว์กัดต่อย




















































ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ขมิ้น

เหง้า

ยาว 2 นิ้ว

ฝนกับน้ำต้มสุก ทาบริเวณที่เป็น

วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ผงขมิ้น

ทาก็ได้

ชุมเห็ดเทศ

ใบและก้านสด

1 กำมือ

ต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ

1 ส่วน ชะล้างบริเวณที่เป็น

วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น

ถ้าเป็นมากให้ใช้ประมาณ

10 กำมือ ต้มอาบ

ตำลึง

ใบสด

1 กำมือ

ล้างสะอาด ตำจนละเอียด

ผสมน้ำเล็กน้อย คั้นน้ำ

มาทาบริเวณที่เป็น ทาซ้ำบ่อยๆ

เทียนบ้าน

ใบและดอกสด

1 กำมือ

ตำละเอียด พอกและทา

บริเวณที่เป็น วันละ 3 ครั้ง

ระวังสีเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า

ผักบุ้งทะเล

ใบและเถาสด

1 กำมือ

ล้างสะอาด ตำให้ละเอียด

คั้นเอาน้ำ ทาบริเวณที่บวมแดงจากพิษแมงกะพรุน

พญายอ

ใบสด

10-15 ใบ

ล้างสะอาด ตำให้ละเอียด

เติมเหล้าขาวพอชุ่มยา

ใช้พอกบริเวณที่มีอาการ

พลู

ใบสด

1-2 ใบ

ตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาว

ใช้พอกบริเวณที่มีอาการ

ห้ามใช้กับแผลเปิด











เสลดพังพอน

ใบสด

1 กำมือ

ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำ

หรือตำผสมเหล้าเล็กน้อย

ทาบริเวณที่เป็น



กลุ่ม 11 รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกบวม






























ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ไพล

เหง้า

ประมาณ 1 เหง้า

ตำ คั้นเอาน้ำ ทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ

ตำให้ละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย

คลุกเคล้ากัน แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ

อังไอน้ำให้ร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อย เช้า เย็น จนกว่าจะหาย

ไพลหนัก 2 กิโลกรัม

ทำน้ำมันไพล

โดยทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ จนเหลือง

หรี่ไฟ แล้วตักไพลออก ใส่กานพลูผง

ประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อ

ด้วยไฟอ่อนๆประมาณ 10 นาที กรอง

แล้วรอจนน้ำมันอุ่น ใส่การบูร ลงไป

4 ช้อนชา เทใส่ภาชนะปิดมิดชิด

รอจนเย็น จึงเขย่าให้การบูรละลาย

ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น

หรือเวลาปวดเมื่อย



กลุ่ม 12 รักษาอาการชันนะตุ
















ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

มะคำดีควาย

ผล

5 ผล

ทุบพอแตก ต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย

ทาที่หนังศีรษะบริเวณที่เป็น

วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น จนกว่าจะหาย

ระวังอย่าให้เข้าตา จะทำให้แสบตา



กลุ่ม 13 รักษาอาการไข้
























ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

ปลาไหลเผือก

รากแห้ง

ครั้งละ 1 กำมือ

(8-15 กรัม )

ต้มกับน้ำ ดื่มก่อนอาหาร

วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น

หรือเวลามีอาการ

ย่านาง

รากแห้ง

ครั้งละ 1 กำมือ

(8-15 กรัม )

ต้มกับน้ำ ดื่มก่อนอาหาร

วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น

หรือเวลามีอาการ



กลุ่ม 14 รักษาโรคเหา


















ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

น้อยหน่า

ใบสดหรือเมล็ด

ใบสดประมาณ 1 กำมือ

หรือเมล็ด 10 เมล็ด

ตำให้ละเอียด ผสมน้ำมันมะพร้าว

1-2 ช้อนโต๊ะ ขยี้ให้ทั่วศีรษะ

ใช้ผ้าโพกไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง

แล้วสระผมให้สะอาด ระวังอย่าให้เข้าตา

เพราะจะแสบมากและทำให้ตาอักเสบได้



กลุ่ม 15 รักษาอาการแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก




























ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

ขนาดที่ใช้

วิธีใช้

บัวบก

ทั้งต้นสด

1 กำมือ

ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด

คั้นน้ำ ทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ

กากก็ใช้พอกด้วย

มะพร้าว

น้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน ใส่ในภาชนะ

คนพร้อมๆกับเติมน้ำปูนใส 1 ส่วน

จนเข้ากันดี ใช้ทาที่แผลบ่อยๆ

ว่านหางจระเข้

ใบสดเลือกใบที่อยู่โคนต้น

ปอกเปลือกเขียวออก ล้างยางเหลือง

ออกให้หมด ขูดเอาวุ้นใสมาพอก

บริเวณแผล วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น

จนกว่าแผลจะหาย



กลุ่ม 16 ที่ใช้แต่งสี


































ชื่อพืช

ส่วนที่ใช้

สารสำคัญ

ใช้แต่งสี

กระเจี๊ยบแดง

กลีบเลี้ยง

anthocyanin

ให้สีแดงเข้ม

อาหาร เครื่องดื่ม

ขมิ้น

เหง้า

curcumin

ให้สีเหลืองเข้ม

อาหารคาว เช่น แกงกระหรี่

ข้าวหมกไก่ แกงเหลือง

อาหารหวาน เช่น

ข้าวเหนียวเหลือง

คำฝอย

ดอกแห้ง

safflower yellow

ให้สีเหลืองส้ม

อาหาร

คำแสด

เมล็ด

bixin

ให้สีแดง

อาหารประเภทไขมัน เช่น

ฝอยทอง เนย ไอศกรีม

ใช้ย้อมผ้าฝ้ายหรือผ้าไหม























เตย

ใบสด

xantophyll, chlorophyll

ให้สีเขียว

อาหารหวาน เช่น ลอดช่อง สลิ่ม

ขนมเปียกปูน วุ้นกะทิ น้ำเก๊กฮวย

ขนมเค้ก เป็นต้น

ใบ โขลกพอแหลก ต้มกับน้ำ

ใส่น้ำตาลเล็กน้อย ทำเป็นชาใบเตย

ฝาง

แก่นไม้

sappen red

ให้สีชมพูเข้ม

อาหาร น้ำยาอุทัย

อัญชัน

ดอกสด

anthocyanin

ให้สีน้ำเงิน

เติมน้ำมะนาวเปลี่ยนเป็น

สีม่วง

อาหาร มักนิยมใช้แต่งสีน้ำเงิน

ของขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ ขนมขี้หนู





เอกสารอ้างอิง

• สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข . ยาสมุนไพร ในงานสาธารณสุข . พิมพ์ครั้งที่ 1. กทม .: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก , 2537.

• คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล . สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ . พิมพ์ครั้งที่ 1. กทม .: บริษัท

อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด , 2535.

• สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข .

สมุนไพรใกล้ตัว . กทม .: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก , 2534.

• จำรูญ มีขนอน , บรรณาธิการ . รายงานการประเมินผลโครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน โดยการสนับสนุนของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน . พิมพ์ครั้งแรก . กทม .: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก , 2533.

• สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข . สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานสำหรับบุคลากรสาธารณสุข . กทม .: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก , 2530

[ ... ]