Saturday, November 15, 2008

หัวใจเต้นช้า

ผู้ป่วยและผู้อ่านหลายท่านมีอาการ "หัวใจเต้นเร็ว" "หัวใจเต้นแรง" หรือ "ใจสั่น" แต่บางท่านกลับ มีปัญหาตรงกันข้าม นั่นคือ "หัวใจเต้นช้า" หัวใจประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่มีการหดตัว คลายตัว ตลอดเวลา เพื่อบีบตัวไล่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย การบีบตัวของหัวใจอาศัยการเปลี่ยนแปลง ของไฟฟ้าในหัวใจเป็นตัวกระตุ้น จุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจอยู่ที่หัวใจห้องขวาบน ปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมา กระตุ้นทั้งหัวใจอย่างเป็นระบบ เป็นจังหวะประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที แล้วแต่ความต้องการของ ร่างกาย เช่นเวลานอนหลับ อาจต่ำลงถึง 45-50 ครั้งต่อนาทีก็ได้ แต่เมื่อออกกำลังกาย หัวใจจะเต้นเร็ว ขึ้นได้มากกว่า 120 ครั้งต่อนาที จุดกำเนิดไฟฟ้านี้ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนหลายชนิด รวมทั้งอารมณ์ ด้วยครับ





การที่หัวใจเต้นน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที เรียกว่า หัวใจเต้นช้า แต่จะช้าแบบปกติ หรือ ผิดปกติ นั่นเป็นเรื่องที่จะคุยต่อไปครับ ถึงสาเหตุต่างๆดังนี้

หัวใจเต้นช้าแบบปกติ
โดยส่วนใหญ่จะไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาที (แต่อย่างไรก็ตามมีบางรายที่เต้น 45 ครั้งต่อนาทีแต่ยัง ปกติก็ได้) และต้องไม่มีอาการผิดปกติต่างๆด้วย เช่น ไม่เหนื่อยง่าย หรือ หน้ามืด เป็นลม หัวใจเต้น ช้าแบบนี้พบได้ในผู้ที่ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ เช่น นักกีฬา นักวิ่ง เป็นต้น หัวใจ เต้นช้าแบบนี้เป็นสิ่งดีครับ แสดงถึงความ"ฟิต"ของร่างกาย

ยังมีหัวใจเต้นช้าแบบปกติอีกชนิดหนึ่ง คือ การตอบสนองต่อ ความกลัว หรือ ความเจ็บปวด เช่น เวลาเห็นเลือดแล้วเป็นลม หรือ เจาะเลือดแล้วเป็นลม เหล่านี้เกิดจากหัวใจเต้นช้าชั่วขณะเช่นกัน

หัวใจเต้นช้าจากยา
ยาที่ใช้ลดความดันโลหิต และ โรคหัวใจขาดเลือดบางชนิด (กลุ่ม betablocker) จะทำให้หัวใจ เต้นช้าลงกว่าปกติ เนื่องจากหัวใจที่เต้นช้านี้ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจใช้ออกซิเจนน้อยลง จึงทำให้ อาการของหัวใจขาดเลือดลดลง

หัวใจเต้นช้าชนิดร้ายแรง
เกิดขึ้นเนื่องจากระบบการนำไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ความผิดปกติอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่"จุดกำเนิดไฟฟ้า" "สถานีดีเลย์ไฟฟ้า" "กลุ่มเซลนำไฟฟ้าในหัวใจ" มีผลให้การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติไป ส่วนสาเหตุ อาจเกิดจาก ความเสื่อมของเซลนำไฟฟ้าเองในผู้สูงอายุ (degenerative change เช่น Sick sinus syndrome หรือ Aortic Stenosis) อาจเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน (Myocardial Infarction) เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral Myocarditis) ส่วน หัวใจเต้นช้าแต่กำเนิดพบได้น้อย (Congenital Heart Block)

อาการ และ แนวทางการรักษา

อาการของหัวใจเต้นช้าเกินไป คือ อาการที่เกิดจากเลือดจะไม่พอเลี้ยงสมอง ทำให้เกิดอาการ "วูบ" "หมดสติชั่วขณะ" หรือ "เป็นลม" นอกจากนั้นหากเป็นมานานจะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เหนื่อย ง่ายผิดปกติ การวินิจฉัยอาศัยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ บางรายต้องอาศัยการดู คลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ด้วย สำหรับการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการ และ สาเหตุ หากเป็นชนิดที่ปกติ ไม่มีอาการผิด ปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาใดๆครับ แต่หากเป็นชนิดที่ร้ายแรงก็จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้หัวใจเต้นช้า เกินไป ด้วยการผ่าตัดใส่ เครื่องกระตุ้นหัวใจ


เรียบเรียงโดย นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ
http://www.thaiheartweb.com/

0 comments: