Saturday, November 15, 2008

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Heart Failure หรือ Congestive Heart Failure หมายถึงภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบ ฉีด เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของ ร่างกายได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดอาการต่างๆขึ้น คำนี้ในบางครั้งภาษาไทยใช้คำว่า "หัวใจวาย" เช่นกัน แต่ในความหมายของคนทั่วไป เมื่อกล่าวคำว่า "หัวใจวาย" จะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) มากกว่า จึงอาจสับสนได้

เมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย เช่น ฮอร์โมน หลายชนิดเพิ่มขึ้นผิดปกติ หลอดเลือดแดงหดตัว แรงต้านต่อหัวใจมากขึ้น หัวใจทำงาน หนักมากขึ้น ความดันโลหิตลดลง ผลตามมาคือ ไตวาย และอวัยวะต่างๆไม่ทำงานตามปกติ ทำให้เสียชีวิตในที่สุด

อาการ : จะขึ้นกับว่าหัวใจซีกใดผิดปกติ หากหัวใจซีกขวาล้มเหลว ก็จะทำให้เลือดไม่ สามารถไหลเข้าหัวใจซีกขวาได้ดี ผลที่ตามมาคือ ตับโต (ทำให้แน่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร) ขาบวม ท้องบวม แต่ถ้าหัวใจซีกซ้ายล้มเหลว อาการเด่นคือ อาการทางปอด เนื่องจากมี เลือดคั่งในปอดมาก ได้แก่ เหนื่อย หอบ ไอเป็นเลือด นอนราบไม่ได้เพราะจะเหนื่อยมาก จนในที่สุดไม่สามารถหายใจได้

สาเหตุ : โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย ลิ้นหัวใจตีบ หรือ รั่ว ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจพิการจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัส เบาหวาน แอลกอฮอล์ (รวมทั้งไม่มีสาเหตุ)


จุดมุ่งหมายการรักษา : ลดอาการหอบเหนื่อย หรือ บวม, อายุยาวขึ้น, คุณภาพชีวิตดีขึ้น


หลักการรักษา : รักษาตามอาการ ให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดน้ำในปอด ยาขยายหลอดเลือด แดงช่วยให้หัวใจทำงานสบายขึ้น ยากระตุ้นหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว บางรายต้องรักษาตาม สาเหตุด้วย เช่น ผ่าตัดแก้ไขลิ้นหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นต้น หากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็อาจพิจารณาให้ยาควบคุม


ผลการรักษา / การพยากรณ์โรค : เป็นโรคที่ไม่หายขาดไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด หากหัวใจเสียมาก กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวน้อย การพยากรณ์โรคไม่ดี หากเป็นโรคลิ้นหัวใจ พิการ การแก้ไขลิ้นหัวใจโดยการผ่าตัด หรือ ขยายลิ้นหัวใจ แม้จะไม่ได้ช่วยให้หายขาด แต่ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก


คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย : รับการรักษาสม่ำเสมอ ไม่ควรขาดยา ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพราะยา หลายอย่างมีผลแทรกซ้อนมาก หากมีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยมาก ต้องรีบมารพ.ใกล้ที่สุดทันที

เรียบเรียงโดย นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ
http://www.thaiheartweb.com/

0 comments: