Thursday, October 9, 2008

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นโรครื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุการตายในประเทศต่างๆทั่วโลกและเป็นอันดับที่สี่ของคนไทย รองจากกลุ่มโรคมะเร็ง อุบัติเหตุและการเป็นพิษ กลุ่มโรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดสมอง สาเหตุของโรคหัวใจ เกิดจากการที่มีพลาก (atherosclerotic plaque) เกาะผนังหลอดเลือดทำให้ขัดขวางการไหลของเลือด โดยเฉพาะเมื่ออุดตันหลอดเลือดโคโรนารี่ที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเมื่อตรวจดูพลากจะพบว่าเต็มไปด้วยไขมันชนิดโคเลสเตอรอล ปะปนกับเซลล์ เศษเซลล์และโปรตีนเส้นใย มีแคลเซียมมาสะสม พลากอาจจะค่อย ๆ สะสมเพิ่มขนาด จนทำให้รูหลอดเลือดแดงตีบแคบลง ทำให้ขัดขวางการไหลของเลือด
หรืออาจเกิดการแตกและกระตุ้นให้เกิดกลไกการสร้างลิ่มเลือดจนอุดตันหลอดเลือดช่วงนั้น กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ตามปกติถูกหล่อเลี้ยงโดยเส้นเลือดที่อุดตันนี้จึง ขาดเลือด ขาดออกซิเจน ทำให้มีอาการ เจ็บ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย อาจเกิดอาการมากขึ้นขณะทำงานหรือออกกำลังกาย หรือมีภาวะเครียดหรือตื่นเต้น (ถ้าตีบน้อยกว่าร้อยละ 50 จะหายไปขณะพัก) เมื่อมีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นเกิดขึ้นหรือเกิดการเต้นของหัวใจผิดจังหวะอย่างรุนแรง นำไปสู่การเสียชีวิตโดยกะทันหัน

ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ที่สำคัญ ได้แก่ความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง,โรคเบาหวาน,การสูบบุหรี่ โรคอ้วน, อัตราส่วนของเส้นรอบเอวต่อสะโพกเกิน 1 ,การบริโภค อาหารที่ไม่เหมาะสม ,ความเครียด ,การขาดการออกกำลังกาย และการอักเสบของเซลล์บุหลอดเลือดจากภาวะเครียดทางออกซิเดชัน นอกจากนี้ยังพบอัตราการเกิดในเพศชายสูงกว่าและเกิดในช่วงอายุน้อยกว่าเพศหญิง และหากมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ โอกาสการเกิดโรคจะสูงยิ่งขึ้น

ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากขึ้นเช่นกัน40



ตารางที่ 1 แสดงระดับไขมันในเลือดต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ




ภาวะเครียดจากออกซิเดชั่นและพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจตีบ

ในสภาวะปกติ กระบวนการสร้างพลังงานจากสารอาหารที่บริโภคจำเป็นต้องใช้ออกซิเจน ทำให้มีการสร้างสารอนุมูลอิสระที่เป็นอนุพันธ์ของออกซิเจน (reactive oxygen species; ROS) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสารชีวโมเลกุลและเซลล์ ปกติร่างกายจะมีวิธีกำจัดสารอนุมูลอิสระเหล่านี้ไม่ให้มากเกินไป โดยอาศัยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ทั้งที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง เช่น กลูตาไทโอน (glutathione) และได้รับจากภายนอก เช่น วิตามินอี วิตามินซี เบต้าแคโร-ทีน ไลโคพีน ไฟโตเอสโตรเจน เฟวานอยด์ เป็นต้น หากมีสารต้านอนุมูลอิสระน้อย หรือกระบวนการกำจัดสารอนุมูลอิสระเสียไป ทำให้สารอุมูลอิสระสูงขึ้นในร่างกาย เกิด ภาวะเครียดจากการออกซิเดชัน (oxidative stress) ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญในการเสื่อมของหลอดเลือดและเซลล์บุผิวของหลอดเลือด การอักเสบ และการเกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด อาทิเช่น ความชรา (aging) หรือโรคอื่นๆ ในผู้สูงอายุ เช่น โรคเส้นเลือดตีบตัน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคไต โรคนิ่ว เป็นต้น มีรายงานการศึกษาทั้งผลของการให้หรือเสริมอาหารผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ( antioxidants-rich fruits, vegetable and whole grains ) พบว่ามีประโยชน์ในการลดการเกิดพลาก และลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
พบว่าการลดลงของอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การลดระดับไขมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL ดังนั้นถ้าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีความรู้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารไขมันต่ำ เลือกใช้กรดไชมันชนิด โอเมก้า-3 และกรดไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวและ น้ำมันที่มีกรดไขมันทราน (Trans –fats ) และบริโภคอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและกากใยสูงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้ป้องกันและฟื้นฟูโรคได้



การสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion: HP)

เป็นกระบวนการที่บุคคลสามารถที่จะควบคุมและดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพให้กับตนเอง ส่งผลให้สุขภาพของตัวเองดีขึ้น รวมทั้งกระบวนการที่ทำให้เกิดความรู้ การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจะครอบคลุมกับทุกคนทั้งบุคคลที่ปกติหรือผู้ป่วย
ข้อควรปฏิบัติตนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ควรบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ และคาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยสูงให้มากเพียงพอทุกวัน
- ควรออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นประจำ อย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
- ควรผ่อนคลายความเครียด เช่น การสร้างจินตภาพ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โยคะ นั่งสมาธิ เป็นต้น
- ควรควบคุมน้ำหนักและ อัตราส่วนของเส้นรอบเอวต่อสะโพกให้ต่ำกว่า 1 (ควบคุมไขมันหน้าท้อง) และงดสูบบุหรี่




อาหารที่แนะนำในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ



อาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ควรเป็นอาหารที่อ่อน ย่อยง่าย รสชาติไม่จัดจนเกินไป ควรเลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยสูง มีส่วนประกอบของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวต่ำ (low glycemic index) และเลือกบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยไขมันที่รับประทานควรมีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวเป็นหลัก เพิ่มการบริโภคอาหารที่มีพวกผัก ผลไม้ อาหารกลุ่มธัญพืช และกากใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย รวมถึงสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ป้องกันภาวะท้องผูกได้และลดการเกิดมะเร็งลำไส้ อีกทั้งไม่ควรรับประทานอาหารและผลไม้ที่มีรสหวานหรือเค็มจัด
ข้อมูลที่น่าสนใจและสอดคล้องกันหลายสื่อ คือ ผู้สูงวัยที่มีอายุยืนและสุขภาพแข็งแรง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะผอม สมส่วนไม่อ้วน สุขภาพจิตดี และยังมีข้อมูลที่สำคัญ คือ ชอบบริโภคอาหารไทยที่มีปลา น้ำพริก ผักทุกชนิดกับข้าวในปริมาณที่พอเหมาะ มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ไม่อยากรวย ไม่คิดมาก ไม่ชอบการขัดแย้ง ทนได้ก็ทน ทนไม่ได้จะเดินหนี

และยังมีรายงานของอาจารย์ อรพิน บรรจง

ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับ วันที่ 13 เมษายน 2549

ที่นำงานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับการกินอยู่ของผู้สูงวัยมาวิเคราะห์พบว่า อาหารที่ทำให้ผู้สูงอายุของไทย4 ภาค ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและมีอายุยืนเกิน 100 ปี คือ ข้าว น้ำพริกจิ้มผัก ปลา ไก่ และผลไม้ไทยราคาถูก ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีอยู่รอบตัว และเป็นอาหารที่ปรุงเอง ผักผลไม้ปลูกเอง ไก่ปลาก็เลี้ยงเอง






อาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงโดยจำกัดกรดไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่า ร้อยละ 7 และ คอลเลสเตอรอลในอาหารให้น้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ ไข่เป็ด (619 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ไตหมู (480 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ตับหมู (368 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ปลาหมึกตัวใหญ่ หรือปลาหมึกกล้วย (248 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) กุ้ง (154 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) และเนย (260 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) และอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ถูกดัดแปลง (trans –fatty acid) ที่พบมากในอาหารที่ทอดด้วยน้ำมันพืชที่ใช้ซ้ำหลายๆครั้ง เช่น ทอดมัน กล้วยทอด มันฝรั่งทอด ปลาท่องโก๋ นอกจากนี้ยังได้แสดงอาหารที่ควรรับประทานและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงดังตาราง







อาหารที่ควรรับประทาน อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
นมพร่องไขมันเป็น (ไขมัน 1%/) โยเกิร์ต ไอศกรีมพร่องไขมัน ถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้
ไข่ขาว ปลาและปลาทะเลน้ำลึก เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและไม่มีหนัง เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไม่ติดมัน



ข้าวซ้อมมือ ขนมปัง หรือแคร็กเกอร์ที่ทำจากธัญพืช ผักสด หรือ ผักนึ่ง ชาเขียว กระเทียมสด
ใช้วิธีลวก ต้ม นึ่ง ย่าง และอบแทนการทอด ถ้าต้องใช้น้ำมันปรุงอาหาร ควรใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันถั่วลิสงหรือน้ำมัน canola หรือน้ำมันถั่วเหลือง ในปริมาณน้อย

รับประทานธัญพืชหรือเมล็ดพืชที่มี MUFA พอประมาณเช่น แมคคาเดเมีย อัลมอนด์ วอลนัท โดยรับประทานร่วมไปกับอาหารอื่น
กินผลไม้และผักที่มีใยอาหารมากๆ



นม (whole milk) ชีส ไอศกรีม เนย (butter) เนยเทียม (magarine) ตลอดจนของอบที่มีส่วนประกอบเป็นเนยและเนยเทียม เช่น คุ้กกี้ เค้ก พายและพัฟต่างๆ
ไข่แดง เนื้อสัตว์ติดมัน และมีหนัง ขาหมู ข้าวมันไก่ ไส้กรอก เบคอน เครื่องใน เช่น ตับ สมอง


น้ำต้มเนื้อ อาหารที่ปรุงโดยการผัดในน้ำมันที่มันจัดหรืออมน้ำมัน เช่น ปลาดุกฟู ขนมปังทอด (ควรใช้น้ำต้มผักหลากสีเป็นน้ำสต้อกแทนน้ำมัน) งดการบริโภคอาหารทอด เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขก โดนัท โรตี มันฝรั่งทอด



การประกอบอาหารงดไขมันชนิด เช่น กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู ถ้าจำเป็นควรใช้กะทิที่ผลิตจากธัญพืชแทน (เมล็ดทานตะวันและรำข้าว)





ถ้ามีโรคหลอดเลือดหัวใจ ร่วมกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ต้องรับประทานอาหารหมู่ ข้าว แป้ง แต่พอควร เพราะถ้าได้รับมากทำให้เพิ่มน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคุณสมบัติทำให้ น้ำตาลในเลือดสูง (high glycemic index) เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว ข้าวเหนียว ทุเรียน ลำไย ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหม้อแกง เนื่องจาก ควรเลือกรับประทานอาหารที่มี low glycemic index และมีไฟเบอร์สูง เช่น ข้าวกล้อง ถั่วเหลือง วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ สปาเก็ตตี้ ส้ม กล้วย มะละกอ พุทรา แอปเปิ้ล ฝรั่ง งดเครื่องดื่มที่หวานจัด น้ำอัดลม ควรใช้น้ำตาลเทียม เติมในเครื่องดื่มแทนน้ำตาลทราย



การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

การออกกำลังกายที่ดีไม่ใช้แรงมาก ไม่ควรเป็นการวิ่งหนักๆ ซึ่งจะส่งผลต่อข้อเข่าและสะโพก ควรเป็นการออกกำลังกายเบาๆ ที่มีการออกแรงสม่ำเสมอ เช่น การเดิน แอโรบิกช้าๆ ไทเก๊ก การออกกำลังกายในน้ำ เป็นต้น
สำหรับการเดิน ต้องเดินติดต่อกันไปเรื่อยๆอย่างน้อย 30 นาที เดินให้เร็ว ก้าวขายาวๆ แกว่งแขน และควรเดินให้ได้ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง กรณีผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบตันควรปรึกษาแพทย์ และช่วงแรกควรกระทำภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ประโยชน์ของการออกกำลังกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์และกลูโคสในเลือด เพิ่มระดับไขมันชนิดที่ดี HDL และระดับสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดภาวะเครียดจากออกซิเดชั่น ซึ่งเป็นผลโดยตรงในการลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ






แนวทางการปฏิบัติตนแบบองค์รวมเพื่อลดความรุนแรงของโรคและสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ

1.โภชนาการ ควรเลือกบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ โดยมีปริมาณไขมันไม่เกินร้อยละ 10 ของอาหารที่บริโภคทั้งหมด การบริโภคผักและผลไม้ปริมาณมากเพื่อเพิ่มเส้นใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ

2. ควบคุมน้ำหนักตัวและดัชนีมวลร่างกายไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน

3. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยพิจารณาเลือกการออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงมากอย่างรวดเร็ว เช่น การเดิน การฝึกโยคะ การรำมวยจีน โดยฝึกให้ต่อเนื่อง 30 นาทีอย่างน้อยวันเว้นวัน

4. ลดความเครียด เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและการสร้างจินตภาพ การทำสมาธิ การพบปะผู้คนการเข้ากลุ่มพูดคุยเพื่อปรึกษาและให้กำลังใจ

5. หลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น การเลิกสูบบุหรี่และเลิกดื่มเหล้า






การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และการสร้างจินตภาพ สำหรับผู้สูงอาย

Progressive muscle relaxation and Guilded imaginary

โดย ศ. ปิยะรัตน์ โตสุโขวงศ์ นางสาว เอมอร แสงศิริ และ รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ
(ฝ่ายชีวเคมี หอผู้ป่วยไอซีซียู ฝ่ายการพยาบาล และหน่วยโรคหัวใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)



การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

การออกกำลังกายที่ดีไม่ใช้แรงมาก ไม่ควรเป็นการวิ่งหนักๆ ซึ่งจะส่งผลต่อข้อเข่าและสะโพก ควรเป็นการออกกำลังกายเบาๆ ที่มีการออกแรงสม่ำเสมอ เช่น การเดิน แอโรบิกช้าๆ ไทเก๊ก การออกกำลังกายในน้ำ เป็นต้น
สำหรับการเดิน ต้องเดินติดต่อกันไปเรื่อยๆอย่างน้อย 30 นาที เดินให้เร็ว ก้าวขายาวๆ แกว่งแขน และควรเดินให้ได้ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง กรณีผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบตันควรปรึกษาแพทย์ และช่วงแรกควรกระทำภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ประโยชน์ของการออกกำลังกาย



ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์และกลูโคสในเลือด เพิ่มระดับไขมันชนิดที่ดี HDL และระดับสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดภาวะเครียดจากออกซิเดชั่น ซึ่งเป็นผลโดยตรงในการลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ



การจัดการกับความเครียด

การจัดการกับความเครียดกระทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล ที่ปฏิบัติแล้วสามารถช่วยลดความเครียด ทำให้รู้สึกผ่อนคลายลงได้ ได้แก่ การปฏิบัติสมาธิ(Meditation) การผ่อนคลาย(Relaxation): การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (progressive muscle relaxation: PMR) การสร้างจินตภาพ (Guide imaginary) เป็นต้น
การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (progressive muscle relaxation) คิดค้นขึ้นโดยนายแพทย์ Edmund Jacobson ในช่วงปี ค.ศ. 1930 เป็นกระบวนการฝึกการเกร็งและการคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อฝึกฝนการควบคุมการคลายกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Active progressive muscle relaxation การควบคุมให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เกร็งขึ้นช้าๆ จนตึงเครียดสูงสุด จากนั้นคลายการเกร็งเพื่อให้อยู่ในท่าที่ผ่อนคลายและสบายที่สุด กลุ่มกล้ามเนื้อที่จะควบคุมแบ่งเป็นกล้ามเนื้อขาน่อง กล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อคอและใบหน้า
Passive progressive muscle relaxation เทคนิคนี้ เป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยไม่ต้องเกร็งก่อน โดยการใช้ความรู้สึก หรือจิตไปสัมผัสแต่ละส่วนของร่างกาย ให้มีสติกำหนดรู้ว่ากล้ามเนื้อส่วนนั้นๆผ่อนคลาย และสบาย

ประโยชน์ของการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ คือ ผู้ฝึกจะรู้จักการควบคุมคลายกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดความตึงตัวจากภาวะความเครียด ให้ผ่อนคลายลงได้





การสร้างจินตภาพ (Guide imaginary)



การสร้างจินตภาพ


คือ การสร้างจินตนาการในความคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหน้าในทางที่ดี เพื่อให้รู้สึกถึงความทุกข์ทรมานและความท้อแท้ลดลง เช่น คิดถึงร่างกายที่มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงในขณะที่มีความเจ็บป่วย หรือกล้ามเนื้อที่ผ่อนคลายทั่วลำตัวในขณะที่มีความเครียด การศึกษาในประเทศไทยพบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม (ปริญญา สนิกะวาที 2540) และผู้ป่วยที่มีบาดแผลไฟไหม้ (แสงหล้า พลนอก 2539) ที่สร้างจินตภาพสามารถลดความทุกข์ได้ทั้งทางกายและทางใจได้ชัดเจนกว่ากลุ่มที่ไม่ได้กระทำ ประโยชน์ของการสร้างจินตภาพ เชื่อว่าสามารถลดความเครียดที่เกิดขึ้นภายใน ทำให้การทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายและฮอร์โมนกลับสู่สภาวะปกติ หัวใจเต้นช้าลง การต้องการใช้ออกซิเจนของสมองและหัวใจลดลง ทำให้ระดับอนุมูลอิสระที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานและออกซิเจนลดลง
คณะวิจัยจากภาควิชาชีวเคมี ทำการศึกษาระดับไขมันในเลือดและภาวะ เครียดทางออกซิเดชั่น ในกลุ่มนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 ในสภาวะปกติ เทียบกับภายหลังปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิต โดยเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง ร่วมกับการผ่อนคลาย ความเครียดโดยการฝึกคลายกล้ามเนื้อ การทำโยคะ และการสร้างจินตภาพ พบว่า ภายหลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงหนึ่งสัปดาห์ ระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์และ LDL ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในขณะที่ HDL เพิ่มสูงขึ้น เล็กน้อย
ในด้านของความเครียดทางออกซิเดชั่น พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระในปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บ่งชี้ว่าในมีระดับสารต้านอนุมูลมากเกินพอ ในขณะที่สารอนุมูลอิสระ ในพลาสมาและระดับกลูทาไธโอนเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากอนุมูลอิสระที่เรียกว่า malondialdehyde (MDA) ในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ



ต่อมาคณะวิจัยจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ศึกษาประสิทธิผลของการสร้างเสริมสุขภาพและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดต่อการเปลี่ยนแปลงระดับไขมัน ภาวะเครียดจากออกซิเดชั่นในเลือด สมรรถภาพการทำงานของหัวใจ น้ำหนักของร่างกาย และคุณภาพชีวิต ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มาเข้าโปรแกรม เน้นความสามารถในการดูแลตนเอง ได้แก่


1. ให้ความรู้ในเรื่องการบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
2. การใช้เทคนิคจัดการกับความเครียด โดยการสร้างจินตภาพหรือจินตนาการ
3. การออกกำลังกายโดยการเดิน และฝึกโยคะอาสนะ
4. การจัดกลุ่มให้ความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ผู้ป่วยในด้านสุขภาพหลาย ๆ ด้าน
5. การตรวจสมรรถภาพของหัวใจ การตรวจเลือดก่อนและหลังเข้าโปรแกรม
6. การให้ความรู้เรื่องการใช้ยาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ


จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีสมรรถภาพการทำงานของหัวใจดีขึ้น โดยเปรียบเทียบการทำงานของหัวใจ พบว่ากลุ่มผู้ป่วย มี ค่าเฉลี่ย functional capacity และค่า six minute walk test เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าดัชนีมวลกายลดลง ค่าเฉลี่ยระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง (เนื่องจากการควบคุมอาหารไขมันต่ำ) ค่าเฉลี่ยของระดับ HDL ที่เป็นไขมันชนิดดีเพิ่มขึ้น (จากการผ่อนคลายความเครียด) ขณะที่ระดับเฉลี่ยของโคเลสเตอรอลไม่ลดลงแต่เพิ่มขึ้น (ลดลง 5 รายจาก 22 ราย อาจเนื่องจากมีการสร้างขึ้นเองในร่างกาย และไม่ได้รับประทานยาลดไขมัน) ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของระดับ LDL ที่เป็นไขมันชนิดเลวก็เพิ่มขึ้น (เนื่องจากค่า LDL

ได้มาจากการคำนวณจากสูตร C - HDL - (TG/5)) ดังนั้นเมื่อค่าโคเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น LDL จึงเพิ่มขึ้น การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การให้ความรู้โดยผ่านสื่อการสอน และวิธีปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของผู้ป่วย ร่วมทั้งทีมแพทย์ให้คำปรึกษา การเข้ากลุ่มอย่างต่อเนื่อง มีผลเพิ่มระดับ HDL และช่วยลดน้ำหนักตัวในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่น้ำหนักเกิน และอ้วน ได้ในเวลา 4 เดือน






รูปแสดงการเปลี่ยนแปลงของ Mean functional capacity ของผู้ป่วยโรคหัวใจตีบคงที่ก่อนและหลังเข้าโปรแกรม

Intensive lifestyle modification, ILM เป็นเวลา4 เดือน





คำแนะนำในการบริโภคอาหารเพื่อการป้องกันและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือด


- รับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 5-7 ส่วนต่อวัน
- รับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก ถั่วเหลืองและเต้าหู้ เป็นประจำทุกวัน
- งดอาหารที่ใส่กะทิ (ใช้กะทิธัญพืชแทน) เนยเทียม ครีมเทียม งดอาหารทอดควรใช้วิธีอบหรือนึ่งแทน ควรใช้น้ำมันประกอบอาหารเป็น น้ำมันมะกอก (olive oil), น้ำมันจากเมล็ดคาโนลา (canola oil) น้ำมันมะกอก , น้ำมันรำข้าว (rice bran oil) ในปริมาณที่เหมาะสม
- รับประทานถั่วที่มี monounsaturated fatty acids และ กรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น อัลมอนด์, hazelnuts, pecans, walnuts and macadamia nuts
- ลดการบริโภค ไขมันอิ่มตัว, polyunsaturated fat และ transfatty acids
- รับประทานกระเทียมเป็นประจำ - เพิ่มการบริโภคอาหารที่มีเส้นใยให้มากพอ
- ลดการบริโภคเนยและมาการีน (เนยเทียม) - ลดการบริโภคเนื้อติดมัน
- ควรบริโภคนมไขมันต่ำ ลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม



นอกจากนี้คณะวิจัยยังพบว่าประสิทธิผลของการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตมีผลต่อค่าของสารต้านอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยเฉพาะ ระดับ antioxidants ในเลือด ( glutathione และ วิตามินซี) เพิ่มมากขึ้น

และการพบค่าวิตามินซีสูงขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากการตื่นตัวองผู้ป่วยเน้นการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มมาก(จากบันทึกการบริโภคอาหารประจำวันและการสัมภาษณ์) และเป็นที่ทราบดีว่าวิตามินซีมีบทบาทเพิ่มการสร้างของ glutathione ขณะที่พบว่าระดับของโมเลกุลที่ถูกทำลาย (MDA) ลดลง


จากผลการศึกษาทั้งในผู้ป่วยและคนปกติสามารถบ่งชี้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำรงชีวิตโดยการรับประทานผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร่วมกับการคลายเครียดโดยวิธีผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โยคะและการสร้างจินตภาพ สามารถลดระดับไขมันในพลาสมาและความเครียดจากออกซิเดชั่น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในผู้สูงอายุได้

0 comments: