Wednesday, October 1, 2008

ความรู้เบื้องต้น...มะเร็งลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ ลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้องหรือ โคล่อน (Colon) กับลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานหรือเร็คตั่ม (Rectum) มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับลำไส้ใหญ่ทุกๆ ส่วน มะเร็งลำไส้ใหญ่ของทั้ง 2 ส่วนจะมีลักษณะโรคและวิธีการรักษาจะแตกต่างกันบ้าง แต่สาเหตุการตรวจวินิจฉัยและระยะโรคคล้ายคลึงกัน มะเร็งลำไส้ใหญ่มีอุบัติการสูงกว่าในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่สามารถพบได้ในทุกอายุจะพบได้น้อยกว่าในอายุต่ำกว่า 40 ปี อุบัติการในเพศชายจะสูงกว่าในเพศหญิง
สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่แต่พบว่ามีหลายๆ ปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้แก่

1. พันธุกรรม ทั้งชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดและพันธุกรรมที่ไม่ถ่ายทอด ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่หรือเกิดเป็นก้อนเนื้อโพลิบ (Polyp) ของลำไส้ใหญ่

2. อาหาร บางการศึกษาวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารไขมันสูง หรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า

3. บางการศึกษาพบว่าการขาดสารอาหารบางชนิด อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่า ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน

4. การรับประทานผัก ผลไม้ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการรับประทานกลุ่มอื่น

5. การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายที่พอเหมาะ อาจลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ระดับหนึ่ง

6. การดื่มสุรา หรือเบียร์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

7. การสูบบุหรี่ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน
อาการและอาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่จะเป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคลำไส้ทั่วๆ ไป เช่น

1. ท้องผูก สลับท้องเสียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

2. อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสด หรือสีดำคล้ายสีถ่าน

3. ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ

4. ปวดท้องอย่างรุนแรง

5. อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ

6. อาจคลำก้อนได้ในท้อง
ดังนั้น ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์อย่าปล่อยไว้นาน
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และการตรวจหาระยะของโรค

1. จากประวัติและการตรวจร่างกายประกอบอาการและอาการแสดงของ ผู้ป่วย รวมทั้งการตรวจทางทวารหนัก

2. การตรวจหรือการตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ

3. อาจมีการถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก

4. การส่องกล้องทางทวารหนักและการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางด้านพยาธิวิทยา เพื่อหาโรคมะเร็ง
ในการตรวจหาระยะของโรคแพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องตรวจเหมือนๆ กันในผู้ป่วยทุกราย เช่น

1. การตรวจช่องท้องด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซีทีสะแกน (CT-Scan)

2. การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด

3. การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการทำงานของตับ ไต หรือ โรคเบาหวานเป็นต้น

4. การตรวจภาพสะแกนของกระดูก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมาก เพื่อตรวจว่าได้มีโรคแพร่กระจายไปกระดูกหรือไม่

5. การตรวจอัลตราซาวด์ตับถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่ไปตับ
ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่แบ่งเป็น 4 ระยะได้แก่
ระยะที่ 1
โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้
ระยะที่ 2
โรคมะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และ/หรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง
ระยะที่ 3
มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
ระยะที่ 4
มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามตามกระแสโลหิตไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด หรือกระดูกเป็นต้น
ความรุนแรงของลำไส้ใหญ่ ความรุนแรงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยที่สำคัญได้แก่

• ระยะของโรค ระยะยิ่งสูงความรุนแรงของโรคก็มากขึ้น

• สภาพร่างกาย และโรคร่วมอื่นๆ อันมีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยควรรักษาสภาพให้แข็งแรงและควบคุมโรคอื่นๆ ให้ได้

• อายุ ผู้ป่วยอายุน้อย มักมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามมากกว่าเพราะไม่ค่อยได้นึกถึงโรคมะเร็ง ส่วนผู้ป่วยสูงอายุมักมีสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษา

• ขนาดของก้อนมะเร็ง ยิ่งมีขนาดโตมากความรุนแรงของโรคจะมากกว่าในผู้ป่วยซึ่งขนาดก้อนมะเร็งเล็กกว่า

• การที่มีมะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง ความรุนแรงของโรคก็จะมากกว่าการไม่มีการลุกลามของโรค
วิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มี 3 วิธีหลักที่สำคัญได้แก่ การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด

• การผ่าตัด การรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ การผ่าตัด เอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป ในบางครั้งถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาก หรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก

• รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นรายๆ ไป โดยแพทย์จะประเมินจากลักษณะการลุกลามของก้อนมะเร็งและโอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองโดยทั่วไป การฉายรังสีรักษามักใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์หรือหยุดตามวันราชการและวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น

• เคมีบำบัด คือการให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัดและ/หรือหลังผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ การใช้เคมีบำบัดก็จะขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
การติดตามผลการรักษา
ภายหลังรักษาครบตามกระบวนการแล้ว แพทย์ยังจะนัดตรวจผู้ป่วยสม่ำเสมอ โดยในปีแรกอาจนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ภายหลังรักษาครบ 2-3 ปีไปแล้วอาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ภายหลัง 3-5 ปี อาจนัดตรวจทุก 3-6 เดือน และถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว อาจนัดตรวจทุก 6-12 เดือน ในการนัดมาทุกครั้งแพทย์จะ ซักประวัติและทำการตรวจร่างกาย ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจเลือด หรือเอกซเรย์จะทำตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นรายๆ ไปไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยควรมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอและควรนำญาติสายตรงหรือผู้ให้การดูแลผู้ป่วยมาด้วย เพื่อจะได้ร่วมปรึกษาเพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม







แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com

0 comments: