Tuesday, March 10, 2015

ตะขบ สรรพคุณและประโยชน์ของตะขบฝรั่ง 20 ข้อ


ตะขบ ชื่อสามัญ Calabura, Jam tree, Jamaican cherry, Malayan Cherry, West Indian Cherry [1],[2]
ตะขบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Muntingia calabura L. จัดอยู่ในวงศ์TILIACEAE[1]
สมุนไพรตะขบ มีชื่อท้องถิ่นอืนๆ ว่า ครบฝรั่ง (สุราษฎร์ธานี), หม่ากตะโก่เสะ (กะเหรี่ยงแดง), ตากบ (ม้ง), เพี่ยนหม่าย (เมี่ยน), ตะขบฝรั่ง (ไทย) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของตะขบ

  • ต้นตะขบ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 5-7 เมตร และอาจสูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ตะขับหรือตะขบฝรั่งนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศพบพบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผล และมักพบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างว่างเปล่าตามป่าโปร่งทั่วไป หรือมักขึ้นเองตามธรรมชาติที่นกและสัตว์ขนาดเล็กถ่ายมูลเมล็ดตะขบทิ้งไว้ สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยวิธีการเพาะเมล็ด ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี[1],[3],[4]
ต้นตะขบ
ต้นตะขบฝรั่ง
  • ใบตะขบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแบบทแยงกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือข้างหนึ่งมนส่วนอีกข้างหนึ่งแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันเล็กๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร หลังใบด้านบนเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบด้านล่างเป็นสีนวล หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มจับดูจะรู้สึกเหนียวมือเล็กน้อย เส้นแขนงใบมี 3-5 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร และมีขน โคนก้านเป็นปมๆ[1],[2]
ใบตะขบ
  • ดอกตะขบ ออกเป็นดอกเดี่ยวหรืออกเป็นคู่ โดยจะออกบริเวณเหนือซอกใบ ดอกเป็นสีขาว เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกย่นเป็นสีขาวมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับป้อมๆ ปลายกลีบมน มีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 11 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ไม่ติดกัน เป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปหอก ปลายกลีบแหลมเป็นหางยาว โคนกลีบตัด กลีบด้านนอกมีขนขึ้นปกคลุม ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยงมีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรยาวประมาณ 5-6.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ส่วนก้านเกสรเพศเมียสั้น ภายในมี 5-6 ช่อง แต่ละช่องจะมีไข่อ่อนจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร มีขน[1],[2]
ดอกตะขบ
  • ผลตะขบ หรือ ลูกตะขบ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.75-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลมีรสหวาน ภายในมีเมล็ดแบนขนาดเล็กจำนวนมาก[1],[2]
ผลตะขบ
ลูกตะขบ

สรรพคุณของตะขบ

  1. ผลสุกมีรสหวานเย็นหอม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ (ผล)[4],[5]
  2. ดอกตะขบมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม (ดอก)[1],[2],[4],[5]บ้างใช้เนื้อไม้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ (เนื้อไม้)[4]
  3. ใช้เป็นเป็นยาแก้หวัด ลดไข้ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม (ดอก)[1],[2],[4],[5] บ้างใช้เนื้อไม้เป็นยาแก้ไข้หวัด (เนื้อไม้)[4]
  4. ใบมีรสฝาดเอียด มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ (ใบ)[4]
  5. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะ ช่วยกล่อมเสมหะและอาจม (ราก)[4],[5]
  6. ช่วยแก้อาการปวดเก็งในทางเดินอาหาร ด้วยการใช้ดอกตะขบแห้ง 3-5 กรัม นำมาชงกับน้ำเป็นชาดื่ม (ดอก)[1],[2],[4],[5]
  7. เนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด (เนื้อไม้)[4]
  8. ต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาระบาย เนื่องจากมีสาร mucilage มาก (ต้น)[1],[2],[4] หรือจะใช้เปลือกต้นสดหรือแห้ง (รสฝาด) ประมาณ 1 ฝ่ามือ นำมาสับเป็นชิ้นต้มในน้ำเดือน 1 ลิตร ประมาณ 15 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาระบายก็ได้ (เปลือกต้น)[4],[5]
  9. เนื้อไม้ใช้เป็นยาขับไส้เดือน (เนื้อไม้)[4]
  10. ดอกใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นกินเป็นยาขับระดูของสตรี (ดอก)[1],[2],[4]
  11. ใช้เป็นยาแก้โรคตับอักเสบ ด้วยการใช้ดอกนำมาต้มรวมกับสมุนไพรอื่นกิน (ดอก)[1],[2]
  12. ใช้เป็นยาแก้ตานขโมย (เนื้อไม้)[4]
  13. ต้นใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ส่วนรากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันตามตัว (ต้น,ราก)[4]
  14. ดอกใช้เป็นยาแก้ปวดและแก้อักเสบ (ดอก)[6]

ประโยชน์ของตะขบ

  1. ผลสุกมีรสหวานและมีกลิ่นหอม ใช้รับประทานได้ เป็นผลไม้พื้นบ้านที่ชื่นชอบของเด็กๆ[2],[4]
  2. ตะขบเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยพลังงาน เส้นใยอาหาร แคลเซียม โพแทสเซียม และโซเดียม จากการวิจัยพบว่าตะขบสามารถช่วยดูดซับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ และเส้นเลือดในสมองแตกได้ (ตะขบ 100 กรัม จะให้พลังงาน 97 กิโลแคลอรี, แคลเซียม 51.7 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 773 มิลลิกรัม, โซเดียม 12.8 มิลลิกรัม) (นพ.สมยศ ดีรัศมี)[7]
  3. ผลตะขบเป็นอาหารของนกและสัตว์หลายชนิด ถ้าปลูกไว้ริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อผลร่วงลงก็จะเป็นอาหารของปลาด้วยเช่นกัน[6]
  4. ผลตะขบฝรั่งเป็นที่นิยมรับประทานมากในเม็กซิโก ผลสามารถนำไปแปรรูปเป็นแยมหรือไวน์ได้ และนำใบไปแปรรูปเป็นชา[6]
  5. เนื้อไม้ตะขบเป็นไม้เนื้ออ่อน สามารถนำมาใช้ในงานช่างไม้ได้ ส่วนเปลือกใช้เป็นแหล่งของเส้นใย[6]
  6. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน หรือปลูกประดับริมทางเดินเพื่อให้ร่มเงา[3]
References
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ตะขบฝรั่ง (Takhob Farang)”.  หน้า 119.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ตะขบฝรั่ง, ตะขบ”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [21 ธ.ค. 2014].
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตะขบฝรั่ง”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th/botany/.  [21 ธ.ค. 2014].
  4. ผักพื้นบ้านและผลไม้พื้นเมืองภาคใต้, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “ตะขบฝรั่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [21 ธ.ค. 2014].
  5. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “ต้นตะขบ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [21 ธ.ค. 2014].
  6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “ตะขบฝรั่ง”. อ้างอิงใน: หนังสือผลไม้ 111 ชนิด (นิดดา หงส์วิวัฒน์, ทวีทอง หงส์วิวัฒน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org.  [21 ธ.ค. 2014].
  7. ไทยโพสต์.  “มหัศจรรย์ ‘ตะขบ’ ด้อยราคา-มากค่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [21 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Forest and Kim Starr, Russell Cumming, Dael Júnior, SierraSunrise, Ahmad Fuad Morad), J.M.Garg
เรียบเรียงข้อมูลโดย ฟรินน์.com

0 comments: