Tuesday, December 9, 2008

โรคมะเร็งผิวหนัง (skin cancer)


โรคมะเร็งผิวหนัง (skin cancer)เป็นโรคมะเร็งที่พบมากประมาณร้อยละ 5 ของโรคมะเร็งทั้งหมด พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่สามารถพบได้เร็วกว่ามะเร็งชนิดอื่น เนื่องจากเห็นได้จากภายนอก สามารถรักษาให้หายขาดได้ ธรรมชาติของมะเร็งผิวหนังจะขยายตัวค่อนข้างช้า บางรายอาจนานถึง 5-10 ปี แต่ถ้าไม่รักษาจะมีผลต่ออวัยวะใกล้เคียงไปจนถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

สาเหตุ

  1. การถูกแสงแดดมากเกินไป เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีความเข้มข้นของรังสีอัลตร้าไวโอเล็ทสูงสุด ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังมักเกิดจากแสงแดด ผิวหนังส่วนที่ถูกแสงแดดจะพบว่าเป็นมะเร็งมากกว่าผิวหนังส่วนอื่นๆ
  2. โรคมะเร็งผิวหนังมักพบในแผลเรื้อรังที่มีการระคายเคืองเป็นเวลานานๆ หูด ไฝ ปาน ที่มีการระคายเคืองเรื้อรังอาจกลายเป็นมะเร็งได้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเป็นแผลเรื้อรังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยีน โดยมีการทำลายยีนที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังตามปกติ นอกจากนี้ยังพบโรคมะเร็งผิวหนังที่บริเวณแผลเป็นจากรอยไหม้เพิ่มมากขึ้น
  3. เกิดจากการระคายเคืองของสารเคมี เช่น การได้รับสารหนูในปริมาณสูง โดยเฉพาะยาที่มีส่วนประกอบของสารหนู ทั้งยาแผนโบราณ ยาจีน ยาไทย เมื่อรับประทานนานๆ จะทำให้เป็นโรคผิวหนัง และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด บางรายอาจได้รับจากแหล่งน้ำและอาหาร
  4. การถูกแสงเอกซเรย์ในปริมาณสูงทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
  5. ปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

กลุ่มเสี่ยง

  1. ผู้ที่ถูกแสงแดดมาก
  2. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง
  3. ชนผิวขาวที่ไวต่อการถูกแสงแดดไหม้ (sunburn)

อาการ

อาการของมะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่เริ่มจากมีการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน หรือเริ่มต้นเป็นแผลเล็กๆ แล้วค่อยๆ ขยายขึ้น ขรุขระ อาจมีสีดำที่ขอบๆ และเมื่อเป็นมากจะเป็นก้อนที่คล้ายดอกกะหล่ำปลี โรคมะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่มักพบบริเวณใบหน้า แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว

โรคมะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆ

  1. โรคมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า (Basal Cell Carcinoma)
  2. โรคมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า (Squamous Cell Carcinoma)
  3. โรคมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (Malignant Melanoma)

มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า

  1. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้าเป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงน้อย เพราะเกิดบริเวณชั้นตื้นๆ มักเกิดการทำลาย เฉพาะบริเวณตำแหน่งที่เป็น ถ้าเป็นบริเวณใกล้เคียงอวัยวะที่สำคัญ เช่น ตา จมูก ปาก หู อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะนั้นได้
  2. มะเร็งชนิดนี้มักพบบริเวณ หู จมูก ใบหน้า หน้าอก หลัง พบบ่อยบริเวณที่ถูกแดด เช่น ใบหน้า และใช้ระยะเวลานานในการแพร่กระจายโรค
  3. ลักษณะที่พบมีหลายแบบ ได้แก่ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนใส ขอบม้วน อาจมีสีดำหรือแตกเป็นแผล เป็นก้อนเนื้อนูนสีเดียวกับผิวหนัง หรือ ชมพูใส มีขอบ อาจมีเลือดออกบ่อยๆ บางรายมีลักษณะคล้ายสิว เป็นๆ หายๆ มักมีเลือดออก บางรายพบลักษณะเป็นก้อนแบนแข็งติดกับผิวหนัง ลักษณะเป็นก้อนขุย มีสะเก็ดดำเลือดออก
  4. มักมีอาการระคายเคืองบริเวณก้อนเนื้อ แผลเรื้อรังเป็นๆ หายๆมีเลือดออก
  5. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้าพบได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 60-80 ปี

มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า

  1. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า มีลักษณะนูน แดง ผิวหนังแตกเป็นแผล เลือดออกง่าย ลักษณะคล้ายกับมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า แต่การลุกลามมักเร็วกว่ามะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า โดยมักจะลุกลามลงลึกสู่ด้านล่างของเซลล์ผิวหนัง ถ้าคลำดูผิวหนังด้านล่างมักจะพบว่าเป็นก้อนแข็งๆ
  2. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้าพบบ่อยบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ขอบใบหูสามารถแพร่กระจายจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่งได้ โตและขยายเป็นวงกว้างได้เร็วและลึกกว่ามะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า
  3. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้าพบได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มักพบบ่อยในผู้ที่มีอายุ 60-80 ปี

มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี

  1. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีมีลักษณะคล้ายไฝหรือขี้แมลงวัน หรือเป็นจุดดำบนผิวหนัง
  2. ไฝบนฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใต้เล็บ มีโอกาสเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีมากกว่าที่อื่น ๆ
  3. สัญญาณอันตรายของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงของผิว ของไฝหรือขี้แมลงวันเช่น มีการตกสะเก็ด
  4. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีกระจายอย่างรวดเร็วสู่อวัยวะภายใน สามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว จัดเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงที่สุด

ผื่นแอคตินิค เคราโตสิส

เป็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ โดยมีลักษณะเป็นผื่นขุยๆ มักพบบริเวณหน้า แขน ลำตัว หลังมือ หรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดมาก ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้

การวินิจฉัย

ในด้านการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนัง สามารถทำได้ไม่ยาก โดยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และการตัดชิ้นเนื้อไปวิเคราะห์ชนิดของเซลล์มะเร็งด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา

ไฝบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง

  1. ไฝที่มีลักษณะขอบไม่เรียบ
  2. สีไฝไม่สม่ำเสมอ
  3. ขนาดโตมากกว่า 6 มม.
  4. เมื่อแบ่งเส้นผ่าศูนย์กลางแล้ว ลักษณะของไฝสองข้างจะไม่เหมือนกัน

การรักษา

  1. การตรวจพบในระยะเริ่มแรกถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นมาก
  2. การรักษามะเร็งผิวหนังมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง
  3. การรักษามะเร็งผิวหนังโดยใช้วิธีการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นมะเร็งออกให้กว้าง และบางครั้งต้องตัดต่อมน้ำเหลืองที่เป็นทางกระจายของมะเร็ง แล้วแต่ตำแหน่งที่เป็นออก
  4. การใช้ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา เสริมการผ่าตัดจะทำให้มีโอกาสหายขาดมากขึ้นในมะเร็งระยะลุกลาม
  5. การจี้ไฟฟ้า และการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ได้ผลดีในบางราย
  6. การฉายแสงหรือการใช้วิธีเคมีบำบัดซึ่งเป็นยาฆ่าเซลล์มะเร็ง
  7. ถ้าเป็นผื่นแอคตินิค เคราโตซิส สามารถใช้การจี้ด้วยความเย็นในการรักษาก็เพียงพอ
  8. ถ้าลุกลามเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้า ใช้วิธีการจี้ไฟฟ้า ร่วมกับการขูดผิวหนังหรือการตัดออก และการผ่าตัดพิเศษที่เรียกว่า Moh's Surgery ซึ่งจะเลือกวิธีการใด ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายของผู้ป่วย และลักษณะของเนื้อที่ผิดปกติ
  9. ถ้าเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้า ต้องใช้วิธีการผ่าตัด Moh's Surgery

การป้องกัน

  1. การหลีกเลี่ยงจากแสงแดดเป็นการป้องกันมะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุด
  2. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง เช่น การรับประทานยาที่มีส่วนผสมของสารหนู
  3. หมั่นสังเกตความผิดปกติของไฝหรือขี้แมลงวัน หากพบว่ามีผิวหนังที่ผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
  4. ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน
  5. สวมเสื้อที่มิดชิด สวมหมวกปีกกว้างหรือกางร่ม
  6. ควรเริ่มป้องกันแสงแดดตั้งแต่วัยเด็ก
  7. หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-15.00 น.
  8. ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF > 15
  9. หลีกเลี่ยงภาวะที่เสี่ยงต่อการระคายเคืองของผิวหนัง เช่น การสัมผัสสารเคมีบ่อยๆ หรือ การใช้วัตถุขัดถูผิวหนังอย่างแรงๆบางชนิด

imageที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

0 comments: